คะน้าใบหยิก
คะน้าใบหยิก
คะน้าใบหยิก เป็นผักในตระกูลเดียวกับ คะน้า กะหล่ำ และบร็อคคอรี่ แตกต่างกันที่ คุณค่าทางอาหาร คะน้าใบหยิก ได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชินีแห่งผัก หรือ Queen of Green เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงที่สุดในโลก ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอังกฤษ เป็นที่รู้จักและนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ที่พบเห็นทั่วไปจะมีใบสีเขียว สีม่วง หรือสีม่วงแดง
ประโยชน์ของ คะน้าใบหยิกสีเขียว
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
- ชะลอความแก่
- ลดภาวะเป็นพิษและเสริมสร้างคอลลาเจนให้แก่ร่างกาย เนื่องจากมี เบต้าแคโรทีน และโปรตีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก
- มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ที่สำคัญที่สุดคือ มีใยอาหารสูงมาก ช่วยในการย่อยและดูดซับสารอาหาร และสารเคมีต่างๆ ทำให้ระดับคอเรสเตอรอล และไขมันในเส้นเลือดลดลง
- มีวิตามิน บี2 และแร่ธาตุหลายชนิด ที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมสมดุลกรดเบสในกระแสเลือด
- มีแคลเซียมสูงกว่านม เสริมสร้างกระดูก และฟัน ให้แข็งแรง แต่ไม่เพิ่มน้ำหนักตัว
- แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง ที่มีอยู่ในผักตระกูลนี้ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
- มีสาร Sulforaphane ซึ่งมีคุณสมบัติต้านเซลล์มะเร็ง
- มีธาตุเหล็กสูงมาก ธาตุเหล็กจะบำรุงเลือดและตับได้เป็นอย่างดี
- มีวิตามิน ซี สูงกว่าผักใบอื่นๆ และมีวิตามิน เอ ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคกระดูกบาง
- มีกรดไขมันโอเมก้า 3
- เป็นผักที่ Detox ตับได้เป็นอย่างดีเพราะมีไฟเบอร์และซัลเฟอร์
- มีวิตามิน เค สูงมาก ดีต่อเซลล์สมอง กระดูก และ ระบบเลือด
ประโยชน์ของ คะน้าใบหยิกสีม่วง
นอกจากคุณประโยชน์ของคะน้าใบหยิกที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว สารอาหารที่พบในคะน้าใบหยิกสีม่วงที่มีเพิ่มขึ้นมาคือ สารแอนโทไซยานิน ซึ่งโดยปกติแล้ว จะพบมากในผักและผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ให้คุณประโยชน์ดังนี้
- ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์
- ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยังยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน
- ชะลอความเสื่อมของดวงตา
- ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ
การนำคะน้าใบหยิกมาใช้ประโยชน์
- รับประทานสด หรือรับประทานแบบชุดสลัด
- นำมาประกอบอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น ผัดน้ำมันหอย, ต้มจับฉ่าย, สตู และ รับประทานเป็นผักเครื่องเคียง
- นำมาทำเป็นครีมพอกหน้า
- นำมาทำน้ำปั่นสมูตตี้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ขอบใบจะหยิกฝอย ต่างจากคะน้าทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด นิยมนำมาทำอาหารประเภทผัด หรือต้มจับฉ่าย มีผลผลิตตลอดทั้งปี
การปลูกคะน้าใบหยิก
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ในการปลูกคะน้าใบหยิก
สภาพอากาศ
***การปลูกในสภาพอากาศหนาวเย็นหรือมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะทำให้การเจริญเติบโตช้า ลำต้นและใบอวบใหญ่กว่าปกติ ข้อถี่***
*** การปลูกในสภาพอากาศร้อนสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส คุณภาพผลผลิตต่ำ เยื่อใยสูง เหนียว จำเป็นต้องให้น้ำมากกว่าปกติ***
- อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการปลูกอยู่ระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
- สำหรับพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300 – 800 เมตร สามารถปลูกได้คุณภาพดีในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ส่วนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
- ห่างไกลจากแหล่งมลพิษ หรือ ไม่มีสารปนเปื้อนในดินของพื้นที่เพาะปลูก
- ใกล้แหล่งน้ำสะอาดและสะดวกต่อการนำมาใช้
- เป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง
- ใกล้แหล่งรับซื้อ และมีการคมนาคมสะดวก สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว
ลักษณะดิน
- ควรร่วนซุย หรือเป็นดินร่วนปนทราย
- มีความอุดมสมบูรณ์สูง (ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก)
- ดินมีการระบายน้ำดี
- ค่าความเป็นกรด – ด่างดินควรอยู่ระหว่าง 6.0 ถึง 6.8
***หากดินที่ปลูกมีความเป็นกรดสูง ควรปรับด้วยปูนขาวหรือโดโลไมด์
- ดินปลูกควรมีความชื้นสูงประมาณ 80 เปอร์เซนต์
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก
ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี
ระบบน้ำ
- มีแหล่งน้ำสะอาดปราศจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อน และเพียงพอสำหรับใช้ตลอดฤดูปลูก
- ใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์แบบหัวพ่นฝอย
สายพันธุ์
- เลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ
- เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในพื้นที่ที่ปลูก
- มีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี
คะน้าใบหยิกสีเขียว
- มีอายุการเก็บเกี่ยว 50 ถึง 60 วัน
- อุณหภูมิในการเพาะเมล็ด 28 ถึง 33 องศาเซลเซียส
- อุณหภูมิในการปลูก 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
คะน้าใบหยิกสีม่วง หรือสีม่วงแดง
- มีอายุการเก็บเกี่ยว 70 ถึง 80 วัน
- อุณหภูมิในการเพาะเมล็ด 28 ถึง 33 องศาเซลเซียส
- อุณหภูมิในการปลูก 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
คำแนะนำ
- ควรปลูกในโรงเรือน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง, ลดต้นทุนในการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งสารเคมีในการกำจัดวัชพืช และดูแลง่าย ประหยัดเวลาและแรงงานในการดูแล
- คะน้าใบหยิก สามารถปลูกได้ทั้งปี ด้วยเทคนิคการพรางแสง และเพิ่มปริมาณการให้น้ำ
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
แช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกในน้ำอุ่นประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที
การเตรียมกล้าคะน้าใบหยิก มี 2 วิธี
วิธีที่ 1
การเพาะเมล็ดในกระบะ
- ผสม ทราย 2 ส่วน : ขุยมะพร้าว 1 ส่วน : หน้าดิน 1 ส่วน หรือ ขุยมะพร้าว 3 ส่วน : แกลบ 1 ส่วน
- หยอดเมล็ดลงในกระบะเพาะกล้าโดยตรง
- เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 5 วัน ย้ายลงถาดหลุมที่ใช้วัสดุเพาะ
- เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 18 – 21 วัน หรือมีใบจริงอย่างน้อย 2 – 3 ใบ จึงทำการย้ายปลูก
วิธีที่ 2
การเตรียมแปลงเพาะ
แปลงเพาะกล้าควรมีขนาดกว้าง 1 เมตรส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่
การเตรียมดินบนแปลงเพาะกล้า
- ควรขุดไถพรวนดินให้ดี ตากดินไว้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน
- ย่อยหน้าดิน ให้ละเอียด แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วในปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว
การเพาะ
- หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง
- กลบเมล็ดด้วยดิน หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วให้หนาประมาณ 0.6 ถึง 1 เซนติเมตร
- คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ หรือหัวรดน้ำที่เป็นฝอยละเอียด
การดูแลต้นกล้า
- ภายใน 7 วัน ต้นกล้าจะงอก ดูแลต้นกล้า ถอนต้นที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง หรือเบียดกันแน่นทิ้งไป
- ดูแลป้องกันโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้น
- เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25 ถึง 30 วัน จึงทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกต่อไป
การเตรียมดิน
- ขุดดินลึก 10 – 15 เซนติเมตร ตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7 ถึง 14 วัน
- โรยปูนขาว หรือ โดโลไมท์อัตรา 10 ถึง 100 กรัม ต่อตารางเมตร
- ขึ้นแปลงกว้าง 1 ถึง 1.20 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
- ใส่ปุ๋ยรองพื้นปุ๋ยคอก (มูลไก่) หรือปุ๋ยหมักอัตรา 3 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร หรือในปริมาณที่มากกว่านี้ตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
การปลูก
- นำต้นกล้าที่มีอายุ 18 – 21 วัน ไปปลูกลงในแปลงที่เตรียมดินไว้ ควรปลูกเป็นแถวเดียว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
ในกรณีที่ต้องการเก็บเกี่ยวช่วงฤดูร้อน (อุณหภูมิไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส) เว้นระยะปลูกต่อต้น 30 x 30 เซนติเมตร, ฤดูฝนและหนาว 30 x 40 เซนติเมตร แต่ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวครั้งเดียวควรใช้ระยะปลูก 25 x 25 เซนติเมตร - รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ หรือหัวรดน้ำที่เป็นฝอยละเอียด
***หากต้องการประหยัดพื้นที่เพาะปลูก สามารถปลูกในภาชนะ เช่น กระถาง, วงบ่อซีเมนต์, ยางรถยนต์ หรือภาชนะเหลือใช้อื่นๆ ที่มีรูระบายน้ำ*** ติดตามการให้น้ำ ให้ปุ๋ย และอื่นๆ ในบทความ การดูแลคะน้าใบหยิก หลังการปลูก นะคะ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพรวมถึง บทความ การป้องกันและแก้ไข โรคและแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : http://hkm.hrdi.or.th, www.maamjourney.com, www.women.thaiza.com, www.maceducation.com, www.bighealthyplant.com)