การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนหรือเชิงธุรกิจ

โรงเรือนเพาะเห็ดฟาง

การเพาะเห็ดฟาง แบบโรงเรือน

โรงเรือนเพาะเห็ดฟาง

โรงเรือนเพาะเห็ดฟาง

เหมาะสำหรับผู้ที่มีความชำนาญ หรือมีประสบการณ์ในการเพาะเห็ดมาก่อน เช่น เคยทดลองเพาะเพื่อบริโภคในครัวเรือน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีให้เลือกทดลองเพาะตามที่เคย แนะนำไว้ใน การเพาะเห็ดฟาง สำหรับมือใหม่ ก่อนที่จะขยายการผลิตมาเป็น การเพาะเห็ดฟาง แบบโรงเรือน หรือเชิงธุรกิจนั้น เราลองมาศึกษาข้อดีข้อเสียของ การเพาะเห็ดฟาง แบบโรงเรือนกันก่อน

ข้อดี
1. ให้ผลผลิตสูงและสม่ำเสมอ
2. สามารถใช้วัสดุที่มีราคาถูก ส่วนมากเป็นวัสดุที่เหลือใช้จากเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เช่น ดินถั่วต่าง ๆ โดยใช้ดินถั่วเหลืองและถั่วลิสง ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วยและชานอ้อย เป็นต้น
3. เพาะได้ทุกฤดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูหนาวหรือฤดูฝน วิธีนี้เหมาะสม เป็นอย่างมาก
4. เพาะได้ในพื้นที่จำกัดกล่าวคือ หลังจากเก็บผลผลิตหมดและเอาปุ๋ย เก่าออกไปแล้ว สามารถเพาะต่อในที่เดิมได้เลย ภายใน 1 เดือน จะเพาะได้ 2 ครั้ง
5. ใช้เวลาในการเพาะนับตั้งแต่เริ่มหมักปุ๋ย จนกระทั่งเก็บดอกใช้เวลาไม่ เกิน 15 วัน ซึ่งนับว่าใช้ระยะเวลาสั้นมาก
6. ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูเห็ดมีน้อยกว่า เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไร มด เป็นต้น
7. สามารถทำให้ขนาด สีสัน และลักษณะต่าง ๆ ได้ตามที่ตลาดต้องการ
8. วัสดุหลังจากเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม สามารถนำไปเพาะเห็ดต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเติมอาหาร หรือผ่านการหมักใหม่ หรือไม่ต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เข้าช่วย
9. โรงเรือนเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้เพาะ อย่างอื่นได้ทันทีโดยไม่ต้องดัดแปลงแก้ไข

ข้อเสีย
1. การลงทุนครั้งแรกสูงมาก เพราะจะต้องมีโรงเรือน เครื่องกำเนิดไอน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ
2. มีขั้นตอนในการเพาะหลายขั้นตอน กล่าวคือ จะต้องหมักปุ๋ยที่จะใช้เพาะเสียก่อน จึงนำมาตีให้ละเอียดใส่ในโรงเรือน เลี้ยงเชื้อรา อบฆ่าเชื้อ โรยเชื้อ ปรับ อุณหภูมิ ความชื้นและให้อากาศ เป็นต้น
3. มีเทคนิคและวิธีการละเอียดซับซ้อนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการเพาะ
4. หากปรับสภาพแวดล้อม หรือทำไม่ถูกวิธีแล้ว ถ้าเกิดโรคจะระบาดทั้งหมดที่อยู่ในโรงเรือน
ต้องใช้ความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่เข้าช่วยในทุกขั้นตอนของการเจริญเติบโต จนกระทั่งออกดอกรวมทั้งอาหารที่ใช้เพาะเห็ดต้องให้สอดคล้องกับอุปนิสัย และความต้องการของเห็ดฟาง ผู้ที่จะเพาะเห็ดฟางแบบนี้ให้ได้ผลควรทดลองทำการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง และกองเตี้ยให้ได้ผลเสียก่อน โดยการเฝ้าสังเกต อุณหภูมิ ความชื้น และลักษณะของเส้นใยเห็ดทุกวัน นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการจนกระทั่งถึงเก็บผลผลิตดอกเห็ด
(ดัดแปลงข้อมูลจาก http://imsuriya.blogspot.com)
โรงเรือน ที่จะใช้เพาะเห็ดฟางนั้น ควรคำนึงถึงความเป็นจริงที่มีการปฏิบัติกันอยู่แยกออกเป็น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

1. โรงเรือนหลัก ควรเป็นโรงเรือนแบบถาวร หลังคาอาจมุงด้วยจากหรือหญ้าคาขนาดโรงเรือนควรสร้างให้มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนของห้อง 1 โรงเรือน จะมีหลายห้องหรือห้องเดียวก็ได้ พื้นโรงเรือนถ้าเป็นพื้นดินก็ควรอัดให้แน่น หรือเป็นพื้นคอนกรีตก็จะดี เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาดโรงเรือนเพาะเห็ด ควรเป็นโรงเรือนที่ปิดมิดชิด สามารถอบไอน้ำฆ่าเชื้อเก็บอุณหภูมิและความชื้นได้ วัสดุที่ใช้อาจเป็นคอนกรีต อิฐบล๊อค กระเบื้องเรียบหรือใช้โครงไม้ไผ่บุกด้วยผ้าพลาสติกหนาให้สามารถเก็บรักษาความชื้นได้ ขนาดของโรงเรือนกว้าง ยาว สูง 5 X 8 X 3 เมตร หรือ 4 X 6 X 2.5-3 เมตร หลังคาทรงหน้าจั่วทำด้วยจาก บุด้วยผ้าพลาสติก พื้นโรงเรือนควรเป็นพื้นคอนกรีต มีประตูทางเข้าออกด้านละ 1 ประตู โรงเรือนเพาะนี้ต้องมีช่องสำหรับระบายอากาศอยู่บริเวณหน้าจั่วกว้างประมาณ 40 X 60เซนติเมตร และมีช่องสำหรับส่งไอน้ำผ่านเข้าไปในโรงเรือนได้ อย่างไรก็ดีรูปแบบและขนาดของโรงเรือนตลอดจนวัสดุที่ใช้อาจเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ตามความรู้และเครื่องมือที่สร้างขึ้น

2. โรงเรือนรอง หรือชั้นวางเพาะเห็ด ควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร โดยสร้างให้มีชายยื่นออกมาข้างละ 50 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.80 เมตร โดยแบ่งชั้นเพาะเห็ดออกเป็น 2 ข้าง ๆ ละ 4 ชั้น แต่ละชั้นห่างกัน 50 เซนติเมตร ชั้นแรกอยู่สูงจากพื้น 30 เซนติเมตร ชั้นที่ 4 สูงจากพื้น 1.80 เมตร ชั้นวางเพาะเห็ดนี้ควรทำด้วยเหล็กหรือไม้ไผ่ก็ได้

วัสดุในการเพาะ
การเพาะเห็ดฟาง แบบโรงเรือน เพื่อให้การดำเนินการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายควรมีวัสดุที่สำคัญดังนี้
1. พัดลมดูดเป่าและระบายอากาศ เป็นพัดลมทรงกระบอกธรรมดา ขนาดใบพัด 16-20 เซนติเมตร แต่ดัดแปลงทำกล่องสังกะสีสวมปากทางลมออก โดยให้มีลมออกได้ 2 ทาง ทางหนึ่งต่อเข้าภายในโรงเรือน อีกทางหนึ่งออกภายนอก ทั้งสองจะมีลิ้นปิดเปิด ส่วนทางดูดลมก็เช่นเดียวกันคือทำทางดูด 2 ทาง ต่อเข้าภายในด้านหนึ่ง อีกข้างหนึ่งอยู่ข้างนอก และมีลิ้นปิดเปิดเช่นกัน สำหรับทางลมออกก็ต่อเข้าภายในโรงเรือนโดยต่อขึ้นไปข้างบนขนานกับสันจั่ว อาจทำด้วยท่อเอสล่อนหรือใช้ผ้าพลาสติกเย็บให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางพอสวมปากท่อได้ ตรงท่อที่ขนานจั่วนั้นต้องทำการเจาะรูขนาดเท่ามวนบุหรี่เพื่อให้อากาศออก
2. เทอร์โมมิเตอร์ คือ เครื่องมือสำหรับวัดอุณหภูมิภายในห้อง ควรใช้ขนาดที่สามารถวัดได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 0-100 องศาเซลเซียส ฝังอยู่ติดกับผนังสูงจากพื้นประมาณ 1.50 เมตร อยู่ด้านไหนของโรงเรือนก็ได้ ช่องที่เจาะใส่เทอร์โมมิเตอร์นั้นจะต้องกลวง เพื่อให้เทอร์โมมิเตอร์สัมผัสกับอากาศภายในส่วนด้านนอกของโรงเรือนปิดด้วยกระจกใสเพื่อสะดวกในการอ่านค่า
3. กระบะไม้หรือแบบพิมพ์ไม้สำหรับหมักวัสดุ จะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็ได้ขนาดกว้างและยาวเท่ากันประมาณ 1-15 เมตร สูง 50 เซนติเมตร
4. เครื่องตีปุ๋ยหมัก ใช้ตีปุ๋ยหลังจากหมักได้ที่แล้ว เครื่องตีปุ๋ยหมักควรเป็นเครื่องที่กำลังแรงสูงอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 5 แรงม้า อาจดัดแปลงจากเครื่องตีน้ำแข็ง หรือเครื่องตีหินก็ได้ ตีปุ๋ยหมักให้ละเอียดและฟู
5. ผ้าพลาสติก ลักษณะคล้ายกับถุงเคลือบ เย็บและบุภายในโรงเรือนเพื่อควบคุมอุณหภูมิ
6. วัสดุอื่น ๆ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ เครื่องพ่นฝอย เครื่องวัดความชื้น ตะกร้าเก็บเห็ด
7. เครื่องกำเนิดไอน้ำต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะให้ไอน้ำสำหรับทำความร้อน ภายในโรงเรือนมีอุณหภูมิสูงถึง 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมงติดต่อกัน และ 50 องศาเซลเซียสอีกอย่างน้อย 8 ชั่วโมงติดต่อกัน ท่อส่งไอน้ำออกจากเครื่องกำเนิดไอน้ำจะต่อตรงไปถึงโรงเพาะ และจะต้องมีวิธีการที่ดีพอที่จะทำให้ไอน้ำจากท่อกระจายไปทั่วโรงเรือน ทำให้ทุกส่วนของโรงเรือนมีอุณหภูมิ ใกล้เคียงกับระดับที่ต้องการ ทั้งนี้เพราะอุณหภูมิ ความชื้น และอากาศเป็นปัจจัยที่มีผลต่อผลผลิตของเห็ดเท่า ๆ กับการเตรียมวัสดุเพาะและสายพันธุ์ จึงต้องมีวิธีการที่ควบคุมปัจจัยเหล่านี้ไว้ให้ได้ตามความต้องการของเห็ดรูปแบบของเครื่องกำเนิดไอน้ำมีหลายชนิด เช่น ชนิดวางตั้ง ชนิดวางนอน จากเครื่องกำเนิดไอน้ำจะต้องต่อท่อไปยังโรงเรือนเพาะเห็ด โดยทำการก่อวางกับพื้นของโรงเรือนตรงกลาง
โดยใช้ท่อขนาด 2-4 เซนติเมตร ท่อที่อยู่ในโรงเรือนจะต้องเจาะรูให้น้ำออก ขนาดประมาณ 1-4 หุน รูที่เจาะระยะต้น ๆ ควรอยู่ห่างกันมาก ๆ แล้วค่อย ๆ ถี่เข้าเครื่องกำเนิดไอน้ำ 1 เครื่อง อาจต่อท่อไอน้ำโยงได้นับเป็นสิบ ๆ โรง แต่ถ้าไม่อยากลงทุนมากอาจใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตร เป็นเครื่องกำเนิดไอน้ำแทนก็ได้ โดยวางนอนบนเตาเศรษฐกิจหรือเตาฟืนก็ได้
โดยปกติแล้วถังน้ำมันจะมีรูสำหรับดูดน้ำมันออก 2 รู ให้เอารูที่ใหญ่กว่าอยู่ด้านบน เจาะรูบนสันถังเพื่อให้ไอน้ำออก แล้วเชื่อมต่อด้วยท่อประปาขนาด 2-3 เซนติเมตร เพื่อต่อไอน้ำเข้าไปยังโรงเรือน โรงเรือนขนาด 4X6 เมตร สูง 2.5 เมตร ควรใช้ถัง 200 ลิตร จำนวน 2 ใบ ต่อท่อไอน้ำเข้าหากัน การใส่น้ำให้ใส่น้ำตรงรูสำหรับดูดน้ำมันรูใหญ่ ประมาณครึ่งถัง อย่าใส่มากกว่านั้น
8. วัสดุเพาะนิยมใช้และได้ดีที่สุดก็คือ ขี้ฝ้าย (อาจผสมไส้นุ่นด้วยก็ได้) โดยใช้ฟางเป็นวัสดุรองเพาะ อย่างไรก็ดีเรายังสามารถใช้วัสดุอื่น ๆ เพาะได้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ ไส้นุ่น เปลือกถั่วเขียว เปลือกถั่วเหลือง ผักตบชวาแห้ง ต้นกล้วยแห้ง ฟาง เศษหญ้าแห้ง ชานอ้อย และต้นข้าวโพดแห้ง เป็นต้น แต่วัสดุดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

การหมักวัสดุที่ใช้ใน การเพาะเห็ดฟาง แบบโรงเรือน

การหมักฟาง ใช้ตอซังหรือปลายฟางก็ได้ แช่น้ำก่อน 1 วัน ก่อนที่จะ นำไปใส่ไม้แบบให้เติมปุ๋ยยูเรีย หรือปุยแอมโมเนียมซัลเฟต ประมาณร้อยละ 1 -1.5 โดยน้ำหนักของฟางแห้ง (ฟางแห้ง 100 กก. เติมปุ๋ย 1-1.5 กก.) แล้วนำ ฟางมาอัดในไม้แบบที่ได้กล่าวมาแล้ว ขึ้นเหยียบให้แน่น เมื่อฟางเต็มไม้แบบให้ยกไม้ขึ้นพร้อมทั้งใส่ฟางและเหยียบไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสูงประมาณ 1 -1.5 เมตร จึงถอดไม้แบบออก การกองอาจกองในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ ทิ้งไว้เฉย ๆ 3-4 วัน จึงทำการกลับกอง โดยกระจายกองฟางออก เอาส่วนที่เคยอยู่ข้างนอกกลับเข้าข้างในและ เอาส่วนที่อยู่ข้างในออกมาข้างนอก นำฟางเข้าใส่ไม้แบบอีกครั้ง ระยะนี้ถ้าฟางแห้งเกินไป สังเกตได้จากนำฟางมาบิดดูหากมีนํ้าหยดบ้าง แสดงว่าความชื้นอยู่ในเกณฑ์พอดี แต่ถ้าหากไม่มีนํ้าหยดแสดงว่าแห้งไปให้รดน้ำบ้าง แล้วหมักทิ้งไว้ 3-4 วัน เช่นกันเมื่อครบกำหนดแล้ว ทำการกลับกองปุ๋ยใหม่พร้อมทั้งเติมปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต ประมาณร้อยละ 1-2 ของน้ำหนักวัสดุแห้ง (สามารถใช้ปุ๋ยสูตร 16- 20-0 หรือ 20-20-0 แทนปุ๋ยยูเรีย และดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟตได้ โดยทำการเติมในวันแรกแทนปุ๋ยยูเรียเลย เติมประมาณร้อยละ 1 – 2 ของน้ำหนักวัสดุแห้ง จากนั้นก็ไม่ต้องเติมอะไรอีก) ตรวจสอบความชื้นเช่นเดิม จากนั้นนำมากองสุมเป็นกองสามเหลี่ยมธรรมดาสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร หมักต่ออีก 2-3 วัน ก็สามารถนำไปใช้รองพื้นได้ การหมักต้นถั่ว จะใช้ต้นถั่วอะไรก็ได้ ตากให้แห้งเสียก่อนใช้ได้ทั้งราก ลำต้นและใบ หากตีละเอียดได้ยิ่งดี นำมาแช่น้ำก่อน 1 วัน แล้วจึงใส่ปุ๋ยยูเรียหรือ ปุ๋ยนาประมาณร้อยละ 0.5 ของน้ำหนักวัสดุแห้ง (โรงเรือนขนาด 4×6 สูง 2.5 ม.ใช้ต้นถั่วแห้งประมาณ 160-200 กก. ฉะนั้น ควรเติมปุ๋ยประมาณ 1-1.5กก.) นำต้นถั่วมาอัดลงในไม้แบบให้แน่น สูงประมาณ 1 -1.5 ม. หมักทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วกลับกอง โดยอัดลงในไม้แบบอีกครั้ง เอาส่วนที่เคยอยู่ข้างในออกมาข้างนอก และเอาส่วนที่อยู่ข้างนอกเข้าข้างใน ตรวจดูความชื้นด้วยการเอาต้นถั่วที่ถูกหมักมาบีบดู ถ้ามีนํ้าหยด แสดงว่ามีความชื้นเพียงพอ แต่หากไม่มีน้ำหยด แสดงว่าแห้งไปให้รดนํ้าด้วย ถ้าใส่ปุ๋ยยูเรียในครั้งแรกควรใส่ปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟตประมาณร้อยละ 1 ของวัสดุแห้งในการกลับกองครั้งนี้ (ถ้าใส่ปุ๋ยนาก็ไม่ต้องเติมปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต) หมักต่ออีก 2 วัน ก็สามารถนำไปใช้เพาะได้

การหมักขี้ฝ้ายหรือไส้นุ่น เป็นที่นิยมใช้เพาะกันมากทั้งในและต่างประเทศขี้ฝ้ายคือเศษขี้ฝุ่นผงหรือของเสียทั้งหมดจากโรงงานอุตสาหกรรมปั่นฝ้าย ไส้นุ่น คือทุกส่วนของผลนุ่นที่ดึงเอาเส้นใยออกหมดแล้ว ซึ่งประกอบด้วยเปลือก ก้าน แกน รวมทั่งเมล็ดด้วย วัสดุทั้งสองเป็นวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็ว มีอาหารที่เห็ดนำไปใช้ได้เลยอยู่มาก และสะดวกในการปฏิบัติการ ดังนั้น ในการหมักแทบไม่จำเป็นต้องเติมปุ๋ยเคมีเลยก็ได้การหมัก ให้เอาขี้ฝ้ายหรือไส้นุ่นที่จะใช้แช่นํ้าและเหยียบให้เละ (ควรทำ ถังสำหรับแช่ไม่ควรตักน้ำรด เพราะจะชะล้างอาหารของเห็ดออกไป) หากมีการเติมปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยน้ำประมาณร้อยละ 0.5-1 โดยนํ้าหนักของวัสดุแห้งได้ยิ่งดี แต่จากการทดลอง ถ้าเติมมูลไก่หรือมูลของสัตว์บกแห้งประมาณร้อยละ 2-3 โดยน้ำหนักของวัสดุแห้ง จะได้ผลผลิตสูงมาก จากนั้นนำมาอัดลงในไม้แบบให้แน่นสูงประมาณ 1- 1.5 ม. หมักทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน ก็นำไปใช้ได้เลย หรือจะทำการหมักเป็นกองสามเหลี่ยม สูงประมาณ 1 ม. ต่ออีก 1-2 วัน ได้ยิ่งดี เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยอาหารส่วนที่อยู่รอบข้างกองบ้าง การหมักผักตบชวาหรือต้นกล้วย ใช้ได้ทุกส่วน แต่ต้องตากให้แห้งและสับให้ละเอียดเสียก่อน เมื่อจะนำไปใช้ให้นำไปชุบนํ้าให้โชก แล้วนำมากองเป็นรูปสามเหลี่ยมสูงประมาณ 1 เมตร หมักทิ้งไว้ 1 วัน ก็นำไปใช้ได้ จากการทดลองพบว่าไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วยแห้งและสับละเอียดแล้ว มีอาหารอยู่ในรูปที่เห็ดฟางนำไปใช้ได้เลยจำนวนมาก ดังนั้น หากใช้วัสดุดังกล่าวเพาะอาจไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการหมักก็ได้ สามารถนำไปใช้ได้เลย แต่ต้องมีฟางหมักรองพื้นเสียก่อน สำหรับฟางหมักนั้นหมักเช่นเดียวกับฟางหมักที่ได้กล่าวมาแล้ว กล่าวคือจะต้องทำการหมักประมาณ 8-12 วันเสียก่อน ในการหมักฟางควรเติมมูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลม้า มูลวัว หรือมูลควายแห้งอย่างใดอย่างหนึ่งประมาณร้อยละ 5-7 และดินร่วนปนทรายร้อยละ 10-15 โดยนํ้าหนักของฟางแห้งใส่เข้าไปด้วยในการหมักฟางครั้งแรก จะทำให้ได้ผลผลิตสูงมากขึ้น การเพาะด้วยวิธีนี้ หลังจากหมักฟางได้ที่แล้วต้องเติมรำละเอียดและปูนขาว นำขึ้นชั้นเลี้ยงเชื้อรา แล้วอบฆ่าเชื้อเสียก่อน ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในตอนต่อไป จากนั้นจึงเอาไส้นุ่น ผักตบชวาหรือต้นกล้วยชุบนํ้าปูทับผิวหน้าให้หนาประมาณ   2 -3 เซนติเมตร หรือโรงเรือนขนาด 4×6 ม. สูง 2.5 ม. ใช้ประมาณ 6 กระสอบ แล้วทำการโรยเชื้อเห็ด

การนำปุ๋ยหมักวางชั้น

ปุ๋ยหมักทุกชนิดหลังจากหมักแบบอับอากาศแล้วจะต้องทำการหมักแบบมีอากาศต่อไปอีก เมื่อต้องการให้เชื้อราเปลี่ยนแปลงอาหารให้อยู่ในรูปที่เห็ดนำไปใช้ได้ การหมักแบบมีอากาศทำได้โดยการตีปุ๋ยหมักด้วยเครื่องตีหรือใช้มือฉีกปุ๋ยให้ร่วนซุย อย่าให้จับกันเป็นก้อน เติมรำละเอียดร้อยละ 3-5 ปูนขาว ร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนักแห้งของวัสดุที่ใช้ (เช่นปุ๋ยหมักที่ทำจากฟางแห้ง 100 กก. เติมรำละเอียด 5 กก. เติมปูนขาว 0.5 กก. เป็นต้น) รำจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดเชื้อราซึ่งเป็นอาหารเห็ดอย่างรวดเร็ว ใช้ฟางหมักปูบนชั้นให้หนาประมาณ 6-10 เซนติเมตรก่อน (ถ้าใช้ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วยที่ไม่ได้ผ่านการหมักเพาะ ควรปูฟางหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตร) จากนั้นจึงใช้วัสดุหมักที่ย่อยง่ายสลายเร็วปูทับให้หนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยวางกระจายแบบหลวม ๆ อย่ากดปุ๋ยเป็นอันขาด

การเลี้ยงเชื้อรา

หลังจากนำปุ๋ยเข้าโรงเรือนแล้ว ให้รดน้ำบนปุ๋ยพอเปียกแต่อย่าโชก ซึ่ง อาจใช้บัวรดนํ้ารดผ่านเร็ว ๆ ก็พอระยะนี้จะเป็นการเปลี่ยนกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่ทำงานโดยไม่ใช้อากาศเปลี่ยนเป็นจุลินทรีย์พวกที่ใช้อากาศซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อรา แอคติโนมัยสิท ซึ่งจะเปลี่ยนธาตุอาหารที่เห็ดเอาไปใช้ไม่ได้ ให้อยู่ในรูปที่เห็ดสามารถเอาไปใช้ได้ การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ภายในห้อง อากาศ ความชื้นและอาหาร อุณหภูมิจะต้องสูงประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส ดังนั้น หลังจากรดนํ้าแล้วปิดประตูโรงเรือนไว้อย่างน้อย 36-38 ชั่วโมง ความร้อนจะค่อย ๆ เกิดขึ้นเองภายในโรงเรือน อันเนื่องจากจุลินทรีย์ย่อยอาหาร และปล่อยพลังงานออกมาในรูปความร้อน แต่ถ้าให้ดีหลังจากปิดประตูแล้ว ควรอบไอนํ้าให้ได้อุณหภูมิประมาณ 45 องศาเซลเซียสเสียก่อน แล้วจึงทิ้งไว้ 36–48 ชม. จะทำให้เกิดเชื้อราได้เร็วยิ่งขึ้น การคาดคะเนผลผลิตอาจทำได้จากการดูเชื้อราที่เกิดขึ้นหลังจาก 36-48 ชม. ถ้าเชื้อรามากเท่าไหร่ ก็จะได้ผลผลิตสูงมากยิ่งขึ้น

การอบฆ่าเชื้อรา

เมื่อทำการเลี้ยงเชื้อราครบตามกำหนดแล้ว จะต้องทำการอบฆ่าเชื้อราด้วยไอน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 63-67 องศาเซลเซียส (อย่าให้สูงหรือต่ำกว่านี้) อบนาน 2 ชั่วโมง เมื่อครบเวลาแล้วให้เปิดประตูหน้าต่างออก เพื่อระบายความร้อนอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอุณหภูมิภายในโรงเรือนลดลงเหลือ 35-36 องศาเซลเซียส จึงทำการโรยเชื้อ การอบฆ่าเชื้ออาจจะอบให้ได้อุณหภูมิ 65-68 องศาเซลเซียส นาน 2-3 ชม. แล้วปล่อยให้เย็นเองโดยไม่ต้องเปิดประตูหน้าต่างก็ได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการอบฆ่าเชื้ออีกวิธีหนึ่งคือ อบที่อุณหภูมิ 54-58 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง แล้วเปิดประตูหน้าต่างเพื่อลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง จากนั้นทำการอบต่อให้อุณหภูมิสูง 62 -65 องศาเซลเซียส อีก 1-2 ชั่วโมง แล้วทิ้งให้อุณหภูมิลดลงเองเหลือ 35-38 องศาเซลเซียส จึงจะทำการโรยเชื้อเห็ด

ในภาพอาจจะมี ต้นพืช และ สถานที่กลางแจ้ง

การโรยเชื้อเห็ด

เชื้อเห็ดที่ใช้โรยทำจากปุ๋ยหมักหรือเมล็ดธัญพืชก็ได้ แต่ต้องเป็นเส้นใยที่ เพิ่งเจริญเต็มภาชนะบรรจุใหม่ ๆ เส้นใยหยาบ ๆ เห็นได้ชัด เป็นสีขาว กลิ่นหอม ไม่ฟู ขยี้เชื้อเห็ดให้ละเอียดแล้วโรยให้ทั่วผิวหน้า ใช้เชื้อเห็ด 1-2 ถุง (3 ขีด) ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

การดูแลรักษา

เมื่อทำการโรยเชื้อเห็ดฟางเสร็จแล้วให้รีบปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ 3 วัน ในระยะนี้พยายามควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 34-38 องศาเซลเซียส อย่าให้ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ถ้าต่ำกว่านั้น (มักพบในฤดูหนาว) ให้อบไอน้ำ ระยะนี้เส้นใย เห็ดจะเจริญเติบโตแทนเชื้อรา ลักษณะของเส้นใยในระยะนี้จะมีสีขาว ฟูประมาณ 2- 3 วัน เส้นใยของเชื้อเห็ดจะเจริญชอนไชเต็มปุ๋ย ที่สำคัญรองลงมาจากอุณหภูมิ คืออากาศ ระยะนี้ควรเปิดให้อากาศเข้าไปอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ๆ ละ 5 นาที ซึ่งอาจจะทำได้ โดยการเปิดพัดลมดูดอากาศเข้า พร้อมทั้งทำให้อากาศหมุนเวียน หากไม่มีพัดลมให้ใช้วิธีเปิดช่องระบายอากาศก็ได้ เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มปุ๋ยหมักแล้ว เส้นใยจะยุบตัวลง ซึ่งเป็นระยะสะสม อาหารเพื่อนำไปใช้ในการสร้างดอก จะอยู่ในระหว่างวันที่ 4-5 นับตั้งแต่โรยเชื้อเห็ด ระยะนี้ให้ลดอุณหภูมิลงเหลือประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส ด้วยการเปิดช่องระบายอากาศ (ไม่ควรใช้พัดลม) แล้วรดน้ำข้างโรงเรือนเพื่อทำการลดอุณหภูมิลง เส้นใยเห็ดจะยุบตัวลงและเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีนํ้าตาลอ่อน พอเส้นใยเห็ดยุบ ให้ตรวจดูความชื้นบนผิวของปุ๋ยหมัก หากเห็นว่าแห้งให้ใช้เครื่องพ่นฝอย (สเปรย์) รดนํ้าพร้อมทั้งเติมปุ๋ยยูเรียลงไปด้วย อัตราส่วนน้ำ 1 ปีบ เติมยูเรียประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ ดีเกลือครึ่งช้อนชา และปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต 1 ช้อนชารดผ่านผิวหน้าเร็ว ๆ หลังจากเส้นใยทรุดตัวลงประมาณ 2 วัน คือวันที่ 5 หรือ 6 ให้เปิดแสง สว่างหรือแง้มประตูให้แสงสว่างเข้า และพยายามอย่าให้อากาศภายในโรงเรือนเคลื่อนไหว เพราะต้องการให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ผิวหน้าปุ๋ยมาก ๆ จะทำให้เส้นใยรวมตัวกันเพื่อสร้างดอกเร็วยิ่งขึ้น เส้นใยจำนวนมากจะรวมตัวกันเพื่อสร้างดอก ควรเปิดแสงไว้จนกระทั่งเส้นใยเห็ดรวมตัวกันเป็นดอกมากพอสมควรแล้วจึงงดให้แสง เพราะถ้าเปิดแสงต่อจะทำให้เกิดดอกเห็ดมากเกินไปและดอกเห็ดจะมีสีดำ หลังจากได้ดอกเห็ดเพียงพอแล้ว ควรทำอากาศให้หมุนเวียนบ่อย ๆ พร้อมดึงดูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปด้วยวันละ 5-6 ครั้ง ๆ ละ 5 นาที ควบคุมอย่าให้อุณหภูมิสูงเกิน 32 องศาเซลเซียส ดอกเห็ดจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหากผิวหน้าแห้งให้รดน้ำโดยใช้ เครื่องพ่นฝอย พ่นน้ำพร้อมยูเรีย แต่ควรใส่ยูเรียมากกว่าเดิมอีก 1 เท่า การพ่นอย่าให้ละอองนํ้าจับกันเบนหยดน้ำ ถ้าต้องการให้ดอกเห็ดโต น้ำหนักดี และดอกขาวให้ทำการอบไอนํ้าใน เวลากลางคืนช่วงที่อุณหภูมิบรรยากาศตํ่าที่สุดประมาณ 2.00-4.00 น. ให้ได้อุณหภูมิสูงประมาณ 32 – 34 องศาเซลเซียส ก็จะได้ดอกเห็ดตรงตามต้องการ ทั้งนี้เพราะระยะเวลาดังกล่าวอุณหภูมิมักจะตํ่าเกินไปทำให้เห็ดหยุดการเจริญเติบโต

การเก็บดอกเห็ด

ดอกเห็ดที่โตเต็มที่จะมีลักษณะเต่งตึง ปลอกหุ้มขยายตัวเต็มที่ ระยะนี้ควรเก็บได้แล้ว ไม่ควรทิ้งไว้ให้บาน เพราะจะช้ำง่าย และราคาจะถูก หลังจากเก็บดอกเห็ดแล้วให้ใช้มีดตัดโคนดอกที่มีเศษปุ๋ยติดออกมาด้วย เก็บไว้ที่เย็น ๆ ในห้องปรับอากาศได้ยิ่งดี เพราะถ้าเก็บในที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้ดอกเห็ดบานเร็วขึ้น การเพาะเห็ดฟาง แบบโรงเรรือน หรือเชิงธุรกิจในครั้งหนึ่ง ผลผลิตที่ได้ไม่ควรให้ต่ำกว่า 60 กิโลกรัม ต่อการเพาะ 1 ครั้ง ในการทดลองเพิ่มผลผลิต ปรากฏว่าหลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้วให้เก็บ เศษเห็ดที่เหลือออกให้หมด แล้วใช้ปุ๋ยหมักที่หมักแบบอับอากาศผสมรำละเอียดและปูนขาว ผสมกับดินร่วนปนทรายประมาณร้อยละ 20 โดยน้ำหนัก เพิ่มลงไปอีกครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ใช้ครั้งแรก ปูทับใหม่อีก เลี้ยงเชื้อรา 1-2 วัน แล้วจึงทำการอบไอนํ้าฆ่าเชื้อ ตลอดจนดูแลรักษาเหมือนเดิม จะทำให้ได้ผลผลิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปริมาณของผลผลิตจะเท่ากับผลผลิตครั้งแรก หรือลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(ดัดแปลงข้อมูลจาก http://www.thaikasetsart.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *