บวบ
บวบ ไม่ว่าจะเป็น บวบเหลี่ยม บวบหอม บวบงู เมื่อนำมาประกอบอาหารแล้ว ล้วนแต่ให้ความอร่อย บวบ ที่เรานิยมรับประทานมากที่สุด ก็เห็นจะเป็น บวบเหลี่ยม เพราะนอกจากจะรสชาติหวานอร่อยแล้ว ยังมีผลผลิตให้เราได้รับประทานกันตลอดทั้งปี บวบหอม ให้ผลผลิตเฉพาะฤดูฝน ส่วนบวบงู ให้ผลผลิตมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว
ลักษณะของบวบแต่ละสายพันธุ์
- บวบเหลี่ยม พันธุ์นี้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย มีทั้งพันธุ์เบาผลเล็กสั้น ขนาดยาวไม่เกิน 12 นิ้ว อายุจากวันปลูกถึงวันเก็บผลครั้งแรก 50 วัน เหมาะสำหรับปลูกรับประทานเองในสวนครัว และยังมีพันธุ์หนัก ชนิดผลยาวประมาณ 2 ถึง 3 ฟุต อายุจากวันปลูกถึงวันเก็บผลครั้งแรก 75 วัน เหมาะสำหรับปลูกเป็นการค้า
- บวบหอม ชนิดผลสั้น มีลักษณะกลมรี ความยาวประมาณ 5 ถึง 6 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ถึง 4 นิ้วและชนิดผลยาว ลักษณะกลมรี ความยาวของผลประมาณ 24 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ถึง 6 นิ้ว อายุเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 75 ถึง 120 วัน
- บวบงู มีชนิดสีขาว สีเขียวลายขาว เนื้อหนา และรสหวานดี ผลยาว ประมาณ 2 ถึง 3 ฟุต แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าบวบเหลี่ยม
บวบเป็นไม้เลี้อยอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะจะปลูกเป็นพืชผักสวนครัว หรือเพื่อจำหน่าย มีรสหวาน ใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะต้ม แกง ผัด หรือจิ้มน้ำพริก เมนูอาหารที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดี คือ ผัดบวบใส่ไข่ และแกงเลียง ที่มีบวบเป็นส่วนประกอบ
ลักษณะทั่วไปของบวบ
บวบเป็นไม้เถายาว เจริญเติบโตได้เร็ว มีอายุประมาณ 1 ปี เป็นพืชตระกูลเดียวกับแตงทั้งหลาย แต่อยู่ในสกุลลุฟฟ่า (Luffa)
ลำต้น เป็นเหลี่ยมสัน ตามข้อมีมือที่ใช้เกาะเกี่ยวเป็นเส้นยาว
ใบ เป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับกัน แผ่นใบเป็นรูปเหลี่ยมมีราว 5 ถึง 7 เหลี่ยม ตามขอบใบมีรอยเว้าตื้นๆ ปลายใบค่อนข้างแหลม ส่วนโคนใบเว้าลึกเข้าด้านในจนดูคล้ายกับรูปหัวใจ ก้านใบยาวราว 4 ถึง 9 เซนติเมตร และเป็นเหลี่ยมเหมือนกับลำต้น
ดอก เป็นสีเหลือง ออกดอกตามง่ามใบ ทั้งแบบเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ โดยมีดอกทั้งตัวเมียและตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน
ผล เป็นรูปทรงคล้ายกระบอกกลม ยาวราวๆ 20 เซนติเมตร ผลบวบเหลี่ยม ผิวมีเหลี่ยมเป็นเส้นไปตามความยาวของผล นับได้ 10 เหลี่ยมเท่ากันทุกผล โคนผลและปลายผลเรียวเล็ก ให้ผลดกและงามยามหน้าฝน
คุณประโยชน์ของบวบ
เป็นผักธาตุเย็น ซึ่งถ้ากล่าวถึงสรรพคุณทางยาก็ถือว่าเป็นสมุนไพรเย็น ช่วยคลายความร้อนได้ดี และมีคุณค่าทางพืชสมุนไพรมีเส้นใยสูง ฟอสฟอรัสในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ธาตุเหล็กที่ช่วยสร้างเม็ดเลือด และแร่ธาตุอีกหลายชนิด ทำให้บวบมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้
- ช่วยเสริมสร้างฟันและกระดูก
- เป็นยาแก้ร้อนใน
- ช่วยระบายท้อง ช่วยขับปัสสาวะ และช่วยแก้อาการปัสสาวะเป็นเลือด
- ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
- ลดไข้
- บำรุงร่างกาย
- บรรเทาอาการม้ามโต และริดสีดวงทวาร
- ใช้ถอนพิษได้ดี ทั้งพิษแมลงสัตว์ กัด ต่อย แก้พิษคัน
- สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ให้ดื่มน้ำที่ต้มจากใบบวบ
บทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอ การปลูกบวบเหลี่ยม สำหรับท่านผู้อ่านได้ทดลองปลูกไว้รับประทานในครัวเรือน และอาจต่อยอดเป็นรายได้เสริม หรือรายได้หลัก หลังจากได้เรียนรู้วิธีการปลูกบวบแล้ว
การปลูกบวบเหลี่ยม
‘บวบเหลี่ยม’ เป็นชื่อที่คนไทยภาคกลางเรียกกัน ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘หมักนอย’ ‘มะนอยเหลี่ยม’ หรือ ‘มะนอยเลียม’ บางท้องถิ่นเรียก ‘มะนอย’ ‘มะนอยข้อง’ หรือ ‘มะนอยงู’
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกบวบเหลี่ยม
- สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด และดินค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย มีความชื้นสูงพอเหมาะสม่ำเสมอ
- เป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ในระหว่างการปลูก
- อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20 ถึง 30 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล
ข้อดีของการปลูกบวบ - ปลูกง่าย และดูแลง่าย
- บวบเป็นพืชที่สมบุกสมบัน ทนแล้ง ทนฝน โรคและศัตรูพืชไม่รบกวน
ข้อควรระวัง
ในระยะแรก หลังการปลูกจนถึงขึ้นค้าง มักมีแมลงกัดยอด แต่พอถอดยอดขึ้นค้างแล้วก็จะไม่มีแมลงมารบกวน
การขยายพันธุ์
บวบขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด โดยนำผลบวบที่แก่คาต้นมาแกะเมล็ด แล้วนำไปผึ่งแดดจนแห้ง เก็บใส่ภาชนะให้มิดชิดจนกว่าจะนำไปปลูก
ขั้นตอนการปลูกบวบเหลี่ยม
การเตรียมดิน
- ไถพลิกดินลึกประมาณ 20 ถึง 25 เซนติเมตร เพราะบวบเหลี่ยมเป็นผักที่มีระบบรากลึกปานกลาง
- ตากดินไว้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน
- คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วลงไปในดิน 30 ถึง 40 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าพื้นที่เพาะปลูกเป็นดินทรายและดินเหนียวต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับสภาพของดินให้ดีขึ้นและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- ถ้าดินเป็นกรด ควรใส่ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ย่อยดินและพรวนดินให้ละเอียดร่วนโปร่งพร้อมที่จะปลูกได้
วิธีปลูก
- หยอดเมล็ดพันธุ์โดยตรงลงในแปลงหลุมละ 4 หรือ 5 เมล็ด ฝังให้ลึกลงไปในดินประมาณ 2 ถึง 4 เซนติเมตร
- ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ ระยะระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร
- จากนั้นกลบเมล็ดด้วยดินร่วนหรือปุ๋ยคอกหนาประมาณ 1 เซนติเมตร
- คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอทุกวันในตอนเช้าหรือเย็น
- เมื่อต้นกล้างอกอายุได้ประมาณ 10 ถึง 15 วันหรือมีใบจริง 2-4 ใบ ให้ถอนแยกต้นที่อ่อนแอหรือต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ให้เหลือไว้หลุมละ 3 ต้น
การดูแลบวบ หลังการปลูก
การให้น้ำ
- รดน้ำทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง (เช้าหรือเย็น) หากเป็นฤดูแล้ง ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ บวบจะเริ่มเลื้อย ให้ทำค้างเพื่อให้บวบเลื้อยเกาะ
- ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ไม่ควรให้บวบเหลี่ยมขาดน้ำในระยะออกดอกและติดผล เพราะทำให้ดอกร่วงและไม่ติดผล ถ้าใช้ระบบการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องจะให้ผลดี และหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอยเพราะจะทำให้เกิดปัญหาโรคทางใบได้
การทำค้าง
เมื่อบวบเหลี่ยมเริ่มเลื้อยหรือเมื่ออายุประมาณ 15 ถึง 20 วัน ควรทำค้างเพื่อให้บวบเลื้อยเกาะขึ้นไป การปลูกแบบปล่อยให้ต้นเลื้อยไปตามพื้นดินโดยไม่ทำค้าง จะทำให้ผลบวบมีรูปร่างงอโค้งไม่สวย จำหน่ายไม่ได้ราคา การทำค้างให้บวบเหลี่ยมสามารถทำได้ 3 แบบ คือ
- ปักไม้ค้างยาวประมาณ 2 ถึง 2.5 เมตร ทุกหลุม แล้วเอนปลายเข้าหากัน มัดไว้ด้วยกัน แล้วใช้ไม้ค้างพาดขวางประมาณ 2 ถึง 3 ช่วง ทุกๆ ระยะ 40 ถึง 50 เซนติเมตร
- ทำเป็นร้านโดยใช้ไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร หรือระยะสูงพอเหมาะที่สะดวกต่อการทำงาน นอกจากนี้อาจใช้ค้างธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เช่น ไม้พุ่มเล็กๆ รั้วบ้าน ฯลฯ ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกแบบสวนครัว
- ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้รวกปักบริเวณต้นบวบแต่ละต้น และใช้ไม้หรือลวดผูกยึดปลายไม้ด้านบนให้ติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม
การใส่ปุ๋ย
- เมื่อบวบอายุประมาณ 20 ถึง 30 วัน ให้พรวนดินรอบโคนต้น ห่างจากโคนประมาณ 10 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 1 กำมือ แบบโรยข้าง จากนั้นพรวนดินกลบและรดน้ำตามทันที
- หลังจากบวบได้ประมาณ 45 วัน บวบจะเริ่มออกดอก และเริ่มติดผล ควรใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 1 กำมือ รอบโคนต้น(ทำตามวิธีข้างต้น) ต่อเนื่องกันไปสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อบำรุงต้นบวบ
การเก็บเกี่ยว
- หลังติดผลประมาณ 7 วัน หรืออายุ 50 ถึง 60 วัน จึงเก็บเกี่ยวผลได้ โดยเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ เนื้อผลอ่อนนุ่มได้ขนาดพอเหมาะ ซึ่งผลจะมีขนาดยาวประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร ควรเก็บเกี่ยวก่อนที่ผลเริ่มแข็งและพองออก ไม่ควรทิ้งให้ผลแก่คาติดต้น เพราะจะทำให้ผลผลิตลดลง
โรคและแมลงศัตรูบวบ
เต่าแตง
เต่าแตงมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดสีดำ และชนิดสี ส่วนใหญ่จะพบสีแดง เต่าแตงเป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดลำตัวยาว 0.8 เซนติเมตร ปีกคู่แรกแข็งเป็นมัน ลำตัวค่อนข้างยาว เคลื่อนไหวช้า จะพบเสมอเวลากลางวันที่มีแดดจัด ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดิน ลักษณะหนอนสีขาวยาวตัวเต็มวัยของเต่าแตงสามารถมีอายุได้ถึง 100 วัน ตัวแก่จะกัดกินใบ ในการระบาดขั้นรุนแรง จะทำให้บวบชะงักการทอดยอด ส่วนตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดินโดยกัดกินราก บวบที่ถูกเต่าแตงเข้าทำลายจะทำให้ผลผลิตลดลงและผลมีขนาดเล็กลง
การป้องกันและกำจัด
- หมั่นสำรวจต้นบวบในเวลาเช้าที่แดดยังไม่จัด
- หากพบเต่าแตง ให้ใช้มือจับไปทำลาย
- หลังเก็บเกี่ยวผลหมดแล้วไม่ควรปล่อยต้นบวบทิ้งไว้บนแปลง ควรถอนทำลายเพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งสะสมของเต่าแตง
- หากการระบาดรุนแรงควรเลือกใช้สารเคมีฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริล หรือเซฟวิน 85 ในอัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเป็นครั้งคราว สำหรับเซฟวิน 85 ไม่ควรใช้เกินอัตราที่แนะนำ เพราะอาจทำให้ใบไหม้ได้
เทคนิคการทำให้ผลบวบสวยและตรง
- เมื่อผลบวบมีขนาดยาวประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร ให้ใช้ขวดเครื่องดื่มชูกำลังขนาด 150 cc. ผูกห้อยกับด้านปลายของผลบวบเพื่อเป็นตัวดึงผลบวบให้ตรงและผูกทิ้งไว้จนบวบเก็บเกี่ยวได้ (อาจจะใช้ถุงใส่ดินผูกก็ได้แต่ควรมีน้ำหนักใกล้เคียงกับขวดเครื่องดื่มชูกำลังขนาด 150 ซีซี)
การเลือกซื้อบวบ
- เลือกผลบวบที่มีขั่วผลสด เขียวสวยเย็นตา ผลยาวตรง ไม่หักงอ ผลสีเขียวเข้ม เหลี่ยมเป็นสันคม
เคล็ดลับ : การต้มบวบให้หวานแบบธรรมชาติ
- ทำได้โดยไม่ต้องปอกเปลือกบวบออกทั้งลูก เพียงแค่ปาดสันเหลี่ยมของบวบออก แล้วนำไปต้มเพียงเท่านั้น ก็จะได้รับประทานบวบต้มรสหวาน เนื้อใส ที่สำคัญคือช่วยรักษาคุณค่าทางอาหารไว้ได้ดี
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
(แหล่งข้อมูล : www.chiangmainews.co.th, www.kasetporpeang.com, www.kapook.com)