การแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
การป้องกันแก้ไขปัญหาในการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลกุ้งก้ามแดง หากผู้เลี้ยงปล่อยปละละเลยไม่ดูแล ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะตามมา :
ปัญหาในการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
โรคสนิม
เป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัวร์ มีผงสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลทองคล้ายสนิมเกาะที่กุ้ง ต้องอาศัยเกาะติดกับสัตว์น้ำ ในฐานะปรสิต อาศัยสัตว์น้ำ สามารถสังเคราะห์แสงได้เหมือนพืช จะดูดซับสารอาหาร จากตัวกุ้ง ทำให้เกิดแผล ติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราแทรกซ้อนได้ กุ้งมีอาการซึม ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ไม่กินอาหาร จนตายในที่สุด
โรคในกลุ่มของ โรควิบริโอซีส
มีรอยไหม้สีดำตามรยางค์ของกุ้ง (รยางค์ คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างปล้องใต้ลำตัวจากส่วนหัวจนถึงท้อง แต่ละปล้องจะมีรยางค์ 1 คู่) ตับและตับอ่อนอักเสบ ไม่เจริญอาหารและในที่สุดก็ตาย (มีการระบาด เมื่อสภาพน้ำมีความเค็มสูง)
การป้องกัน
- ควบคุมการให้อาหาร ในปริมาณที่พอเหมาะกับจำนวนกุ้ง และให้อาหารที่มีคุณภาพ
- ดูแลรักษาน้ำให้สะอาด โรคสนิม จะลุกลามได้เร็วในสภาพน้ำที่ไม่ดี กุ้งจะลอกคราบไม่ผ่าน และตายได้
ยาที่ใช้ในการรักษา
- ใช้สารเคมีกลุ่มไอโอดีน
- ใช้ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ
การแก้ไข
- ถ่ายน้ำ และเร่งให้กุ้งลอกคราบ ด้วยน้ำที่มีค่าอัลคาลินิตี้สูงกว่าน้ำที่ใช้เลี้ยงในบ่อ
(น้ำจืด 80 – 100 ppm น้ำเค็ม 150 – 200 ppm ) ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ ใช้ยา Chioramphenicol 5 ถึง 7 มิ่ลลิกรัม ผสมอาหาร 1 ขีด ให้กุ้งกินติดต่อกัน จนกว่าจะหาย (ระวังปริมาณการใช้ยารักษา ต้องคำนวณให้เหมาะสม เพราะเกิดอันตรายต่อกุ้งได้) - เก็บคราบกุ้งออก หลังการลอกคราบ
โรคหางพอง
เกิดจากน้ำไม่สะอาด
การป้องกัน
- ดูแลสภาพน้ำให้สะอาดอยู่ตลอด ถึงแม้ว่ายังไม่ถึงกำหนดเปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่ถ้าน้ำขุ่น มีขี้กุ้งและเศษอาหารเยอะ กำจัดไม่หมด ก็ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ
การแก้ไข
- ตัดตรงส่วนที่พองออก
- นํากุ้งไปแช่น้ำเกลือ 10 ถึง 15 นาที เมื่อกุ้งลอกคราบแล้ว หางจะกลับสู่สภาพปกติ
ปัญหากุ้งกินกันเอง
การป้องกันและแก้ไข ทำที่หลบซ่อนให้กุ้งอย่างเพียงพอ
ปัญหาความซุกซนของกุ้ง
กุ้งชอบปีนป่าย ซึ่งหากปีนออกไปจากบ่อได้อาจตัวแห้งตาย
การป้องกันและแก้ไข
- บ่อดิน หรือ นาข้าว ทำตาข่ายล้อมกุ้ง นอกจากจะป้องกันไม่ให้กุ้งปีนป่ายแล้ว ยังช่วยป้องกันศัตรูกุ้งได้
- บ่อปูน, บ่อพลาสติก, กะละมัง, วงบ่อซีเมนต์ ฯ ทำฝาปิด หรือใช้ตาช่ายคลุม หรือล้อมบ่อไว้
- ไม่ควรวางวัสดุที่กุ้งใช้ขาหนีบ หรือคีบปีนขึ้นขอบบ่อได้ ใกล้กับขอบบ่อ
ปัญหากุ้งน็อคน้ำ
ฤดูฝน สําหรับผู้ที่เลี้ยงกุ้งกลางแจ้งจะประสบปัญหานี้บ่อย น้ำฝน ตกลงไปผสมกับน้ำในบ่อ กุ้งปรับสภาพไม่ทัน น็อคน้ำตายได้
การป้องกัน
- เปิดปั้มมลมให้แรงๆ เพื่อให้ของเสียเจือปนอยู่ในน้ำฝนแตกตัว และโมเลกุลของน้ำไปจับกับ อ๊อกซิเจนแทน
- ควรมีผ้ายาง หรือผ้าใบปิดคลุมไว้ เพื่อช่วยลดปริมาณการเพิ่มของน้ำให้ช้าลง ให้กุ้งค่อยๆ ปรับตัว
ปัญหาแม่กุ้งสลัดไข่
อาจมีสาเหตุมาจาก
- มีสิ่งรบกวน มีเสียงดัง ทำให้แม่กุ้งตกใจ
- น้ำไม่สะอาด
- แสงมากไป
การป้องกัน
- แยกแม่กุ้งอุ้มไข่ใส่ตะกร้าไว้ตัวเดียว หลังการผสมพันธุ์ เพื่อที่จะไม่ให้กุ้งตัวอื่นมารบกวน
- ห้ามเปลี่ยนน้ำ
- งดให้อาหาร
ปัญหากุ้งลอกคราบไม่ผ่านอาจเกิดจาก
- โรคสนิม
- อ๊อกซิเจนไม่พอ
- มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ช่วงที่กุ้งใกล้จะลอกคราบ
- กุ้งสะสมสารอาหารไม่พอ
การป้องกัน
- สังเกตตัวกุ้ง หากใกล้จะลอกคราบ กุ้งจะไม่ค่อยกินอาหาร ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เปลือกนิ่มลง และปริ ห้ามถ่ายน้ำในช่วงนี้
- ให้อ๊อกซิเจนอย่างเพียงพอ ในช่วงใกล้ลอกคราบ
- ดูแลป้องกัน โรคสนิม
- รักษาสภาพน้ำให้สะอาด
- ให้อาหารที่มีคุณภาพ ทั้งอาหารหลัก และอาหารเสริม ในปริมาณที่เพียงพอ
ไฟดับหรือปั้มลมดับ
หาวัสดุที่ช่วยให้กุ้งปีนขึ้นมาเกาะ เพื่อหายใจรับอ๊อกซิเจนเหนือผิวน้ำได้ เช่น ใช้ตะกร้าวางคว่ำ, ใช้ตาข่ายไนล่อนสีฟ้า หรือผ้ามุ้ง หรือ สแลนลอยไว้ในบ่อ แต่ระวังอย่าให้ใกล้กับขอบบ่อ จนกุ้งปีนออกไปนอกบ่อได้
ปัญหาจากการเลี้ยงกุ้งรวมกัน
กุ้งจะกินกันเอง ตัวใหญ่กินตัวเล็ก หรือกินกุ้งที่ลอกคราบ
การป้องกัน
- บ่อควรมีขนาดใหญ่พอให้กุ้งมีพื้นที่หลบซ่อน และต้องใส่วัสดุหลบซ่อนให้กุ้ง เพียงพอกับจำนวนกุ้ง หรือมากกว่าจำนวนกุ้งบ้าง
- หากมีแม่กุ้งอุ้มไข่ ต้องแยกตัวอื่นๆ และปลาออกจากบ่อ เพื่อป้องกันแม่กุ้งสลัดไข่จากการถูกรบกวน
ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้กุ้งตาย ที่พบได้บ่อย
- หมดอายุไข หรือแก่ตาย
- ดูแลบริหารจัดการเรื่องน้ำไม่ดี อาทิเช่น
ปล่อยเศษอาหารที่เหลือ และคราบกุ้งทิ้งไว้ ไม่เก็บทิ้ง,
ไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำตามกำหนด รอจนกระทั่ง น้ำเสีย หรือ ส่งกลิ่นเหม็น,
และ กุ้งขาดอ๊อกซิเจน หรืออ๊อกซิเจนไม่พอ - ใส่อาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารสด ทำให้น้ำเสียเร็ว
- กุ้งปีนออกนอกตู้หรือบ่อเลี้ยงอื่นๆ จนแห้งตายหรือโดนศัตรูทำร้าย
- ได้รับสารเคมีจาก ยาฆ่าแมลง, ยาฉีดยุง, ยาฉีดปลวก, โลชั่น, ครีมทามือ, เส้นผมที่ปนเปื้อนยาย้อมผมหรือเจลแต่งผม, ยาทาเล็บ, น้ำมัน หรือน้ำมันเครื่อง เป็นต้น เพียงแค่เปื้อนมือมา แล้วมือจุ่มโดนน้ำในตู้กุ้ง ***ก่อนให้อาหารกุ้งหรือจับกุ้งในบ่อเลี้ยง ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับการเลี้ยงในนาข้าว ให้ระวังยาฆ่าปูจากพื้นที่ข้างเคียง***
เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาฝาก
-
- ให้กุ้งกินแครอท ช่วยเร่งสีได้
- ใช้วัสดุปูพื้นบ่อสีดำ กุ้งจะสีเข้มขึ้น เช่น หินนิลดำ, หินกรวดรองตู้กระจก และ พลาสติกปูบ่อสีดำ
- ไม่ควรใช้ภาชนะปากแคบเลี้ยงกุ้งก้ามแดง เพราะการระบายอากาศไม่ดี และลมพัดผ่านผิวน้ำได้ไม่ดี
- ใช้แปรงสีฟันชุบน้ำเกลือ ขัดตัวกุ้งเพื่อขจัดคราบดำที่เกิดจากการเลี้ยงในบ่อดิน หรือนาข้าว ช่วยให้กุ้งมีสีสวย
- ใช้ใบหูกวางแห้ง เป็นอาหารเสริมของกุ้งก้ามแดง เก็บเฉพาะใบที่ร่วงเอง แต่ห้ามใช้ใบสีเขียวที่ยังสดอยู่ เพราะ เป็นพิษ แต่ถ้าใช้ใบแห้งจะมีสารเทนนิน และใบหูกวางต้องไม่เป็นเชื้อรา นำมาล้างน้ำให้สะอาด โดยน้ำไปต้มในน้ำเดือด เมื่อใบหูกวางจมลงก้นหม้อต้ม ยกลงจากเตา เทน้ำทิ้ง แล้วแช่น้ำเปล่าไว้ 1 คืน เมื่อครบกำหนด ให้ตัดก้านออกแล้วให้กุ้งก้ามแดงกิน เพื่อช่วยขจัดปรสิต, ป้องกันโรค, คลายเครียด, เร่งสีสัน และรักษาแผล แต่อาจจะทำให้น้ำมีสีเหลืองได้บ้าง นอกจากนี้ ใบหูกวางยังช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำได้ด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: หนังสือ หลากวิธีการเลี้ยง กุ้งก้ามแดง ชีววิถี ต้นทุนต่ำ สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุธิพงศ์ ถิ่นนเขาน้อย, www.farmthailand.com, www.baannoi.com, crayfishfarmth.blogspot.com,
redlobsterclawsthai.blogspot.com, aqua.c1ub.net)