การปลูกกุหลาบ

การปลูกกุหลาบ หลายคนมักจะบ่นว่าเวลาไปซื้อต้นพันธุ์กุหลาบมาปลูก ตอนที่ต้นกุหลาบอยู่ที่ร้านนั้นดูสวยตลอด แต่เมื่อนำมาปลูกเองที่บ้านก็มักจะดูโทรมตลอด อันที่จริงถ้าเราเป็นมือสมัครเล่นก็มีวิธีปลูกกุหลาบให้งามได้ง่ายๆ ที่ควรปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอนะคะ ผู้เขียนมีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ มาฝากกันก่อนจะเข้าถึงรายละเอียดที่มากขึ้น (ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะคะ)

  • กุหลาบต้องให้ผู้หญิงปลูก เพราะเป็นราชินี
  • กุหลาบต้องปลูกวันพุธ เพราะเป็นไม้ดอก
  • กุหลาบต้องปลูกทางทิศตะวันออกของบ้าน…จึงจะงาม
  • กุหลาบจะงาม ผู้ปลูกต้องรักต้นกุหลาบให้มากพอกันกับการรักดอกกุหลาบ

เมื่อได้ทราบเคล็ดลับดีๆ อย่างนี้แล้ว ก็เลือกสายพันธุ์กุหลาบที่ชอบหรือสายพันธุ์อื่นๆ ได้จากบทความ กุหลาบ ควบคู่ไปกับข้อสำคัญดังนี้ค่ะ
การคัดเลือกพันธุ์กุหลาบ

  1. ให้ผลผลิตสูง
  2. มีอายุการปักแจกันนาน อย่างน้อยสามารถบานในแจกันได้ประมาณ 16 วัน
  3. สามารถดูดน้ำได้ดี
  4. ไม่มีหนามหรือหนามน้อยเพื่อความสะดวกในการจัดการ
  5. สี สีแดงยังคงครองตลาดอยู่ รองลงมาคือสีชมพู สีอ่อนเย็นตา และสองสีในดอกเดียวกัน
  6. กลิ่น กุหลาบกลิ่นหอมจะไม่ทน (แต่ปัจจุบันได้มีการผสมพันธุ์กุหลาบตัดดอกให้มีกลิ่นหอมกันหลายพันธุ์บ้างแล้ว)
  7. มีความต้านทานโรค และทนความเสียหายจากการจัดการสูง

คำแนะนำสำหรับมือใหม่หัดปลูก หรือผู้ที่ต้องการปลูกไว้ใช้ในครัวเรือน หรือไว้ชื่นชมเป็นการส่วนตัว

  • หากเลือกซื้อต้นกุหลาบมาไม่ว่าจะพันธุ์อะไรก็ตาม ให้พักต้นไว้ประมาณ 7 วัน
    ตัดดอกที่ติดมากับต้นไปปักแจกันให้หมดทั้งตูมทั้งบาน อย่าเสียดาย (นับลงมาจากดอก 5 ใบ แล้วตัด)
  • การเตรียมดิน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุง แต่ควรรดน้ำตอนเช้าทุกวันเท่านั้น การรดน้ำต้นกุหลาบควรรดเฉพาะโคนต้นเท่านั้น อย่ารดน้ำให้โดนดอกหรือใบ เพื่อป้องกันโรคกุหลาบ
  • ในระยะ 7 วันอันตราย ให้วางกุหลาบในที่ที่ได้รับแสงแดดรำไร และขยับออกไปวางรับแสงแดดวันแรก 1 ชั่วโมง ทุกวันโดยเพิ่มระยะเวลาการรับแสงแดดวันละ 1 ชั่วโมง จนครบ 7 วัน (วันสุดท้ายครบ 7 ชั่วโมง)
  • จะสังเกตเห็นว่า ต้นกุหลาบเริ่มแตกตาใหม่ๆ ออกมาใกล้กับบริเวณที่เราตัดดอกออกในตอนแรก แสดงว่าต้นแข็งแรงดี ถ้าไม่เป็นตามนี้ก็อาจจะมีอาการใบเหลือง ซึ่งแสดงว่าขาดน้ำ (ให้น้ำไม่พอ)
  • ในวันที่ 8 ถ้าต้นพันธุ์กุหลาบพร้อมก็นำไปปลูกได้ โดยนำต้นกุหลาบออกจากถุงเพาะ หรือกระถางเดิมซึ่งใบเล็ก แล้วนำไปใส่กระถางใบใหม่ โดยใส่ดินรองที่ก้อนกระถางก่อนประมาณ 3 นิ้ว กดให้แน่น วางต้นกุหลาบลงไปพร้อมดินเดิมที่ติดต้นมา เทดินที่เหลือใส่แต่เหลือพื้นที่ไว้สำหรับใช้ขุยมะพร้าวที่แช่น้ำไว้แล้วมาคลุมโคนต้นด้วย หรือปลูกลงดิน
  • จากนั้นลองรดน้ำ หากน้ำไหลผ่านชั้นดินลงได้ไม่เร็วเกินไปและไม่ช้าเกิน 10 นาที นับว่าดี แต่ถ้าเร็วเกินไปดินก็จะรักษาความชื้นไว้ไม่ดี แต่ถ้าช้าเกินไปก็จะทำให้รากเน่า
  • การปลูกลงกระถาง ควรนำกระถางกุหลาบไปวางไว้ในที่ที่ได้รับแสงแดดวันละอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

ถ้าจะปลูกลงดิน ก็ปฏิบัติตามวิธีข้างล่างนี้นะคะ และต้องดูแลกุหลาบอย่างรู้ใจด้วยค่ะ ว่ากุหลาบชอบอะไร ไม่ชอบอะไรบ้าง ดังนี้

สภาพที่แวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกกุหลาบ
พื้นที่ปลูก ควรปลูกในที่ที่ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเล็กน้อย ค่า pH (พีเอช) ควรอยู่ประมาณ 6 ถึง 6.5
ดิน ที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกกุหลาบ คือ ดินร่วน หรือดินปนทรายที่มีอินทรียวัตถุ มีสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง มีค่าความชื้นในดินมาก และการระบายอากาศดี
อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญของกุหลาบคือ กลางคืนอุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 15 ถึง 18 องศาเซลเซียส และกลางวันควรอยู่ระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และมีปริมาณสูง หากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตและการออกดอกจะช้าอย่างมาก หากอุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส ควรให้มีความชื้นในอากาศสูงเพื่อชะลอการคายน้ำ
ความชื้น ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับการเจริญของกุหลาบคือร้อยละ 70 ถึง 80
แสง กุหลาบชอบแดดจัด ต้องปลูกกลางแจ้งซึ่งจะให้ผลผลิตสูง และดอกที่มีคุณภาพดี ถ้าความเข้มของแสงมากและช่วงวันยาว (อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง)

การผลิตกุหลาบในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ

  1. การผลิตกุหลาบในเชิงปริมาณ คือ การปลูกกุหลาบในพื้นที่ขนาดใหญ่ และปลูกในพื้นที่ราบ ซึ่งจะให้ผลผลิตมีปริมาณมาก แต่ไม่ได้คุณภาพ เช่น ดอกและก้านมีขนาดเล็ก มีตำหนิจากโรคและแมลง หรือการขนส่ง อายุการปักแจกันสั้น ทำให้ราคาต่ำ การผลิตชนิดนี้ต้องอาศัยการผลิตในปริมาณมากเพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้
  2. การผลิตกุหลาบเชิงคุณภาพ นิยมปลูกในเขตภาคเหนือและพื้นที่สูง ปลูกกุหลาบในโรงเรือน ปลูกกุหลาบในพื้นที่จำกัด มีการจัดการการผลิตและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ดี ใช้แรงงานที่ชำนาญ ทำให้กุหลาบที่ได้มีคุณภาพดี และปักแจกันได้นาน ปัจจุบันผลผลิตกุหลาบเชิงคุณภาพในประเทศยังไม่เพียงพอและขาดความต่อเนื่อง ทำให้ยังต้องนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย เป็นต้น

การปลูกกุหลาบลงดิน
วัสดุที่สามารถนำมาใช้ปลูกกุหลาบ

  • ดิน-เป็นแหล่งธาตุอาหาร แหล่งจุลินทรีย์ และเม็ดดินมีขนาดเล็กอัดแน่น
  • ปุ๋ยคอก-ให้ธาตุอาหารครบถ้วน ผ่านการหมักให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายมาแล้ว
  • ใบไม้ผุ-มีธาตุอาหาร ช่วยให้ดินโปร่ง น้ำหนักเบา ย่อยสลายได้ยากและจะทะยอยให้สารอาหารแก่พืช
  • แกลบสด-ช่วยดูดซับความชื้นและธาตุอาหาร มีช่องว่างช่วยระบายน้ำและอากาศ ย่อยสลายได้ยาก และเป็นวัสดุที่ช่วยในการเก็บประจุไฟฟ้าจากธาตุอาหารเพื่อส่งต่อไปยังรากด้วย
  • ขี้เถ้าแกลบ-ปรับความเป็นกรดด่าง และช่วยเก็บความชื้น
  • ขุยมะพร้าว-เก็บความชื้นได้ดี แต่มีสารอาหารน้อย และมีความเป็นกรด
  • กาบมะพร้าวสับ-ทำให้ดินมีช่องว่างระบายน้ำและอากาศได้ดี เก็บความชื้น รากพืชเกาะได้ดี และมีความเป็นกรด ต้องผ่านการตากแดดตากฝนหรือทำการชะล้างความเป็นกรดออกก่อนเช่นกัน

การเตรียมดินปลูก
สูตรการผสมดินแบบที่1

  • กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน
  • ขุยมะพร้าว 1 ส่วน
  • ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน
  • แกลบสด 1 ส่วน
  • ใบไม้ผุ 1 ส่วน
  • ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
    หรือปุ๋ยหมัก 2 ส่วน
  • ดิน ½ ส่วน

สูตรการผสมดินแบบที่2

  • ดิน 1 ส่วน
  • ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
    หรือปุ๋ยหมัก 2 ส่วน
  • แกลบดิบ 2 ส่วน
  • ขุยมะพร้าว ½ ส่วน(ไม่มีไม่เป็นไร)

ประเภทของวัสดุรองก้นหลุมปลูกหรือก้นกระถาง

  • หินฟอสเฟต
  • ไดโลไมท์
  • ปุ๋ยกระดูก
  • ปุ๋ยเคมีละลายช้า

ประเภทของวัสดุคลุมดิน

  • ฟาง
  • หญ้าแห้ง
  • เปลือกถั่วลิสง
  • ขุยมะพร้าว
  • ชานอ้อย
  • แกลบ
  • มูลวัว

ขั้นตอนการเตรียมดิน
ในภาคกลาง—มีสภาพดินค่อนข้างเหนียว และค่อนข้างเป็นกรดจัด ระดับน้ำใต้ดินสูง ควรปลูกแบบร่องสวน ซึ่งมีคูน้ำคั่นกลาง โดยเริ่มเตรียมดินในฤดูแล้ง คือ

  • ไถพรวนดินและตากดินให้แห้ง เพื่อกำจัดวัชพืชก่อน ในขณะที่ตากดินนี้อาจโรยปูนขาวลงไปเพื่อปรับปรุงสภาพดิน
  • เมื่อดินแห้งดีแล้วจึงกลับหน้าดิน และชักดินในแต่ละแปลงให้มีขอบสูง ตรงกลางเป็นแอ่งเล็กน้อย
  • ขนาดของแปลงควรมีความกว้างและยาวตามพื้นที่
  • ขุดขนาดหลุม (กว้าง x ยาว x ลึก) 30x30x30 เซนติเมตร
  • ระยะห่างระหว่างต้นใช้ระยะ 50 x 50 เซนติเมตร หรือ 60 x 60 เซนติเมตร แถวในแต่ละแปลงไม่ควรเกิน 3 แถว เพื่อความสะดวกในการตัดดอกและตัดแต่งกิ่งตรงแถวกลาง

ในภาคอื่น—ที่มีสภาพดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย

  • ขนาดแปลงปลูกเท่ากันกับการปลูกในภาคกลาง ขนาดแปลงปลูกกว้าง 1 .20 เมตร เว้นทางเดิน 1 เมตร ความยาวของแปลงปลูกตามขนาดของพื้นที่
  • ระยะห่างระหว่างต้น 60 x60 เซนติเมตร ซึ่งจะได้จำนวนต้นประมาณ 2,000 ต้นต่อไร่ (หรือ ทำแปลงปลูกกว้าง 1เมตร เว้นทางเดิน 1 เมตร สำหรับการใช้ระยะห่างระหว่างต้น 50 x 50 เซนติเมตร สำหรับพันธุ์กุหลาบที่ขนาดของทรงพุ่มไม่แผ่กว้างมากนัก)
  • หว่าน ปูนขาวและไถพรวนตากดินไว้ให้แห้ง
  • จากนั้น คลุกเคล้าวัสดุปลูกที่หาได้ให้เข้ากันแล้วนำกิ่งพันธุ์กุหลาบหรือต้นกล้าลงไปปลูก
  • กลบดินที่โคนต้นให้กระชับและรดน้ำให้ชุ่ม

***กิ่งพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกเพื่อตัดดอกเป็นการค้าในปัจจุบัน ได้แก่ กิ่งตัดชำ และกิ่งตอน***
การคลุมดินแปลงปลูก

  • โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น หญ้าแห้ง ฟาง เปลือกถั่วลิสง ซังข้าวโพด ชานอ้อย ขุยมะพ้าว แกลบ และขี้เลื่อย เป็นต้น
  • ควรใช้วัสดุที่เก่า คือ เริ่มสลายตัวแล้วเพื่อป้องกันการขาดไนโตรเจนกับต้น กุหลาบ หากจำเป็นต้องใช้วัสดุคลุมแปลงที่ค่อนข้างใหม่ควรเติมปุ๋ยไนโตรเจนลงไปด้วย
  • การคลุมแปลง นอกจากจะช่วยรักษาความชื้นและอุณหภูมิรวมทั้งเพิ่มความโปร่ง ของดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินในแปลงปลูกแล้ว ยังช่วยป้องกันวัชพืชให้ขึ้นช้าอีกด้วย

การปลูกกุหลาบในกระถาง

  • ใช้กระถางดินเผาหรือพลาสติกขนาด 10 – 12 นิ้ว
  • ใส่ดินเครื่องปลูกที่ผสมไว้ รองก้นกระถาง
  • นำต้นกุหลาบลงปลูกโดยให้มีดินเก่าติดมาด้วย
  • กลบดินรอบโคนต้น กดให้แน่นพอประมาณ
  • รดน้ำให้ชุ่มไม่ชอบแฉะ ทุกวันในตอนเช้า เมื่อกุหลาบตั้งตัวได้ให้รดน้ำ 5 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง รดเฉพาะที่โคนต้นและพยายามอย่ารดน้ำให้โดนใบ หรือการรดดินก็อย่าให้ดินกระเด็นขึ้นโดนต้น โดนใบ เพราะเชื้อราจะขึ้นตามไป
  • คลุมหน้าดินด้วยวัสดุคลุมดิน
  • วางกระถางในที่มีแดดอย่างน้อย ½ วัน เมื่อกุหลาบแข็งแรงดีแล้วควรย้ายไปวางไว้ในที่ที่กุหลาบสามารถรับแสงแดดได้อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง ในช่วงฤดูร้อนควรให้กุหลาบได้รับแดดเพียง ½ วัน ซึ่งอาจจะย้ายที่วางใหม่ หรือพรางแสงด้วยสแลน

การเปลี่ยนกระถาง หรือขยายขนาดกระถาง

  • ใช้อุปกรณ์แซะรอบด้านข้างกระถางเดิม และดันดินที่ด้านก้นกระถางให้ดินหลุดจากกระถาง
  • ตัดดินรอบๆ ออก ตัดรากฝอยออกบางส่วนเพื่อให้รากได้เจริญเติบโตใหม่ไม่พันกัน
  • ใช้เหล็กแหลมแซะดินที่แน่นแข็งออก
  • หลังจากนั้นทำวิธีเช่นเดียวกับการเอาต้นกุหลาบลงกระถางใหม่
  • ควรเปลี่ยนกระถางปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้กุหลาบงาม

หลังการปลูกกุหลาบ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนการดูแลในบทความ การดูแลกุหลาบ หลังการปลูก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th, www.gotoknow.org, www.thaikasetsart.com, www.pennungseed.com, http://castlerozyrose.blogspot.com, www.allaboutrose.com, http://rosesplanting.blogspot.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *