การปลูกกุยช่าย

การปลูกกุยช่าย

เป็นผักสวนครัวในรั้วบ้านหรือปลูกเพื่อการค้า ล้วนแต่ใช้วิธีการปลูกและการดูแลที่ไม่แตกต่างกัน หากท่านผู้อ่านได้ทดลองปลูกแล้ว อาจจะนำวิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ไปปรับเปลี่ยน ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความสะดวก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสูง และเช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผู้เขียนเคยย้ำเตือนว่า ให้ใส่ใจดูแลพืชผักผลไม้ที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อปฎิบัติแล้วได้ผลที่ดี เราก็จะมีกำลังใจที่จะทำการเกษตร ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของวิถีชีวิตคนไทยมาแต่โบราณ และที่น่ายินดีในตอนนี้คือ ประเทศไทยในยุค 4.0 ช่วยส่งเสริมการเกษตรควบคู่กับการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ซึ่งพอจะมองเห็นแนวทางการเกษตรอย่างยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น ในแต่ละปี ราคาพืชผักผลไม้จะขึ้นและลงตามฤดูกาล การที่เราทดลองปลูกพืชผักหลากชนิด และใช้พื้นที่ที่มีอยู่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน นอกจากจะช่วยให้มีรายได้หมุนเวียนแล้วยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ เมื่อต้องการบริโภคพืชผักผลไม้ต่างๆ ในยามที่ราคาพุ่งสูงขึ้นไปตามราคาตลาด และสภาพภูมิอากาศ ในบทความนี้ นอกจากผู้เขียนจะมีวิธีการปลูก การดูแลหลังการปลูก วิธีการเก็บเกี่ยว และการป้องกันและกำจัดโรคและแมลง มาแนะนำแล้ว ยังมีเคล็ดลับกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างปลอดภัยมาฝาก อย่าพลาดติดตามกันนะคะ

ขั้นตอน การปลูกกุยช่าย
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์กุยช่าย มี 2 วิธี คือ

  1. การเพาะเมล็ด ถือเป็นวิธีที่นิยม และใช้ในการผลิตกุยช่ายเขียว และกุยช่ายดอก และเพื่อเตรียมต้นกล้าสำหรับผลิตกุยช่ายขาว (ในอัตราการปลูก 1 กิโลกรัม 4 ไร่ สำหรับการปลูกเพื่อการค้า)
    วิธีการเพาะเมล็ด
    – การเพาะเมล็ดในถาดเพาะกล้า โดยก่อนเพาะควรแช่เมล็ดในน้ำผสมปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท(13 – 0 – 50) เข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำออกมาใส่ในผ้าเปียกเก็บในตู้เย็นเป็นเวลา 3 ถึง 5 วัน รักษาความชื้นในวัสดุเพาะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการงอกของเมล็ด แล้วนำออกมาผึ่งให้ผิวแห้ง นำดินสำหรับเพาะกล้าในลงหลุมถาดเพาะ แล้วนำเมล็ดกุยช่ายหยอดลงในหลุม 3 ถึง 5 เมล็ด ต่อหลุม จากนั้นกลบด้วยดินที่ใช้เพาะกล้าบางๆ รดน้ำพอชุ่ม คลุมด้วยฟางข้าวแห้ง นำถาดเพาะกล้าไปวางไว้ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทที่ดี รดน้ำทุกวันในตอนเช้า เมล็ดจะงอกภายใน 7 ถึง 14 วัน ในระยะนี้ควรรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ จนอายุกล้าประมาณ 50 ถึง 60 วัน จึงสามารถนำไปปลูกได้
    – การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ เริ่มจากการเตรียมแปลงเพาะเหมือนกับการเตรียมแปลงเพาะพืชทั่วไป หว่านเมล็ดลงแปลงบางๆ โรยฟางข้าวทับรดน้ำให้ชุ่ม จนกล้าอายุได้ 50 ถึง 60 วัน จึงนำกล้าไปปลูกลงแปลงปลูกได้
  2. การแยกเหง้าหรือแยกกอปลูก ใช้ในการปลูกทั้งกุยช่ายเขียว และกุยช่ายขาว ด้วยการสลับผลิตกุยช่ายแต่ละชนิดในแปลงเดียวกัน วิธีนี้จำเป็นต่อการปลูกกุยช่ายขาว เพราะการปลูกจากเหง้าให้เป็นกอๆ จะสามารถใช้วัสดุทึบแสงคลุมกอได้

