การปลูกไผ่แก้จน
การปลูกไผ่แก้จน เป็นการเกษตรและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ด้วยประโยชน์ที่ได้กล่าวถึงในบทความ ไผ่ และนวัตกรรมใหม่ๆ ท่านผู้อ่านที่สนใจปลูกไผ่ไม่ต้องลังเลเลยนะคะ เพราะตลาดไผ่ที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาล้นตลาดให้เกษตรกรต้องลำบาก ยิ่งยุคนี้เป็นยุค ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแล้ว การเป็นเกษตรกรปลูกไผ่ และเป็นผู้ประกอบการสินค้าแปรรูปจากไผ่ได้ด้วย ก็นับว่าท่านได้นำโมเดลไทยแลนด์ 4.0 มาใช้อย่างถูกต้อง เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หากยังตัดสินใจลงมือปลูกไม่ได้ ลองมาศึกษาข้อดีข้อเสียของการปลูกไผ่กันก่อนค่ะ ผู้เขียนขอแนะนำให้ปลูกไผ่รวก เป็นการเริ่มต้น…
ข้อดี ข้อเสีย ของการปลูกไผ่รวก
ข้อดีของการปลูกไผ่ คือ
- ไม่มีความเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติ
- ต้นทุนต่ำ
- ปลูกง่าย และเจริญเติบโตได้ดีและเร็ว ในทุกสภาวะอากาศ
- ไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง
- ไม่ทำลายดิน
- สามารถแปรรูปได้ครบวงจร ปลูกทดแทนได้อย่างรวดเร็ว และให้ผลผลิตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
- ทำให้มีรายได้สม่ำเสมอ
- ไผ่รวกมีอายุยาวนานได้ประมาณ 30 ปี
ข้อเสียของการปลูกไผ่รวก
- ปลูกโดยใช้กล้าพันธุ์ไผ่รวกจากเมล็ดคือ การตั้งกอ การให้ลำไผ่ที่ใช้ประโยชน์ได้ จะช้ากว่ากล้าที่มาจากการขุดเหง้า
- ปลูกโดยใช้กล้าไผ่รวกจากการขุดเหง้ามาชำ ปลูกแล้วตั้งกอ ให้ผลผลิตลำไผ่เร็วกว่ากล้าพันธุ์จากเมล็ด แต่กล้าที่ขุดมาชำหากไม่ทราบอายุเริ่มต้น เมื่อปลูกไปประมาณ 1 ถึง 2 ปี อาจทยอยตายซึ่งก็เป็นความเสี่ยงของผู้ที่มีพื้นที่การปลูกไผ่จำนวนมาก
- ปลูกโดยใช้กล้าพันธุ์จากการแยกเหง้า ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และได้ปริมาณจำกัด
สายพันธุ์ไผ่รวก
ไผ่รวกของไทยมีเพียง 2 ชนิดคือไผ่รวกและไผ่รวกดำ
1. ไผ่รวก
-
- ลำไผ่รวกขึ้นเป็นกอ ลำเรียวตรง กิ่งใบน้อย มีความสวยงาม นิยมนำไปใช้ประโยชน์ในการตบแต่ง ใช้ประโยชน์ในด้านเครื่องอุปโภค และอื่น ๆ เช่น ทำรั้ว ทำคันเบ็ด ทำเครื่องจักสาน เครื่องมือกสิกรรมบางอย่าง โป๊ะน้ำตื้น ใช้ก่อสร้างบ้าน ใช้ทำเป็นไม้อัด ใช้ประโยชน์ทางยา และอื่นๆ อีกมากมาย
- หน่อไผ่รวกรับประทานได้ เมื่อต้มหลายครั้งหรือต้มใส่ใบย่านางด้วย จะทำให้มีรสชาติดีขึ้น หรือทำหน่อไม้ปี๊บ
- หน่อไม้ไผ่รวกมีปริมาณคุณค่าสารอาหารดังนี้ คือ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอวิตามินบี 1วิตามินบี 2 ไนอะซิน วิตามินซี
2. ไผ่รวกดำ
- เป็นไผ่ที่ปลูกเพื่อใช้ลำ เป็นไผ่ที่มีเนื้อไม้แข็งเหมาะในการปลูกบังลม มีความทนทานต่อสภาพน้ำเค็มได้ดีเหมาะสำหรับการปักหอย เป็นไผ่ลู่ลำเพราะกิ่งแขนงและใบน้อย ไม่ต้านลำ ทำให้ไม่โค่นเมื่อมีลำมาปะทะ สำหรับหน่อสามารถนำมารับประทานได้แต่ต้องต้มให้หายขมก่อน ออกหน่อมากในฤดูฝน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไผ่รวก เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายสิบปี เจริญเติบโตเป็นพุ่มเป็นกอ
- ลำต้น ตั้งตรง กลม เป็นทรงกระบอกกลวง ขนาด 2 ถึง 5 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง สีเขียวอมเทา ไม่มีหนาม เนื้อแข็ง มีข้อปล้องชัดเจนแต่ละปล้องจะยาว 15 ถึง 30 เซนติเมตร สูงประมาณ 7 ถึง 15 เมตร มีเหง้าใต้ดินสั้น
- ใบไผ่รวก ใบเดี่ยวเรียงสลับ 2 แถว ใบรูปหอก ยาวประมาณ 8 ถึง 14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบคม ผิวใบด้านบนเรียบ สีเขียวอ่อน ใบแก่สีเหลืองอ่อน มีเส้นลายใบข้างละ 3 ถึง 5 เส้น
- กาบหุ้มลำต้น บางแนบชิดลำต้น ไม่หลุดร่วง ยอดกาบบางเรียวสอบไปหาปลาย ไม่มีติ่ง กาบตอนปลายกาบตรงที่ต่อกับใบจะมีลิ้นใบ
- ดอกไผ่รวก เป็นช่อแยกแขนง ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก
- ผลไผ่รวก เป็นผลแห้งไม่แตก
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง
สภาพพื้นที่และดินที่เหมาะสม - พื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง ควรนำไผ่รวก ซึ่งสามารถทนความแห้งแล้งมาปลูก (ส่วนพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีการระบายนํ้าดี ควรปลูกไผ่ที่มีลำขนาดใหญ่ เช่น ไผ่สีสุก ไผ่ตง หรือไผ่บง ไผ่ป่ามาปลูก และพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นมาก ควรปลูก เช่น ไผ่ผาก ไผ่ป่า)
- ชอบดินระบายน้ำดี โดยเฉพาะดินร่วนปนทราย
- สามารถปลูกในพื้นที่ตั้งแต่ที่ราบจนถึงภูเขาสูง 400 ถึง 600เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
- พื้นที่ลาดต้องเป็นด้านลาดทิศเหนือ เนื่องจากต้นไผ่เจริญเติบโตได้ดีตามที่ลาดชันที่ได้รับปริมาณของแสงแดดตามความต้องการ
สภาพอากาศที่เหมาะสม
- ปริมาณนํ้าฝนเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 1,000 มิลลิเมตร เหมาะแก่การปลูกไผ่รวก
ฤดูปลูกที่เหมาะสม
- ฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด ก็คือฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรดนํ้าได้มาก และเป็นช่วงระยะที่ไผ่กำลังแตกหน่อได้ดีที่สุดอีกด้วย
การปลูกไผ่รวก
การขยายพันธุ์และการผลิตกล้า
การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
- ไผ่ส่วนใหญ่จะออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ เมล็ดเริ่มแก่และร่วงลงพื้นดิน ในแดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายนของทุกปี ในการเก็บหาเมล็ดไผ่นั้นไม่สามารถจะทำการคัดเลือกแม่ไม้ได้เช่นเดียวกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ ในระยะที่เมล็ดไผ่เริ่มแก่ ให้กวาดเก็บเศษไม้ ใบไม้รอบบริเวณใต้โคนกอออกให้หมดเพื่อสะดวกในการกวาดเก็บเมล็ดไผ่ ไม่นิยมเก็บเมล็ดไผ่ ที่แก่ติดกับเพราะเมล็ดอาจจะยังไม่แก่เต็มที่ เมื่อนำไปเพาะแล้วอาจจะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกมีน้อย หรืออาจจะไม่งอก
- เก็บเมล็ดทั้งหมดใส่ภาชนะเช่น กระสอบป่าน กระสอบผ้า หรือภาชนะอื่นใดก็ได้ ใช้กระด้งสำหรับฝัดข้าวฝัดร่อนเอาเปลือกออกเมล็ดลีบออกเสียให้หมด นำเมล็ดดีที่เหลือไปเก็บไว้ในภาชนะ เช่น ขวดโหล หรือภาชนะสำหรับเก็บเมล็ดโดยเฉพาะ
- เก็บรักษาเมล็ดไผ่ในตู้เย็น ปรับอุณหภูมิให้คงที่สมํ่าเสมอ ใช้อุณหภูมิประมาณ 12 องศาเซลเซียสเป็นอย่างตํ่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เมล็ดเสียและฝ่อเร็ว สามารถเก็บเมล็ดไว้ในตู้เย็นได้ถึง 1 ปี
วิธีเพาะเมล็ด มี 2 วิธี คือ
- เพาะเมล็ดในถาดเพาะกล้า
- เพาะเมล็ดไผ่ในแปลงเพาะ
การเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ด
- ดินที่ใช้ในการเพาะควรจะเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินที่อยู่ผิวดิน ย่อยให้ร่วนละเอียด และตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค
- เตรียมดินในถาดเพาะกล้า หยอดเมล็ดไผ่ลงไปหลุม หรือเตรียมดินในแปลงเพาะแล้วหว่านเมล็ด ไผ่ลงในแปลงเพาะ โดยอาจจะหว่านตามแนวยาวของแปลงเพาะ หรือหว่านกระจายทั่วแปลงเพาะ ตามความสะดวกในการถอนกล้าเพื่อย้ายชำต่อไป- -ใช้ทรายละเอียดโรยทับเมล็ดอีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันมิให้เมล็ดไหลหรือกระเด็นออกจากกระบะ หรือแปลงเพาะในขณะที่รดนํ้าได้
- รดนํ้าด้วยฝักบัวหัวฝอยละเอียดให้ทั่ว
- หลังการเพาะเมล็ดรดนํ้าทุกเช้าเย็น ยกเว้นวันที่มีฝนตก
- ประมาณ 7 ถึง 10 วัน หลังจากหว่านเมล็ดแล้ว เมล็ดจะเริ่มงอก ต้องดูแลฉีดยาป้องกันเชื้อราและแมลงต่างๆ ที่จะมาทำลายกล้าไผ่ ดูแลรอบๆ บริเวณถาดเพาะกล้า หรือแปลงเพาะให้สะอาด และกำจัดวัชพืชออกให้หมด
การย้ายชำ
- ย้ายชำกล้าไผ่ที่งอกจากเมล็ดมีอายุประมาณ 3 ถึง 4 สัปดาห์ ลงในถุงพลาสติกเพาะชำขนาด 4 X 8 นิ้ว หรือ 5X9 นี้ว ใส่ดินที่ใช้เพาะเมล็ด แล้วย้ายต้นกล้ามาชำไว้ด้วยความระมัดระวัง
- รดนํ้าทุก 2 วัน 3 วัน
- ระยะเวลาในการชำประมาณ 6 ถึง 12 เดือน กล้าไผ่จะแข็งแรงเต็มที่
การขยายพันธุ์ด้วยการขุดเหง้ามาชำ
(วิธีนี้เหมาะกับพันธุ์ไผ่แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดลำหนาหรือลำบาง เช่น ไผ่รวก ไผ่ซางนวล ไผ่ป่า ไผ่สีสุก และไผ่ชนิดอื่นๆ)
- คัดเลือกลำไผ่ที่มีอายุประมาณ 1 ถึง 2 ปี เสียก่อน (ตัดลำส่วนบนออกเพื่อนำไปทอนออกเป็นปล้องๆ ใช้ในการชำปล้อง
สำหรับไผ่ลำหนา) เหลือส่วนตอไว้ประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร ทำการขุดเหง้าพร้อมกับตอนั้นแยกออกจากกอแม่เดิม ระวังอย่าให้ตาที่เหง้าแตกเสียหายได้ - นำเหง้าพร้อมด้วยตอ ไปชำไว้ในแปลงชำเสียก่อน หรือจะนำไปปลูกในแปลงปลูกเลยก็สามารถทำได้ ระยะเวลาในการชำไม่ควรเกิน 12 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการย้ายปลูก ที่มีผลทำให้ลำเก่าหรือหน่อใหม่เหี่ยวเฉาตายได้ง่าย
การเตรียมพื้นที่ปลูก
- ควรเตรียมพื้นที่ไว้ตั้งแต่ฤดูแล้ง ซึ่งนอกจากจะทำงานได้สะดวกแล้วยังสามารถลงมือปลูกได้ทันในต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน โดยไถปรับพื้นที่ กำจัดซากพืช ตอไม้ และวัชพืชออกให้หมด จากนั้นไถพรวนดินให้ร่วนซุยและปรับพื้นที่ให้เรียบ
การเตรียมหลุมปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม
- ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร หรือ กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร ระยะปลูกและจำนวนกล้าไผ่ต่อพื้นที่ ควรมีระยะห่างของหลุมปลูกประมาณ 4 x 4 เมตร
- รองก้น หลุมด้วยปุ๋ยคอกเพื่อช่วยให้มีการเจริญเติบโตดี และอัตราการรอดตายสูง หรือใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต 1 กระป๋องนม (ประมาณ 300 ถึง 500 กรัม) ต่อหลุม ผสมปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้ว 1 บุ้งกี๋ (ประมาณ 1 กิโลกรัม) และยาฆ่าแมลงฟูราดาน 1 ถึง 1.5 ช้อนแกง (10 ถึง 15 กรัม) ต่อหลุม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมาให้ทั่วแล้วกลบกลับคืนลงไปในหลุม ให้ระดับดินสูงกว่าเดิมเล็กน้อยเผื่อสำหรับดินยุบตัวภายหลัง
- ปลูกไผ่รวกดำระยะระหว่างต้นที่เหมาะสมคือ 2.5 เมตร ระยะระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 180 ต้น
ระยะปลูก สำหรับการปลูกไผ่เพื่อบังลม
ใช้ระยะปลูกบังลมอยู่ที่ระยะระหว่างต้น 2 เมตร และปลูกเป็นแถวเดียว
ขั้นตอน การปลูกไผ่
- เมื่อกล้าไผ่มีอายุได้ประมาณ 12 เดือน มีความแข็งแรงพร้อมย้ายปลูก หลังจากเตรียมหลุมปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการย้ายกล้าลงปลูกในหลุมที่เตรียมดินไว้
- ใช้ดินร่วนละเอียดกลบโคนกล้า แต่ไม่ควรกลบดินให้แน่นจนเกินไปเพราะจะทำให้ไผ่แตกหน่อไม่สะดวก
การดูแลไผ่ หลังการปลูก
การให้น้ำ
- ช่วง 1-3 เดือนแรก ต้นไผ่ต้องการน้ำมาก ควรให้น้ำวันเว้นวัน แต่ถ้าปลูกไผ่ในฤดูฝน สามารถงดให้น้ำได้ หากฝนทิ้งช่วงนาน ดินแห้งจึงรดน้ำ
- ต้นไผ่อายุเกิน 6-8 เดือน ไปแล้ว จะแข็งแรงและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีขึ้น ให้น้ำเดือนละ 1 ถึง 2 ครั้ง ถ้าฝนตกชุกควรงดให้น้ำ
การให้ปุ๋ย
- ให้ปุ๋ยคอกเดือนละครั้งในอัตรา 1 ถึง 1.5 ตัน ต่อไร่ (ประมาณ 40 ถึง 50 กิโลกรัม) หรือ 4-5 ปุ้งกี๋ต่อกอ
การกำจัดวัชพืช
- หมั่นกำจัดวัชพืชเป็นประจำ
แมลงศัตรูไผ่ มีดังนี้
แมลงประเภทเจาะไชหน่อและปล้องอ่อนได้แก่ ด้วง ด้วงงวงปีกแข็ง
แมลงประเภทกัดกินใบและประเภทม้วนใบ เช่น หนอนผีเสื้อกลางคืน
แมลงประเภท เจาะไชใบ ได้แก่ หนอนผีเสื้อขนาดเล็ก
แมลงประเภทเพลี้ยแป้ง ชอบเกาะอยู่ตามหน่ออ่อนหรือตามใบ อ่อนเพื่อดูดน้ำเลี้ยง
การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูไผ่
- ใช้สารปราบศัตรูพืช เช่น มาลาไทออน ผสมน้ำราดที่หน่อและเหง้า หรือใช้ฟูราดาน ภูไมด์ หว่านลงที่ดิน ในระยะหลังการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 60 วัน ห้ามตัดหน่อไม้ไปรับประทาน
- ใช้วิธีควบคุมโดยการลิดกิ่ง หรือตัดลำแก่ที่เป็นที่อยู่ของดักแด้ออก แล้วทำลายหรือขายลำไป
- หากพบเพลี้ยสีขาวตามข้อไผ่อ่อน ให้ใช้ผงซักฟอกละลายน้ำราดรดลงไปก็จะหาย ถ้ามีจำนวนน้อยให้กำจัดด้วยใช้มือ ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีควรใช้ เซฟวิน ฉีดพ่น
การตัดหน่อ
- การตัดหน่อจะตัดเมื่อหน่อยาวประมาณ 1 ฟุต โดยใช้เสียมหางปลาตัดหน่อบริเวณกาบใบที่ 3 จากโคนหน่อ ซึ่งจะเหลือตาไว้ 2-3 ตา สำหรับแตกหน่อในช่วงถัดไป สำหรับหน่อที่ไม่แข็งแรงให้ตัดออกทิ้งไป การตัดหน่อควรทำตอนเช้ามืด เพื่อจะได้หน่อไม้สด และไม่ควรตัดทิ้งไว้นานๆ ในการตัดหน่อควรเริ่มตัดหน่อจากกลางกอก่อน แล้วขยายวงออกมารอบนอกกอ ส่วนหน่อที่อวบใหญ่ที่อยู่ด้านนอกควรมีการรักษาไว้เพื่อให้เป็นลำแม่เลี้ยงหน่อต่อไปทุกปี
การตัดลำ
- อายุของลำที่จะทำการตัด ควรมีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพราะเป็นลำที่แก่ไม่มีการแตกหน่อได้อีก
คำแนะนำ
- ควรปลูกพืชแซมต้นไผ่ เพื่อเป็นรายได้เสริม
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.legendnews.net, www.thaikasetsart.com, www.kasetporpeang.com, www.samunpri.com)