ถั่วพุ่ม
ถั่วพุ่ม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการปลูกพืชหมุนเวียน ใช้ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ถั่วพุ่ม จะให้ธาตุไนโตรเจนประมาณ 6 ถึง 13 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพืชหลักที่ปลูกสลับกับถั่วพุ่ม ส่วนฝักสดและเมล็ดให้ธาตุอาหารสูงเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับคน และสัตว์อีกชนิดหนึ่ง เมล็ดถั่วพุ่มมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย วิตามิน คาร์โบไฮเดรท และโปรตีน สามารถใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ ส่วนต้นและใบของถั่วพุ่มหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะยังคงมีสีเขียวสด และมีโปรตีนค่อนข้างสูง สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ๆ กึ่งเลื้อย สามารถทนแล้งได้ดี มีฝักลักษณะคล้ายคลึงกับถั่วฝักยาว
เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทนแล้ง และปลูกง่าย สามารถปลูกได้ทั้งใน สภาพไร่และสภาพนา หลังเก็บเกี่ยวข้าว
ใบ สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม
ดอก สีของกลีบดอกม่วงอ่อน ม่วงเข้ม ช่อดอกอยู่เหนือทรงพุ่ม
ฝักสด สีเขียวอ่อน รูปร่างฝักยาว ค่อนข้างแคบ สั้น กลม โค้งเล็กน้อย
เมล็ด รูปไต สีเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วพุ่มมีหลายสี แต่เมล็ดสีดำเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด
จุดประสงค์การปลูกถั่วพุ่ม
- เพื่อเพาะปลูกเป็นพืชหมุนเวียน หลังการเก็บเกี่ยว เพื่อปรับปรุงดิน และบำรุงดิน
- เพื่อเป็นอาหารสำหรับคน และสัตว์
พื้นที่ที่เหมาะสม
- ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย และปลูกได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยปลูกมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งพันธุ์ที่ใช้เพื่อบริโภคฝักสดและเมล็ดแห้ง
- พื้นที่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 1000 เมตร
- ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน หรือค่า pH ของดินอยู่ที่ 6.0 ถึง 7.0
- ชอบดินร่วนปนทราย
ฤดูกาลที่เหมาะสม
ถั่วพุ่มมักมีการเพาะปลูกปลายฤดูฝน และเก็บเกี่ยวปลายฤดูหนาว
ขั้นตอน การปลูกถั่วพุ่ม
วิธีการเพาะปลูก
แบบหยอดหลุม ปลูกเป็นแถว โดยเว้นระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30×50 เซนติเมตร
การเตรียมดิน
- ไถพรวนดินในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
- ขุดหลุมปลูกให้มีความลึก 5 ถึง 10 เซนติเมตร เว้นระยะห่างระหว่างหลุมหรือระหว่างต้น 30 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว 50 เซนติเมตร
- รองพื้นด้วยปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15
การปลูก
- หยอดเมล็ดลงไปตามหลุมที่เตรียมไว้หลุมละเมล็ด จำนวนต้นต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ควรอยู่ที่ 16 ต้น
- ใช้ดินกลบเมล็ดบางๆ แล้วรดน้ำพอชุ่ม
การดูแลถั่วพุ่ม หลังการปลูก
การปลูกซ่อม
ปลูกซ่อม ในเวลา 7 ถึง 10 วัน หลังการเพาะปลูก
การให้น้ำ
- ควรให้น้ำทุกวัน ใน 30 วันแรก หลังการเพาะปลูก หลังจากนั้น ให้น้ำทุก 2 ถึง 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง แล้วแต่ความชื้นในดิน
- ในฤดูร้อน ต้องให้น้ำมาก เพื่อผลผลิตที่ดี ถ้าขาดน้ำระยะติดดอกจะไม่สร้างฝัก ต้องให้น้ำสม่ำเสมอเป็นประจำในช่วงติดดอก เพราะถั่วพุ่มจำเป็นต้องอาศัยความชื้นในดินให้เพียงพอในระยะติดดอกเพื่อสร้างฝัก
การให้ปุ๋ย
- หลังการเพาะปลูก 25 ถึง 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15
- ระยะติดดอก หรือประมาณ 45 ถึง 50 วันหลังการเพาะปลูก ขุดร่องเล็กๆ ระหว่างแถว โรยปุ๋ยสูตร 13-13-21 กลบดินแล้วรดน้ำ
การกำจัดวัชพืช
- ควรกำจัดวัชพืชพร้อมกับการใส่ปุ๋ย หรือเมื่อพบเห็นการเกิดวัชพืช ควรรีบกำจัดในทันที
การป้องกันและกำจัด โรคและแมลงศัตรูถั่วพุ่ม
โรคถั่วพุ่ม
โรคใบจุดและใบไหม้
เกิดจากเชื้อรา มักระบาดในช่วงฤดูฝน
การป้องกันและกำจัด
- โดยใช้ โลนาโคล หรือ แอนทราโคล หรือ ไดเทนเอ็ม45 ฉีดพ่น ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ
โรคเหี่ยว
พบในช่วงฤดูฝน สังเกตจากอาการรากและโคนเน่า
การป้องกันและกำจัด
- ใช้เทอร์ราคลอร์ หรือบราสซิคอล กำจัดตามอัตราส่วนในฉลากกำกับ
แมลงศัตรูถั่วพุ่ม
หนอนกระทู้ดำ
การป้องกันและกำจัด
- โดยใช้ ลอร์สแบน ผสมน้ำรดเมื่อทำการปลูก ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ
หนอนเจาะกินถั่ว
เข้าทำลายระยะต้นอ่อน
การป้องกันและกำจัด
- โดยใส่ฟูราดาน ก่อนหยอดเมล็ด
เพลี้ยอ่อน
พบตลอดปี มักเข้าทำลายระยะติดฝัก
การป้องกันและกำจัด
- ใช้เซฟวิน 85 สลับกับ อโซดริน หรือ แลนเนท (Lannate)ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ สัปดาห์ละครั้ง หรือตามความจำเป็น
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ถั่วพุ่มเป็นพืชที่มีอายุ 90 ถึง 100 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ 2 ถึง 3 ครั้ง ต่อฤดู เมื่อฝักเริ่มโตจัด ขณะที่เป็นสีเขียวอ่อน ถ้าถั่วแก่เกินไป จะมีสีเขียวเข้มและสร้างเมล็ดในฝัก ควรเก็บเกี่ยวถั่วขณะที่มีเมล็ดอ่อน จึงได้คุณภาพดี ควรเก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ และขนส่งไปจำหน่าย ภายในวันเดียวกัน
การกะเทาะเมล็ด
การกะเทาะเมล็ดถั่วพุ่มด้วยเครื่อง ควรใช้ความเร็วรอบของลูกนวดที่ 400 รอบ ต่อนาที และกะเทาะขณะที่เมล็ดมีความชื้นประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ จะให้เปอร์เซ็นต์เมล็ดแตกหักต่ำ และไม่มีผลกระทบต่อความงอกของเมล็ด
นอกจากนี้ ยังทำให้ประหยัดแรงงานกว่าการใช้แรงงานคนฟาดด้วยไม้ไผ่ และการใช้แรงงานคนแกะด้วยมือ ประมาณ 8 และ 23 เท่า ตามลำดับ
การบำรุงพื้นที่ทำนาให้สมบูรณ์ โดยใช้ถั่วพุ่ม
หลังจากผ่านฤดูกาลทำนาข้าว เก็บเกี่ยวข้าวในนาหมดแล้ว มีวิธีการปรับสภาพดินให้ดีรอเตรียมไว้ปลูกข้าวในครั้งต่อไปโดยมีวิธีการปรับสภาพดินดังต่อไปนี้
- ทำการตัดตอซังข้าวออกจากพื้นนา (สามารถเอาตอซังข้าวไปใส่ในคอกวัวหรือหมูหลุมเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักได้)
- หว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่มลงไปในพื้นนา อัตราการหว่าน 3 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่
- หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ทั่วพื้นที่นาแล้ว ให้ทำการไถกลบ
- หลังจากถั่วพุ่มที่หว่านงอกและโตขึ้นในระดับพอเริ่มตั้งดอกให้ทำการไถกลบถั่วพุ่มที่ปลูกในพื้นที่นาอีกครั้ง
- เมื่อไถกลบเรียบร้อยแล้วให้ปล่อยน้ำเข้านาให้น้ำขังในพื้นนารอช่วงที่จะทำนาครั้งต่อไป
- เมื่อเราจะเริ่มทำนารอบต่อไป ให้ทำการไถนาพื้นที่นานั้นเพื่อทำเทือก พร้อมสำหรับการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว
บทความ พืชหมุนเวียน ยังไม่จบเพียงแค่นี้ ติดตามบทความ มะเขือเทศ นะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.thaikasetsart.com, somrti.blogspot.com, หนังสือ พืชหลังนา สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)