ทำไมเรียกผักไฮโดรโปนิกส์
ผักไฮโดรโปนิกส์
รู้หรือไม่ว่า ?? ทำไมถึงเรียกว่า ผักไฮโดรโปนิกส์และมีกี่ประเภท
- ผักสลัดต่างประเทศ : ตัวอย่างพันธุ์ผักสลัด เช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด บัตตาเวีย เรดคอรัล ฟิลเล่ซ์ไอซ์เบิร์ก กรีนคอส มิซูน่าและ วอเตอร์เครlส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมใช้ระบบ NFT ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยเฉพาะในต่างประเทศ เพราะได้รับการออกแบบมาเพื่อปลูกผักทรงพุ่ม โต๊ะปลูกจะเตี้ยใช้ต้นทุนต่ำกว่าระบบอื่น แต่เกษตรกรต้องรองรับความเสี่ยงในเรื่องของไฟฟ้าดับให้ดี เพราะเมื่อไฟฟ้าดับอุณหภูมิของน้ำสารละลายธาตุอาหารสูงขึ้น ( น้ำร้อนขึ้น ) จะทำให้ผักไฮโดรโปนิกส์ตายหมด
- ผักไทย-จีน : ตัวอย่างพันธุ์ผักไทย-จีน: คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักบุ้งจีน ผักโขม ป่วยเล้ง ตั้งโอ๋ ทาไข คี่นช่าย และผักชี เหมาะกับระบบ DRFT หรือระบบที่ใช้แผ่นโฟม จะให้ผลผลิตสูง แต่มีข้อเสียของโต๊ะปลูกที่สูงใช้ต้นทุนการสร้างค่อนข้างสูง
- พืชที่ปลูกได้นาน : ตัวอย่างเช่น สตรอเบอร์รี่ เมล่อน มะเขือเทศและพริก( เก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ) ส่วนใหญ่นิยมปลูกในวัสดุปลูกแทนดิน เช่น แกลบ ทราย หรือขุยมะพร้าว ปลูกในโรงเรือนระบบน้ำหยด
สาเหตุที่เรียกว่า ผักไฮโดรโปรนิกส์ เพราะ เป็นผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์และระบบไฮโดรโปนิกส์เป็นอย่างไร ‘ไฮโดรโปนิกส์’ หมายถึง การทำงานของน้ำที่มีสารละลายธาตุอาหารผ่านรากพืช หรือ การทำงานของน้ำ ‘Water-working’ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกสองคำรวมกัน คือคำว่า ‘Hydro’ ที่แปลว่า ‘น้ำ’ และ ‘Ponos’ ที่แปลว่า ‘งาน’ ทำไมปัจจุบันนี้ เกษตรกรจึงหันมาปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์กันมากขึ้น ปัจจัยหลักไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น แต่การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ( เกิดสารพิษตกค้างในพืชผักเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกร ) การเตรียมดินและการปรับสภาพดิน การใช้ปุ๋ยเคมี ความสิ้นเปลืองน้ำของการปลูกพืชในดินและรวมทั้งโรคพืชที่อยู่ในดิน เป็นปัญหาที่ทำให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์
แต่ถึงแม้ว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้เข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็มีข้อจำกัดในเรื่องชนิดของพืชและมีผู้บริโภคบางกลุ่มมีทัศนคติและข้อโต้แย้งว่าการปลูกพืชด้วยวิธีนี้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ พืชมีการเจริญเติบโตจากการให้ธาตุอาหาร ไม่ได้หาอาหารกินเองตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคควรทำความเข้าใจให้ละเอียดในข้อดีของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
- ข้อดี สำหรับผู้บริโภคผักไฮโดรโปนิกส์
– ได้รับประทานผัก-ผลไม้ที่ สะอาด ถูกหลักอนามัย ปลอดภัยจากสารพิษ ด้วยระบบโรงเรือนแบบปิด ด้วยมุ้งตาข่ายที่มิดชิด และลักษณะของโรงเรือนที่ง่ายต่อการทำความสะอาดและกำจัดวัชพืช ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี
– ผลไม้-ผักไฮโดรโปนิกส์มีให้รับประทานได้ทุกฤดูกาล - ข้อดี สำหรับเกษตรกรที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
– พืชโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง เพราะสามารถกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมตลอดเวลาตามที่พืชต้องการ ทำให้ผลไม้-ผักไฮโดรโปนิกส์รสชาติดีมีคุณภาพ
– ลดปัญหาความเสี่ยงของสภาพอากาศได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมขัง หรือ อากาศแล้ง
– ใช้พื้นที่น้อย เก็บเกี่ยวแล้วสามารถปลูกต่อได้ทันที ปีละหลายครั้ง
– ประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัด โรค, แมลงศัตรูพืช และวัชพืช
– ผลผลิตได้ราคาดี เพราะปลูกพืชได้ไม่ต้องรอฤดูกาล
– ประหยัดแรงงาน
– ประหยัดน้ำ ประหยัดปุ๋ย ประหยัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้เกือบถึง 100%
แต่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็ยังมี ข้อด้อย คือ
- ลงทุนสูงในระยะเริ่มต้น แต่ไม่แนะนำให้มีการกู้เงินเพื่อมาลงทุน เพราะอาจไม่คุ้มค่า
ควรเริ่มต้นจากการเพาะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เพื่อบริโภคในครัวเรือน แล้วต่อยอดเป็นธุรกิจเล็กๆ เพื่อความชำนาญในการเพาะปลูก และดูแลพืชผลรวมทั้งศึกษาระบบน้ำให้ดีก่อนที่จะขยายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ - มีข้อจำกัดในเรื่องของ ไฟฟ้า น้ำ และธาตุอาหารเคมี
- ชนิดของผัก ก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัด เพราะปัญหาของสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของบ้านเรา ทำให้น้ำสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูง ผักบางชนิดอาจจะแกร็น หรือตายง่าย เช่นผักสลัด
- การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นนวัตกรรมทางการเกษตร เกษตรกรจึงต้องหมั่นค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อนำมาปรับปรุงระบบโรงเรือน และระบบน้ำ
- การขนส่ง รถที่ใช้ขนส่งผักไฮโดรโปนิกส์ต้องเป็นรถที่มีห้องเก็บความเย็น และห้องต้องเย็นก่อนนำผักขึ้นรถ และแหล่งผู้บริโภคไม่ควรอยู่ไกลเพื่อไม่ให้เสียราคาเพราะผักไฮโดรโปนิกส์จะเหี่ยวก่อนถึงมือผู้บริโภค
เมื่อเข้าใจข้อดี-ข้อด้อยของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กันแล้ว ก็ลองศึกษาตลาดใกล้ๆ บ้านว่าผู้บริโภคมีความต้องการผักชนิดไหน และสามารถปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ได้หรือไม่ จากนั้น ก็เลือกระบบน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของผัก, พื้นที่เพาะปลูก, วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณการลงทุน แต่ก่อนที่จะไปไกลถึงจุดนั้น มาทำความรู้จักกับ ผักที่นิยมปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์กันก่อน การเลือกชนิดพืชผัก ควรคำนึงถึงฤดูกาล และเกษตรกรควรรู้จักปรับเปลี่ยนชนิดพืชให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด การปลูกผักนอกฤดู เช่น ปลูกผักที่ปลูกยากในฤดูร้อน และฝน อย่างคึ่นช่าย ผักชี หรือปลูกผักที่ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผักสลัด ตั้งโอ๋ ป่วยเล้ง ทาไช ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้
ระบบน้ำ
เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารพืชนั้น ต้องควบคุมค่า pH ความเป็นกรด-ด่างของน้ำ และอุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชให้ดีไม่ว่าจะเลือกใช้ระบบน้ำประเภทใดก็ตาม
ระบบน้ำสำหรับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในครัวเรือน ปลูกเป็นงานทดลอง หรือเป็นงานอดิเรกนั้น มีความเสี่ยงของโรคพืชที่ติดมากับรากน้อยกว่าการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เชิงการค้า ถึงแม้จะเป็นการปลูกในสารละลายแบบไม่ไหลเวียน เพราะสามารถเลือกใช้ภาชนะเดี่ยวหรือรวมก็ได้ และส่วนใหญ่จะเลือกใช้ภาชนะเดี่ยวเพื่อป้องกันความเสียหายทั้งหมดที่จะเกิดกับผักไฮโดรโปนิกส์ในกรณีที่ติดโรคจากราก เพราะจะเสียหายเพียงบางต้นเท่านั้น
ส่วนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นแปลงขนาดใหญ่ หรือ เป็นเชิงการค้า รากจะแช่อยู่ในสารละลายแบบไหลเวียนในภาชนะรวมหรือกระบะรวม ทำให้โรคที่ติดมากับรากพืชแพร่กระจายได้รวดเร็ว ผักไฮโดรโปนิกส์ที่แช่รากอยู่ในสารละลายเดียวกันก็จะได้รับการรักษายาก หากรุนแรง ผักจะเสียหายหรือตายทั้งหมดได้
สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนเลือกระบบน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ :
- คุณภาพน้ำที่ใช้ปลูก
- งบประมาณ ( เงินลงทุน )
- วัสดุปลูกที่ใช้แทนดิน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช
- การใช้และการคำนวณสารละลายธาตุอาหารพืชให้ถูกต้องและเหมาะสมกับชนิดของพืชที่ปลูก
- วิธีการปลูก, การดูแล และการเก็บเกี่ยว
- การตลาด และการผลิต
ระบบน้ำสำหรับการเพาะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในประเทศไทยขณะนี้มี 5 ระบบ คือ
(1) NFT (Nutrient Film Technique) เป็นระบบเอียงราง จะให้สารละลายธาตุอาหารพืชด้วยการนำวัสดุแผ่นบางที่เหมือนฟิล์ม หรือฟองน้ำ ปูบนรางขนาดไม่เกิน 10 เมตรเพื่อไม่ให้ปริมาณออกซิเจนระหว่างหัว และท้ายรางแตกต่างกัน
- เหมาะกับการปลูกผักสลัด
- เป็นโรงเรือนเปิด หรือระบบกลางแจ้ง
- เก็บเกี่ยวได้เร็ว ให้ผลผลิตต่อปีสูง
- อุณหภูมิสารละลายธาตุอาหารในรางจะสูง อากาศเมืองไทยร้อน แดดจัดทำให้น้ำในรางที่ระเหยถูกผักปิดไว้ ไม่มีทางระบายออก ถ้าไฟฟ้าดับ ผักไฮโดรโปนิกส์มีโอกาสตายหมด
(2) NFLT (Nutrient Flow Technique)–ระบบนี้ใช้แผ่นปูรางหนากว่าระบบ NFT สารละลายธาตุอาหารพืชในรางลึกประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ให้ออกซิเจนกับรากขณะน้ำไหลผ่าน
(3) DFT (Deep Flow Technique)–เป็นระบบที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบรากแช่ในสารละลายลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ลำต้นพืชจะยึดติดอยู่กับโฟม หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ ใช้ปั๊มดูดน้ำสารละลายธาตุอาหารจากถังพักเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับระบบน้ำ ระบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบไฮโดรโปนิกส์ลอยน้ำ (Floating Hydroponic Systems) ใช้น้ำมากกว่าระบบ NFT หรือในรางปลูกที่ระดับลึกกว่า
- ไฟฟ้าดับ ผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ตาย เพราะอุณหภูมิน้ำสารละลายธาตุอาหารพืชไม่สูง
- เหมาะสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไว้บริโภคในครัวเรือน เพราะผักเติบโตช้า ไม่มีการเติมออกซิเจน
- ปลูกในโรงเรือน
- ดูแลง่าย
(4) DRFT (Dynamic Root Floating Technique)–รากผักไฮโดรโปนิกส์แช่อยู่ในสารละลายธาตุอาหารโดยตรง ที่ระดับความลึก 4 เซนติเมตร ปั๊มดูดน้ำสารละลายธาตุอาหารจากถังบรรจุขึ้นไปยังถาดปลูกผ่านรากผักจากหัวไปท้าย โดยใช้หัวพ่นอากาศให้สารละลายธาตุอาหาร ระบบนี้ใช้สะดือปรับน้ำ (Nutrient Level Adjust) ปรับระดับความสูงต่ำของน้ำสารละลายธาตุอาหารในถาดปลูก เกษตรกรสามารถเลือกทำรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นระบบแนวดิ่งตัว W ได้–ระบบแนวดิ่งตัว W เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบแนวตั้ง หรือแนวดิ่ง มีต้นแบบมาจากต่างประเทศ เหมาะสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในพื้นที่จำกัด และประหยัดต้นทุนได้มากเกือบ 50%
(5) FAD (Food and Drain)– เป็นการนำระบบ NFT และ DFT มาผสมผสานกัน ให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงเพื่อให้ทั้งอาหาร และอากาศกับรากผักไฮโดรโปนิกส์ สารละลายธาตุอาหารจะถูกปั๊มดูดขึ้นมาจนท่วมภาชนะปลูกและรากผักไฮโดรโปนิกส์ไว้ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วระบายออกอีกช่วงเวลาหนึ่งให้รากผักได้อากาศ จากนั้น ให้สารละลายธาตุอาหารกลับมาท่วมภาชนะเพื่อให้อาหารรากผัก และระบายออกอีกครั้ง สลับกันเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง น้ำสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิต่ำเพราะมีการไหลเวียนของระบบน้ำขึ้นน้ำลง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่