 

วิธีการแยกกอ
– โดยใช้ต้นแม่พันธุ์อายุ 6 เดือนขึ้นไป ขุดแล้วแยกกอ ก่อนปลูกควรตัดใบออก เพื่อลดการคายน้ำ ตัดรากให้เหลือประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร จากนั้นนำกอที่แยกเพื่อปลูกจุ่มยากันเชื้อราเพื่อเป็นการป้องกันโรคก่อน จึงนำไปปลูก

 

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกกุยช่ายขาว
พื้นที่เพาะปลูก

  • ต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่มีช่วงแสงสั้น อุณหภูมิต่ำ หากปลูกกุยช่ายดอก สามารถเพิ่มช่วงแสงด้วยการเปิดไฟในเวลากลางคืนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญของดอก ในบางสายพันธุ์ต้องการอุณหภูมิต่ำ สำหรับการเจริญเติบโตของดอก

อุณหภูมิ

  • อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของกุยช่าย คือ 20 องศาเซลเซียส

ดิน

  • กุยช่ายชอบดินที่ร่วนปนทราย มีหน้าดินหนา อินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี
  • ค่า pH ของดินอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 6.8

สายพันธุ์

  1. กุยช่ายใบ เช่น Broad leaf และ Ping
  2. กุยช่ายดอก เช่น Tai Jiu

กุยช่ายเขียว และกุยช่ายขาว

การเตรียมดิน

  • ไถพลิกดิน ตากแดดประมาณ 15 วัน
  • ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร
  • โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน
  • กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะหญ้าแห้วหมู
  • ย่อยหรือพรวนดิน และเตรียมแปลง

การเตรียมแปลง

  • พื้นที่ที่มีระบบน้ำขังตลอด
    – ยกร่องสูงประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 3 ถึง 5 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร
    – พรวนแปลงเพื่อตากแดดอีกครั้งประมาณ 5 ถึง 10 วัน
  • พื้นที่ดอนหรือไม่มีน้ำท่วมขัง
    – ยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 50 ถึง 70 เซนติเมตร
    – พรวนแปลงเพื่อตากแดดอีกครั้งประมาณ 5 ถึง 10 วัน

การปลูก

  • กุยช่ายเขียวจากการเพาะเมล็ด
    – เมื่อต้นกล้ามีอายุครบกำหนด ลำต้นแข็งแรง ให้รดน้ำแปลงที่จะปลูกให้ชุ่ม
    – นำกล้าลงปลูกใช้ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร หลุมละ 3 ถึง 4 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม กุยช่ายจะอยู่ได้ 3 ถึง 4 ปี แล้วแยกกอปลูกแปลงใหม่
    – คลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหรือแกลบ
    – ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย จนอายุประมาณ 7 ถึง 8 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้
  • กุยช่ายเขียวจากการแยกกอปลูก
    – นำกอที่แยกจากต้นแม่พันธุ์ แล้วมีการตัดใบ ตัดราก และจุ่มยากันเชื้อราแล้วมาปลูกลงในแปลงตามระยะและวิธีการเดียวกันกับกุยช่ายเขียวแบบเพาะเมล็ด
    – ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ประมาณ 4 เดือน หลังปลูกจะสามารถเก็บเกี่ยวได้
  • กุยช่ายขาว
    วัสดุอุปกรณ์
    – กระถางพลาสติกหรือกระถางดินเผา ขนาด 11x23x30 เซนติเมตร (เส้นผ่าศูนย์กลางก้นกระถาง x เส้นผ่าศูนย์กลางปากกระถาง x ความสูง)
    – ตาข่ายพรางแสง (สแลน)
    – ไม้ไผ่

วิธีการปลูก

  • ใช้กล้าพันธุ์ที่เตรียมได้จากเหง้าหรือกอกุยช่ายเขียว ที่มีการตัดใบหรือตัดดอกจำหน่ายแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ไม่ควรมีอายุเกิน 1 ปี หรืออาจใช้ต้นกล้าอายุตั้งแต่ 3 ถึง 4 เดือน
  • เมื่อแยกกอจากต้นแม่พันธุ์แล้ว ปฏิบัติตามวิธีขยายพันธุ์ข้างต้น
  • นำมาปลูก 4 ถึง 6 กอ ต่อหลุม ในระยะห่างระหว่างต้น และระยะห่างระหว่างแถว 30×30 เซนติเมตร เว้นขอบแปลงด้านละ 15 เซนติเมตร แปลงขนาด 1.3 ถึง 1.5 เมตร จะได้ประมาณ 4 ถึง 5 แถว
  • ใช้กระถางครอบแต่ละกอต้นกุยช่าย โดนออกแรงกดให้กระถางจมลงดินเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้กระถางล้ม
  • ขุดหลุมฝังเสาไม้ พร้อมขึงตาข่ายพรางแสง
  • รดน้ำวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า หรือ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ในระยะ 10 วัน จะสามารถเก็บผลผลิตได้

กุยช่ายดอก

  • มีขั้นตอนการปลูก การให้น้ำ และให้ปุ๋ยเช่นเดียวกันกับกุยช่ายเขียว แต่จะไม่มีการตัดใบจนถึงระยะแก่ กุยช่ายจะแทงช่อดอกออกมา จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

การดูแลกุยช่าย หลังการปลูก

การให้น้ำ

  • รดน้ำกุยช่ายวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน ในตอนเช้า กุยช่ายชอบน้ำชุ่มแต่ไม่แฉะ ไม่ขัง

การให้ปุ๋ย

  • การให้ปุ๋ยครั้งแรก หลังย้ายปลูก 7 วัน ควรใส่ ปุ๋ย 21–0 – 0 (แอมโมเนีย ซัลเฟต ) ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 10กิโลกรัม ต่อไร่ หรือ 13 – 0 – 0 – 26 ( แคลเซียมไนเตรท ) ในดินที่เป็นกรด อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยเจาะหลุมห่างจากต้น 10 เซนติเมตรด้านใดด้านหนึ่ง และใส่อีกด้านหนึ่งในครั้งต่อไปสลับด้านกัน
  • หลังการให้ปุ๋ยครั้งแรก ให้ปุ๋ยทุก 3 เดือน ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก อัตรา 1 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 13 – 13 – 21 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ และ 21 – 0 – 0 ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อไร่หรือ 13 – 0 – 26 ในดินที่เป็นกรด อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ตามวิธีเดียวกันกับการให้ปุ๋ยในครั้งแรก
  • หลังการเก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย 21 – 0 – 0 ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือ 13 – 0 – 26 ในดินที่เป็นกรดอัตรา 15กิโลกรัม ต่อไร่ ตามวิธีเดียวกันกับการให้ปุ๋ยในครั้งแรก
  • ทุกสัปดาห์ ควรฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด หรือปุ๋ยน้ำที่มีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ในรูปสารละลายทางใบ

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

กุยช่ายเขียว

  • กุยช่ายเขียวจากการเพาะเมล็ดสามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 7 ถึง 8 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 45 วัน
  • กุยช่ายเขียวจากการแยกกอปลูกสามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 4 เดือน และการตัดใบครั้งต่อไป สามารถทำได้ในระยะประมาณ 45 วัน

กุยช่ายขาว (มักทำสลับกับการตัดกุยช่ายเขียว)

  • สามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังคลุมด้วยกระถาง ประมาณ 10 ถึง 15 วัน
  • หลังจากตัดใบกุยช่ายขาวแล้ว ไม่คลุมกระถาง ซึ่งสามารถตัดกุยช่ายเขียวได้อีก ประมาณ 45 วัน

กุยช่ายดอก

  • กุยช่ายดอกจากการเพาะเมล็ดสามารถตัดดอกจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 8 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง
  • กุยช่ายดอกจากการแยกกอปลูกสามารถตัดดอกจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 4 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง

วิธีการเก็บเกี่ยว

  • ใช้มีดคมๆ ตัดโคนชิดดิน นำไปล้างน้ำ
  • ตัดแต่งใบ ลอกใบที่ถูกทำลายหรือใบล่างที่มีสีเหลืองออก
  • คัดขนาดแล้วมัดเป็นกำๆ มัดละ 1 กิโลกรัมด้วยยางวง รอการขนส่ง

โรคและแมลงศัตรูกุยช่าย
กุยช่ายเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนน้อยกว่าพืชชนิดอื่นๆ เนื่องจากกลิ่นที่ฉุนช่วยเป็นเกราะป้องกันด้วยตัวเอง มีโรคและแมลงไม่กี่ชนิดที่สามารถเข้าทำลายกุยช่ายได้ ดังนี้
โรคกุยช่าย
โรคต้นและดอกเน่า และโรคต้นเหลืองแคระแกรน
การป้องกันและกำจัด

  • รักษาแปลงปลูกให้สะอาด
  • ถากดินตรงจุดที่เป็นโรคทิ้งแล้วโรยด้วยปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักปรับปรุงดินให้มีสภาพดีขึ้น
  • เก็บเศษซากพืชที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย
  • ควรมีการปลูกพืชสลับ โดยใช้พืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลหอมกระเทียมมาปลูกหมุนเวียนกับกุยช่ายเพื่อลดพืชอาศัยของเชื้อรา เมื่อกลับมาปลูกกุยช่ายใหม่จะได้ผลดียิ่งขึ้น

โรคราสนิม
พบระบาดทำความเสียหายอย่างหนักในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนธันวาคม จนถึงเดือนกุมภาพันธุ์
การป้องกันและกำจัด

  • เก็บเศษใบและต้นพืชที่เป็นโรคไปเผาและทำลาย เพื่อกำจัดแหล่งแพร่เชื้อ
  • ปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อฟื้นฟูสภาพของดินให้อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม พืชจะเจริญเติบโตได้ดี มีความต้านทานต่อโรค เป็นการช่วยป้องกันโรคทางอ้อม
  • ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลหอมกระเทียมมาสลับกับกุยช่าย เพื่อลดพืชอาศัยของเชื้อราทำให้เชื้อราลดจำนวนลงเรื่อยๆ

แมลงศัตรูกุยช่าย
แมลงที่พบคือ แมลงปากกัด และหนอนชอนใบ
การป้องกันและกำจัด

  • โดยการพ่นด้วยอะมาเม็กติน ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ
  • โดยการพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้

การทำน้ำส้มควันไม้ (สูตรลุงอ้วน)
วัสดุอุปกรณ์

  • ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ใบ
  • ปีบ 1 ใบ
  • ท่อใยหิน ขนาด 4 นิ้ว ยาว 1 เมตร 1 ท่อ
  • ข้องอขนาด 4 นิ้ว 2 อัน
  • เหล็กเส้นขนาด 4 หุน ยาว 30 เซนติเมตร 5 ท่อน
  • ไม้ไผ่ขนาด 4 นิ้ว ยาว 4 เมตร 1 ท่อน

วิธีทำ

  1. เจาะหลังถังน้ำมัน ขนาด 25 x 50 เซนติเมตร (กว้างxยาว) เก็บไว้ใช้เป็นฝาปิด
  2. ตัดปีบออกหนึ่งแถบ ตัดฝาออกหนึ่งแถบ เจาะด้านก้นปีบเหลือครึ่งหนึ่ง เพื่อป้องกันเปลวไฟพุ่งออกด้านหน้า
  3. เจาะรูวงกลมด้านหลังเป็นวงกลมสำหรับใส่ข้องอและท่อระบายอากาศ
  4. นำเหล็กเส้น 4 หุน ยาว 4 เมตรมาทำตะแกรงรองไม้ฟืนเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  5. ใช้ท่อไม้ไผ่ขนาด 4 นิ้ว ยาว 4 เมตร ทะลุปล้องไม้ไผ่ตลอดลำท่อน เพื่อระบายอากาศและเป็นที่ระบายของควันไฟ
  6. เจาะรูใต้ท่อไม้ไผ่ห่างจากข้องอ 20 เซนติเมตร เพื่อรองน้ำส้มควันไม้ โดยใช้ผ้าชุบน้ำพันที่ท่อไม้ไผ่ เพื่อให้ไอความร้อนจากควันไฟไปกระทบกับผ้าที่ชุบน้ำ ทำให้เกิดน้ำส้มควันไม้ไหลลงรูที่เจาะเอาไว้
  7. นำถังมารองใต้รูที่เจาะไว้ จะได้น้ำส้มควันไม้

วิธีใช้น้ำส้มควันไม้ไล่แมลง

  • ใช้น้ำส้มควันไม้ประมาณ 7 ถึง 10 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดเพื่อไล่แมลง

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.puechkaset.com, www.paiboonrayong.com, http://nfemaemoh.blogspot.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *