ต้นอ่อนทานตะวันกับประโยชน์ที่ควรรู้
ต้นอ่อนทานตะวัน คืออะไร คือของอร่อย มีประโยชน์ ที่อยากแนะนำค่ะ แต่คำตอบในทางทฤษฎี ต้นอ่อนทานตะวัน ก็คือ ต้นอ่อนของดอกทานตะวัน ที่มีอายุตั้งแต่ 7 – 11 วัน เท่านั้น ก็นำมารับประเทานสดๆ หรือเป็นอาหารปรุงสุกได้หลายเมนู เช่น ต้นอ่อนทานตะวันผัดน้ำมันหอย ต้นอ่อนทานตะวันอบชีส ต้นอ่อนทานตะวันผัดเต้าหู้ยี้ ยำซีฟู้ดต้นอ่อนทานตะวัน ไข่เจียวต้นอ่อนทานตะวัน แกงส้มต้นอ่อนทานตะวัน ผัดหมี่ฮ่องกงใส่ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนทานตะวันทอด ราดน้ำยำ หรือรับประทานร่วมกับผักสลัดอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ความจิ๋วแต่แจ๋วของต้นอ่อนทานตะวัน ไม่ใช่แค่ความอร่อยแค่นั้น สารอาหารที่อุดมอยู่ในเจ้าต้นอ่อนจิ๋วๆ นี้ก็มีไม่น้อย เช่น ไฟเบอร์ โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม สังกะสี โพแทสเซียม ไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกาย และมีสารกาบ้า (GABA- gamma aminobotyric acid)
ส่วนคุณประโยชน์นั้น น่าทึ่งค่ะ
- ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- GABA ช่วยป้องกันโรคมากมายหลายชนิด อาทิเช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน
- ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
- ช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ ชะลอความแก่ชรา
- ช่วยบำรุงสายตา
- วิตามินบี 1 บี 6 วิตามินอี วิตามินซี และเซเลเนียม กรดไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 มีโฟเลทสูง เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์
- ขจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ในปอด
- ช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง
ข้อควรระวังในการรับประทานต้นอ่อนทานตะวัน ก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ต้องระวังกัน หากรับประทานอะไรมากเกินไปก็ย่อมมีผลเสีย การรับประทานต้นอ่อนทานตะวันมากจนเกินไปอาจทำให้อ้วนได้ เพราะปริมาณแคลอรีในต้นอ่อนทานตะวันมีอยู่มากจนทำให้อ้วนได้ถ้ารับประทานในปริมาณที่ไม่พอเหมาะ เพราะฉะนั้น รักสุขภาพ บำรุงสุขภาพ โดยเฉลี่ยให้พืชผักหลายๆ ชนิด ได้ทำหน้าที่กันอย่างเสมอภาค ก็จะไม่เป็นโทษ
และอีกหนึ่งสาเหตุที่นำต้นอ่อนทานตะวันมาแนะนำ เพราะการเพาะต้นอ่อนเมล็ดดอกทานตะวัน เป็นเรื่องง่ายๆ ได้ประโยชน์ คือ
- ได้รับประทานผักปลอดสารพิษ ภายใน 1 สัปดาห์
- ได้ทำเป็นงานอดิเรก หรือกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
- ได้ทำเป็นอาชีพ
เรียน…..รู้…..และทดลองทำ
ขั้นตอนการเพาะเมล็ดต้นอ่อนทานตะวัน มีดังนี้
เลือกชนิดเมล็ด
เราเห็นตามท้องตลาด เมล็ดทานตะวันมีแบบสีดำ และแบบลาย แต่เมล็ดทานตะวันถูกแบ่งเป็น 4 แบบ
1.เมล็ดทานตะวันแบบดำใหญ่ มีลายอ่อนๆ นิยมนำมาทำเมล็ดทานตะวันคั่วหรืออบแห้งขาย เมล็ดแบบนี้เหมาะสำหรับแทะเมล็ดรับประทาน ในไทยไม่นิยมปลูก พบมากในประเทศจีน
2.เมล็ดทานตะวันแบบดำจัมโบ้ เมล็ดกลม นำมาปลูกต้นอ่อนจะให้ต้นอ่อนที่อวบใหญ่ ได้น้ำหนักมาก แต่รสชาติดีด้อยกว่าเมล็ดลายและค่อนข้างเหนียว
3.เมล็ดทานตะวันแบบดำขนาดกลาง ให้ต้นอ่อนทิ่อวบ
4.เมล็ดทานตะวันแบบลาย ได้ต้นอ่อนที่ผอมเรียวยาว รสชาติดี และไม่เหนียวที่สำคัญเมล็ดลายจะมีน้ำมันทานตะวันมากกว่าแบบอื่น ซึ่งน่าจะให้ประโยชน์มากกว่าด้วย
เตรียมอุปกรณ์
1.ภาชนะที่มีรู เช่น ถาด ตะกร้า กะละมังเจาะรู
2.ดินปลูก (สำหรับต้นอ่อน)
3.เมล็ดทานตะวัน ปริมาณตามต้องการ
***ถ้าเลือกใช้ภาชนะขนาด 30×60 เซนติเมตร เพาะเมล็ด 1.5 ขีด ต่อ 1 ภาชนะ***
วิธีเพาะต้นอ่อนทานตะวัน
1.นำเมล็ดทานตะวันไปตากแดด 1 วัน เพื่อให้เมล็ดดีดออกจากใบได้ง่าย
2.นำเมล็ดทานตะวันที่ตากแดดแล้วไปแช่น้ำไว้ 8 ถึง 12 ชั่วโมง
3.นำเมล็ดขึ้นสะเด็ดน้ำ จากนั้นนำไปบ่มในผ้าขนหนู ประมาณ 18 ถึง 20 ชั่วโมง คนเมล็ดกลับไปมาทุก ๆ 5 ชั่วโมง เมล็ดจะเริ่มงอก
- ใส่ดินรองก้นภาชนะที่เตรียมไว้ โรยเมล็ดทานตะวันที่ผ่านการบ่มจนครบตามเวลาลงในดิน
- โรยดินกลบเมล็ดทานตะวันบางๆ แล้วรดน้ำพอชุ่ม
- ซ้อนภาชนะปลูกเพื่อให้รากลงดินได้เร็ว โดยใช้ผ้า หรือภาชนะเปล่าปิดชั้นบนสุด ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นรดน้ำตามปกติ
- แยกถาดออกวางไว้ในร่ม ใช้วัสดุพรางแสง เพื่อลดการยืดหาแสงของต้นอ่อน ไม่ให้ต้นสูง ยาว รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น พอประมาณ
- วันที่ 4 รดน้ำในปริมาณที่น้อยลง เพื่อให้ดินหลุดจากใบ เมล็ดจะเริ่มดีดออกจากใบด้วยถ้านำเมล็ดตากแดดก่อนแช่น้ำ ไม่ต้องเสียเวลาเก็บเมล็ดออกมาก รดน้ำต่อไปทั้งเช้า และเย็น
- เมื่อเข้าสู่วันที่ 6 หรือ 7 ยังคงรดน้ำเช้า-เย็นปกติ ต้นอ่อนเริ่มจะนำมารับประทานได้แล้ว ซึ่งถ้าเริ่มมีใบจริงแทรกออกมาจากปลายต้นอ่อนก็ควรตัด แต่ให้นำต้นอ่อนออกมารับแสงในวันที่จะตัด จะได้ต้นสีเขียว น่ารับประทาน หรือหากต้นอ่อนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะตัดได้ ให้รดน้ำเช้า และเย็นต่อไปก่อน จนสังเกตเห็นลักษณะตามที่กล่าวข้างต้น จึงนำต้นอ่อนออกมารับแสงก่อนวันที่จะตัด 1 ถึง 2 วัน ก็สามารถทำได้
การตัดต้นอ่อนทานตะวัน
- ใช้มือรวบโคนต้นเป็นกระจุกเบาๆ นำกรรไกร หรือคัตเตอร์ที่คมมากๆ ตัดที่โคนต้น เพื่อป้องกันโคนต้นช้ำ
- ล้างต้นอ่อนทานตะวันที่ตัดแล้วในกะละมัง 2 น้ำ เก็บเศษดิน เศษราก และเมล็ดที่ติดมาออก ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม อากาศถ่ายเท –นำไปรับประทาน หรือบรรจุใส่ถุงเข้าตู้เย็น หรือนำไปจำหน่าย มัดปากถุงให้แน่น ไม่ต้องเจาะรู ***แต่ต้องผึ่งให้สะเด็ดน้ำ***สามารถเก็บได้ประมาณ 7 วัน
การป้องกันเชื้อราในการเพาะต้นอ่อนทานตะวันในภาชนะปลูก
- นำเมล็ดทานตะวันไปตากแดดจัดๆ 1 ถึง 2 วัน ก่อนเพาะ
- หลังการเพาะ รดน้ำพอประมาณ หรือพอชุ่ม ไม่เฉอะแฉะ หรือท่วมขัง
- ถ้าเกิดเชื้อราขึ้น ให้แซะบริเวณที่เสียหายไปทำลายทิ้ง
- ถ้าฝนตกบ่อย หรือมีความชื้นสูง ให้นำต้นอ่อนทานตะวันออกไปรับแสงช่วงเช้า หรือเย็น ที่แสงแดดไม่จัด
- เปลี่ยนสถานที่วางภาชนะปลูกในการเพาะครั้งต่อไป ไม่ควรวางที่เดิมเป็นประจำ
- ห้ามนำภาชนะปลูกมาใช้ซ้ำทันที ต้องทำความสะอาด และไปตากแดดก่อนนำมาใช้เพาะต้นอ่อน
เคล็ดลับเสริมรายได้
- นำไปจำหน่ายด้วยตนเอง ตามตลาดนัดเพื่อสุขภาพ
- จำหน่ายคู่น้ำพริก เครื่องน้ำยำ หรือชุดสลัด
- บรรจุใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวย สะอาด เพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้า
- หากต้องการเพาะต้นอ่อนทานตะวันเป็นอาชีพ สามารถติดต่อพ่อค้าแม่ค้าคนกลางให้มารับไปจำหน่าย เพื่อประหยัดค่าขนส่ง
ขอบคุณสำหรับการติดตามบทความนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.sunflowersprout.com, www.organicfarmthailand.com)