เคล็ดลับการทำปุ๋ยหมักด้วยวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม
ในบทความนี้ เคล็ดลับการทำปุ๋ยหมัก เป็นสูตรที่ได้จากเกษตรกรที่มีประสบการณ์โดยตรง คือ ได้ทดลองหมักวัสดุที่มีเป็นปุ๋ยหมัก และทดสอบประสิทธิภาพด้วยการนำไปใช้ด้วยตัวของเกษตรกรเอง และได้ผลที่ดีมากมานำเสนอ เพื่อแพร่หลายให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ( ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล: หนังสือ ล้ำยุคกับ…นวัตกรรมปุ๋ยหมัก โดย อภิชาติ ศรีสะอาด ) นอกจาก เคล็ดลับการทำปุ๋ยหมัก ยังมีวิธี การทำปุ๋ยหมัก, สูตรปุ๋ยหมัก, การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก และ การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก และ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรกรมพัฒนาที่ดิน เคล็ดลับการทำปุ๋ยหมัก ด้วยวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม มีสูตรดังต่อไปนี้
สูตรการทำปุ๋ยหมักก้อนเชื้อเห็ดเก่า ของ คุณเฉลิมชัย อินทรชัยศรี ( เกษตรกรดีเด่น จากการทำเกษตรแบบผสมผสานฯ ) สูตรนี้เป็นสูตรการทำปุ๋ยหมักที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ซึ่งสามารถหาก้อนเชื้อเห็ดเก่า จากแหล่งทำก้อนเชื้อเห็ด, ฟาร์มเพาะเห็ด หรือแหล่งที่ทิ้งขยะก้อนเชื้อเห็ดเก่า มีรายละเอียดดังนี้
ส่วนผสม
1.ก้อนเชื้อเห็ดเก่า 38 กิโลกรัม
2.มูลสัตว์ 30 กิโลกรัม เช่น มูลวัว มูลควาย มูลหมู เป็นต้น แต่ถ้าจดทะเบียนการค้าต้องใช้มูลใดมูลหนึ่งแน่นอนชัดเจน
3.กากตะกอนอ้อย 30 กิโลกรัม (หรือ เรียกว่า ขี้เค้ก, ขี้หม้อกรอง) ถ้าไม่มี ให้เพิ่มมูลสัตว์เข้าไปอีก 30 กิโลกรัม
4.น้ำหมักชีวภาพ 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหมักชีวภาพจากเศษผัก เศษปลา เป็นต้น เพราะมีจุลินทรีย์ในการย่อยสลายเศษพืชอยู่
5.หินฟอสเฟส+แร่โดโลไมท์ อย่างละ ครึ่งกิโลกรัม สามารถหาซื้อได้ตามร้านการเกษตรทั่วไป
วิธีทำ
ฉีกถุงก้อนเชื้อเห็ดเก่าออก แล้วนำเชื้อเห็ดขึ้นเครื่องตีละเอียด หรือใช้มีดสับก้อนเชื้อเห็ดเก่า 1 ครั้ง แล้วสะบัดถุงออกก็ได้ จากนั้น คลุกส่วนผสมทั้งหมด ให้เข้ากัน ระหว่างคลุกส่วนผสมให้ใส่น้ำลงไป สังเกตความชื้นของวัสดุเป็นหลัก เช่น ก้อนเชื้อเห็ดมีความชื้นอยู่แล้ว ในน้ำหมักชีวภาพ 1 กิโลกรัม เติมน้ำเปล่า 10 ลิตร ถ้าวัสดุมีความชื้นอยู่มากก็ลดปริมาณน้ำลงเพราะความชื้นในกองปุ๋ยต้องอยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ วิธีการวัดคือ กำปุ๋ยให้แน่นแล้วแบมือออก ถ้าแตกบ้างเล็กน้อย คือ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่แตกเลยคือ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเปียกเยอะ หรือแบออกแล้วเป็นผง ไม่เกาะเป็นก้อน แสดงว่าความชื้นน้อยเกินไป ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เสร็จแล้วนำมากอง สูงไม่เกิน 70 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ร้อนเกินไป ความกว้าง 2 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่ ถ้ามักกลางแจ้งต้องมีผ้าคลุมกันฝน แต่ถ้าไม่ใช่ฤดูฝนอาจใช้ซาแรน หรือใบมะพร้าวคลุม หลังจากนั้น 3 วัน ให้กลับกองทุกวันเป็นเวลา 21 วัน ปุ๋ยจะเย็นและมีคุณภาพสูง ประมาณ 1 เดือนสามารถนำไปใช้ได้
หมายเหตุ : วิธีสังเกตว่าปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพสูงเป็นอย่างไร คือ
1) มีความเย็น ล้วงเข้าไป 1 ศอก มือไม่ร้อน ซึ่งความเย็นนี้ต้องเกิดจากกระบวนการหมัก ไม่ใช่รดน้ำลงไปจนแฉะ
2) เอาเนื้อปุ๋ยมาถูมือก็จะกรอบยุ่ย
3) กลิ่นไม่เหม็น ถ้าจะผลิตเพื่อจำหน่าย สูตรนี้ไม่เหมาะในการทำปุ๋ยอัดเม็ดเพราะต้องใช้ดินเหนียว 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คุณภาพปุ๋ยหายไป 40 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน และเวลานำไปใช้ พืชจะดูดได้ช้ากว่า
การนำไปใช้
1 กำมือ ต่อ ตารางเมตร ใช้รองก้นหลุมได้ ถ้าเป็นไม้ผลที่โตแล้วต้องเพิ่มปริมาณการใช้ เช่น อายุ 4-5 ปี ใส่รอบโคนต้น4-5 ถ้วย หรือ 1-2 กิโลกรัม ต่อ ตัน, ในนาข้าว, พืชไร่, พืชสวน ใส่ 30-60 กิโลกรัม ต่อ ไร่ ยางพารา ใส่ 1-2 กิโลกรัม ต่อตัน
สูตรการทำปุ๋ยหมักจากกากทะลายปาล์ม ของ ด.ต. สมนึก โมราศิลป์ เจ้าของสวนปาล์มแซมผักเหลียง เป็นการลดต้นทุนการทำปุ๋ยหมัก และการปลูกพืชผัก สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีกากทะลายปาล์มน้ำมัน ปุ๋ยหมักที่ทำจากกากทะลายปาล์มมีธาตุอาหารเกือบทุกธาตุ ทั้งธาตุหลัก และธาตุรอง ทำให้ดินร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดี ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ดูดซับธาตุอาหารในดินไม่ให้ถูกชะล้างได้ง่าย เพิ่มความต้านทานต่อความเป็นกรด-เป็นด่างของดิน และเพิ่มปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน หากในท้องถิ่นของผู้อ่านมีเศษพืชผัก หรือวัสดุอื่นๆ ที่ย่อยสลายทำปุ๋ยหมักได้ สามารถนำมาผสมกับ สูตรการทำปุ๋ยหมักจากกากทะลายปาล์ม ที่นำเสนอต่อไปนี้ได้
ส่วนผสม
(ปริมาณการผลิตที่ย่อยสมบูรณ์แล้ว 1 ตัน ถ้าทำมากหรือน้อยกว่านี้ให้เพิ่ม และลดปริมาณได้ หรือ หากนำวัสดุอื่นมาผสม ก็ลดปริมาณกากทะลายปาล์มรวมกับวัสดุดังกล่าวให้ได้ตามปริมาณที่กำหนด)
- กากทะลายปาล์มน้ำมัน 1,500 กิโลกรัม
- ปุ๋ยคอก 200 กิโลกรัม
(มูลสัตว์ เช่น ไก่, วัว หรือมูลอื่นๆ ที่สามารถหาได้) - ปุ๋ยไนโตรเจน(ยูเรีย 46-0-0) 2 กิโลกรัม
- สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 1 ½ ซอง
วิธีทำ (ทำกองปุ๋ยหมักเป็นชั้น 3-4 ชั้น ขนาด กว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร)
1. ละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 30 ลิตร คนให้เข้ากัน 15-20 นาที
2. แบ่งวัสดุแต่ละอย่างออกเป็น 3 ส่วน จากนั้น
กองชั้นที่ 1
- กองกากทะลายปาล์มชั้นที่ 1 สูง 50 เซนติเมตร ย่ำให้แน่น รดน้ำพอชุ่ม (ควรทำในร่ม)
- โรยทับด้วยมูลสัตว์
- โรยทับมูลสัตว์ด้วยปุ๋ยไนโตรเจน(ยูเรีย 46-0-0)
- คนน้ำสารละลายสารเร่งให้เข้ากัน แล้วราดให้ทั่วกอง 10 ลิตร
กองชั้นที่ 2 – 3
- ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 1
ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยหมัก
ปิดด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น ถ้าไม่มีหลังคาหรือเต็นท์บัง ให้ใช้ผ้าพลาสติกคลุมด้านบน ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน แล้วเริ่มพลิกกลับกองปุ๋ยหมักให้หมดพร้อมกับรดน้ำจนชุ่ม
การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก
1.รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ยให้ชุ่มอยู่เสมอ ให้มีความชื้นประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ อย่าปล่อยให้กองปุ๋ยร้อนเกินไปเพราะอาจจะทำให้จุลินทรีย์ตายได้
2.กลับกองปุ๋ยหมัก ทุกๆ 10 ถึง 15 วัน ต่อ 1 ครั้ง
3.ประมาณ 5-6 เดือน สังเกตที่ทะลายปาล์มว่าย่อยละเอียดไม่เป็นก้อน จึงนำไปใช้ได้แต่ถ้ายังไม่นำไปใช้ ควรนำไปเก็บไว้ในโรงเรือนป้องกันฝน
วิธีใช้
ใช้ปุ๋ยหมัก 30-50 กิโลกรัม ต่อต้น โดยขุดร่องตามแนวทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วใต้พุ่ม ถ้าเป็นพื้นที่ราบไม่ต้องขุดหลุม แต่ถ้าเป็นพื้นที่เชิงเขาต้องขุดหลุม สามารถใช้ในนาข้าว ไม้ผล พืชผักได้
ข้อแนะนำ ก่อนนำไปใช้ควรนำดินไปตรวจที่ศูนย์พัฒนาที่ดินเพื่อหาค่าของดินก่อน ว่าดินต้องการปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมีเท่าไหร่ ขาดธาตุอะไรบ้าง จากนั้นจึงใส่ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ของศูนย์พัฒนาที่ดิน เพื่อให้การให้ปุ๋ยเกิดประสิทธิภาพที่ดีต่อพืชผักมากที่สุด
สูตรการทำปุ๋ยหมักจากกากกาแฟ ของ คุณมนัส พุ่มมะปราง เจ้าของสวนเกษตรผสมผสานแนวอินทรีย์ นอกจากกากกาแฟจะมีประโยชน์ในการผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรืออาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ยังเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาทำปุ๋ยหมัก เพราะมีธาตุไนโตรเจนสูง ปุ๋ยหมักจากกากกาแฟมีไนโตรเจนสูงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ใช้ปรับปรุงดินได้ประสิทธิภาพมาก และช่วยลดการใช้สารเคมีได้เป็นอย่างดี การทำปุ๋ยหมักจากกากกาแฟ ยังสามารถผสมกากสมุนไพร เปลือกมันสำปะหลัง เปลือกผลไม้ หรือเศษพืชอื่นๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น แต่ถ้าจะให้เป็นปุ๋ยหมักเร็วขึ้น ควรเลือกวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่ย่อยสลายยาก เพราะมีองค์ประกอบของไขมันเช่นเดียวกันกับกากกาแฟมาเป็นส่วนผสม ข้อมูลชนิดของวัสดุที่มีองค์ประกอบเดียวกัน สามารถศึกษาได้จากบทความ ปุ๋ยหมัก การทำปุ๋ยหมักจากกากกาแฟสูตรนี้ใช้วิธีกองปุ๋ยแบบ ผสมทุกอย่างรวมกัน โค้งเป็นหลังเต่า ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
ส่วนผสม
- เศษพืชต่างๆ ที่สามารถหาได้ 8 ส่วน (เจ้าของสูตรใช้ กากกาแฟ กากสมุนไพร เปลือกเงาะ และเปลือกมันสำปะหลัง)
- ปุ๋ยคอก จากมูลสัตว์ต่างๆ ที่สามารถหาได้ 1 ส่วน (เจ้าของสูตรใช้ปุ๋ยคอกจากมูลวัว
ขี้ไก่แกลบ 1 ส่วน) - สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง
วิธีทำ
นำเศษวัสดุเหลือใช้ที่สามารถหาได้ทั้งหมดมาผสมกัน จากนั้นนำมูลวัว 1 ส่วน ขี้ไก่แกลบ 1 ส่วน มาผสมเพิ่มลงไป คลุกให้เข้ากัน รดน้ำและราดด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 คลุกเคล้าจนสารฯ เข้าไปทั่วกองปุ๋ย ทำกองปุ๋ยหมักเป็นรูปหลังเต่า ฐานกว้าง 2 เมตร สูงไม่เกิน 1.50 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่และความสะดวก หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ให้กลับกอง และกลับกองทุกสัปดาห์ ต่อ 1 ครั้ง พร้อมกับรดน้ำให้ชื้น บีบปุ๋ยแล้วน้ำไม่ไหลออกมา ทำแบบนี้ประมาณ 1 เดือน จึงพลิกกลับกองห่างออกไปเหลือเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 เดือน ต่อ 1 ครั้ง เมื่อปุ๋ยย่อยสลายหมดในเวลาประมาณ 3 ถึง 4 เดือน อุณหภูมิในกองปุ๋ยอยู่ที่ 30-40 องศาเซลเซียส หรือล้วงมือเข้าไปในกองปุ๋ยแล้วไม่ร้อนมากก็แสดงว่าใช้ได้
ถ้าทำเพื่อจำหน่ายอาจนำมาอัดเม็ดเพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ และขอขึ้นทะเบียนการค้า
วิธีใช้
สูตรการทำปุ๋ยหมักจากกากตะกอนอ้อย ของ กำนันสุริวงศ์ แห้วเพชร หมอดินอาสาดีเด่นด้านการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักจากกากตะกอนอ้อย สามารถเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ช่วยปรับดินให้ร่วนซุย ดินจะซับน้ำมีความชุ่มชื้นในดินแม้ในภาวะอากาศแล้ง พืชผลงอกออกมาได้ดีมาก ไม่เสียหาย มีอายุค่อนข้างยาว การคำนวณต้นทุนต่อตัน ปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีมาก แต่ปริมาณของปุ๋ยอินทรีย์ที่ให้กับพืชผลจะมีปริมาณมากกว่าปุ๋ยเคมีเมื่อเปรียบเทียบกันต่อไร่ ดังนั้น ต้นทุนไม่ต่างกัน แต่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีผลดีในระยะยาว ดินจะดีขึ้น และดีตลอดไป
สูตรการทำปุ๋ยหมักสูตรนี้ประยุกต์มาจากสูตรแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน
***คำแนะนำ—การกองปุ๋ย ควรทำในร่ม หรือถ้าเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ควรมีซาแรนคลุมด้านบน เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นระเหยเร็ว***
ส่วนผสม
- กากตะกอนอ้อย 1 ตัน
- มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
- สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง
- โมลาสที่ผสมน้ำจนหายหนืดแล้ว 20-30 ลิตร (กากน้ำตาล ราคากิโลกรัมละ 10 บาท)
หมายเหตุ : โมลาส กากน้ำเหลือง หรือ กากน้ำตาล คือ น้ำอ้อยที่ผ่านการต้ม เคี่ยวจนกลายเป็นเม็ดน้ำตาล สุดท้ายที่ดึงความหวานไม่ได้ คือ กากน้ำตาล ซึ่งมีความหวานต่ำ ไม่สามารถนำไปทำอะไรได้ แต่ปัจจุบันก็มีการนำกากน้ำตาลไปใช้ทำปุ๋ย ใช้เลี้ยงสัตว์ ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ใช้ในอุตสาหกรรมยีสต์ ใช้ทำผงชูรส ใช้ทำกรดน้ำส้ม เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ก็จะนำไปใช้ประโยชน์อยู่ 2 ประการ คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ และใช้ผลิตแอลกอฮอล์
วิธีทำ
นำส่วนผสมมาคลุกเคล้ากัน ถ้าปริมาณน้อยอาจทำเป็นชั้นเริ่มจากการตะกอนอ้อย ชั้นต่อไปคือมูลสัตว์ สลับกันไปแบบนี้ให้ความสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ที่สามารถกลับกอง ตรวจความชื้นได้สะดวก แต่ถ้าปริมาณมากให้ผสมกันแล้วกองเป็นทรงแบบไหนก็ได้แล้วแต่ถนัด จากนั้นรดน้ำตามจนชุ่ม เมื่อได้กองปุ๋ยทั้งสองแบบแล้วให้ราดด้วยโมลาสผสมน้ำทุก 7 วัน (ทำ 3 ครั้ง) รวมประมาณ 5-7 ครั้ง เมื่อปุ๋ยเริ่มแห้งจับไม่เป็นก้อน แสดงว่าจุลินทรีย์จะหยุดทำงาน ให้รดน้ำเติมเข้าไปพร้อมกับกลับกองเพื่อระบายความร้อน ช่วงแรกจะมีเชื้อรา เห็ดขึ้น และเมื่อจับปุ๋ยขึ้นมาจะร้อน 50-60 องศาเซลเซียส แสดงว่าใช้ได้ เพราะจุลินทรีย์กำลังทำงานย่อยอินทรียวัตถุชิ้นใหญ่ให้เป็นชิ้นเล็ก หลังจากย่อยไปประมาณ 1 เดือน อุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ แต่ระหว่างนั้นต้องกลับกองบ่อยๆ และเติมอาหารของจุลินทรีย์นั่นคือ โมลาส ระยะเวลาการหมักอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือน สามารถนำมาใช้งานได้ โดยสังเกตได้จากการใช้มือล้วงเข้าไปที่ปุ๋ยลึกๆ ถ้าอุณหภูมิปกติ สีของกากตะกอนอ้อยเริ่มเป็นสีเทา น้ำตาล แสดงว่าปุ๋ยหมักนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย
วิธีใช้
ใช้ได้กับพืชทุกชนิด ในปริมาณที่ต่างกัน เช่น ไร่อ้อยปลูกใหม่ ให้นำไปกองในไร่ ใช้รถไถเกลี่ยให้สม่ำเสมอ แล้วไถกลบไว้ ใช้ผาล 4 ขุดดินให้ลึก ผาล 7 ตีดินให้ละเอียด รอฝนตกก็สามารถปลูกอ้อยได้เลย แต่ถ้าเป็นตออ้อยจะใช้วิธีการฝังปุ๋ย คือใช้เครื่องฝังโดยใส่ปุ๋ยไว้ท้ายรถไถ ซึ่งจะมีตัวขุดแล้วปล่อยปุ๋ยลงไป หรือใช้วิธีการหว่านก็ได้ ส่วนพืชชนิดอื่นให้ใส่ในไร่แล้วไถกลบได้เลย หรือถ้าเป็นผลไม้ให้ขุดหลุมลึก 50-70 เซนติเมตร แล้วเอาปุ๋ยหมักรองก้นหลุมก่อนปลูก และเมื่อใช้ในสวนแล้วยังเหลือก็สามารถจำหน่ายได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่