ผักสวนครัว

ผักสวนครัว รั้วกินได้
บ่งบอกถึงลักษณะการปลูกผักไว้ในบริเวณครัวเรือน ริมรั้ว ที่อยู่อาศัย ไว้ใช้ประโยชน์ในการบริโภคในครอบครัว ใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยในการเพาะปลูกของวิถีไทยในอดีตเรื่อยมา จนทุกวันนี้กลายเป็น การปลูกผักสวนครัวเพื่อการค้า ที่เกื้อหนุนให้เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายขึ้นในสังคมที่ใช้เวลาในการทำงานเป็นหลัก

ผู้คนในเมืองหันมาประกอบอาชีพเสริมด้วยการปลูกผักสวนครัวแนวตั้ง ใช้พื้นที่ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือปลูกบนพื้นดินในรูปแบบเดิม หรือปลูกแบบไร้ดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง ท่านที่สนใจอยากลองปลูก ผู้เขียนมีข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ผักสวนครัว มาให้ศึกษากันในบทความนี้ และบทความ การปลูกผักสวนครัว และ ‘โรคและแมลงศัตรูผักสวนครัว’ ลองติดตามดูนะคะ ว่าข้อมูลและขั้นตอนต่างๆ ที่เก็บมาฝากกัน เมื่อไปปฏิบัติในการปลูกได้ผลเพียงใด…ลองซักนิด ไม่เสียหลายค่ะ

เราได้ประโยชน์อะไรจากการปลูกผักสวนครัว? …มีคำตอบค่ะ
ประโยชน์จากการปลูกผักสวนครัว

  • สมาชิกในครอบครัวได้รับประทานผักที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนและปลอดภัยจากสารพิษ
  • ใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรค เช่น หอม กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ และสะระแหน่ เป็นต้น
  • ช่วยลดรายจ่ายและสามารถจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
  • ใช้ประดับตกแต่งบริเวณบ้าน หรือทำเป็นรั้วบ้าน โดยปลูกล้อมกั้นเป็นเขตของบ้าน เช่น กระถิน ชะอม ตำลึง หรือมะระ เป็นต้น
  • เป็นการใช้เวลาว่างและพื้นที่ว่างภายในบ้านให้เป็นประโยชน์ของครอบครัว
  • ช่วยให้เกิดกิจกรรมร่วมกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว

ข้อควรพิจารณาในการปลูก

  1. สถานที่และทำเลการปลูก
    – ควรอยู่ใกล้ที่พักอาศัย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านการปลูก การดูแลรักษา และสะดวกในการเก็บมาประกอบอาหารเมื่อมีความต้องการได้ทันที
    – มีแหล่งน้ำ
    – มีปริมาณแสงแดดที่เพียงพอ
    – หากมีพื้นที่จำกัด หรือไม่มีพื้นที่ดินในการปลูก สามารถปลูกในภาชนะ เช่น กระถางแขวน กาละมังเก่า กล่องพลาสติกเก่าเหลือใช้ และลังไม้ เป็นต้น
  2. การคำนวณพื้นที่ กำหนดขนาด และจำนวนแปลง ด้วยสภาพพื้นที่ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมเมือง มีข้อจำกัดหลายด้านในการเพาะปลูกพืช ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ดิน แสงแดด และน้ำ จึงต้องบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขนาดแปลงผักที่เหมาะสมในครัวเรือน คือ แปลงกว้างไม่เกิน 1×4 เมตร หรือความยาวตามขนาดของพื้นที่ ยกแปลงสูงอย่างน้อย 30 ถึง 50 เซนติเมตร จำนวนแปลงควรมีอย่างน้อย 3 แปลง คือ มีผักกินใบ 2 แปลง และผักกินผลหรือผักขึ้นค้าง 1 แปลง
  3. สภาพแสงและร่มเงา ซึ่งมีความจำเป็นในขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชเพื่อสร้างอาหาร ปริมาณแสงที่ได้รับในพื้นที่ปลูกต่อวัน มีผลต่อชนิดของผักที่ปลูก โดยแบ่งความต้องการแสงในการปลูกผัก ดังนี้
    – พืชที่ปลูกในร่มได้ เช่น ต้นชะพลู สะระแหน่ ตะไคร้ โหระพา ขิง ข่า และกะเพรา เป็นต้น
    – พืชที่ต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง และพริกต่างๆ ยกเว้น พริกขี้หนูสวน
  4. ประเภทผัก ควรเลือกผักให้หลากชนิดเพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารหลากหลายตามไปด้วย และมีรายได้หมุนเวียน
  5. ชนิดของผัก ผักแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในเรื่องของวิธีการปลูก การดูแล และอายุของการเก็บเกี่ยว

ประเภทผักสวนครัว
แบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ใช้ผลเป็นอาหาร เช่น แตงกวา มะเขือเทศ พริก มะระ และมะเขือ เป็นต้น
  2. ใช้ใบและลำต้นเป็นอาหาร เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ผักกาด กะเพรา และโหระพา เป็นต้น
  3. ใช้ดอกเป็นอาหาร เช่น กะหล่ำดอก ดอกแค ดอกอัญชัน ขจร และกุยช่าย เป็นต้น
  4. ใช้หัวหรือรากใต้ดินเป็นอาหาร เช่น หอม กระเทียม ขิง ข่า ไชเท้า และแครอด เป็นต้น

ชนิดของผัก
สามารถจำแนกตามอายุเก็บเกี่ยว ดังนี้

  1. ผักอายุสั้น (น้อยกว่า 2 เดือน) เช่น ผักชี ผักกาดหอม ผักกาดเขียว คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกาดขาว และแตงกวา ฯลฯ
  2. ผักอายุปานกลาง (2 ถึง 5 เดือน) เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ พริก บวบ และฟักทอง ฯลฯ
  3. ผักยืนต้น (มากกว่า 1 ปี) เช่น มะเขือ ชะอม โหระพา กะเพรา ขิง หน่อไม้ฝรั่ง กระชาย ข่า ผักหวาน และกุยช่าย ฯลฯ

ผักที่เหมาะสมกับฤดูกาล
เป็นสิ่งที่สำคัญในการปลูกผักสวนครัว เพื่อให้ได้ผักที่รสชาติดี มีคุณภาพดี ดูแลรักษาง่าย มีแมลงศัตรูและโรครบกวนน้อย จึงควรพิจารณาเลือกผักตามฤดูกาลที่เหมาะสม ดังนี้

 

 

 

 

 

ผักที่ควรปลูกในฤดูร้อน ได้แก่ ผักที่ทนร้อนได้ดี และทนความแห้งแล้งพอสมควร แต่ยังคงต้องให้การดูแลหลังการปลูกเป็นประจำ ไม่ควรปล่อยปละละเลย ควรรดน้ำเช้าและเย็น พรวนดิน ใช้ฟางข้าวคลุมแปลงปลูกช่วยรักษาความชื้นไว้ เช่น ข้าวโพด บวบ มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า แฟง ฟักทอง ถั่วพู คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักชี (ผักกาดหอมและผักชี ควรมีการพรางแสง) ผักกาดขาวเล็ก ผักกาดเขียวใหญ่ และมะเขือมอญ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

ผักที่ควรปลูกต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ได้แก่ หอมแบ่ง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า พริกต่างๆ มะเขือต่างๆ ผักกาดหอม บวบ มะระ ฟักเขียว แฟง แตงกวา ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า ถั่วพู ผักบุ้งจีน และกระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น

ผักที่ควรปลูกปลายฤดูฝน ผักที่ปลูกต้นฤดูฝนได้ผลดี ก็มักปลูกปลายฤดูฝนได้ผลดีเช่นกัน รวมถึงผักฤดูหนาวด้วย เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม บร็อคโคลี่ ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ แครอท แรดิช ผักชี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ ข้าวโพดหวาน แตงเทศ แตงโม พริกยักษ์ พริกหยวก ฟักทอง มะเขือเทศ และขึ้นฉ่าย เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

ผักที่ควรปลูกปลายฤดูหนาว เช่น กะหล่ำดอก คะน้า บร็อคโคลี่ ผักกาดหอม มะเขือเทศ และแครอท เป็นต้น

ผักที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี เช่น สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หอมแบ่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักตำลึง ผักบุ้งไทย กระชาย ข่า ตะไคร้ บัวบก มะแว้ง พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู และมะเขือต่างๆ เป็นต้น
ตัดสินใจได้หรือยังคะ ว่าจะปลูกผักอะไรในสวนครัว? ถ้าตัดสินใจได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็คือ ต้องจัดหาเมล็ดพันธุ์ผัก

การเลือกเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ผักสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

  1. เมล็ดผักพื้นบ้าน เป็นเมล็ดพันธุ์แท้ที่มีการเก็บรักษาสืบต่อกันมา เป็นพันธุ์ที่สมบูรณ์ ให้ผลดีที่สุด แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง ต่อสภาพแวดล้อมและอากาศ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี โดยเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ปลูกไว้เป็นเชื้อพันธุ์ต่อไปได้จากทุกรอบการผลิต ผู้ปลูกจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีในการผลิต ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ปลอดภัย คงคุณค่าทางโภชนาการ และรักษาสภาพทางชีวภาพไว้ได้
  2. เมล็ดพันธุ์ผักทางการค้า ได้แก่
    – เมล็ดพันธุ์ผสมแบบเปิด เวลาเลือกซื้อให้สังเกตข้างซองที่เขียนตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษว่า ‘OP’ เป็นพันธุ์ที่พืชแบบเกสรเปิดปล่อย มีอัตราการงอกปานกลาง ผลผลิตปานกลาง ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และเก็บเมล็ดไว้ใช้ปลูกต่อในฤดูกาลถัดไปได้
    – พันธุ์ลูกผสม มีตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษว่า ‘F1’ เป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ของพันธุ์ 2 พันธุ์ ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน ปัจจุบันเป็นพันธุ์พืชที่ใช้มากในการอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพราะมีผลผลิตสูง คุณภาพดีกว่าพ่อแม่พันธุ์ แต่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ทุกฤดูกาลเพาะปลูก เนื่องจากความไม่นิ่งในสายพันธุ์ เกิดความแปรปรวนทางคุณภาพและปริมาณของผลผลิต
    ***เมล็ดพันธุ์ผสมเปิดส่วนใหญ่แล้วมีความหลากหลาย ทนต่อสภาพแวดล้อม และมีราคาถูกกว่าลูกผสม แต่เมล็ดพันธุ์ลูกผสมมีความสม่ำเสมอทางพันธุกรรมมากกว่า เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจะเป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง มีอัตราการงอกสูง อายุการเก็บเกี่ยวและผลผลิตสูงสม่ำเสมอ***

การเลือกซื้อและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

  1. อ่านฉลากบนซอง หรือกระป๋องอย่างละเอียด สังเกตวันที่ผลิตและวันหมดอายุ เปอร์เซ็นต์การงอกต้องสูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป
  2. สถานที่ในการวางจำหน่าย เมล็ดพันธุ์ต้องไม่ถูกจัดวางอยู่ในที่อับชื้น หรือโดนแสงแดดจัดเกินไป
  3. เมื่อเปิดซองเมล็ดพันธุ์แล้ว ควรใช้ให้หมดในครั้งเดียว หากใช้ไม่หมดต้องปิดผนึกซองให้สนิท นำใส่ขวดหรือถุงที่ใส่วัสดุดูดความชื้น เช่น ถ่าน ขี้เถ้า ปิดปากถุงหรือขวดให้สนิท นำไปเก็บไว้ในที่แห้งสนิทปลอดจากหนูและแมลง อุณหภูมิห้องควรอยู่ระหว่าง 5 ถึง 10 องศาเซลเซียส หรือใส่ตู้เย็นไว้เพื่อรักษาคุณภาพ เมล็ดพันธุ์ต่างๆ สามารถเก็บไว้ในช่องแช่แข็งในตู้เย็น ได้นานประมาณ 3 ถึง 4 ปี ถ้าเป็นช่องธรรมดาในตู้เย็น สามารถเก็บรักษาได้ประมาณ 1 ถึง 2 ปี แต่เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์จะลดลงหากเก็บไว้นาน
  4. ไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีโรคระบาด
  5. หากเป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ต้องซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ โดยพิจารณาจากประสบการณ์ในการปลูกครั้งที่ผ่านมาว่า เมื่อนำมาปลูกแล้วมีอัตราการงอกสูงหรือไม่ มีผลผลิตสูง ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก และรสชาติดีตรงตามลักษณะที่โฆษณาไว้หรือไม่ ถ้าปลูกแล้วได้ผลดี เมล็ดพันธุ์จากผู้ผลิตจึงจะมีความน่าเชื่อถือสูง
  6. รูปทรงของเมล็ดตรงตามพันธุ์ ไม่ผิดเพี้ยนไปจากพันธุ์ที่ต้องการ

การเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ด

  1. การตัดบางส่วนของเมล็ดออก หรือนำเมล็ดมาขัดบนกระดาษทราย แต่เหมาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ผักที่เป็นไม้ยืนต้น และเป็นเมล็ดที่เปลือกแข็ง
  2. การแช่เมล็ดในน้ำร้อน โดยนำเมล็ดพันธุ์มาแช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 50 ถึง 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 ถึง 20 นาที แล้วนำมาตากให้แห้งในที่ร่ม ช่วยป้องกันโรคผักที่เกิดจากเชื้อราได้ดี
  3. การแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำเย็น ประมาณ 4 ถึง 12 ชั่วโมง แล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูก ช่วยให้เมล็ดที่เก็บไว้นานมีเปอร์เซ็นต์การงอกที่ดีขึ้น ต้นผักแข็งแรงขึ้น
    ***ผักที่เหมาะสมกับวิธีแช่น้ำร้อนหรือน้ำเย็น คือ ผักบุ้ง ข้าวโพด มะเขือ มะเขือเทศ ผักกาด แครอท หอมหัวใหญ่ พริก พริกไทย แตงกวา และดอกทานตะวัน เป็นต้น***
  4. การแช่เมล็ดพันธุ์ในวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษทิชชู่ ผ้าที่ชุ่มน้ำ ขี้เถ้าแกลบ ผงถ่าน ขี้เลื่อย แทนการแช่ในน้ำโดยตรงเพราะวัสดุเหล่านี้จะคายน้ำออกมาช้าๆ ทำให้เมล็ดค่อยๆ ดูดซึมน้ำไว้ และค่อยๆ ฟื้นตัวจากการนอนหลับขึ้นมาซึ่งผักที่เหมาะในการเพิ่มประสิทธิภาพการงอกด้วยวิธีนี้คือ ผักในตระกูลถั่ว เพราะถั่วจะดูดซับน้ำได้ดี เมื่อแช่น้ำนานๆ ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อเมล็ดเสียหาย เมล็ดพันธุ์ในตระกูลถั่วจึงเหมาะกับวิธีนี้แทนการแช่น้ำโดยตรง

สาเหตุที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่งอก

  1. ดินไม่เหมาะสม เช่น มีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป หรือขาดธาตุอาหารในดิน หรือดินมีความชุ่มชื้นไม่เพียงพอ
  2. เมล็ดพันธุ์ถูกเก็บไว้นานเกินไป
  3. เมล็ดพันธุ์กำลังอยู่ในระยะการฟักตัวนอนหลับ
  4. เมล็ดพันธุ์ถูกเก็บในช่วงที่ไม่เหมาะสม
  5. ภาชนะและวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไม่ดี มีความชื้น
  6. ต้นพันธุ์ที่เก็บเมล็ดมาใช้ ไม่ดี

หลังจากที่ได้ทราบศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ ผักสวนครัว อย่าลืมติดตามบทความ การปลูกผักสวนครัว ซึ่งรวบรวมขั้นตอนการปลูกและการดูแลผักสวนครัวให้ผู้ปลูกได้ศึกษา…อย่าพลาดนะคะ เพราะผู้เขียนมีเคล็ดลับดีๆ มาฝาก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ รวยด้วยผักสวนครัวเพื่อการค้า สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ ณัฎฐ์ชญามนต์ ดินรมรัมย์)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *