ปัญหาในการปลูกมะม่วงหิมพานต์
ปัญหาในการปลูกมะม่วงหิมพานต์ และ การป้องกันและแก้ไข โรคและแมลงศัตรูมะม่วงหิมพานต์
เป็นหนึ่งในขั้นตอนการดูแลมะม่วงหิมพานต์ หลังการปลูก โดยเฉพาะ โรคและแมลงศัตรูมะม่วงหิมพานต์ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล หากผู้ปลูกหรือเกษตรกร ไม่เอาใจใส่ดูแลอย่างสม่ำเสมอ การปลูกมะม่วงหิมพานต์นั้น เป็นเรื่องง่ายก็จริง แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาในการปลูก แต่สิ่งที่พึงกระทำ เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น คือ รีบดำเนินการแก้ไขในทันที เพื่อป้องการความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาต่างๆ
ปัญหาในการปลูกมะม่วงหิมพานต์ที่สำคัญ ได้แก่
- การขาดแคลนพันธุ์ดี
- ไม่มีการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งในแง่การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
- ต้นมะม่วงหิมพานต์มีอายุมาก และเสื่อมโทรม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เมล็ดเล็ก และไม่มีคุณภาพ รวมทั้งสารอัลฟาท็อกซินในผลผลิต
ปัญหาสารอัลฟ่าท็อกซินในเม็ดมะม่วงหิมพานต์
สารอัลฟ่าท็อกซิน ไม่ได้เกิดขึ้นและเป็นปัญหาเฉพาะกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์เท่านั้น แต่สามารถพบได้ในอาหารแห้ง และอาหารชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดได้เช่นกัน ผู้ที่ได้รับอัลฟ่าท็อกซิน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก ๆ แต่จะแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว คือ กินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราแล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอัลฟ่าท็อกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับแบบเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตับ และอาจมีผลเสียต่ออวัยวะภายใน เช่น ระบบไต หัวใจ
การป้องกันสารอัลฟ่าท็อกซิน สำหรับผู้บริโภค
- เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด
- ต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
- ไม่เก็บอาหารแห้งเหล่านั้นไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้
- นำอาหารแห้งเหล่านั้นไปตากแดดจัด ๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลงเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราแต่ถ้ามีเชื้อราแล้วต้องทิ้งอาหารเหล่านั้นเพราะการตากแดดไม่สามารถทำลายเชื้อราได้
การป้องกันสารอัลฟ่าท็อกซิน สำหรับเกษตรกร
เป็นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้สารอัลฟ่าท็อกซินปนเปื้อน ตั้งแต่ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นํามาใช้ประกอบอาหาร โดยมีการควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อรา ที่เป็นสาเหตุและการสร้างสารอัลฟ่าท็อกซิน โดยป้องกันไม่ให้ผลิตผลทางการเกษตรเสียหายจากการเก็บเกี่ยว การควบคุมความชื้นให้เหมาะสม การคัดแยกเมล็ดที่เสียออกไป รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมและวิธีการเก็บรักษาผลผลิตให้เหมาะสม และการบรรจุหีบห่อที่ถูกวิธีเพื่อการจำหน่าย
โรคและแมลงศัตรูมะม่วงหิมพานต์
โรคมะม่วงหิมพานต์
โรคช่อดอกแห้ง : เชื้อราทำให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล
การป้องกันและแก้ไข
โดยฉีดช่อดอกด้วยสารพวกแมนโคเซ็บ เช่น ไดเทน เอ็ม-45 อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
โรคแอนเทรคโนส : เชื้อราเข้าทำลาย ผลปลอมและเมล็ด ทำให้เน่าหรือเหี่ยว ถ้าทำลายช่อดอกและดอก จะทำให้เน่าเป็นสีดำ และร่วงหล่น
การ ป้องกันและแก้ไข
โดยฉีดพ่นสารค๊อปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ เช่น คูปราวิท อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
แมลงศัตรูมะม่วงหิมพานต์
หนอนเจาะลำต้น : เป็นตัวอ่อนด้วง หนวดยาว เจาะเนื้อไม้ภายใน
การป้องกันและแก้ไข
เมื่อตรวจพบขี้หนอนที่ปากรู ให้จับไปทำลาย หรือกำจัดโดยใช้สารไดโครวอส หรือโมโนโครโตฟอส (อโซดริน) อัตรา 10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดเข้าปากรูแล้วใช้ดินเหนียวอุดปากรูไว้
เพลี้ยไฟ : มีขนาดเล็กมาก ตัวอ่อนสีเหลืองคาดแดง ตัวแก่สีดำ ระบาดช่วงอากาศร้อน และภาวะฝนแล้ง ทำลายใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน
การป้องกันและแก้ไข
กำจัดโดยใช้สารคาร์บาริล (เซฟวิน) อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพอสซ์อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
เพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน : เกาะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน อาการที่ถูกทำลายจะหงิกงอ เหี่ยวแห้ง
การป้องกันและแก้ไข
เมื่อพบ ให้กำจัดโดยใช้สารมาลาไธออน อัตรา 45 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพอสซ์ อัตรา 50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
ด้วงงวงเจาะยอด ตัวแก่เจาะยอดอ่อนและวางไข่เป็นตัวหนอนกัดกินเนื้อไม้ในยอดทำให้ยอดแห้ง ป้องกันกำจัดโดยจับทำลายตัวแก่ ฉีดพ่นสารพวกโมโนโครโตฟอส หรือเมธามิโดฟอส เช่น ทามารอน อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
คำแนะนำ
- ห้ามใช้สารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายปี 2535 และใช้สารเคมีในชนิด อัตรา และระยะเวลา ตามที่กำหนดในคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- หยุดใช้สารเคมีก่อนเก็บมะม่วงหิมพานต์ตามเวลาที่ระบุในคำแนะนำ และควร บันทึกรายละเอียดการใช้สารเคมีทุกครั้ง
- ควรมีการพ่นยาตามเวลาที่ระบุในคำแนะนำ
การจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตมะม่วงหิมพานต์ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช เน้นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้ปลูกควรพยายามใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด
การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสม ควรปฏิบัติดังนี้
- ห้ามใช้สารเคมีที่ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 รายชื่อวัตถุอันตรายห้ามใช้ในการเกษตร และต้องใช้สารเคมีให้สอดคล้องกับรายการสารเคมีที่ประเทศคู่ค้าอนุญาตให้ใช้
- ให้เลือกใช้ในชนิด อัตรา และระยะเวลาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบเครื่องพ่นสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา เพื่อป้องกันสารพิษเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายของผู้พ่น
- สวมเสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ ได้แก่ หน้ากากหรือผ้าปิดจมูก ถุงมือ หมวกและรองเท้า
- เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- ควรพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- ต้องหยุดใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนการเก็บเกี่ยวตามเวลาที่ระบุตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ปิดฝาภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สนิทเมื่อเลิกใช้ และเก็บในสถานที่เก็บสารเคมีที่มิดชิด และปลอดภัย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
- ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดและล้างสารเคมีออกหมดตามคำแนะนำ ต้องไม่นำกลับมาใช้อีกและต้องทำให้ชำรุดเพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้อีก แล้วนำไปทิ้งในสถานที่ที่จัดไว้สำหรับทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีโดยเฉพาะ หรือทำลายโดยการฝังดินห่างจากแหล่งน้ำ และให้มีความลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถคุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาทำลาย
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
คำแนะนำ เสริมรายได้ให้เกษตรกร หรือผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ทรงพุ่ม ที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างลำต้นมากพอ ที่จะให้ต้นมะม่วงหิมพานต์แตกกิ่งก้านสาขาพอเพียง ที่จะให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ หลายท่าน อาจจะมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่ แต่ทำไมเราจะต้องปล่อยให้พื้นที่นั้นว่างเปล่า? แต่ เราควรปลูกพืชแซม เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวโพดและ ถั่วต่างๆ หรือ ปลูกพืชผักอื่นๆ ในพื้นที่ว่างระหว่างต้นมะม่วงหิมพานต์ สร้างรายได้เสริม
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.pirun.ku.ac.th, www.ecitepage.com, www.manager.co.th, oldweb.pharm.su.ac.th)