เคล็ดลับลดต้นทุนหนุนเกษตรกรรวย

เคล็ดลับลดต้นทุนหนุนเกษตรกรรวย

เคล็ดลับลดต้นทุน หนุนเกษตรกรรวย เป็นเคล็ดลับในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการที่ปลอดภัยจากสารเคมี ให้ความปลอดภัยทั้งกับตัวเกษตรกร และผู้บริโภค เคล็ดลับลดต้นทุน ที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นการป้องกันและกำจัดแมลงด้วยวิธีกล มีดังนี้

การใช้กับดักกาวเหนียว
กับดักกาวเหนียวนี้ เป็นสูตรที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จะใช้สำหรับควบคุมตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด อาทิเช่น เพลี้ยไฟ แมลงวันเจาะผล แมลงวันทองของหนอนชอนใบ ผีเสื้อกลางวันชนิดต่างๆ ทั้งของหนอนคืบและหนอนใย เป็นต้น โดยทั่วไป นิยมใช้กาวเหนียวมาทาบนวัสดุที่มีสีเหลือง เช่น แผ่นพลาสติก หรือกระป๋องน้ำมันเครื่อง เพราะแมลงชอบสีเหลือง คิดว่าเป็นสีของผลไม้ กับดักนี้จะล่อแมลงให้บินมาติดกาวเหนียวที่ทาไว้ สำหรับการติดตั้งนั้นควรติดตั้งกับดักในแปลงมะเขือให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร หรือสูงกว่ายอดต้นเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว โดยจะใช้กับดักประมาณ 60 ถึง 80 กับดัก ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ที่มีการระบาดมาก ส่วนในฤดูหนาว มีการระบาดน้อย อาจใช้เพียง 20 กับดัก ต่อไร่

วิธีการทำกาวเหนียว
วัสดุ

  1. น้ำมันละหุ่ง 550 ซีซี
  2. น้ำมันยางสน 380 กรัม
  3. ไขคาร์นัววา 60 กรัม

วิธีทำ

  • เคี่ยวน้ำมันละหุ่งให้เดือด
  • เติมน้ำมันยางสนและไขคาร์นัววาลงไป คนช้าๆ ให้เข้ากันดี แล้วยกออกจากเตา
  • วางทิ้งไว้ให้เย็น

วิธีใช้

  • เหลาไม้ และตกแต่งปลายไม้ให้แหลมเพื่อใช้เป็นที่ยึดวัสดุ เช่น กระป๋องหรือแผ่นพลาสติก ขนาดยาว 30 ถึง 50 เซนติเมตร
  • ปักเว้นระยะห่าง 4×4 เมตร ในฤดูหนาวมีการระบาดของแมลงน้อย ให้ใช้ 15 ถึง 20 กับดัก ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ในฤดูร้อน มีการระบาดของแมลงมาก ควรติดกับดักแมลงประมาณ 60 ถึง 80 กับดัก ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งสามารถลดการใช้สารเคมีฆ่าแมลงได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
  • กับดักกาวเหนียว ถ้าทารองพื้น ควรป้ายกาวเหนียวที่กับดักซ้ำอีกครั้ง เพื่อทำให้กาวเหนียวอยู่ได้นานประมาณ 10 ถึง 15 วัน หลังจากนั้น จึงทาหรือป้ายใหม่ แต่ก่อนทาหรือป้ายกาวเหนียวที่กับดักใหม่ ควรทำความสะอาดกับดักก่อนทุกครั้ง แล้วใช้ถุงพลาสติกใสครอบทำด้วยกาวเหนียว การเปลี่ยนถุง ควรดึงถุงเก่า แล้วนำถุงใหม่มาติดตั้งแทน

การใช้กับดักแสงไฟ 

การใช้กับดักแสงไฟเป็นวิธีที่ง่ายไม่ยุ่งยาก สะดวก ประหยัด ลดปริมาณการใช้สารฆ่าแมลงได้ ซึ่งสามารถดักจับแมลงศัตรูพืช เช่น ผีเสื้อกลางคืน ผีเสื้อหนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ และหนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นต้น แสงไฟที่ใช้สำหรับล่อแมลง ควรใช้หลอดไฟสีม่วง แสงสีน้ำตาล หรืออาจใช้แสงไฟนีออน หรือหลอดไฟ  แบล็คไลท์

วิธีการล่อแมลง
เปิดไฟล่อแมลง ให้แมลงเข้าไปเล่นไฟ แล้วตกลงไปในถาดรองที่ทำกับดักไว้ โดยอัตราการใช้ที่เหมาะสมคือ 2 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่ ควรเปิดไฟไว้ตลอดทั้งคืน แต่ไม่ควรเปิดเมื่อมีฝนตกหนัก แมลงที่ดักได้ยังสามารถนำไปเป็นอาหาร ปลา หรือเป็ด ไก่ ได้


การใช้พลาสติกคลุมแปลง

การใช้พลาสติกคลุมแปลง เหมาะสำหรับผักที่มีระยะปลูกที่แน่นอน โดยเจาะรูพลาสติกตรงตำแหน่งที่ปลูกผัก ช่วยลดการระบาดของแมลงจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และไร นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมโรค ควบคุมวัชพืช และช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ได้นาน ทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อย วัสดุที่ใช้คลุม จะมีราคาต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความหนาและอายุการใช้งานของวัสดุแต่ละชนิด

การควบคุมโดยชีววิธี ศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ ตัวเบียน)
เป็นการป้องกันกำจัดอีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการผลิตผักปลอดสารพิษ คือ วิธีการอาศัยพื้นฐานจากการศึกษาระบบนิเวศวิทยาของแมลง นำมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูผักให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นผลเสียหายทางเศรษฐกิจ

แมลงที่เป็นประโยชน์ ได้แก่

  1. ตัวห้ำ เช่น มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต เป็นนักล่าเหยื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกับพวกหนอน ด้วงตัวอ่อนของแมลงที่เป็นศัตรูผัก การล่า จะใช้เข็มที่ปากแทงผ่านผนังลำตัวของเหยื่อแล้วปล่อยสารพิษออกมาทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จากนั้นดูดของเหลวภายในลำตัวเหยื่อจนแห้งตายอย่างรวดเร็ว ซึ่งมวนเหล่านี้ 1 ตัว สามารถทำลายหนอนได้ 200 ตัว นอกจากมวนแล้ว ยังมีด้วงเต่าลาย เต่าทอง แมลงช้างปีกใส แมลงปอ แมงมุม เป็นแมลงกินพวกเพลี้ยอ่อนที่เข้าทำลายพืชผัก เป็นต้น
  2. ตัวเบียน ได้แก่ แตนเบียนไข่โตรโคแกรมม่า ลักษณะการทำลายเหยื่อ เพื่อการดำรงชีวิตของตัวมันเอง มีประสิทธิภาพสูงในการเบียนไข่ (เจาะวางไข่ในไข่ของแมลงอื่น) ของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น ไข่หนอนไยผัก ไข่หนอนคืบกะหล่ำ ไข่หนอนเจาะสมอฝ้าย ไข่หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ไข่หนอนบุ้งปกขาว ไข่หนอนแก้วส้ม ไข่หนอนอ้อย ไข่หนอนกอข้าว ไข่หนอนม้วนใบข้าว ไข่หนอนคืบละหุ่ง เป็นต้น

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ แนวทาง…และแบบอย่างการเพาะปลูกสารพัดมะเขือทำเงิน)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *