ถั่วลิสง

ถั่วลิสง

ถั่วลิสง เป็นพืชที่เหมาะสมในการนำมาปลูกเป็นพืชหมุนเวียนหลังฤดูทำนา หรือพืชไร่ชนิดอื่นๆ ในช่วงเวลาหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ช่วยสร้างรายได้และสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร และช่วยบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ในปัจจุบัน ความต้องการใช้ถั่วลิสงเพื่อการบริโภคมีสูงขึ้นเนื่องจากถั่วลิสง เป็นอาหารที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายชนิด เช่น อาหารว่าง อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารเวียดนาม เป็นต้น

ในบางท้องถิ่น เรียก ถั่วลิสง ว่า ถั่วดิน ถั่วขุด หรือถั่วยี่สง

ถั่วลิสงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อน และกึ่งร้อน ตอนกลางของทวีปอเมริกาใต้ หลักฐานทางโบราณคดีระบุไว้ว่า ชาวพื้นเมืองบริโภคถั่วลิสง มานานกว่า 4,000 ปี ชาวยุโรปได้นำไปปลูกในทวีปแอฟริกา เมื่อประมาณ 400 ถึง 500 ปีก่อน ต่อมาจึงได้แพร่มายังทวีปเอเชีย และกลายเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ถั่วลิสงเป็นพืชตระกูลถั่ว ถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับถั่วเหลือง เป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงฤดูเดียว

ถั่วลิสงขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เมื่อเมล็ดได้รับน้ำเพียงพอ ต้นอ่อนในเมล็ดจะงอก โดยขยายตัวแทงรากลงไปในดิน รากแก้วอาจหยั่งลึกลงไปถึง 2 เมตร รากแขนงจะแตกออกจากผิวของรากแก้ว เติบโตขยายไปทางแนวราบใต้ผิวดิน แผ่ออกเป็นบริเวณกว้าง และมีปมของจุลินทรีย์เกิดขึ้นเป็นกระจุกตามผิวราก ต้นอ่อนของถั่วลิสงเจริญเติบโตโผล่พ้นผิวดิน มีกิ่งแตกออกจากลำต้นตรงมุม ใบ มีจำนวน 3 ถึง 8 กิ่ง บางพันธุ์มีทรงต้น เป็นทรงพุ่มตั้งตรง บางพันธุ์แตกกิ่งเลื้อยไปตามแนวนอน

ลำต้น อาจมีสีเขียวหรือม่วง สูงประมาณ 50 ถึง 75 เซนติเมตร
ใบถั่วลิสง เป็นใบรวม ประกอบด้วยใบย่อย 2 คู่ (4 ใบ) ขอบใบเรียบ ปลายมน ก้านใบยาวสีเขียวหรือม่วง

ดอกถั่วลิสง เกิดขึ้นบนช่อดอกซึ่งแทงออกมาจากมุมใบ เริ่มจาก โคนต้นไปสู่ยอด ดอกบานในเวลาเช้า มีสีเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีอับเกสรตัวผู้ และเรณู (รังไข่) อยู่ในดอกเดียวกัน หลังจากผสมเกสรแล้ว กลีบดอกจะเหี่ยวและร่วง แต่ก้านของรังไข่ขยายตัวยาวออกไปเรียกว่า เข็ม ปลายเข็มขยายตัวตามแนวดิ่ง แทงลงไปในดิน แล้วจึงพัฒนาเป็นฝัก
ฝัก แต่ละฝักมีเมล็ดตั้งแต่ 2 ถึง 4 เมล็ด เนื่องจากดอกออกไม่พร้อมกัน ทำให้ฝักแก่ไม่พร้อมกันด้วย การเก็บเกี่ยวจึงเลือกเวลาที่มีฝักแก่จำนวนมากที่สุด ฝักคอดกิ่วตามจำนวนเมล็ดในฝัก เมื่อตากให้แห้งแล้ว เขย่าจะมีเสียง เยื่อหุ้มเมล็ดมีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง ม่วง และน้ำตาล
เมล็ด ประกอบด้วยใบเลี้ยงขนาดใหญ่ 2 ใบ ห่อหุ้ม ต้นอ่อนไว้ภายใน

ประโยชน์ของ ถั่วลิสง

  • ใช้เมล็ดเป็นวัตถุดิบในการสกัดน้ำมัน
  • นำไปแปรรูป ผลิตภัณฑ์แปรรูปถั่วลิสง เช่น ถั่วลิสงต้ม คั่ว ทอด ผลิตแป้ง และเนยถั่วลิสง เป็นต้น
  • นำไปผลิตขนมพวกขบเคี้ยว เช่น ถั่วตัด จันอับ ถั่วกระจก เป็นต้น
  • ใช้เป็นส่วน ประกอบของอาหารหลายชนิด เช่น แกงมัสมั่น น้ำจิ้มสะเต๊ะ และน้ำพริกรับประทานกับขนมจีน เป็นต้น
  • เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่นเดียวกับถั่วเหลือง
  • นำต้นและใบถั่วลิสง ที่ปลิดฝักออกแล้ว ไปใช้เลี้ยงสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก
  • กากถั่วลิสงที่สกัดเอาน้ำมันออกแล้ว นำไปอบให้แห้งใช้ประกอบเป็นอาหาร หรือเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้

ปัญหาสำคัญของถั่วลิสง
การเกิดสารพิษแอลฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็น สาเหตุของการเกิดมะเร็งในตับ ดังนั้น จึงต้องตากเมล็ดให้แห้งสนิทโดยเร็ว และเก็บในที่แห้ง ความชื้นในเมล็ด ถ้ามีต่ำกว่าร้อยละ 14 จะระงับการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งผลิตสารพิษชนิดนี้ได้

สภาพอากาศที่เหมาะสม
ถั่วลิสงสามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย เจริญเติบโตโดยอาศัยน้ำฝนและน้ำใต้ผิวดิน

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของถั่วลิสง

  • ระหว่างกลางคืนกับกลางวัน อุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 25 ถึง 35 องศาเซลเซียส
  • มีแสงแดดจัด

สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม

  • สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม คือ ที่ราบเชิงเขาและ ที่ดอน
  • ที่ราบที่มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง
  • ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียว
  • มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5
  • อากาศถ่ายเทได้ดี
  • ระดับหน้าดินลึกประมาณ 30 เซนติเมตร
  • มีความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.5 ถึง 6.5

แหล่งน้ำ

  • มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้เมื่อเวลาจำเป็น ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดน้ำ ในกรณีที่ฝนทิ้งช่วงนานๆ
  • ถ้าถั่วลิสงขาดน้ำในระยะช่วงออกดอกถึงติดฝักอ่อน จะทำให้ผลผลิตลดลงมาก ระยะวิกฤตของการขาดน้ำอยู่ระหว่าง 30 ถึง 70 วันหลังงอก

การปลูกถั่วลิสง
การเลือกสายพันธุ์ถั่วลิสง

  1. พันธุ์ที่ใช้ในรูปฝักสด ถ้าเป็นถั่วลิสงต้มสดทั้งฝักนิยมใช้พันธุ์ที่มีเมล็ด 3 ถึง 5 เมล็ดต่อฝัก เช่น สุโขทัย 38 และ กาฬสินธุ์ 1 ซึ่ง 2 พันธุ์นี้มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ส่วนพันธุ์ที่ทางราชการรับรองและสามารถทำเป็นถั่วต้มได้ เช่น พันธุ์ขอนแก่น60 – 2 และขอนแก่น 4 สำหรับถั่วลิสงต้มอบแห้งนิยมใช้ทั้งพันธุ์ไทนาน 9 และพันธุ์อื่นๆ ขึ้นอยู่กับโรงงานแปรรูปนั้นๆ การเลือกพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อใช้เพาะปลูกนั้น ควรพิจารณาเลือกปลูกพันธุ์ตามความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ปลูกด้วย เช่น ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรเลือกปลูกพันธุ์ที่มีขนาดเมล็ดปานกลาง ในสภาพที่มีฝนช่วงสั้น และค่อนข้างแล้งควรเลือกพันธุ์ที่มีอายุสั้น เช่น ถั่วลิสงต้มสดทั้งฝัก
  2. พันธุ์ที่ใช้ในรูปฝักแห้ง นิยมใช้พันธุ์ที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูอ่อนเท่านั้น สำหรับพันธุ์ที่มีการรับรอง และโรงงานกะเทาะถั่วลิสงต้องการมาก คือ พันธุ์ไทนาน 9 ขอนแก่น 60 – 1 ขอนแก่น 5 และขอนแก่น 4 หรือพันธุ์พื้นเมืองที่มีลายฝักชัดเจนมี 2 ถึง 3 เมล็ดต่อฝัก

การเตรียมพันธุ์

  1. คัดเมล็ดพันธุ์ที่ใหม่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดสูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยการทดสอบความงอกก่อนปลูก
  2. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันโรคโคนเน่า และโคนเน่าขาด ที่เกิดจากเชื้อรา โดยใช้ไวตาแวกซ์ (Vitavax) ร่วมกับคาร์เบนดาซิม หรือสารเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาด ในอัตราตามคำแนะนำ หากมีการใช้เชื้อไรโซเบียมร่วมด้วยควรเลือกใช้สารเคมีที่ไม่มีผลต่อเชื้อไรโซเบียม
  3. ในกรณีใช้พันธุ์ขอนแก่น 60 – 3 (ถั่วลิสงเมล็ดโต จัมโบ้) จำเป็นต้องทำลายระยะพักตัวโดยใช้สารอีเทรล ความเข้มข้น 3 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ9.5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร พรมเมล็ดพันธุ์พอหมาดปล่อยทิ้งไว้ 1 วัน ก่อนนำไปปลูก

ขั้นตอน การปลูกถั่วลิสง

การปลูกด้วยฝัก
โดยบีบให้แตกก่อน หรือนำฝักไปแช่น้ำก่อนปลูก 24 ชั่วโมง แต่จะงอกช้ากว่าการปลูกด้วยเมล็ด 3 ถึง 5 วัน แต่ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์เก่า ไม่ควรนำไปแช่น้ำให้แทงรากก่อนนำไปปลูก เพราะจะทำให้ความงอกลดลง

 

 

การปลูกด้วยเมล็ด
ใช้เครื่องกะเทาะฝักด้วยความเร็วรอบที่ต่ำ แล้วนำเมล็ดไปปลูกทันที เพื่อไม่ให้เมล็ดเสื่อม แต่ถ้าเป็นเมล็ดที่กะเทาะด้วยมือ สามารถเก็บได้นานกว่าเมล็ดที่กะเทาะด้วยเครื่อง แต่อาจมีเชื้อราเกิดขึ้นกับเมล็ดได้ จึงจำเป็นต้องคลุกสารเคมีก่อนนำไปเพาะปลูก

 

 

การเตรียมดิน

  • พื้นที่นาข้าว หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ให้รีบตัดตอซังข้าวออกจากแปลงนา และเก็บไว้ที่คันนา การตัดตอซังข้าวออกจากแปลงนาจะช่วยให้น้ำที่ขังอยู่ในแปลงนา หรือความชื้นของหน้าดินที่มากเกินไปแห้งเร็วขึ้น จากนั้น หยอดเมล็ดลงในร่องหรือหลุมลึกประมาณ 10 ถึง 15 เซนติเมตร การปลูกลึก ทำให้รากถั่วลิสงหยั่งลงไปในดินได้ลึกเพื่อดูดความชื้นในดินชั้นล่างได้มาก การใช้ตอซังข้าวที่ตัดออกแล้วกลับมาคลุมดินหลังจากการเพาะปลูกได้ประมาณ 10 ถึง 15 วัน จะช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ได้นานขึ้น
  • พื้นที่ปลูกพืชไร่อื่นๆ ไถพรวนดิน ปรับพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อการงอกและการเจริญเติบโตของรากถั่วลิสง แล้วหยอดเมล็ดลงตามวิธีเดียวกันกับการปลูกในพื้นที่นาข้าว

ระยะห่างการปลูกถั่วลิสง
ระยะห่างการปลูกถั่วลิสงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เป็นหลัก คือ

  1. พันธุ์ไทนาน 9 ระยะปลูกและจำนวนต้นต่อหลุมอยู่ที่ระยะ 50×20 เซนติเมตร หลุมละ 2 ต้น ซึ่งช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ และสะดวกต่อการปฏิบัติงานหลังการปลูก
  2. พันธุ์ขอนแก่น 60-1 ระยะห่างระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 10 เซนติเมตร
  3. พันธุ์ขอนแก่น 60-3 ระยะห่างระหว่างแถวควรอยู่ที่ 50 ถึง 60 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 10 เซนติเมตร หลุมละ 1 ต้น ช่วยให้ทรงต้นตั้ง และติดฝักบริเวณโคนต้น ฝักจะสมบูรณ์ การเก็บเกี่ยวสามารถทำได้สะดวก
  4. พันธุ์อายุสั้น ใช้ระยะแถวแคบ 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร หลุมละ 2 ต้น จะให้ผลผลิตที่สูง

การดูแลถั่วลิสง หลังการเพาะปลูก
การให้ปุ๋ย
จะให้ปุ๋ยหรือไม่ให้ก็ได้ แต่ถ้าให้ ควรใส่ปุ๋ยคอกในร่องพร้อมการหยอดเมล็ด

การกำจัดวัชพืช
หากมีวัชพืชเกิดขึ้น ให้ถอนออกด้วยมือ หรือ การป้องกันกำจัดโดยวิธีเขตกรรม เช่น การพรวนดิน การดายหญ้าและพูนโคน เป็นต้น

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

เสื้ยนดิน เป็นมดชนิดหนึ่งหรือชาวบ้านเรียกว่าแมงแดง เกษตรกรถือว่าเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของถั่วลิสง อาศัยอยู่ในดิน ทำลายฝักถั่วลิสง โดยการเจาะเปลือกถั่วเป็นรูแล้วกัดกินเมล็ดในฝัก หลังจากนั้นจะนำดินเข้าไปใส่ไว้ในฝักแทนเมล็ดที่ถูกทำลาย ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเสี้ยนดินจะทำให้ผลผลิตลดลงมากจนไม่คุ้มทุนที่จะเก็บเกี่ยว

 

วิธีการตรวจสอบว่าในไร่มีเสี้ยนดินหรือไม่
ให้ใช้มะพร้าวแก่ ผ่าเป็น 2 ซีก นำมะพร้าวแต่ละซีกไปฝังดินโดยคว่ำมะพร้าว ลงในดินให้ลึกพอประมาณ ด้านบนอยู่ในระดับผิวดิน คอยตรวจดูเสี้ยนดินเป็นระยะ ๆ ถ้าพบเสี้ยนดินขณะถั่วอยู่ในระยะติดฝักและสร้างเมล็ดควรหาวิธีป้องกันกำจัด

การป้องกันและกำจัด

  1. การปลูกถั่วในที่ดอนซึ่งหาน้ำผสมสารฆ่าแมลงลำบาก ให้ใช้คาร์โบฟูแรน ( Carbofuran) อัตรา 200 กรัม เนื้อสารออกฤทธิ์ต่อไร่ โดยโรยข้างแถวพร้อมใส่ปุ๋ยหลังดายหญ้าครั้งที่ 2 หรือเมื่อถั่วอายุ 30 ถึง 35 วัน แล้วกลบโคนหรือแบ่งใส่ 2 ครั้งเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
  2. เมื่อถั่วอายุ 60 ถึง 65 วัน ให้ใช้คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)อัตรา 200 กรัม เนื้อสารออกฤทธิ์ต่อไร่ พ่นลงดินระหว่างแถวถั่ว พ่นครั้งแรกเมื่อถั่วอายุ 30 ถึง 35 วัน และพ่นครั้งที่ 2 เมื่อถั่วอายุ 60 ถึง 65 วัน

การเก็บเกี่ยว

  • ใช้มือถอนต้นจากดิน สลัดเศษดินออกให้มากที่สุด
  • ปลิดฝักออกจากต้น ถ้าดินแน่นให้ใช้จอบขุด
  • นำถั่วลิสงที่ปลิดออกจากฝักไปตากแดด แล้วนำไปจำหน่าย

การใช้ประโยชน์จากถั่วลิสงในการปรับปรุงบำรุงดิน
ต้นถั่วลิสงที่ปลิดฝักออกแล้ว ให้ทิ้งเศษซากไว้ในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเป็นปุ๋ย

ในบทความต่อไป ของพืชหมุนเวียนคือ ถั่วเหลือง ติดตามต่อเพื่อเพิ่มทางเลือกในการปลูกพืชหมุนเวียนนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.kanchanapisek.ac.th, www.agriqua.coae.go.th, หนังสือ พืชหลังนา สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *