ปัญหาของเห็ดถุงกับการผลิตดอกเห็ด
ปัญหาของเห็ดถุง
ปัญหาของเห็ดถุง เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย หากเกษตรกรหรือผู้ลงทุนละเลย ไม่ดูแลเอาใจใส่ตามที่ควรจะปฏิบัติ ในแง่ของธรรมชาติ เห็ด สามารถเจริญเติบโตได้เอง แต่เมื่อเรานำเห็ดมาเพาะ เห็ดจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องมีการดูแลรักษาเหมือนเห็ดที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ปัญหาของเห็ดถุง ไม่ได้มีเพียง โรคและปัญหาของการเพาะเห็ด, แมลงและศัตรูของเห็ด การป้องกัน การกำจัด ศัตรูเห็ด เท่านั้น ยังมีปัญหา และความเสียหายอื่นๆ ที่ทำให้เห็ดไม่สามารถผลิตดอกเห็ดออกมาได้ เกษตรกรและผู้ลงทุนควรศึกษา และตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิด พร้อมทั้งหาทางป้องกัน และแก้ไขให้ถูกวิธี เพื่อให้เห็ดผลิตดอกออกมาคุ้มค่ากับการลงทุน
ปัญหาของเห็ดถุง ในการทำเชื้อเห็ด:
1. เชื้อเห็ดไม่เจริญ สาเหตุอาจเกิดจาก หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์ มีก๊าซแอมโมเนียเหลืออยู่ ความชื้นในขี้เลื่อยสูงเกินไป อากาศในห้องบ่มเย็นเกินไป เป็นต้น
2. เชื้อเห็ดเสียเนื่องจากมีเชื้ออื่นปนเปื้อน สาเหตุอาจเกิดจากอุณหภูมิของหม้อนึ่งต่ำเกินไป ผสมไม่ได้ที่ ถุงพลาสติก รั่ว มีรู อาจจะนำพาเชื้อโรคได้ หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น
3. เส้นใยเห็ดเดินแล้วหยุด หรือเดินเพียงบาง ๆ เนื่องจากขี้เลื่อยหมักไม่ได้ที่ ทำให้มีกลิ่นแอมโมเนียเหลืออยู่ มีสารที่เป็นพิษเจือติดอยู่ เช่น น้ำยางจากขี้เลื่อย น้ำมัน ผงซักฟอก อุณหภูมิในห้องบ่มต่ำเกินไป อาหารเสริมเปียกเกินไป หรือความชื้นในอาหารเสริมไม่สม่ำเสมอ
4. เส้นใยเจริญบางมาก สาเหตุจาก อาหารเสริมไม่เพียงพอมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อน ขี้เลื่อยที่ใช้มีพิษต่อเห็ด
5. ออกดอกช้า ผลผลิตต่ำ สาเหตุจาก เชื้อเห็ดเสื่อม อาหาร อุณหภูมิ ความชื้น ไม่เพียงพอ
6. ใบม้วนงอ หยิก ไม่สวย ลักษณะดังกล่าวเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ความแปรปรวนของอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือน นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เชื้ออ่อนแอ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป หรืออากาศร้อนจัด เป็นต้น
การแก้ไขปัญหาของเห็ดถุง เบื้องต้น
หากพบว่าดอกเห็ดในโรงเรือนมีอาการหมวกดอกหงิกดังที่กล่าวข้างต้น อย่าได้นิ่งนอนใจเป็นอันขาด ขอแนะนำให้แก้ไขปัญหาตามแนวทางต่อไปนี้
1. การถ่ายเทอากาศ โรงเรือนที่เพาะเห็ดจะต้องมีช่องระบายอากาศอย่างเพียงพอ ควรเปิดประตูและหน้าต่างใน ตอนเช้ามืดเพื่อระบายอากาศ และป้องกันการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. แสงสว่าง แสงในโรงเพาะให้เพียงพอพอกับการพัฒนาเจริญเติบโตของดอกเห็ด โดยใช้วิธีเปิดช่องหน้าต่าง
3. ความชื้น ควรตรวจตราความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศภายนอกและภายในโรงเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพิ่มความชื้น และระบายอากาศ
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับ การเพาะเห็ดถุง
ความเสียหายบริเวณด้านข้างและก้นถุง—ทำให้มีเชื้อราอื่นเข้าไปปะปน ซึ่งเกิดจากการแตกตามตะเข็บรอยต่อของถุง เนื่องจากถุงที่ใช้มีคุณภาพไม่ดี ดังนั้นอาจต้องเปลี่ยน และเลือกใช้ถุงพลาสติกที่มีคุณภาพดีกว่า
ความเสียหายจากปากถุง—ถ้าเชื้อราปนเปื้อนเป็นชนิดเดียวกันแทบทุกถุงอาจเกิดจากเชื้อข้าวฟ่างสกปรกแล้ว แพร่กระจายไปทุกถุง แต่ถ้าเสียเป็นบางถุงและเชื้อราต่างชนิดกัน อาจเกิดจากอากาศบริเวณนั้นสกปรก ต้องทำความสะอาด และควรเทเชื้อในวันรุ่งขึ้นหลังจากฆ่าเชื้อ
ความเสียหายจากตัวไร—ฟาร์มที่มีการหมักหมม มีเศษอาหารตกหล่น มักจะเกิดเชื้อราและเป็นอาหารของไรเห็ด ซึ่งเมื่อกินเส้นใยเชื้อราแล้ว จะกระจายออกหาอาหารคลานเข้าไปในถุงเชื้อ เกิดการปนเปื้อนเชื้อราภายในถุงหรือกินเส้นใยเห็ดจนเกิดความเสียหายได้ แก้ไขได้โดยรักษาความสะอาดให้สม่ำเสมอ พักโรงเรือนหลังเก็บเกี่ยว มีการฉีดสารเคมีฆ่าเชื้อหรือทำลายศัตรูเห็ดอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
การจำหน่ายเชื้อถุง ราคาจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเห็ด มีตั้งแต่ถุงละ 4-5 บาท จนถึง 10 บาท ขึ้นอยู่กับฝีมือของฟาร์ม และจำนวนการซื้อขายในแต่ละครั้ง โดยเชื้อถุงที่เส้นใยเจริญเต็มที่แล้วจะมีราคาแพงที่สุด
การหมดอายุของเชื้อถุง เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงแล้ว เส้นใยจะเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้น แล้วรัดตัวมองเห็นเป็นแผ่น ซึ่งอาจสร้างเป็นตุ่มเห็ดภายในถุง ถ้ายังเก็บไว้ต่อ โดยไม่นำไปผลิตดอกเห็ด เส้นใยจะแตกตัวเอง ขนาดก้อนหดยุบตัวลง มีน้ำเหลืองใสอยู่ข้างล่าง ก้นจะยุบตัวลงช้า ๆ ถุงเชื้อที่รอขายเป็นเวลานานนี้อาจถูกทำลายจนหมดอายุ
การใช้งานได้โดยการตากแดด การกระทบกระเทือนขณะขนย้าย หรือการทำลายของไร แมลงศัตรูเห็ด สำหรับถุงเชื้อที่เหมาะสมต่อการสร้างดอกเห็ดที่สุด คือ ถุงเชื้อที่มีเส้นใยเดินเต็มถุงและเริ่มมีการรัดตัวแล้ว
การผลิตดอกเห็ด
การผลิตดอกเห็ด คือ การทำให้ก้อนถุงเชื้อเกิดดอกเห็ด ซึ่งการเกิดดอกเห็ด ก็คือ การที่เส้นใยได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมาอัดตัวกันสร้างเป็นดอกเห็ดขึ้น เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยผลผลิตที่ได้จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับอาหาร อุณหภูมิ ความเป็นกรด ด่าง ความชื้น การถ่ายเทอากาศ กรรมพันธุ์ และโรคแมลงศัตรูที่รบกวน ซึ่งวิธีการผลิตดอกเห็ดในปัจจุบันได้มีการทำมากมายหลายวิธี ดังนี้
1. การกรีดข้างถุง ใช้วิธีดึงจุก เอาคอขวดออก ใช้ยางรัดปากถุงให้แน่น ใช้มีดกรีดข้างถุงแนวเฉียงประมาณ 3-4 รอย แล้วกรีดที่ก้นถุงเป็นเส้นขนาน 2 เส้น วิธีเปิดดอกโดยวิธีกรีดข้างใช้สำหรับเห็ดหูหนู แล้วนำไปวางเรียงกับพื้นแต่ละก้อนวางให้ห่างกัน ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกเห็ดจะออกตามรอยกรีด
2. การเปิดจุกออก ใช้วิธีดึงจุกออกจากปากถุง ใช้หางช้อนเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างออกให้หมด วิธีเปิดดอกแบบนี้ใช้กับเห็ดตระกูลนางฟ้า นางรม เป๋าฮื้อ ยานางิ วางในโรงเรือนวางเรียงก้อนแบบตัว A หรือวางเรียงก้อนแบบแขวนด้วยเชือกไนล่อน 4 เส้น ผูกติดกันหัวท้ายใส่แผ่นพลาสติกแข็งเจาะรูร้อยเชือกทั้ง 4 เส้น สำหรับกั้นระหว่างก้อน 3 ก้อน กั้นพลาสติกครั้งหนึ่ง ถ่างให้ห่างออกจากกันเอาก้อนเชื้อวางซ้อน ๆ กัน ดอกเห็ดจะเกิดขึ้นและโผล่ออกมาทางปากถุง
3. การปาดไหล่ถุง ใช้วิธีดึงจุกออก ดึงคอขวดออก ใช้มีดกรีดพลาสติกให้รอบบริเวณไหล่ถุงออกให้หมด วิธีเปิดดอกแบบนี้ใช้กับเห็ดกระด้าง เห็ดขอนขาว วางในโรงเรือนวางเรียงก้อนแบบตัว A หรือวางเรียงก้อนแบบแขวนด้วยเชือกไนล่อน 4 เส้น ผูกติดกันหัวท้ายใส่แผ่นพลาสติกแข็งเจาะรูร้อยเชือกทั้ง 4 เส้น สำหรับกั้นระหว่างก้อน 3 ก้อน กั้นพลาสติกครั้งหนึ่ง ถ่างให้ห่างออกจากกัน เอาก้อนเชื้อวางซ้อน ๆ กัน ดอกเห็ดจะเกิดขึ้น และโผล่ออกมาทางรอยปาดบริเวณไหล่ถุง
4. การปาดไหล่ถุงและกรีดก้นถุง ใช้วิธีดึงจุกออก ดึงคอขวดออก ใช้มีดกรีดพลาสติกให้รอบบริเวณไหล่ถุงออกให้หมด แล้วกรีดที่ก้นถุงเป็นเส้นขนาน 2 รอย วิธีเปิดดอกแบบนี้ใช้กับเห็ดหอม วางเรียงกับพื้นแต่ละก้อนวางให้ห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกเห็ดจะออกตามรอยปาดบริเวณไหล่ถุง
5. การเปลือยถุง ใช้วิธีดึงจุกและคอออก แล้วแกะถุงพลาสติกออกให้หมดทั้งก้อน นำไปฝังลงดินที่เตรียมไว้เป็นแปลงเหมือนแปลงปลูกผักทั่วไป แล้วกลบดินให้หนาประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วคลุมทับด้วยฟาง ดอกเห็ดที่จะออกมาก็จะออกเป็นกลุ่มดอกขนาดใหญ่
การดูแลรักษา
1. การรดน้ำ นิยมใช้เป็นระบบพ่นเป็นฝอย ซึ่งอาจต่อท่อกับปั้มน้ำที่มีแรงดันพ่นน้ำเป็นละอองละเอียด หรือถ้าไม่มีระบบปั้มน้ำ จะใช้สายยางธรรมดา หรือบัวรดน้ำก็ได้ โดยรดให้พอเปียกชื้นไม่ให้มีน้ำขัง เพราะจะทำให้เห็ดเน่าเสียได้ง่าย การรดน้ำอาจทำวันละ 2 ครั้ง คือ เช้ากับเย็น หรือตามสภาพอากาศ คือถ้าสภาพอากาศแห้ง ก็ควรรดเพิ่มเป็นวันละ 3-4 ครั้ง การสูญเสียน้ำของดอกเห็ดและถุงเชื้อเห็ดนั้น จะขึ้นอยู่กับความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศด้วย ถ้าอากาศมีความชื้นน้อย โดยอากาศร้อนและมีลมพัดดอกเห็ดก็จะแห้งเร็ว ถ้าลมพัดแรงจัดก็จะต้องทำโรงเรือนให้มิดชิดขึ้นและเพิ่มการรดน้ำให้บ่อยครั้งขึ้น น้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำจืดสนิท เช่น น้ำฝน น้ำประปา ที่ีตากแดดให้คลอรีนละเหยไปแล้ว น้ำบ่อ น้ำบาดาลที่ไม่กร่อยเค็ม น้ำจืดที่เราใช้บริโภคทั่วไป น้ำที่รดเห็ดควรมีสภาพเป็นกลาง
2. การถ่ายเทอากาศ เรือนเพาะเน้นการเก็บรักษา ความชื้นมากจะทำให้เกิดสภาพแน่นทึบถ่ายเทอากาศไม่สะดวก การเพาะน้อยก้อนไม่มีปัญหาแต่ถ้าเพาะมากเห็ดแต่ละถุงจะหายใจปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาซึ่งหากสะสมในเรือนเพาะมาก ๆ จะทำให้ดอกเห็ดบิดเบี้ยว ดอกเล็ก หรือไม่ออกดอก ดังนั้น ควรจัดโรงเรือนให้โปร่งทางด้านล่าง หรือเปิดประตูหรือหน้าต่างโรงเรือน เพื่อถ่ายเทอากาศทิ้งไว้สักครู่แล้วจึงค่อยเข้าไปทำงานได้
3. อุณหภูมิกับการผลิตดอกเห็ด เห็ดต่างชนิดกันจะชอบอุณหภูมิในขณะสร้างดอกแตกต่างกัน จึงควรเลือกเพาะเห็ดแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยเห็ดที่มีปัญหามากที่สุดคือ เห็ดที่ชอบอากาศหนาวเย็นมาก ๆ เช่น เห็ดหอม ซึ่งชอบอุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เห็ดนางฟ้าบางชนิดชอบอากาศเย็นแต่น้อยกว่าเห็ดหอม ส่วนเห็ดที่ชอบอากาศอบอุ่นธรรมดาของฤดูฝนและฤดูร้อน เช่น เห็ดนางรม เห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ ส่วนเห็ดที่ชอบอากาศร้อนชื้น เช่น เห็ดกระด้าง เห็ดขอนขาว
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่