มะละกอ

มะละกอ

มะละกอ

เมื่อได้ยินชื่อนี้เรามักจะนึกถึงส้มตำกันเป็นอันดับแรก สาวๆ ส่วนใหญ่นิยมรับประทานส้มตำมะละกอเพื่อรักษาหุ่น มะละกอ เป็นผลไม้ที่รับประทานได้ทั้งดิบ สุก สด และปรุงสุก ซึ่งเป็นความพิเศษของมะละกอที่มีความหลากหลายในรูปแบบรับประทาน แถมพกพาความอร่อยไปกับทุกรูปแบบนั้นด้วย การรับประทานมะละกอตามวิถีไทยนั้น นำมะละกอมาเป็นส่วนประกอบอาหาร รับประทานสดเป็นผลไม้ และเป็นยาแก้ท้องผูกชั้นดี อาหารที่มีมะละกอเป็นเครื่องชูรส เช่น ส้มตำ แกงส้ม แกงเหลือง แกงป่า และผัดใส่ไข่ เป็นต้น

ส่วนการรับประทานมะละกอสดเป็นผลไม้หลังมื้ออาหาร หรือรับประทานแก้ท้องผูก บางคนก็จะบีบมะนาวให้ทั่วจานมะละกอสีส้มที่หั่นเป็นชิ้นๆ ไว้ แล้วจิ้มเกลือ ได้สามรส หวาน เปรี้ยว เค็ม หรือรับประทานเปล่าๆ ได้รสชาติฉ่ำหวานของมะละกอสุกก็เป็นที่นิยมกันมาแต่ดั้งเดิม เมื่อพูดถึงความนิยมที่มีมาแต่ดั้งเดิม ทราบมั๊ยคะว่า แต่ดั้งเดิมของมะละกอกำเนิดมาจากไหน?….มะละกอกำเนิดเกิดขึ้นในอเมริกากลาง แล้วเดินทางมาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี จนมีเกลื่อนตาตามบ้านเรือนทั่วไปในสมัย 4.0 นี้ หลายๆ คนน่าจะคิดว่ามะละกอเป็นผลไม้ไทยไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะไม่มีชาติใดในโลกนำมะละกอมาทำเป็นอาหารรสจัดจ้าน เป็นอาหารขึ้นชื่ออย่างชาวไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และส้มตำก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของอาหารไทย ข้อนี้ต้องยกนิ้วให้ผู้ที่ริเริ่มนำมะละกอมาทำส้มตำเป็นคนแรกนะคะ มะละกอที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด ที่เราพบเห็นมีไม่กี่สายพันธุ์ มาทำความรู้จักกับมะละกอกันให้มากขึ้นนะคะ ว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้าง สายพันธุ์ใดเหมาะรับประทานแบบไหน ประโยชน์และโทษของมะละกอมีอะไรบ้าง? ติดตามในบทความนี้ได้เลยค่ะ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะละกอ
มะละกอเป็นไม้ผลล้มลุก อายุหลายปี ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีเกือบทุกสภาพอากาศ
ลำต้น ตั้งตรง ด้านในกลวง ส่วนใหญ่จะไม่มีกิ่งก้าน ผิวเปลือกลำต้นสีเขียวอมเทา มียางสีขาวอยู่ในเนื้อลำต้น และมีรอยแผลจากการหลุดของก้านใบตลอดลำต้น
ใบ เป็นใบเดี่ยว ก้านใบยาวเป็นท่อกลวง โคนใบเว้า ใบมีหลายแฉก ขอบใบแต่ละแฉกจะหยักลึก มีเส้นกลางใบและเส้นร่างแหของใบเห็นชัดเจนทุกแฉก ผิวใบสีเขียว ส่วนท้องใบจะมีสีเขียวอ่อนกว่า
ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกสีขาวนวล กลิ่นหอม ก้านดอกยาว มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกไม่สมบูรณ์เพศ
ผล ผลมีลักษณะยาวเรียว ปลายแหลมกว่าหัว บางสายพันธุ์มีผลกลมมน ผิวเปลือกบางมีความขรุขระเล็กน้อย รอบผลอาจจะมีร่องตื้นเป็นระยะๆ ผลสดมีเนื้อสีขาวเปลือกสีเขียว ผลสุก เปลือกจะมีสีเหลืองส้ม หรือเขียวอมเหลือง เนื้อด้านในสีส้มสด รสหวาน มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก
เมล็ด กลมรี เมล็ดอ่อนสีขาว เมล็ดแก่สีดำ มีเมือกหุ้ม
สายพันธุ์มะละกอ
สายพันธุ์มะละกอที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบัน ได้แก่

