ถั่วพุ่ม

ถั่วพุ่ม

ถั่วพุ่ม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการปลูกพืชหมุนเวียน ใช้ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน  ถั่วพุ่ม จะให้ธาตุไนโตรเจนประมาณ 6 ถึง 13 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพืชหลักที่ปลูกสลับกับถั่วพุ่ม ส่วนฝักสดและเมล็ดให้ธาตุอาหารสูงเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับคน และสัตว์อีกชนิดหนึ่ง เมล็ดถั่วพุ่มมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย วิตามิน คาร์โบไฮเดรท และโปรตีน สามารถใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ ส่วนต้นและใบของถั่วพุ่มหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะยังคงมีสีเขียวสด และมีโปรตีนค่อนข้างสูง สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ๆ กึ่งเลื้อย สามารถทนแล้งได้ดี มีฝักลักษณะคล้ายคลึงกับถั่วฝักยาว
เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทนแล้ง และปลูกง่าย สามารถปลูกได้ทั้งใน สภาพไร่และสภาพนา หลังเก็บเกี่ยวข้าว

ใบ สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม
ดอก สีของกลีบดอกม่วงอ่อน ม่วงเข้ม ช่อดอกอยู่เหนือทรงพุ่ม
ฝักสด สีเขียวอ่อน รูปร่างฝักยาว ค่อนข้างแคบ สั้น กลม โค้งเล็กน้อย
เมล็ด รูปไต สีเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วพุ่มมีหลายสี แต่เมล็ดสีดำเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด

จุดประสงค์การปลูกถั่วพุ่ม

  1. เพื่อเพาะปลูกเป็นพืชหมุนเวียน หลังการเก็บเกี่ยว เพื่อปรับปรุงดิน และบำรุงดิน
  2. เพื่อเป็นอาหารสำหรับคน และสัตว์

พื้นที่ที่เหมาะสม

  • ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย และปลูกได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยปลูกมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งพันธุ์ที่ใช้เพื่อบริโภคฝักสดและเมล็ดแห้ง
  • พื้นที่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 1000 เมตร
  • ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน หรือค่า pH ของดินอยู่ที่ 6.0 ถึง 7.0
  • ชอบดินร่วนปนทราย

ฤดูกาลที่เหมาะสม
ถั่วพุ่มมักมีการเพาะปลูกปลายฤดูฝน และเก็บเกี่ยวปลายฤดูหนาว

ขั้นตอน การปลูกถั่วพุ่ม

วิธีการเพาะปลูก
แบบหยอดหลุม ปลูกเป็นแถว โดยเว้นระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30×50 เซนติเมตร

การเตรียมดิน

  • ไถพรวนดินในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
  • ขุดหลุมปลูกให้มีความลึก 5 ถึง 10 เซนติเมตร เว้นระยะห่างระหว่างหลุมหรือระหว่างต้น 30 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว 50 เซนติเมตร
  • รองพื้นด้วยปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15

การปลูก

  • หยอดเมล็ดลงไปตามหลุมที่เตรียมไว้หลุมละเมล็ด จำนวนต้นต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ควรอยู่ที่ 16 ต้น
  • ใช้ดินกลบเมล็ดบางๆ แล้วรดน้ำพอชุ่ม

การดูแลถั่วพุ่ม หลังการปลูก

การปลูกซ่อม
ปลูกซ่อม ในเวลา 7 ถึง 10 วัน หลังการเพาะปลูก

การให้น้ำ

  • ควรให้น้ำทุกวัน ใน 30 วันแรก หลังการเพาะปลูก หลังจากนั้น ให้น้ำทุก 2 ถึง 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง แล้วแต่ความชื้นในดิน
  • ในฤดูร้อน ต้องให้น้ำมาก เพื่อผลผลิตที่ดี ถ้าขาดน้ำระยะติดดอกจะไม่สร้างฝัก ต้องให้น้ำสม่ำเสมอเป็นประจำในช่วงติดดอก เพราะถั่วพุ่มจำเป็นต้องอาศัยความชื้นในดินให้เพียงพอในระยะติดดอกเพื่อสร้างฝัก

การให้ปุ๋ย

  • หลังการเพาะปลูก 25 ถึง 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15
  • ระยะติดดอก หรือประมาณ 45 ถึง 50 วันหลังการเพาะปลูก ขุดร่องเล็กๆ ระหว่างแถว โรยปุ๋ยสูตร 13-13-21 กลบดินแล้วรดน้ำ

การกำจัดวัชพืช

  • ควรกำจัดวัชพืชพร้อมกับการใส่ปุ๋ย หรือเมื่อพบเห็นการเกิดวัชพืช ควรรีบกำจัดในทันที

การป้องกันและกำจัด โรคและแมลงศัตรูถั่วพุ่ม

โรคถั่วพุ่ม
โรคใบจุดและใบไหม้
เกิดจากเชื้อรา มักระบาดในช่วงฤดูฝน
การป้องกันและกำจัด

  • โดยใช้ โลนาโคล หรือ แอนทราโคล หรือ ไดเทนเอ็ม45 ฉีดพ่น ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ

โรคเหี่ยว
พบในช่วงฤดูฝน สังเกตจากอาการรากและโคนเน่า
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้เทอร์ราคลอร์ หรือบราสซิคอล กำจัดตามอัตราส่วนในฉลากกำกับ

แมลงศัตรูถั่วพุ่ม

 

หนอนกระทู้ดำ
การป้องกันและกำจัด

  • โดยใช้ ลอร์สแบน ผสมน้ำรดเมื่อทำการปลูก ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ

 

 

 

หนอนเจาะกินถั่ว
เข้าทำลายระยะต้นอ่อน
การป้องกันและกำจัด

  • โดยใส่ฟูราดาน ก่อนหยอดเมล็ด

 

 

 

เพลี้ยอ่อน
พบตลอดปี มักเข้าทำลายระยะติดฝัก
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้เซฟวิน 85 สลับกับ อโซดริน หรือ แลนเนท (Lannate)ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ สัปดาห์ละครั้ง หรือตามความจำเป็น

 

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ถั่วพุ่มเป็นพืชที่มีอายุ 90 ถึง 100 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ 2 ถึง 3 ครั้ง ต่อฤดู เมื่อฝักเริ่มโตจัด ขณะที่เป็นสีเขียวอ่อน ถ้าถั่วแก่เกินไป จะมีสีเขียวเข้มและสร้างเมล็ดในฝัก ควรเก็บเกี่ยวถั่วขณะที่มีเมล็ดอ่อน จึงได้คุณภาพดี ควรเก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ และขนส่งไปจำหน่าย ภายในวันเดียวกัน

การกะเทาะเมล็ด
การกะเทาะเมล็ดถั่วพุ่มด้วยเครื่อง ควรใช้ความเร็วรอบของลูกนวดที่ 400 รอบ ต่อนาที และกะเทาะขณะที่เมล็ดมีความชื้นประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ จะให้เปอร์เซ็นต์เมล็ดแตกหักต่ำ และไม่มีผลกระทบต่อความงอกของเมล็ด
นอกจากนี้ ยังทำให้ประหยัดแรงงานกว่าการใช้แรงงานคนฟาดด้วยไม้ไผ่ และการใช้แรงงานคนแกะด้วยมือ ประมาณ 8 และ 23 เท่า ตามลำดับ

การบำรุงพื้นที่ทำนาให้สมบูรณ์ โดยใช้ถั่วพุ่ม
หลังจากผ่านฤดูกาลทำนาข้าว เก็บเกี่ยวข้าวในนาหมดแล้ว มีวิธีการปรับสภาพดินให้ดีรอเตรียมไว้ปลูกข้าวในครั้งต่อไปโดยมีวิธีการปรับสภาพดินดังต่อไปนี้

  1. ทำการตัดตอซังข้าวออกจากพื้นนา (สามารถเอาตอซังข้าวไปใส่ในคอกวัวหรือหมูหลุมเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักได้)
  2. หว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่มลงไปในพื้นนา อัตราการหว่าน 3 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
  3. หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ทั่วพื้นที่นาแล้ว ให้ทำการไถกลบ
  4. หลังจากถั่วพุ่มที่หว่านงอกและโตขึ้นในระดับพอเริ่มตั้งดอกให้ทำการไถกลบถั่วพุ่มที่ปลูกในพื้นที่นาอีกครั้ง
  5. เมื่อไถกลบเรียบร้อยแล้วให้ปล่อยน้ำเข้านาให้น้ำขังในพื้นนารอช่วงที่จะทำนาครั้งต่อไป
  6. เมื่อเราจะเริ่มทำนารอบต่อไป ให้ทำการไถนาพื้นที่นานั้นเพื่อทำเทือก พร้อมสำหรับการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว

บทความ พืชหมุนเวียน ยังไม่จบเพียงแค่นี้ ติดตามบทความ มะเขือเทศ นะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.thaikasetsart.com, somrti.blogspot.com, หนังสือ พืชหลังนา สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *