เกษตรผสมผสาน : การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง
เกษตรผสมผสาน : การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง เป็นอีกหนึ่งแนวทางสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีรายได้หมุนเวียน แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เป็นการแก้ปัญหาให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอบทความ ‘เกษตรผสมผสาน : การปลูกพืชแซมสวนยาง’ ไปก่อนหน้านี้ การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง เป็นการนำการปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ปีกและแมลงเศรษฐกิจ และการประมง มาผสมผสานในพื้นที่ว่างระหว่างต้นยางพาราให้เป็นประโยชน์และรายได้ บทความนี้ผู้เขียนนำการเลี้ยงด้วงสาคู และหนอนนกมาให้เรียนรู้วิธีเลี้ยง และวิธีดูแล เพื่อให้ การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง เป็นทางเลือกในการทำเกษตรแบบผสมผสาน
ด้วงสาคู
ด้วงสาคู หรือด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงลาน หรือแมงหวัง เป็นแมลงพื้นบ้านที่รู้จักกันดี และเป็นที่นิยมในการบริโภคโดยเฉพาะทางภาคใต้ มีคุณค่าทางอาหาร ให้โปรตีนและพลังงานสูง แต่เป็นแมลงศัตรูพืชที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร เป็นอันตรายต่อพืชตระกูลปาล์ม เช่นสาคู ลาน และมะพร้าว เป็นต้น สภาพอากาศของทางภาคใต้ของไทยเหมาะในการเลี้ยงด้วงสาคูมากที่สุด ปัจจุบัน ตัวหนอนของด้วงกำลังเป็นที่นิยมของการเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อนำไปรับประทาน มีราคาซื้อขายที่สูงถึงกิโลกรัมละ 200 ถึง 300 บาท โดยระยะจากไข่-หนอน-ดักแด้ใช้เวลา 60 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 2 ถึง 3 เดือน
การเลี้ยงด้วงสาคู
การคัดเลือกพันธุ์
- คัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ด้วงสาคูที่มีตัวโตแข็งแรง มีอวัยวะครบส่วน
รูปแบบการเลี้ยง
การเลี้ยงด้วงสาคู มี 2 แบบ คือ
- แบบดั้งเดิม โดยใช้ท่อนสาคู หรือท่อนลาน ความยาวท่อนละ 50 เซนติเมตร ใช้อัตราส่วนพ่อพันธุ์ 2 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 4 ตัว ต่อท่อนสาคูหรือท่อนลาน ประมาณ 40 ถึง 45 วัน สามารถจับด้วงสาคูออกขายได้
- แบบประยุกต์ โดยใช้กะละมังขนาดกว้าง x ยาว x สูง = 38x38x15 เซนติเมตร อัตราพ่อพันธุ์ 4 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 6 ตัว ต่อ 1 กะละมัง ทิ้งไว้ประมาณ 25 ถึง 30 วัน สามารถจับด้วงสาคูออกจำหน่ายได้
การให้อาหารและน้ำ
พืชอาหารหลัก ได้แก่ ต้นสาคูบด กล้วย มันสำปะหลัง และขุยมะพร้าว เป็นต้น
อาหารเสริม ได้แก่ อาหารหมูสำเร็จรูป (หัวอาหารใช้เลี้ยงหมู)
การผสมอาหารเลี้ยงด้วงสาคู
- แป้งสาคูที่บดแล้ว 1 ปี๊บ ผสมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ช้อนโต๊ะ กากนํ้าตาล 1 ช้อนโต๊ะ อาหารหมูใหญ่ 0.5 กิโลกรัม นํ้าประมาณ 2 ลิตร
- นำมาใส่ในกะละมัง ในปริมาณอย่างน้อย 2 ใน 3 ส่วน ของกะละมัง
- หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมง (ถ้าไม่หมักด้วงจะลงไปอาศัยอยู่ด้านล่างและกินอาหารได้ไม่ดี)
การผสมอาหารเสริมเลี้ยงด้วงสาคู
- ใส่สาคูบดจนเกือบเต็มกะละมัง และใส่อาหารหมูลงไปประมาณ 2 ขีด
- ละลายกากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ลิตร ใส่ในกะละมังอาหารที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้เข้ากันอัดจนแน่นพอประมาณ
- ละลายอาหารหมูให้เหลว ใส่ในกะละมังอาหารที่อัดจนแน่นแล้ว วางเปลือกสาคู หรือแผ่นไม้เป็นชั้นบนสุด
วิธีเลี้ยงด้วง
- เมื่ออาหารที่เตรียมพร้อมแล้ว นำพ่อ-แม่พันธุ์มาปล่อย 4 หรือ 5 คู่ (ตัวผู้งวงข้อที่ 1 มีขนขึ้นชัดเจน ส่วนตัวเมียไม่มี ตัวผู้หรือพ่อพันธุ์จะมีขนาดเล็กกว่าแม่พันธุ์) การเลี้ยงหากใส่พ่อ-แม่พันธุ์มากเกินไปจะไม่ได้ผลดี เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนของพ่อ-แม่พันธุ์ ด้วงที่ได้มากเกินไปทำให้อาหารไม่พอ ส่งผลให้ด้วงมีขนาดที่แตกต่างกันมากเกินไป
- หลังจากปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ประมาณ 10 ถึง 15 วัน ให้จับขึ้นมาจากกะละมัง จะเห็นว่าตัวด้วงจะมีขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ
พ่อ-แม่พันธุ์ที่จับขึ้นมา สามารถนำไปใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้อีก 2 ครั้ง แต่ต้องนำมาพักฟื้นอย่างน้อย 3 วัน โดยให้กล้วยน้ำว้าสุกกับสาคูบดเป็นอาหารเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ช่วงพักฟื้น ตัวเต็มวัยจะกินกล้วย 1 ผล ต่อ25 ตัว ต่อ 1 คืน - ตัวด้วงขนาดหัวไม้ขีดไฟจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ระยะนี้ดูแลความชื้นอาหารให้คงที่ คือ ประมาณ 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
หากอาหารมีความชื้นมากเกินไปจะทำให้พ่อ-แม่พันธุ์ตาย หรือไข่ที่ออกมาไม่ฟักเป็นตัวด้วงและตายในที่สุด หรือแม่พันธุ์อาจจะไม่ว่างไข่ หากความชื้นน้อย ด้วงจะมีขนาดตัวที่เล็ก - หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน สามารถจับตัวหนอนด้วงสาคูออกจำหน่ายได้
วิธีการทดสอบความชื้นอาหาร
- กำอาหารเป็นก้อนจะมีน้ำไหลออกระหว่างนิ้วมือเล็กน้อยแสดงว่ายังมีความชื้นในอาหารอยู่ ตัวด้วงจะเจริญได้ดี ให้น้ำหนักมาก (200 ตัว ต่อกิโลกรัม) และมีอัตราการตายน้อย
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรเพิ่มอาหารใหม่หรือเสริมอาหารใหม่เข้าไปหลังจากเลี้ยงในกะละมัง เพราะอาหารใหม่จะมีความร้อนสูงทำให้ด้วงไม่กินอาหาร ขนาดตัวเล็ก และตายในที่สุด
- ดูแลเรื่องของความชื้นให้ได้ 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่เสมอ
- กำจัดแมลงศัตรูไม่ให้เข้ามารบกวน
- ห้ามใช้สารฆ่าแมลงในขณะที่พ่อ-แม่พันธุ์วางไข่ เพราะจะทำให้พ่อ-แม่พันธุ์ไม่วางไข่หรือไข่จะลีบ
- นำพ่อ-แม่พันธุ์ออกจากกะละมังเพาะภายในไม่เกิน 15 วัน หลังการเพาะ
โรคและแมลงศัตรูด้วงสาคู
โรคด้วงสาคู
ได้แก่ โรคทางเดินอาหาร
ศัตรูด้วงสาคู
ได้แก่ นก หนู และไก่
การเก็บผลผลิต
- นำตัวหนอนด้วงสาคูมาเลี้ยงในอาหารกากมะพร้าวขูดประมาณ 1 ถึง 2 วัน จึงเก็บตัวหนอนมาล้างน้ำให้สะอาด
- แช่น้ำเกลือทิ้งไว้ประมาณ 10 ถึง 30 นาที เพื่อล้างสิ่งสกปรก ทั้งภายในและภายนอกตัวหนอนออกและตามด้วยการล้างด้วยน้ำปูนใสอีกครั้ง หรือลวกน้ำร้อนก่อนที่จะนำไปประกอบอาหารโดยการ นึ่ง ผัด หรือ ทอด
หนอนนก
เป็นตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่ง เมื่อโตเต็มวัยจะกลายเป็นแมลงปีกแข็งสีดำ เรียกว่า Meal-Beetle แม่พันธุ์ 1 ตัว วางไข่ 1 ถึง 2 ฟอง ต่อวัน หรือ 80 ถึง 85 ฟอง ต่อแม่พันธุ์ หนอนนกมีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะโปรตีนและไขมัน จึงเหมาะในการนำไปเลี้ยงเป็นอาหารสัตว์น้ำ และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลา รวมถึง นก ไก่ ฯลฯ หนอนนกมีหลายขนาด มีช่วงเวลาการเป็นหนอนยาวนาน
การเลี้ยงหนอนนก
การเตรียมอุปกรณ์
- โรงเรือน โดยใช้มุ้งเขียวล้อมรอบเพื่อป้องกันศัตรูของหนอน มีการระบายอากาศให้ปลอดโปร่งได้ดี มีความชื้นเล็กน้อย หนอนนกจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
- เตรียมถาดอะลูมิเนียม ขนาด 8×10 นิ้ว ขอบสูงประมาณ 2 ถึง 3 นิ้ว เพื่อไม่ให้หนอนคลานออกมานอกถาด และชั้นวางถาดป้องกันมด
- ตะแกรงร่อนเพื่อแยกตัวหนอน
- พัดลมระบายอากาศ
ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยง
- นำถาดอะลูมิเนียมหรือถาดพลาสติกใส่อาหารไก่ไข่ อายุเกิน 20 ถึง 35 สัปดาห์ ประมาณ 400 ถึง 500 กรัม ต่อถาด นำพ่อ-แม่พันธุ์หนอนนกจำนวน 300 ถึง 400 ตัว ใส่ถาด นำพืชผักที่มีส่วนประกอบของน้ำจำนวนมาก เช่น มะละกอ ผักบุ้ง แครอท แอปเปิ้ล คึ่นช่าย หรือผักกาดหอม เป็นต้น ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นๆ หรือเด็ดเป็นใบให้ทุก 2 ถึง 3 วัน และควรระวังอย่าให้เศษอาหารเน่าหรือตกค้าง
- หลังจากนั้นประมาณ 7 ถึง 10 วัน ให้นำตะแกรงร่อนไข่ มาร่อนแยกออกจากพ่อแม่หนอนนกโดยไข่หนอนนกจะปะปนออกมาพร้อมอาหารที่ร่อน แยกใส่ถาดอะลูมิเนียมถาดใหม่ ส่วนพ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากการร่อน ให้นำไปเลี้ยงตามขั้นตอนที่ 1 เพื่อให้พ่อแม่วางไข่และคัดแยกตัวที่ตายออก (มูลหนอนนกสามารถใช้เป็นปุ๋ยเร่งใบ และใช้เป็นอาหารปลากินพืชได้)
- ไข่ของหนอนใช้ระยะเวลา 7 ถึง 10 วัน จะฟักออกเป็นตัวหนอน ทุกๆ 7 ถึง 10 วัน ทำการร่อนตัวหนอน เพื่อเปลี่ยนอาหาร แต่ทั้งนี้ให้สังเกตก่อนว่าหากหนอนกินอาหารหมด อาหารจะมีลักษณะละเอียด จึงทำการร่อนตัวหนอน ใส่อาหารใหม่ ตัวหนอนจะเจริญเติบโตและมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 2.5 ถึง 3 เซนติเมตร ในระยะเวลาประมาณ 45 ถึง 50 วัน
- ตัวหนอนที่มีอายุประมาณ 70 ถึง 80 วัน จะเริ่มพัฒนาเข้าสู่ระยะดักแด้ ในช่วงนี้ระหว่างร่อนตัวหนอนเพื่อเปลี่ยนอาหาร จะต้องทำการคัดเลือกแยกดักแด้ออกมาใส่ถาดอื่น ช่วงนี้มีระยะเวลาประมาณ 5 ถึง 7 วัน และไม่กินอาหาร จึงไม่ต้องใส่อาหารลงในถาด
- หลังจากฟักระยะดักแด้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน จะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย มีลักษณะเป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวสีน้ำตาลดำ สามารถใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ โดยมีอายุตั้งแต่ 60 ถึง 80 วัน นำเอาด้วงตัวเต็มวัยออกจากภาชนะใส่ดักแด้ทันที เพราะตัวเต็มวัยจะเริ่มกินดักแด้ตัวอื่นๆ ถ้าไม่ได้ถูกย้ายออกอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : หนังสือ รวยด้วย…อาชีพเสริมในสวนยาง สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)