การปลูกลูกเดือยและการดูแลหลังการปลูก
การปลูกลูกเดือย และการดูแลหลังการปลูก
อาจทำให้ท่านผู้อ่านได้แปลกใจกับความง่ายจนอยากทดลองปลูก แต่สายพันธุ์ลูกเดือยที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีให้เลือกไม่มากนัก เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับสายพันธุ์ลูกเดือยถึงระดับรับรองสายพันธุ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูก ส่วนใหญ่ที่นิยมปลูกกันเป็นพันธุ์พื้นเมือง คือ พันธุ์วังสะพุง และ พันธุ์เลย นอกจากการปลูกเพื่อการค้าแล้ว การปลูกลูกเดือย ยังเป็นที่นิยมปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนกันมากถ้าเปรียบเทียบกับบรรดาธัญพืชต่างๆ ในขั้นทดลองปลูก ผู้เขียนแนะนำ ลูกเดือยข้าวเหนียว ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง เนื้อแป้งอ่อนนิ่ม น้ำหนักเบา ต้มแล้วลื่นและมีเมือกมาก ลักษณะเมล็ดกลมโตยาว เปลือกบางเปราะแตกง่าย เป็นที่นิยมตามท้องตลาด (ติดตามข้อมูลสายพันธุ์ลูกเดือยเพิ่มเติมได้ในบทความ ‘ลูกเดือย’)
การขยายพันธุ์
- ขยายพันธุ์ด้วยการหว่านหรือหยอดเมล็ด ในอัตรา เมล็ดพันธุ์ประมาณ 30 กิโลกรัม ต่อไร่
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกลูกเดือย
- พื้นที่
– พื้นที่ดอนหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ 3 ถึง 45 องศา
– มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง
– มีการคมนาคมที่สะดวก - ดิน
– มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร
– มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี
– ไม่อุ้มน้ำมาก - อากาศ
– มีแสงแดดจัด และมีปริมาณน้ำฝนที่พอเพียง - ฤดู
– ฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน
– การเตรียมดิน 2 ครั้ง ไถดะ 1 ครั้ง และไถแปรหรือพรวน 1 ครั้ง
– ระยะปลูก (ระหว่างหลุม x ระหว่างแถว) 75 x 75 ซม. 3-4 ต้น/หลุม
ขั้นตอนการปลูก
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
- นำเมล็ดพันธุ์ลูกเดือยไปแช่น้ำ คัดเมล็ดลอยออกทิ้ง
- ใช้กรรไกรตัดเล็บขลิบปลายด้านแหลมของเมล็ดที่จมพอให้เปลือกนอกเปิดให้ยอดอ่อนแทงออกมาได้ง่าย
- นำเมล็ดที่ขลิบปลายด้านแหลมออกแล้ว ไปแช่สารไคตินไคโตซานหรือธาตุรอง/ธาตุเสริม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ทิ้งไว้ประมาณ 6 ถึง 12 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดได้สะสมสารอาหารไว้ก่อนงอกช่วยให้ต้นเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง และช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับเมล็ดพันธุ์
- เมื่อครบกำหนดเวลา ห่อเมล็ดพันธุ์ด้วยผ้าเปียกไว้ประมาณ 12 ถึง 24 ชั่วโมง เมื่อมีรากงอกออกมาให้นำไปปลูกต่อได้
การเตรียมแปลง
- ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช ตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย 10 ถึง 15 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและกำจัดเหง้าวัชพืช
- หว่านปุ๋ยคอกเก่า ยิบซั่มธรรมชาติ กระดูกป่น เศษพืชบดป่น ให้ทั่วแปลงปลูกแล้วไถพรวนอินทรียวัตถุทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน
- ไถยกร่องลูกฟูก สันร่องกว้างประมาณ 5 ถึง 6 เมตร ยกแปลงสูงจากระดับพื้นประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร ระยะสันแปลงกว้าง 1 เมตร
- คลุมหน้าแปลงด้วยฟางแห้งให้หนา
- บ่มดินโดยการรดน้ำ ผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพทุก 5 ถึง 7 วัน ติดต่อกันนาน 1 เดือน เพื่อให้เวลาแก่จุลินทรีย์ปรับสภาพดิน กำจัดเชื้อโรค และย่อยสลายอินทรียวัตถุ
วิธีการปลูก
- การหว่าน
– การควบคุมระยะห่างของเมล็ดเป็นไปได้ยาก - การหยอดเมล็ด
– ไถคราดแนวปลูกให้เป็นร่องตามยาว ระยะห่างระหว่างร่องหรือแถวประมาณ 75 เซนติเมตร หยอดเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 30 ถึง 50 กิโลกรัม ต่อไร่
– หยอดเมล็ดเป็นหลุมๆ ละ 5 ถึง 6 เมล็ด แต่ละจุดห่างกันประมาณ 75 เซนติเมตร หลังจากที่เมล็ดงอกแล้วประมาณ 1 เดือน จึงถอนต้นลูกเดือยให้เหลือเพียงหลุมละ 3 ถึง 4 ต้น
การดูแลหลังการปลูก
การให้น้ำ
- หลังจากหยอดเมล็ดแล้วก็จะปล่อยให้เมล็ดงอก และเติบโตตามธรรมชาติโดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาล
การใส่ปุ๋ย
- หลังการถอนต้นแล้ว ประมาณ 1 เดือน (เดือนที่ 2 หลังการหยอดเมล็ด) กำจัดวัชพืชแล้วใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-24 หรือสูตร 15-15-15 ในอัตรา50 กิโลกรัม ต่อไร่
การกำจัดวัชพืช - ช่วงที่เริ่มทำการถอนต้นลูกเดือยทิ้งหรือ 1 เดือนหลังการหยอดเมล็ด และก่อนให้ปุ๋ยในเดือนที่ 2 หลังการหยอดเมล็ด โดยใช้จอบถาก
โรคและแมลงศัตรูลูกเดือย
โรคราเขม่าดำ หรือโรคสมัท (Smut)
เป็นโรคที่สำคัญซึ่งเกิดจากเชื้อรา ทำความเสียหายที่ดอกและใบ ถ้าเกิดบนดอกจะมีสีเขียวแกมม่วง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ปมมีลักษณะบิดเบี้ยว ภายในปมจะมีผงละเอียดสีดำของสปอร์ ถ้าเกิดบนใบที่หุ้มช่อดอกจะ เกิดมีปมดังกล่าว อาการขั้นรุนแรงจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
การป้องกันและกำจัด
- การลวกเมล็ดด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส โดยต้มน้ำให้เดือด แล้วตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 10 นาที เพื่อให้อุณหภูมิน้ำลดลงตามที่ต้องการ แล้วแช่เมล็ดพันธุ์ประมาณ 10 นาที ก่อนนำไปปลูก
- การหลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์ที่มาจากแหล่งที่เป็นโรค
- ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสลับกับการปลูกลูกเดือยเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
วิธีทดสอบเมล็ดพันธุ์
- ล้วงมือเข้าไปในถุงเมล็ดพันธุ์ แล้วขยำเมล็ดหลายๆ ครั้ง หากมือเปื้อนละอองสีดำของสปอร์รา แสดงว่ามีสปอร์ของเชื้อรา ติดมากับผิวเมล็ด
สารเคมีที่ใช้กำจัดโรคเขม่าดำ
ชื่อสามัญ : fenpiclonil carboxyl
- ชื่อการค้า : Beret
อัตราการใช้ : 5 ซีซี. ต่อน้ำหนักเมล็ด 1 กิโลกรัม
วิธีการใช้ : คลุกเมล็ดก่อนปลูก - ชื่อการค้า : Culator
อัตราการใช้ : 7 กรัมต่อน้ำหนักเมล็ด 1 กิโลกรัม
วิธีการใช้ : คลุกเมล็ดก่อนปลูก
แมลงศัตรู และศัตรูลูกเดือย
ตั๊กแตน
เข้าทำลายโดยกัดกินใบ กิ่งก้าน ลำต้นอ่อน และช่อดอก
การป้องกันและกำจัด
- ไถพรวนดินและตากดินเพื่อทำลายไข่ตั๊กแตนก่อนปลูกลูกเดือย
หนอนกระทู้
เข้าทำลายใบ และยอดอ่อน ในขณะที่ใบยังคลี่ไม่หมด ทำให้แตกกอน้อยและลำต้น ไม่แข็งแรง
การป้องกันและกำจัด
- ใช้มือจับตัวหนอนไปทำลาย
- ใช้ คาโบฟูราน 3% หรือ ฟูราดาน 3% จี ในอัตรา 1/4 ช้อนชา หยอดยอดต้นลูกเดือย
- หากระบาดมากเกิน 70 ตัว ต่อ 20 ต้น ใช้ กูซาไธออน 40% ในอัตรา 30 ถึง 35 ซีซี ผสมน้ำ 1 ปี๊บฉีดพ่นทุก 7 วัน ประมาณ 2 ถึง 3 ครั้ง
ปลวกและหนู
เข้าทำลายช่วงที่ต้นลูกเดือยติดเมล็ดแล้ว
การป้องกันและกำจัด
- ปลวกควรป้องกันกำจัดตั้งแต่ก่อนปลูกด้วยสารเคมี
- หนูกำจัดโดยการวางเหยื่อล่อ
การเก็บเกี่ยวลูกเดือย
- เก็บเกี่ยวเมื่อลูกเดือยแก่จัด หรือมีอายุ 120 วัน โดยสังเกตจากลำต้นและใบจะเป็นสีเหลืองและเริ่มแห้ง ช่อเมล็ดลูกเดือยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลประมาณร้อยละ 90
- ใช้มีดหรือเคียวตัดลำต้นทั้งต้น วางช่อเมล็ดเดือยวางบนตอซัง หรือนำมากองรวมกันเป็นชั้นบนผ้าตาข่ายหรือผ้าลาน ไม่ควรวางให้สัมผัสกับพื้นดินโดยตรงเพราะจะทำให้เกิดเชื้อราที่อยู่ในดินปนเปื้อนและเกิดสารพิษได้
- ตากเมล็ดประมาณ 2 ถึง 3 วัน ให้แห้งแล้วมัดฟ่อนเมล็ดลูกเดือย วางไห้ช่อตั้งขึ้น เก็บรอไว้ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเท ไม่ควรวางกองบนดินแบบสุมทับกัน เพราะจะเป็นการเพิ่มความชื้นภายในกองและทำให้เกิดสารพิษ
- สีนวดก่อนแยกเมล็ดออกโดยใช้เครื่องนวด
- ทำความสะอาดเมล็ดลูกเดือยที่สีนวดแล้ว โดยการฝัดเอาเศษสิ่งเจือปนออกให้หมดแล้วนำ ไปตากบนผ้าฟางที่แห้งสนิท –บรรจุเมล็ดลูกเดือยใส่ถุงที่สะอาดปิดปากถุงให้สนิท วางเหนือพื้นในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.kasetloongkim.com, www.puechkaset.com, https://sites.google.com/site/oilufo111/home)