การปลูกทุเรียนเทศ

การปลูกทุเรียนเทศ

การปลูกทุเรียนเทศ ปลูกและดูแลได้ง่ายมาก ท่านผู้อ่านสามารถเริ่มต้นจากการทดลองปลูกเป็นสมุนไพรในรั้วบ้านก่อนลงทุนปลูกเป็นอาชีพ แต่ต้องไม่ลืมปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ นะคะ

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง

สภาพดินที่เหมาะสม

  • ควรเป็นดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชุ่มชื้น

อากาศและอุณหภูมิที่เหมาะสม

  • ชอบความชื้นสูง
  • ชอบแสงแดดรำไร หรือต้องการแสงแดดเพียงครึ่งวัน

การขยายพันธุ์ทุเรียนเทศ
สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการปักชำ ติดตา หรือนำยอดจากต้นพันธุ์มาเสียบกับต้นตอ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ทุเรียนเทศใช้เวลาในการออกผลเพียง 2 ปี

การเพาะเมล็ดทุเรียนเทศ

 วัสดุเพาะ

  • ควรใช้ขุยมะพร้าว หรือดินร่วนซุย

วิธีเพาะเมล็ด

  • แช่เมล็ดทุเรียนเทศไว้ในน้ำสะอาด 1 ถึง 2 คืน เพื่อกระตุ้นการงอก
  • จากนั้นนำไปเพาะในถุงชำ 1 เมล็ด ต่อ 1 ถุง
  • กลบดินหรือวัสดุปลูกหนาประมาณ 1 ถึง 1.5 เซนติเมตร
  • รดน้ำ แล้ววางถุงชำไว้ในที่ร่มมีแดดรำไร
  • รดน้ำวันละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น เมล็ดทุเรียนเทศจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ เมล็ดจะงอกออกมาเป็นต้นอ่อน

ขั้นตอน การปลูกทุเรียนเทศ

  • เมื่อต้นพันธุ์ที่มีอายุเพาะชำประมาณ 3 ถึง 5 เดือนขึ้นไป สามารถนำไปปลูกลงดินได้ทันที
  • ขุดหลุมปลูกกว้างกว่ากระถางหรือถุงเพาะกล้าเล็กน้อย หากปลูกหลายต้น ควรเว้นระยะห่างระหว่างหลุมปลูก 4 x 4 เมตร
  • ดินที่ขุดขึ้นมา ควรตากทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันกับดินที่ตากแดดแล้ว ใส่รองก้นหลุม
  • นำต้นพันธุ์ลงปลูก กลบดินให้แน่นพอสมควรเพื่อไม่ให้ต้นพันธุ์ล้มหรือเอียง
  • ทุเรียนเทศให้ผลผลิตภายใน 3 ปีหลังการปลูก

การดูแลทุเรียนเทศ หลังการปลูก

การให้น้ำ

  • หลังการปลูกในระยะแรก ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
  • เมื่อต้นพันธุ์ตั้งตัวได้ ให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า ในฤดูฝน เว้นระยะการให้น้ำได้หากฝนตกชุก เมื่อฝนทิ้งช่วงหรือในฤดูแล้ง ให้สังเกตอากาศและดิน หากอากาศร้อนจัดหรือดินแห้ง ควรรดน้ำให้ชุ่ม
  • เมื่อต้นทุเรียนเทศเจริญเติบโตมีอายุ 2 ปี ขึ้นไป รดน้ำสัปดาห์ละครั้ง หรือมากกว่าตามสภาพอากาศ

การให้ปุ๋ย

  • ช่วงหลังปลูก สามารถให้ปุ๋ยเคมีเร่งโตได้จนถึงช่วงอายุ 2 ปี หลังจากนั้น ห้ามให้สารเคมีเด็ดขาด
  • สามารถให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เดือนละ 1 ครั้ง ตามความเหมาะสม (ประมาณ 1 หรือ 2 กำมือ ต่อต้น) แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

*** ควรกำจัดวัชพืชและพรวนดินก่อนให้ปุ๋ย เพื่อให้ทุเรียนเทศได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ ***

โรคและแมลงศัตรูทุเรียนเทศ

ยังไม่มีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโรคและแมลงศัตรูทุเรียนเทศ ซึ่งค้นพบข้อมูลจากข้อสันนิษฐาน ว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโรคและแมลงศัตรูน้อยหน่า แต่โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว ทุเรียนเทศมีฤทธิ์ต่อต้านโรคและแมลงศัตรูด้วยตัวเองได้ดีในระดับหนึ่ง จึงไม่ค่อยมีโรคและแมลงศัตรูมารบกวน ปัญหาที่พบได้บ่อยคือ การไม่ติดผลของทุเรียนเทศ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุ 3 ประการ คือ

      1. การออกดอกครั้งแรกหลังการปลูก
      2. โรคดอกร่วง ที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายก้านดอกและกลีบดอก เป็นจุดสีน้ำตาลดำ ทำให้ดอกร่วงหล่น ถ้าดอกที่เป็นโรคไม่รุนแรงดอกสามารถเจริญและสามารถสืบพันธุ์ได้ แต่โรคก็สามารถติดไปยังผลทำให้ผลเหี่ยวย่นมีสีน้ำตาลเข้ม ในการระบาดขั้นรุนแรงจะทำให้ผลเสียหายยังเป็นโรคต่อไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว
        การป้องกันและกำจัด
        -เด็ดดอก และผลที่เป็นโรคไปเผาทำลาย แล้วพ่นสารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ ตามอัตราส่วนในเอกสารกำกับยา
      3. ด้วงทำลายดอก
        พบอยู่ 2 ชนิด คือ ด้วงมีงวงสีน้ำตาลอ่อน และด้วงไม่มีงวงสีน้ำตาลลายดำ ลักษณะการทำลาย ด้วงจะกัดกินเกสรตัวผู้ ยอดเกสรตัวเมีย กลีบดอกและก้านใบ ทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น
        การป้องกันและกำจัด
        -ฉีดพ่นยาชนิดดูดซึม และประเภทถูกตัวตายควบคู่กันไปจะช่วยลดการระบาด เช่น ใช้บาซูดินน้ำผสมกับมาลาไธออน โดยฉีดพ่นทุก 7 ถึง 10 วัน ในระยะดอกเริ่มบานได้ประมาณ 3 ถึง 4 วัน

โรคทุเรียนเทศอื่นๆ
โรคมัมมี่
มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายผิวเปลือก ในระยะแรกผิวเปลือกจะเป็นแผลจุดสีม่วงดำ และแผลจะขยายใหญ่มากขึ้น ผลเน่าแห้งและแข็ง ผลจะเน่าแห้งและแข็งเป็นสีน้ำตาลดำทั้งผล
การป้องกันและกำจัด

  • เด็ดผลที่เป็นโรคไปเผาทำลาย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา

โรคแอนแทรคโนส
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายในช่วงฤดูฝน เริ่มต้นที่ใบและยอดอ่อนมีจุดสีดำกระจายบนใบ ทำให้ใบแห้งเหี่ยว และร่วงหล่น ยอดอ่อนที่เป็นโรคจะมีจุดสีดำบนปลายยอดและจะขยายลุกลามไปถึงโคนกิ่ง ทำให้กิ่งแห้งตาย และสามารถทำให้ขั้วผลและผลเน่า
การป้องกันและกำจัด

  • ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง อยู่เสมอ
  • กำจัดกิ่ง ใบ และผลที่เป็นโรคด้วยการเผาทำลาย

แมลงศัตรูทุเรียนเทศ ที่พบมากที่สุดคือ
หนอนผีเสื้อกินใบอ่อน
การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจต้นทุเรียนเทศ หากพบหนอนผีเสื้อกินใบอ่อน ให้จับไปเป็นอาหารปลา

 

หนอนไชลำต้น
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้น้ำหมักจากเมล็ดทุเรียน โดยหมักกากน้ำตาล อีเอ็ม เมล็ดทุเรียน และยาเส้น รวมกัน แล้วฉีดเข้าลำต้น จะทำให้หนอนไชลำต้นตาย

ส่วนปัญหาเรื่องแมลงศัตรูนั้น น่าจะมีการรบกวนจาก…..
แมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทอง
เข้าทำลายผลโดยตัวเมียเข้าไปเจาะผลแล้ววางไข่ ประมาณ 1 ถึง 2 วัน เมื่อเข้าสู่ระยะตัวหนอน อาศัยกินอยู่ในผล ประมาณ 6 ถึง 10 วัน หลังจากนั้นหนอนจะดีดตัวออกจากผลลงสู่ดินเพื่ออยู่ในระยะดักแด้ในดินประมาณ 8 ถึง 12 วัน จะเป็นตัวเต็มวัย ปีหนึ่งจะขยายพันธุ์ได้ 8 ถึง12 ชั่วอายุ
การป้องกันและกำจัด

  • ห่อผลด้วยถุงกระดาษหรือถุงพลาสติก
  • ใช้สารเคมี เช่น มาราไธออน ทำลายตัวเต็มวัย ทำลายดักแด้
  • นำผลเน่าไปเผาทำลาย เพื่อเป็นการกำจัดตัวหนอนในผลที่ยังเหลืออยู่ในผล

ด้วงกินใบหรือแมลงค่อมทอง
ด้วงกินใบ หรือแมลงค่อมทองจะเข้าทำลายโดยกัดกินใบอ่อนและใบแก่ โดยเฉพาะขอบใบจะเว้าแหว่ง ทำให้ใบเสียหาย ตัวเต็มวัยสามารถปรับเปลี่ยนสีไปตามสภาพแวดล้อม
การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง
  • รักษาความสะอาดในสวนอยู่เสมอ
  • ใช้สารเคมีฉีดพ่น เช่น คาร์บาริล (เชพวิน 85 %) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

เพลี้ยแป้ง
ลักษณะของเพลี้ยแป้ง คือ มีลำตัว มีสารสีขาวคล้ายแป้งติดอยู่ตามตัว เพลี้ยแป้งเข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผล ขั้วผล และใบ มักพบตัวเพลี้ยแป้งเกาะอยู่ตามผล โดยในขณะเดียวกันจะผลิตสารพิษออกมาทำให้ผลเหี่ยว
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้มาราไธออนผสมสารจับใบ หรือผสมไวท์ออยฉีดพ่น

 

การเก็บเกี่ยวทุเรียนเทศ
การเก็บเกี่ยวใบ
เริ่มเก็บใบจำหน่ายหรือแปรรูปได้เมื่อต้นทุเรียนเทศ อายุ 2 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี โดยสังเกตอายุใบกลางๆ สีไม่เข้มเกินไป หากใบอ่อนหรือแก่เกินไป สารที่อยู่ในใบทุเรียนเทศจะลดลง ไม่เหมาะสำหรับการนำไปใช้

วิธีเก็บเกี่ยวใบ

  • ใช้กรรไกรที่คมตัด ปูแผ่นรองบริเวณรอบโคนต้นรับใบที่ตัดออก ควรตัดเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของต้น ต่อครั้ง และตัดทุก 3 ถึง 4 วัน ซึ่งจะได้ใบทุเรียนเทศครั้งละประมาณ 3 ถึง 4 กิโลกรัม
    ***ควรเหลือใบเลี้ยงลำต้นไว้ เพื่อรองรับการออกผลของทุเรียนเทศ***
    ***ใบสดทุเรียนเทศ สามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 50 ถึง 60 บาท***

การแปรรูปใบทุเรียนเทศ: ใบทุเรียนเทศอบแห้งพร้อมชง

  • นำใบทุเรียนเทศที่ตัดแล้วไปล้าง ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
  • นำไปหั่นโดยใช้เครื่องหั่นใบ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการทำชา การใช้เครื่องหั่นใบเป็นการนวดใบทุเรียนเทศไปในตัว เมื่อใบชาถูกความร้อนจะทำให้สารที่อยู่ในใบสกัดออกมาได้ง่าย
  • ใบทุเรียนเทศสด น้ำหนัก 4 กิโลกรัม เมื่ออบแห้งแล้วเหลือเพียงใบทุเรียนเทศอบ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม

รูปแบบการแปรรูปทุเรียนเทศในปัจจุบัน (ใบ และผล)

  • ใบชาทุเรียนเทศ หรือใบทุเรียนเทศอบแห้งพร้อมชง
  • น้ำทุเรียนเทศ
  • สบู่ครีมทุเรียนเทศ
  • แชมพูสกัดจากใบทุเรียนเทศ

การดูแลต้นทุเรียนเทศ หลังการเก็บเกี่ยว

  • ต้นทุเรียนเทศเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะสูงประมาณ 6 ถึง 7 เมตร และเริ่มให้ผลเมื่ออายุประมาณ 3 ปีครึ่ง ควรบำรุงรักษาต้นด้วยการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นไม่สูงมาก และสามารถทำการเก็บใบได้สะดวกด้วยการตัดแต่งกิ่งทำควรหลังจากเก็บผลแล้ว

 

ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.soursopherbs.com, www.natres.psu.ac.th, www.komchadluek, www.vichakaset.com, http://research.rae.mju.ac.th, www.technologychaoban.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *