เทคนิคการปลูกพริกให้รวย
เทคนิคการปลูกพริกให้รวย เป็นบทความที่ผู้เขียนรวบรวมมาเพื่อให้เกษตรกรและผู้ปลูก ได้นำไปปรับใช้ในการปลูกพริกตามสายพันธุ์ที่ท่านเลือกปลูก ซึ่งมีความแตกต่างกันนิดหน่อยจากบทความ การปลูกพริก ที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไว้ เป็นวิธีการขั้นพื้นฐานที่ใช้ปฏิบัติในการปลูกพริกได้ทุกสายพันธุ์ เกษตรกรและผู้ปลูกสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ตามความสะดวกและความเหมาะสมให้รวยได้ด้วย เทคนิคการปลูกพริก ของแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้
พริกขี้หนู
ขนาดผลยาวประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ผลชี้ลงพื้นดิน ผลดิบมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีส้ม สีแดง สีแดงเข้ม หรือสีเหลือง ยอดอ่อนของพริกขี้หนูนี้ คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ใส่แกงเลียง ใส่ไข่เจียว หรือแกงจืด
สายพันธุ์พริกขี้หนู แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- พันธุ์ผสมเปิด ได้แก่ พริกจินดา-เลย พริกจินดา พริกยอดสน พริกห้วยสีทน พริกไชยปราการ และพริกหัวเรือ เบอร์ 13
- พันธุ์ลูกผสม ได้แก่ พริกซุปเปอร์ฮอท พริกแชมป์เปี้ยน ฮอท 44 พริกสยาม ฮอท พริกชิ วาลรี ที1698 พริกเรดฮอท ทีเอ100 พริกรสแซบ ที2007 พริกจินดา 877 และพริกวโรรส
ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับพริกขี้หนู
- พริกขี้หนูเป็นพริกที่มีพุ่มใหญ่ ระยะห่างระหว่างต้นควรอยู่ที่ 50 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร
การให้น้ำ
- ควรให้พอชุ่มอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้น้ำขังแฉะ
- ระยะเพาะกล้า ควรให้น้ำทุกวันหลังเพาะประมาณ 5 ถึง 6 สัปดาห์ จนกว่าต้นกล้าจะตั้งตัวได้
ระยะต้นโต รดน้ำ 1 วัน หยุด 2 วัน ถ้าดินแห้ง ให้เพิ่มปริมาณการให้น้ำเพื่อไม่ให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโต
การให้ปุ๋ย
- ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพเมื่อต้นพริกมีอายุได้ 20 วัน ในอัตรา 1 หรือ 2 กำมือ ต่อ 1 ต้น
การเก็บเกี่ยว
- ควรเก็บเกี่ยวทุก 7 วัน ต่อครั้ง โดยใช้เล็บจิกตรงรอยก้านผลที่ต่อกับกิ่ง
พริกกะเหรี่ยง
เป็นพริกขี้หนูที่ชาวกะเหรี่ยงนำมาปลูก พบมากตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในแถบจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดเพชรบุรี นิยมรับประทานในรูปแบบพริกแห้ง และนิยมนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร พริกสายพันธุ์นี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อสภาวะอากาศ ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพริก
วิธีเพาะ ทำได้ 2 วิธี คือ
- แช่เมล็ดพันธุ์ไว้ในน้ำ 1 คืน แล้วนำมาห่อในผ้าเปียก บ่มไว้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เมื่อสังเกตเห็นตุ่มรากสีขาวเล็กๆ จึงนำไปเพาะ
- นำผลพริกกะเหรี่ยงที่เก็บมาจากต้นไปตากแดดจนแห้งสนิท จากนั้นนำไปตำในครกหรือกระบอกไม้ไผ่ให้เมล็ดแตกออก แล้วนำเมล็ดไปหยอดลงหลุมปลูก หลุมละ 5 ถึง 10 เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุม 80×80 เซนติเมตร
การเพิ่มมูลค่าพริกกะเหรี่ยง
- ควรเริ่มเพาะกล้าตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม เพื่อให้ได้ผลผลิตหลังการปลูก 90 วัน ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง พริกกะเหรี่ยงจะมีราคาแพง
การดูแลรักษา
- ไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และไม่ใส่ปุ๋ยเคมีเพราะจะทำให้ความหอมที่พริกกะเหรี่ยงมีอยู่เฉพาะตัวลดลง
พริกหวานหรือพริกยักษ์
พริกหวานสีเขียวจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ผลสุกก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีเหลือง สีส้ม หรือสีม่วง เป็นพืชตระกูลมะเขือ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ต้องปลูกในโรงเรือนที่ควบคุมอุณหภูมิได้เหมาะสม คือ ระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางคืนไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส เพราะพริกหวานต้องการอากาศอบอุ่น ความชื้นในอากาศต่ำ ไม่ทนต่อน้ำค้างแข็ง การปลูกในฤดูหนาว อุณหภูมิในโรงเรือนควรสูงกว่าภายนอก 5 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยให้เจริญเติบโตและติดผล
วัสดุเพาะกล้า
- ควรใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกเก่า ขี้เถ้าแกลบ และปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 เพราะเมล็ดพันธุ์พริกหวานจะงอกช้ากว่าเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลมะเขืออื่นๆ
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
- แช่เมล็ดในน้ำผสมเบนเลทและแคปเทน ในอัตราส่วน อย่างละ 6 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 30 ถึง 60 นาที เพื่อป้องกันโรคและเร่งการงอกของเมล็ดพันธุ์
- จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ไปแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส 10 นาที และแช่ในโพแทสเซียมไนเตรท (KNO3) เข้มข้น 0.1 ถึง 0.2 เปอร์เซ็นต์
- นำเมล็ดขึ้นสะเด็ดน้ำ และใช้ผ้าเปียกห่อและบ่มไว้ประมาณ 1 ถึง 2 วัน เมื่อเริ่มมีรากงอกออกมาให้นำไปหยอดในถาดเพาะกล้า ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร
การให้น้ำ
- ระยะเพาะกล้า
รดน้ำพอชุ่มวันละสองครั้ง เช้าและเย็น เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตให้รดน้ำวันละครั้งในตอนเช้า จากนั้นรดน้ำทุก 2 วัน ต่อครั้ง - ระยะต้นโต
ควรรดน้ำพอชุ่มไม่ขังแฉะ จะทำให้รากเน่า ต้นตายได้
การปลูกในดินทรายต้องให้น้ำบ่อย
หากมีหมอกลงจัด ควรให้น้ำในตอนบ่ายเพื่อให้หน้าดินแห้งก่อน
การให้ปุ๋ย
- นิยมให้ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยเกล็ดที่มีธาตุอาหารหลักและธาตุรองทุก 3 ถึง 5 วัน
ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับพริกหวาน
- ระยะปลูก 40×50 เซนติเมตร
- ระยะปลูกในโรงเรือน 50×100 ถึง 120 เซนติเมตร
การตัดแต่งกิ่ง
- ควรตัดแต่งกิ่งให้เหลือ 2 กิ่งที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้ได้ผลขนาดใหญ่และคุณภาพสูง
การเก็บเกี่ยว
- ระยะเก็บเกี่ยวพริกหวานนั้น ขึ้นอยู่กับระยะทางการขนส่ง ตลาดในท้องถิ่น ให้เก็บเกี่ยวเมื่อผลเปลี่ยนสีได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดที่อยู่ไกล ควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลเปลี่ยนสี 35 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้มีดบางและคม ตัดขั้วที่ติดอยู่กับลำต้น ไม่แนะนำให้ปลิดผลเพราะจะทำให้ลำต้นฉีก
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
- ใช้คลอรีนเข้มข้น 300 ppm และน้ำอุณหภูมิ 53 องศาเซลเซียสล้างทำความสะอาดเพื่อไม่ให้ผลเน่า
พริกหนุ่ม / พริกมัน / พริกยำ
- เป็นพริกที่ปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ไม่ชอบอากาศร้อน หรือฝนตกชุก เพราะทำให้ขนาดผลเล็กลง และมีโรค มีแมลงเข้าทำลาย
สายพันธุ์ พริกหนุ่ม / พริกมัน / พริกยำ
- พันธุ์แทงโก้—ผลดก เหมาะสำหรับรับประทานสดและอุตสาหกรรมแปรรูป
- พันธุ์พริกหนุ่มเขียวสันกำแพง เป็นพริกลูกผสม ผลดก ผลตรงเนื้อแน่นแข็ง เหมาะสำหรับรับประทานสดและอุตสาหกรรมแปรรูป
- พันธุ์พริกหนุ่มเขียวลูกผสมไวต้า-เอส เป็นพริกลูกผสม ต้นแข็งแรง ให้ผลผลิตสูง เนื้อผลหนา เหมาะสำหรับรับประทานสดและอุตสาหกรรมแปรรูป
- พันธุ์จอมทอง2 เป็นพันธุ์ลูกผสม ผลดก เหมาะสำหรับรับประทานสดและอุตสาหกรรมแปรรูป
- พันธุ์ 7216 เป็นพันธุ์ลูกผสม
- พันธุ์สะบันงา หรือหนุ่มขาว
วิธีการปลูกและการดูแลเหมือนกับพริกขี้หนู
พริกหยวก
เหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชหมุนเวียน เพราะมีอายุสั้น ไม่ต้องการน้ำมาก สามารถใช้เพาะปลูกหลังฤดูการทำนาได้ ผลอ่อนมีสีเหลืองอ่อน สีเหลือง และสีเขียวอ่อน ผลสุกแก่มีสีแดง มีรสเผ็ดน้อย นิยมประกอบอาหารประเภท หลน ผัด ย่าง หรือทำพริกหยวกยัดไส้
พริกชี้ฟ้า
เหมาะที่จะปลูกกลางแจ้งมากกว่าการปลูกแซมพืชไร่ ผลเป็นรูปกลมยาว ปลายแหลม ผลอ่อนสีเขียวแก่ ผลแก่สีแดง ปลายผลชี้ตั้งขึ้น มีรสเผ็ดปานกลาง ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
สายพันธุ์ยอดนิยมของพริกชี้ฟ้า
- พันธุ์พิจิตร1—เหมาะสำหรับทำพริกแห้ง ไม่ทนต่อโรคแอนแทรกโนส ต้องพ่นสารเคมีหรือน้ำหมักสมุนไพรป้องกันและกำจัดโรคแอนแทรกโนสหลังจากมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน
- พันธุ์พิจิตร05—ทนต่อโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย เหมาะสำหรับทำซอสพริก
- พันธุ์แม่ปิง—เป็นพันธุ์ลูกผสม
- พันธุ์จักรพรรดิ—เป็นพันธุ์ลูกผสม เหมาะสำหรับรับประทานสดและแปรรูป
- พันธุ์บางช้าง (TVRC 365)—ปลูกได้ตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับรับประทานสด ทำพริกดอง พริกแห้ง และซอสพริก แต่ไม่ทนต่อโรคแอนแทรกโนส
การให้น้ำ
- ช่วงหน้าแล้งให้รดน้ำทุกวัน ส่วนหน้าฝน ให้เว้นระยะการให้น้ำ โดยสังเกตสภาพอากาศและดิน
การเก็บเกี่ยว
- การปลูกพริกชี้ฟ้านั้น มีวิธีการปลูกและดูแลเช่นเดียวกันกับพริกขี้หนู แต่พริกชี้ฟ้าส่วนใหญ่ไม่ทนต่อโรคแอนแทรกโนส ในการระบาดขั้นรุนแรง จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดโรค ก่อนเก็บเกี่ยวต้องรอให้ฤทธิ์ยาหมดลงก่อนประมาณ 7 วัน และหลังจากนั้นอีก 7 วัน จึงทำการเก็บเกี่ยวโดยเด็ดตรงก้าน
เทคนิคเสริม ป้องกันโรคแอนแทรกโนส และโรคพริกอื่นๆ
- หลังการเพาะกล้า ให้รดน้ำให้ทั่วแปลงเพาะหรือถาดเพาะกล้าทุกวัน
- เมื่อต้นกล้าเริ่มขึ้น นำวัสดุคลุมกล้าออก รดน้ำต่ออีกประมาณ 2 ถึง 3 วัน
- รดต้นกล้าด้วยน้ำปูนใส (ใช้เฉพาะน้ำใส 1 ส่วน ผสมน้ำเปล่า 1 ส่วน)
จากนั้นเว้นระยะห่าง 3 ถึง 4 วัน จึงรดด้วยน้ำปูนใสอีกครั้ง สลับกับการรดน้ำธรรมดา - เมื่อต้นกล้าได้อายุปลูก คือ อายุ 30 ถึง 35 วัน ให้ถอนมาแช่เฉพาะส่วนรากด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา 30 นาที ก่อนนำลงแปลงปลูก
เทคนิคเสริมก่อนการเพาะปลูกพริกรุ่นต่อไป
- ปลูกปอเทือง เมื่อพริกหมดรุ่นเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด และปรับปรุงดิน เมื่อปอเทืองมีอายุ 45 วัน ให้ไถกลบ
- กำจัดไส้เดือนฝอยสาเหตุของโรครากปม (ติดตามในบทความ โรคพริก)
- ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน พักดินไว้ประมาณ 3 ถึง 4 เดือน จึงทำการปลูกพริกรุ่นต่อไป
ผู้เขียนอยากให้เกษตรกรและผู้ปลูก ได้รับผลกำไรตอบแทนอย่างคุ้มค่านะคะ และหวังว่าข้อมูลต่างๆ ที่นำมาฝาก จะยังประโยชน์ให้ทุกท่าน
อย่าพลาดติดตามบทความ แมลงศัตรูพริก และ บทความ โรคพริก นะคะ
ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : หนังสือ วางแผน…การปลูกสารพัดพริกช่วงแพง สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสะอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)