   

 

 

 

 

 

  1. พันธุ์ส้มตำ เป็นมะละกอลูกผสม ทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรและผู้ส่งออกไทย มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นใหญ่ แข็งแรง การติดผลดก ทนทานต่อสภาพอากาศหนาวจัดและร้อนจัด ทนทานต่อโรคใบจุดวงแหวน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และโรครากเน่า ผลเน่า มะละกอลูกผสม พันธุ์ส้มตำนี้มีความกรอบ อร่อย เหมาะสำหรับทำส้มตำ เก็บไว้ 5 ถึง 7 วัน ก็ยังมีคุณภาพดี ทนทานต่อการขนส่ง ให้ผลเร็ว อายุการเก็บเกี่ยว 7 ถึง 8 เดือน ทรงผลยาวประมาณ 33 ถึง 35 เซนติเมตร สีเนื้อเป็นสีเหลือง
  2. พันธุ์พื้นเมือง เป็นมะละกอที่ปลูกกันมานาน ผสมข้ามสายพันธุ์ตามธรรมชาติเอง ขนาดผลมีตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดเล็ก เนื้อบาง ช่องว่างในผลกว้าง ผลสุกเนื้อจะค่อนข้างเละ จึงเหมาะในการบริโภคดิบ ออกดอกติดผลช้า แต่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ไม่แนะนำให้ปลูกเพื่อการค้า
  3. พันธุ์แขกดำ เป็นสายพันธุ์ที่ครองอันดับความนิยมปลูกและนิยมรับประทานกันมากที่สุดมาหลายปี ขนาดผลเกือบเท่ากันทั้งผล เปลือกหนา ขนาดผลมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ผลสุกมีรสหวาน ช่องว่างในผลแคบ เนื้อแข็งสีส้มจัดหรือสีแดง มีเมล็ดน้อย ผลดิบที่นิยมนำมาทำส้มตำ จะเก็บเกี่ยวในขณะที่มีน้ำหนักประมาณ 500 ถึง 750 กรัม
  4. พันธุ์แขกนวล ต้นเตี้ย ออกดอกติดผลเร็ว มีลักษณะคล้ายพันธุ์แขกดำมาก แต่สีผลมีสีเขียวอ่อนกว่า ผิวผลเรียบ เนื้อผลแน่น มีสีแดง นิยมนำผลดิบมาทำส้มตำมากกว่าพันธุ์แขกดำในตลาดทางภาคอีสาน
  5. พันธุ์โกโก้ เป็นมะละกอต้นเล็กๆ มีจุดประสีม่วง ปลายผลเล็กเรียว ส่วนใกล้ขั้วผลเป็นรูปทรงกระบอกใหญ่ ผิวผลค่อนข้างเรียบ ช่องว่างระหว่างผลเป็นเหลี่ยมชัดเจน ช่องว่างในเนื้อผลกว้าง เหมาะสำหรับรับประทานสุก
  6. พันธุ์สายน้ำผึ้ง มีขนาดผลค่อนข้างใหญ่ ด้านขั้วผลจะเล็กและขยายใหญ่ที่ปลายผล มีรสชาติหวาน เมื่อสุกมีสีส้มปนเหลืองหรือสีส้ม
  7. พันธุ์ปากช่อง 1
    เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะผลเล็กที่ได้รับความนิยมมากจากตลาดผลไม้ของยุโรป มีความหวานประมาณ 12 ถึง 14 องศาบริกส์ ก้านใบมีสีเขียวปนม่วง เริ่มเก็บผลได้รุ่นแรกในระยะประมาณ 8 เดือน และสามารถเก็บผลต่อตลอดช่วงอายุอีก 18 เดือน สายพันธุ์นี้สามารถทนต่อโรคใบด่างได้ดี
  8. พันธุ์ท่าพระ 50
    เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างพันธุ์แขกดำ (แม่พันธุ์) กับพันธุ์ฟลอริดาทอเลอแรนท์ ทำให้มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นเตี้ย ความสูงเฉลี่ยประมาณ 1.30 เมตร เท่านั้น ใบมีสีเขียวเข้มที่ทนต่อโรคใบจุดวงแหวนได้ดี ให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ สามารถออกผลเร็วหลังจากย้ายกล้าปลูกเพียงระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เท่านั้น เก็บเกี่ยวครั้งแรกในระยะเพียง 6 ถึง 7 เดือน ผลมีขนาดกลาง เรียวยาว ให้น้ำหนักต่อผลประมาณ 1.5 กิโลกรัม ผลดิบให้เนื้อกรอบเหมาะสำหรับการทำส้มตำ ผลสุกมีลักษณะสีเหลือง รสชาติหวานนิยมรับประทานผลสุกด้วยเช่นกัน
  9. มะละกอพันธุ์ครั่ง
    มะละกอพันธุ์ครั่งนี้ เมื่ออายุได้ประมาณ 1 ถึง 3 เดือน จะมีสีแดงอมม่วงอ่อน ตามก้านใบ เป็นจุด ๆ ตามลำต้นสีเหมือนครั่งจึงเรียกกันว่า มะละกอพันธุ์ครั่ง และเมื่ออายุ 5 เดือน สีที่ก้านและจุดตามลำต้นจะหายไป ผล มีความยาวเฉลี่ย 47 เซนติเมตร บางผลยาวถึง 60 เซนติเมตร
  10. มะละกอฮอลแลนด์ หรือ เรดมาลาดอ ปลักไม้ลาย และเซกากิ ติดผลดก รูปทรงกระบอกคล้ายลูกฟักอ่อน อายุเก็บเกี่ยว 8 เดือน เนื้อหนา ไม่เละ
  11. เรดเลดี้ เป็นมะละกอที่ให้ผลผลิตเร็ว ผลสุกมีรสหวาน เนื้อแข็ง ทนทานต่อการขนส่ง จุดเด่นอยู่ที่เนื้อของผลสีสวย แดงออกชมพู จัดว่าเป็นมะละกอที่จำหน่ายได้ราคาดี

ประโยชน์จากแต่ละส่วนของมะละกอ
ราก นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาว ใช้ทาแก้เคล็ดขัดยอก หรือนำมาต้มดื่มกับน้ำสะอาดช่วยขับปัสสาวะ
ใบ นำใบมะละกอสดมาย่างไฟหรือลวกด้วยน้ำร้อน แล้วนำมาประคบบริเวณที่ปวดตามร่างกาย ช่วยลดอาการปวดบวม ช่วยรักษาผื่นคันตามผิวหนัง
ยาง ใช้ฆ่าพยาธิ ช่วยรักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น ผดผื่นคัน กลาก เกลื้อน และโรคน้ำกัดเท้า เป็นต้น นอกจากนี้ยางมะละกอยังสามารถใช้หมักเนื้อสัตว์ต่างๆให้นุ่มได้อีกด้วย
ผล เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในการขับถ่าย บำรุงผิวและสายตา ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ ต่อต้านมะเร็ง บรรเทาอาการปวดหลังและปวดตามข้อรวมทั้งยังเหมาะสำหรับเป็นอาหารหลังคลอดบุตรได้เป็นอย่างดีเนื่องจากช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม

ประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ จากการรับประทานมะละกอ

  • มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอวัย
  • ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
  • ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ลดพุง สลายไขมัน
  • นำมาทำเป็นยารักษาโรคนิ่วในระบบปัสสาวะได้ แก้ขัดเบา
  • เป็นผลไม้บำรุงสมอง ทำให้เซลล์ประสาททำงานได้ดีขึ้น
  • เป็นยาบำรุงหัวใจ เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • รักษาโรคเกลื้อน และช่วยรักษาแผลพุพอง เป็นหนองได้ (มะละกอดิบ)
  • ช่วยล้างลำไส้ ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
  • ช่วยบำรุงผิว นำมาขัดผิวให้เนียนนุ่มขึ้นได้
  • ช่วยรักษาแผลสด แผลอักเสบ น้ำร้อนลวกได้
  • ช่วยลดอาการคัน และช่วยลดผดผื่น หรือผิวบวมแดงได้
  • เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังลดความอ้วน เพราะมะละกอมีแคลอรี่ต่ำ ที่ให้พลังงานมาก
  • ช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้

 

การนำมะละกอมาใช้ประโยชน์ …ด้านความงาม

สูตรเพื่อผิวเนียนใส ตึงกระชับ

  • มะละกอสุก+น้ำผึ้ง
    – นำเนื้อมะละกอสุกมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง
    – นำมาพอกทิ้งไว้ในจุดต่างๆ ของร่างกายตามข้อพับ และรอยดำ ประมาณ 10-15 นาที จะช่วยให้บริเวณที่หยาบกร้านและหมองคล้ำแลดูเนียนนุ่มน่าสัมผัส

 

 

 

 

สูตรลดสิว ลดผดผื่น

  • มะละกอสุก+น้ำมะนาว
    – นำเนื้อมะละกอสุกมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาวพอกทับสิว หรือผดผื่นที่ขึ้นตามผิวหนัง ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด มะละกอจะช่วยดูดซับสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง ส่วนมะนาวช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในสิว ทั้งมะละกอและมะนาวจะช่วยให้สิวยุบเร็วขึ้นอย่างอ่อนโยน

 

สูตรขัดผิวให้เนียนนุ่ม ขาวใส

  • เนื้อมะละกอสุก+น้ำนม+เกลือขัดผิว
    – นำเนื้อมะละกอสุกมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำนมและเกลือขัดผิว ใช้ขัดผิวกายให้เนียนนุ่ม วิตามินซีในมะละกอจะช่วยให้ผิวสุขภาพดี น้ำนมที่ทำให้ผิวใสตึงกระชับ เป็นอาหารผิวที่ดีมากๆ สำหรับผู้ที่มีผิวแห้งกร้าน ขัดเบาๆ ทุกครั้งก่อนอาบน้ำจะช่วยให้ผิวรู้สึกสดชื่น และมีสีขาวอมชมพูขึ้น

 

 

สูตรพอกหน้าลดริ้วรอย หน้าเนียนใส

  • เนื้อมะละกอสุก + โยเกิร์ต
    – นำมะละกอสุกมาบดให้ละเอียดผสมกับโยเกิร์ต พอกหน้าช่วยให้ผิวมีน้ำหล่อเลี้ยง เนียนนุ่มชุ่มชื้นขึ้น ช่วยลดริ้วรอย และเหมาะสำหรับบำรุงผิวหน้าที่ต้องเจอกับฝุ่นควัน และมลพิษทางอากาศเป็นประจำ

 

 

 

สูตรพอกหน้าลดสิวเสี้ยน และรอยดำ

  • เนื้อมะละกอสุก + ไข่ขาวดิบ
    – นำไข่ขาวดิบผสมกับเนื้อมะละกอบดละเอียดพอกลงบริเวณที่มีรอยดำ และสิวเสี้ยน ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะทำให้ผิวบริเวณรอยดำเนียนใสขึ้น และสิ่งสกปรกสะสมบริเวณผดผื่นสิวเสี้ยนจะหายไป สูตรนี้สามารถทำได้บ่อยตามต้องการ ไม่ทำให้ระคายเคืองผิว

 

 

 

สูตรลดรอยแผลที่เกิดจากสิว

  • เนื้อมะละกอสุก + ว่านหางจระเข้
    – นำเนื้อมะละกอบดละเอียดผสมกับเนื้อว่านหางจระเข้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน หรือจะผสมมะละกอบดละเอียดเข้ากับเจลว่านหางจระเข้ก็ได้ จากนั้นนำมาพอกบางๆ บริเวณรอยแผลที่เกิดจากสิว จะช่วยให้รอยแผลนั้นดูจางลง และทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น

 

โทษของมะละกอดิบ
อาหารทุกชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปก็มักจะมีโทษตามมา มะละกอก็เช่นกัน การรับประทานมะละกอดิบในปริมาณที่มากเกินไป หรือรับประทานเป็นประจำอาจจะทำให้ขาดสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น การรับประทานเพื่อลดน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอสูง การได้รับวิตามินเอในปริมาณมากจะมีผลเสียทำให้กระดูกบาง เปราะ ผมร่วง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผิวหนังลอก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับมะละกอกันมากขึ้นแล้ว ไปติดตามวิธีปลูกจากบทความ การปลูกมะละกอ บทความการขยายพันธุ์มะละกอ และวิธีป้องกันกำจัดโรคและแมลงในบทความ ‘โรคและแมลงศัตรูมะละกอ’ ด้วยนะคะ

(แหล่งข้อมูล : www.sukkaphap-d.com, www.sentangsedtee.com, www.puechkaset.com, www.technologychaoban.com, หนังสือ ตามไปดู…เทคนิคมะละกอดก ทำเงินได้…ไม่ยาก สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *