การดูแลมะม่วงหิมพานต์หลังการปลูกและการแปรรูป
การดูแลมะม่วงหิมพานต์ หลังการปลูก และการแปรรูป
เป็นขั้นตอนสำคัญในการปลูกมะม่วงหิมพานต์ ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพสร้างผลกำไรได้มากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยูกับ การดูแลมะม่วงหิมพานต์ หลังการปลูก และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว การแปรรูป และการจำหน่าย ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ตามมา จากบทความ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่ผู้เขียนได้นำเสนอวิธีการปลูกมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นพืชที่ลงทุนต่ำ ทนทานต่อสภาวะอากาศที่แห้งแล้งได้ ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว และผลผลิตยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ ในบทความนี้ เรามาศึกษาขั้นตอนการดูแล, เทคนิคต่างๆ และการแปรรูป กันนะคะ
การดูแลมะม่วงหิมพานต์ หลังการปลูก
การให้น้ำ
ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่อายุไม่เกิน 1 ปี ในระยะที่ฝนทิ้งช่วงควรมีการรดน้ำบ้าง เพื่อช่วยต้นมะม่วงหิมพานต์ให้มีชีวิตผ่านพ้นไปจนสามารถดำรงชีวิตได้เอง
การให้ปุ๋ย
- กำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ย
- รดน้ำให้ดินมีความชื้นก่อนการใส่ปุ๋ย
- ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยไม่จำกัดจำนวนที่ใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี
- ระยะ 6 เดือนแรก หลังปลูก
เมื่อต้นมะม่วงหิมพานต์ตั้งตัวได้ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก สลับช่วงกับการใส่ปุ๋ยเคมี การใส่ปุ๋ยเคมีควรใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน ครั้งที่ 2 ใส่ประมาณปลายเดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม - มะม่วงหิมพานต์ที่มีอายุประมาณ 3 ถึง 4 ปีขึ้นไป
พรวนดินตื้น ๆ เป็นวงแหวนรอบบริเวณรัศมีของทรงพุ่ม แต่ไม่ลึกเข้าไปภายในทรงพุ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้รากกระทบกระเทือน แบ่งปุ๋ยที่จะใส่ออกเป็น 4 ส่วน ใส่ปุ๋ยรอบทรงพุ่มตรงที่พรวนดินไว้ประมาณ 3 ส่วน บริเวณที่เป็นวงแหวนรอบทรงพุ่มที่พรวนดินไว้นี้ มีรากฝอยและรากแขนง ซึ่งเป็นรากแขนงซึ่งเป็นรากที่หาอาหารของต้นไม้จะอยู่มากในบริเวณรัศมีทรงพุ่ม ปุ๋ยที่เหลืออีก 1 ส่วน โรยบนพื้นภายในทรงพุ่ม แต่อย่าใส่ปุ๋ยให้ชิดกับโคนต้น เพราะจะทำให้เปลือกของลำต้นเน่า และจะทำให้ตายได้
***รดน้ำหลังการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง เพื่อให้ปุ๋ยละลายแทรกซึมลงไปในดิน รากดูดซึมไปใช้ได้ทันที***
การตัดแต่งกิ่ง
เป็นขั้นตอนที่ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์แข็งแรง ของต้นและผลผลิต
- เมื่อต้นมะม่วงหิมพานต์มีอายุ 1 ถึง 2 ปี ควรตัดแต่งให้เหลือลำต้นเดียวและตัดแต่งกิ่งทุกปี โดยตัดกิ่งแขนงที่ไม่สมบูรณ์ออกจากทรงพุ่ม หรือตัดกิ่งที่มีโรคแมลงทำลาย
- ในปีแรกหลังการปลูก ให้ตัดกิ่งแขนงให้สูงจากดินไม่เกิน 1 คืบ
- เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ให้ตัดแต่งกิ่งแขนงให้สูงจากดินประมาณ 1 ไม้บรรทัด
- ในปีต่อๆไป ให้ตัดแต่งกิ่งแขนงขยับขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงประมาณเมตรครึ่งให้หยุดตัดได้
คำแนะนำในการตัดแต่งกิ่ง
- ตัดแต่งกิ่งแขนงเล็กที่เกินไปออก
- ตัดกิ่งแขนงเล็กที่ใบไม่ถูกแสงออก
- แต่งทรงพุ่มไม่ให้กิ่งชิดกันเกินไป หรือไม่ให้กิ่งชน
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ปกติมะม่วงหิมพานต์จะเริ่มให้ผลผลิตปีที่ 3 โดยจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากดอกบานประมาณ 2 เดือน ผลจะเริ่มแก่และเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนพฤษภาคม มะม่วงหิมพานต์จะมีผลผลิตมากที่สุดเดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง คือ ปล่อยให้ผลแก่เต็มที่แล้วร่วง จึงทำการเก็บเกี่ยวผลจากพื้น ไม่ควรเก็บบนต้นเพราะจะได้เมล็ดที่ไม่แก่เต็มที่ เมื่อเก็บมาแล้วให้บิดเมล็ดออกจากผลทันทีเพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลายเมล็ด
การเก็บรักษาผลผลิต
ความชื้นของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่สูงเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียต่อเมล็ด เช่น เกิดรา เสียรสชาติ เกิดกลิ่นเหม็นหืน เป็นต้น จึงควรนำเมล็ดไปตากแดด 2-3 วัน ให้เมล็ดแห้งสนิท(ความชื้นไม่เกิน 9 %) การเก็บรักษาไว้ให้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย รอการจำหน่ายหรือกะเทาะเมล็ดต่อไป เก็บไว้บนพื้นห้องที่แห้งและแข็งแรง ถ้าเป็นพื้นที่มีความชื้นสูงควรมีพัดลมดูดอากาศ ทั้งนี้อาจเก็บไว้ในกระสอบ หรืออาจเทกองไว้ แต่การเก็บแบบเทกองจะต้องมีเครื่องมือ นอกจากนี้ เกษตรกรบางรายจะมีวิธีการเก็บรักษาด้วยวิธีอื่น แต่อาจมีต้นทุนที่สูงกว่าแบบแรก ***ผลผลิตมะม่วงหิมพานต์ สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่เน่าเสียง่ายเหมือนผลไม้ทั่วไป***
การแปรรูป เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
การกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์
เป็นขั้นตอนที่เกษตรกรควรปฏิบัติ เพราะช่วยเพิ่มรายได้ด้วยราคาการจำหน่ายที่สูงกว่าเมล็ดดิบที่ยังไม่กะเทาะเปลือก
ขั้นตอนการกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์
- ทำความสะอาด โดยนำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบไปล้างน้ำ ทำความสะอาดให้ปราศจากสิ่งเจือปน และคัดเมล็ดเสียทิ้ง
- เตรียมเมล็ดก่อนกะเทาะ เพื่อลดปริมาณน้ำมันจากเปลือก และทำให้เปลือกแยกตัวจากเมล็ดในทำให้กะเทาะได้ง่ายขึ้น ที่นิยมทำเป็นการค้ามักใช้วิธีต้มเมล็ดในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที แล้วนำมาตากแดดประมาณ 1ถึง 2 แดด ให้เมล็ดมีความชื้นเหลือประมาณ 9 เปอร์เซนต์ ซึ่งเหมาะสมที่จะนำมากะเทาะต่อไป
- การกะเทาะเมล็ด ส่วนมากนิยมกะเทาะด้วยเครื่องกะเทาะเมล็ดแบบมือโยกเพราะราคาถูก กะเทาะง่าย และได้เมล็ดดี 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
จับเมล็ดจรดลงบนใบมีดล่างพอดี
โยกด้ามกด / บิดลงตรง ๆ ให้ใบมีดผ่าเข้าไปในเปลือกทั้งใบมีดล่างและใบมีดบน
บิดด้ามกด / บิดไปทางขวา หรือซ้ายเพื่อให้ใบมีดบนเปิดเปลือกให้อ้าออก
ปล่อยด้ามกด/บิดแล้ว ยกเมล็ดออกจากเครื่อง - การอบเมล็ด หลังจากกะเทาะแล้วเมล็ดในที่ได้ต้องนำไปอบเพื่อให้เมล็ดแห้งสามารถลอกเยื่อได้ง่าย โดยใช้อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซนติเกรด นาน 30 นาที หรืออาจนำไปตากแดดประมาณ 2-3 วัน
- การลอกเยื่อ การเลือกเยื่อหุ้มเมล็ดในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงในการลอกเยื่อ การลอกเยื่อทำได้โดยใช้มือหรือมีดเล็ก ๆ ขูดเยื่อออกจากเมล็ด
เมื่อแกะเสร็จก็จะได้ออกมาเป็นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เรียกว่า “เมล็ดขาว” เมล็ดขาวเหล่านี้จะถูกส่งมา เพื่อคัดขนาดอีกครั้งหนึ่งก่อนจะส่งจำหน่าย ต่อไป
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์สามารถคัดเกรดคุณภาพได้เป็น 5 ประเภทด้วยกันคือ ขนาดใหญ่, ขนาดกลาง, ขนาดเล็ก, เมล็ดครึ่งซีก และ เมล็ดป่น (เมล็ดป่นนำไปโรยหน้าเค้ก และ ทำเบเกอรี่) - การคัดขนาดและการบรรจุหีบห่อ ส่วนใหญ่คัดด้วยมือหรือใช้ตะแกรงเข้าช่วย การคัดขนาดแยกเมล็ดที่สมบูรณ์ ผ่าซีก แตกหัก สีคล้ำ แล้วจัดเกรดตามมาตรฐานสากล หรือความต้องการของลูกค้า หลังจากคัดขนาดเสร็จต้องรีบนำเมล็ดไปบรรจุเพื่อเก็บไว้จำหน่ายต่อไป ถ้าเก็บไว้ไม่นานอาจใส่ถุงพลาสติกแล้วผนึกให้แน่น ไม่ให้อากาศเข้า ก็สามารถเก็บเมล็ดได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้าต้องการเก็บรักษานาน ๆ เช่น ส่งต่างประเทศต้องบรรจุใส่ปี๊บ ปั๊มอากาศออกแล้วบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วผนึกไม่ให้อากาศรั่ว เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแมลง เมล็ดที่บรรจุควรจะมีความชื้น 5เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐานสากล
การแปรรูป ส่วนอื่นๆ ของมะม่วงหิมพานต์
- เปลือกใช้สกัดเอาน้ำยางมาใช้งานอุตสาหกรรม เช่นทำกาว หรือ ใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรค
- เปลือกที่แกะเมล็ดออกแล้วสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการต้มเมล็ดได้ หรืออาจจะรวบรวมส่งโรงงานเพื่อสกัดสารเคมีในการทำน้ำมันเบรคก็ได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
ข้อควรระวัง : เปลือกหุ้มเมล็ด มียางสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะเป็นกรด ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้พองเป็นแผลเปื่อย
(แหล่งข้อมูล : www.pirun.ku.ac.th, www.ecitepage.com)