การดูแลกุหลาบหลังการปลูก

การดูแลกุหลาบหลังการปลูก


การดูแลกุหลาบ หลังการปลูก

เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้แล้วก็เป็นตัวตัดสินได้ว่าเราปลูกกุหลาบได้ผลเพียงใด จากสภาพของต้นกุหลาบ ดอกไม้ที่มีคุณค่าทางสายตา และมีคุณค่าทางจิตใจ เช่นกุหลาบนี้ ต้องการการดูแลอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ในทุกครั้ง ผู้เขียนจะเน้นย้ำให้ดูแลปฏิบัติกับพืชผลที่ปลูกในลักษณะนี้ เชื่อเถอะค่ะ เพราะผลที่ตามมาจะทำให้ท่านผู้ปลูกได้เบิกบานใจ ยิ่งถ้าปลูกเพื่อการค้าด้วยยิ่งจะเพิ่มผลกำไรให้มากทีเดียว

 

 

ขั้นตอน การดูแลกุหลาบ

มีไม่มากหรอกค่ะ ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ตกแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช ป้องกันกำจัดโรคและแมลง ตามพื้นฐานการดูแลทั่วไป แต่ปฏิบัติอย่างรู้ใจกุหลาบสักหน่อย ก็จะได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และยั่งยืน ติดตามรายละเอียดดังนี้ค่ะ

การให้น้ำ

ข้อควรจำในการให้น้ำกุหลาบ

  • รดน้ำเฉพาะโคนต้นเท่านั้น อย่ารดโดนส่วนอื่นๆ ที่อยู่เหนือโคนต้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่สามารถกระจายไปกับน้ำ
  • ไม่ควรรดน้ำด้วยความแรงของกระแสน้ำ เพราะเมื่อน้ำกระแทกดินปลูกแรงๆ เม็ดดินที่กระเด็นขึ้นไปจับส่วนอื่นที่อยู่เหนือโคนต้นจะทำให้เชื้อโรคบางชนิดที่อาศัยอยู่ในดินกระจายตามขึ้นไปด้วย
  • ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน ขึ้นอยู่กับสภาพดินและอากาศ และเมื่อทำการรดน้ำ ต้องกะปริมาณว่า น้ำซึมลึกลงในดินได้ประมาณ 16 ถึง 18 นิ้ว เพื่อให้กุหลาบได้ความชุ่มชื้นที่พอเพียง
  • อย่ารดน้ำให้ดินแฉะตลอดเวลา ควรให้ดินมีโอกาสระบายน้ำ และมีอากาศเข้าไปแทนที่บ้าง

ระบบน้ำ

  • ระบบน้ำหยด ในปริมาณ 6 ถึง 7 ลิตร ต่อตารางเมตร ต่อวัน หรือ 49 ลิตร ต่อตารางเมตร ต่อวัน ในตอนเช้าของทุกวัน หรือ วันเว้นวัน หรือ 2 ถึง 3 วันต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้หัวพ่นน้ำระหว่างแถวปลูกได้อีกวิธีหนึ่ง

การให้น้ำแบบปลูกในโรงเรือน

  • ควรให้น้ำประมาณ 78,400 ลิตร หรือ 78.4 คิวบิคเมตร ต่อไร่ ต่อสัปดาห์ และน้ำควรมีค่า pH (พีเอ็ช) อยู่ที่ 5.8 ถึง 6.5
    การให้ปุ๋ย

ชนิดของปุ๋ยที่เหมาะสมกับกุหลาบ

  • ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 หรือ 14-9-20 หรือ 15-5-20 หรือ 21-9-24
  • ปุ๋ยคอก(มูลสัตว์): ขี้ไก่ (แบบอัดเม็ด เวลารดน้ำกลิ่นจะไม่เหม็นมาก) ขี้วัว (มีข้อเสีย เรื่องวัชพืชที่จะเกิดขึ้นได้บ่อย)

คำแนะนำ

  • ควรใช้ปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมี เพราะสำหรับกุหลาบ จะได้แร่ธาตุอาหารจากปุ๋ยคอกน้อยกว่าปุ๋ยเคมี โดยใช้ปุ๋ยคอกประมาณ 3 ถึง 4 เดือน ต่อครั้ง เพื่อแก้ปัญหาดินแข็งและเหนียวจากปุ๋ยเคมี และทุกๆ 6 เดือน
  • ปูนโดโลไมท์ ซึ่งมีแคลเซียมและแมกนีเซียม ให้ครั้งละประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อกระถางขนาด 10 ถึง 12 นิ้ว เพื่อแก้ความเป็นกรดจากปุ๋ยเคมี
  • เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วควรรดนำทันที เพื่อให้ปุ๋ยละลายอย่างทั่วถึง และไม่เกิดความเสียหายต่อราก
  • ไม่ควรให้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่มาก และบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ขอบใบไหม้ และตายได้

การให้ปุ๋ยก่อนปลูก
ปุ๋ยก่อนปลูก คือ ปุ๋ยที่ผสมกับเครื่องปลูกก่อนการปลูกพืช มีข้อดี คือ

  1. ให้ธาตุอาหารที่พืชต้องการอย่างเพียงพอตั้งแต่เริ่มปลูก
  2. กุหลาบได้รับธาตุอาหารบางชนิดในปริมาณที่พอเพียงตลอดฤดูกาล ช่วยลดต้นทุนการให้ปุ๋ยลงได้

การให้ปุ๋ยระหว่างปลูก

การให้ปุ๋ยระหว่างปลูกกุหลาบเพื่อเติมธาตุอาหารที่อาจถูกชะล้างหรือใช้ไปเพื่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียม ซึ่งถูกชะล้างได้ง่าย การให้ปุ๋ยอาจทำได้โดยการให้พร้อมกับการให้น้ำ การให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำสำหรับกุหลาบ โดยให้ในอัตราความเข้มข้นของไนโตรเจน 160 มิลลิกรัม ต่อลิตร (ppm) ต่อวัน ได้ทุกวัน และ/หรือ ให้ในอัตราความเข้มข้นของไนโตรเจน 480 มิลลิกรัม ต่อลิตร ต่อสัปดาห์

เทคนิคการให้ปุ๋ย

  • กุหลาบต้นเล็ก เน้นปุ๋ยไนโตรเจนสูง
  • กุหลาบต้นใหญ่ เมื่อออกดอก ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักครบ ทั้ง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรตัสเซียม
  • พรวนดินเฉพาะหน้าดินเพียงตี้น อย่าให้รากกระทบกระเทือน
  • แล้วโรยปุ๋ยให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 4 ถึง 6 นิ้ว ให้รอบต้น อัตรา 1 กำมือต่อต้น
  • รดน้ำตามให้ชุ่ม

การตัดแต่งกิ่ง
คำแนะนำ

  • ต้นใหม่ ให้ตัดแต่งกิ่งลีบ เล็ก ที่เป็นกิ่งรุ่นแรกๆ ออกที่โคนกิ่ง เหลือไว้แต่กระโดงใหญ่ๆ
  • ต้นที่โตแล้ว ตัดกิ่งลีบเล็ก กิ่งเป็นโรค บิดงอ กิ่งที่ง่ามแคบ หรือกิ่งที่พุ่งเข้าในพุ่ม กิ่งแก่ที่ไม่แตกยอดดอกอีกทิ้ง
  • ดอกโรย ควรรีบตัดออกเพื่อไม่ให้เสียอาหารต่อไป ถ้าเป็นกุหลาบก้านยาวควรตัดออกครึ่งหนึ่งของความยาวของความยาวก้าน หรือต่ำลงมาจนถึงใบที่ 5 ประมาณ 2 ถึง 3 ชุด
  • ควรตัดแต่งกิ่งปีละ 2 ครั้ง ในเดือนตุลาคม (ก่อนฤดูหนาว) และเดือนเมษายน (ก่อนฤดูฝน) เพื่อให้ต้นกุหลาบตั้งพุ่มใหม่ เพื่อลดความสูง โดยตัดกิ่งกระโดงให้สั่นลงเหลือประมาณ 30 ถึง 40 เซนติเมตร ถ้าต้นแข็งแรง แต่มีกิ่งกระโดงมากให้ตัดกิ่งกระโดงที่แก่ออกเสียบ้าง
  • ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่ง และไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา ช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงเมื่อต้นกุหลาบได้รับแสงแดดเต็มที่ และให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี
  • เมื่อต้นกุหลาบโตเจริญเติบโตข้ามปีแล้ว หลังการตัดแต่งกิ่งสามารถนำมาขยายพันธุ์ด้วยการปักชำได้ แต่ต้องตัดแบบสูง รวมไปถึงการตอน กิ่งก็ให้ตอนจากกิ่งสูง ส่วนการติดตาสามารถตัดต่ำได้

การเด็ดยอด

  • เมื่อกุหลาบเริ่มแตกตาใหม่ ควรบำรุงและดูแลให้มีการเจริญทางใบ เพื่อการสะสมอาหารและสร้างกิ่งกระโดง เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่และก้านยาว ด้วยการเด็ดยอดกุหลาบเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ถึง 3 เดือน โดยเด็ดส่วนเหนือใบสมบูรณ์ (5 ใบย่อย) เริ่มจากใบที่สองจากยอดเมื่อดอกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา จากนั้นกิ่งกระโดงจะเริ่มแทงออก ซึ่งกิ่งกระโดงนี้จะเป็นโครงสร้างหลักให้ต้นกุหลาบที่ให้ดอกมีคุณภาพดี
  • การเก็บเกี่ยว
    ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวกุหลาบ คือ ตัดเมื่อดอกตูมอยู่ หรือเห็นกลีบดอกเริ่มแย้ม (ยกเว้นบางสายพันธุ์) หากตัดดอกอ่อนเกินไป ดอกจะไม่บาน
  • ในฤดูร้อนควรตัดในระยะที่ดอกยังตูมมากกว่าระยะดอกตูมในฤดูหนาว เพราะดอกจะบานเร็วกว่า

การตัดดอก

  • ตัดด้วยกรรไกรตัดกิ่ง
  • ตัดโดยเหลือกิ่งที่มีใบย่อยครบ 5 ใบ อย่างน้อย 2 กิ่งเสมอ เมื่อตัดดอกแล้ว ให้นำไปแช่น้ำทันที

โรคและแมลงศัตรูกุหลาบ

กุหลาบเป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าขาดการดูแล การป้องกันและกำจัดศัตรูกุหลาบให้มีประสิทธิภาพ
การป้องกันโรคและแมลงศัตรูกุหลาบขั้นต้น

  • จัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและวงจรชีวิตของศัตรู
  • ใช้สารเคมีในการกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ตัวเราเองและผู้อื่น
  • การหมั่นสำรวจและสังเกตต้นกุหลาบทุกวันจะช่วยป้องกันโรคหรือแมลงในระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถกำจัดได้ง่าย

ข้อควรจำ

  • ควรใช้สารเคมีในการกำจัดชนิดเดียวกัน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ถึง 3 ครั้งเพื่อให้สารนั้นแสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ จากนั้นควรเปลี่ยนกลุ่มของสารเคมีเพื่อลดการดื้อยา

โรคกุหลาบ
โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
อาการจะแตกต่างกันไปตามชนิดของไวรัส เช่น ใบด่างซีดเหลือง หรือด่างเป็นซิกแซก
การป้องกันและกำจัด

  • ให้ถอนต้นกุหลาบที่เป็นโรคออกและนำไปเผาทำลาย

โรคราสีเทา
มักพบในสภาพอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูง การระบายอากาศไม่ดีพอ ดอกตูมจะเป็นจุดสีน้ำตาลและลามขยายใหญ่จนเน่าแห้ง
การป้องกันและกำจัด

  • ควรปลูกกุหลาบในโรงเรือนพลาสติก
  • ฉีดพ่นสารเคมีด้านข้างและด้านบนดอกด้วย คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์ แมนโคเซ็บ หรือ คอปเปอร์ ออกซีคลอไรด์ ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

โรคกิ่งแห้งตาย
เกิดจากตัดกิ่งเหนือตามากเกินไปทำให้เชื้อราเข้าทำลายกิ่งเหนือตาจนเป็นสีดำ และอาจลามลงมาทั้งกิ่งได้
การป้องกันและกำจัด

  • ควรตัดกิ่งเหนือตาประมาณ ¼ นิ้ว ทำมุม 45 องศาเฉียงลง
  • เมื่อพบกิ่งแห้งตาย ให้ตัดกิ่งนั้นทิ้งตามวิธีข้างต้น

โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อรา พบอาการเป็นจุดดำกลมบนใบ ส่วนใหญ่จะเป็นกับใบแก่จะทำให้ใบเหลืองและร่วงในเวลาต่อมา ในขั้นรุนแรงจะลุกลามมาที่กิ่งด้วย พบระบาดมากในฤดูฝน
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น ดูปราวิท ไดเทนเอ็ม-45 แคปแทน เบนเสท และเบนโนมิล ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

โรคราแป้ง
เกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายยอดอ่อนและดอกอ่อนซึ่งจะสังเกตเห็นปุยสีขาวคล้ายแป้ง ส่วนที่ถูกทำลายจะหงิกงอไม่เจริญเติบโตต่อไป พบระบาดมากในฤดูหนาว
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น เบนเสท ดาโคนิล และคาราแทน ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

โรคหนามดำ
เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายแผลที่เกิดจากรอยตัดหรือเด็ดหนามของกิ่งอ่อนแล้วลุกลามไปตามกิ่งก้าน ทำให้กิ่งก้าน เหี่ยวแห้งตายไปในที่สุด
การป้องกันและกำจัด

  • ทาแผลจากรอยตัดด้วยปูนแดง

โรคใบจุดสีน้ำตาลหรือโรคตากบ
เกิดจากเชื้อรา มีอาการเป็นจุดกลมสีน้ำตาลขนาด ¼ นิ้ว แล้วจะเปลี่ยนเป็นวงกลมสีเทามีขอบสีม่วงแดง พบระบาดมากในฤดูฝน
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารเคมีเบนเสท ไดเทน หรือแบนแซดดี ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

แมลงและหนอนศัตรูกุหหลาบ
หนอนเจาะดอก
เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กซึ่งวางไข่อยู่ที่กลีบดอกด้านนอก เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวจะกัดกินดอกและอาศัยอยู่ในดอก พบระบาดมากช่วงที่กุหลาบให้ดอกดกหรือในช่วงฤดูหนาว
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารเคมี ประเภทดูดซึม เช่น ดิลดริน ฟอสดริน ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

หนอนกินใบ
เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนซึ่งมักวางไข่อยู่ใต้ใบ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนก็จะทำลายใบที่อาศัย บางชนิดทำลายเฉพาะผิวเนื้อใต้ใบทำให้ใบมีลักษณะโปร่งใสมองเห็นได้ชัดเจน
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น เอนดริน ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

หนอนเจาะต้น
เป็นหนอนของผึ้งบางชนิด หนอนของแมลงวันบางชนิด และอาจจะเป็นหนอนของพวกต่อแตน ซึ่งเข้าทำลายโดยเจาะกินไส้กลาง และบริเวณท่อน้ำของกิ่งหรือต้น ทำให้กิ่งและต้นแห้งตาย
การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจบริเวณรอยต่อระหว่างกิ่งแห้งและกิ่งดี หากพบตัวหนอนให้จับไปทำลายทันที
  • ควรตัดแต่งกิ่งตามกำหนด

แมลงปีกแข็ง หรือด้วงปีกแข็ง
มีทั้งชนิดตัวสีดำและสีน้ำตาลขนาดประมาณ 1.5 ถึง 2 เซนติเมตร ออกหากินในเวลากลางคืนช่วงเวลาประมาณ 1 ถึง 3 ทุ่ม โดยการกัดกินใบกุหลาบ ส่วนในเวลากลางวันจะซ่อนตัวอยู่ตามกอหญ้า
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารเคมี เช่น คลอเดน หรือ เซพวิน ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

ผึ้งกัดใบ
จะกัดกินใบกุหลาบในช่วงเวลากลางวัน สังเกตได้จากรอยแผลซึ่งเป็นรอยเหมือนถูกเฉือนด้วยมีดคมๆ เป็นรูปโค้ง
การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันและกำจัดด้วยวิธีการป้องกันและกำจัดแมลงปีกแข็ง

เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงปากดูดสีน้ำตาลดำ ตัวอ่อนจะมีสีขาวนวลซึ่งเข้าทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก ทำให้ดอกที่ถูกทำลายไม่บาน พบระบาดมากในฤดูร้อน
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น โตกุไทออน คลอเดน หรือนิโคตินซัลเฟต ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

เพลี้ยแป้ง
เป็นแมลงปากดูดมักเกาะกินตามใบอ่อนหรือง่ามใบ ทำให้ใบหงิกงอ
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารเคมีสำหรับกำจัดเพลี้ยแป้งผสมสารเคลือบใบ

เพลี้ยหอย
เป็นแมลงปากดูด ทำลายโดยดูดน้ำเลี้ยงจากลำต้น เกิดเป็นจุดสีน้ำตาลอยู่บนกิ่งของกุหลาบ
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้น้ำมันทาหรือฉีดพ่น เคลือบตัวเพลี้ยงแป้งไว้ ทำให้ไม่มีทางหายใจ และตายในที่สุด แต่เมื่อเพลี้ยตายแล้วจะไม่หลุดจากลำต้นจะยังติดอยู่ที่เดิม

เพลี้ยอ่อน
เป็นแมลงปากดูด ทำลายพืชตรงบริเวณส่วนที่เป็นยอดอ่อนและใบอ่อน ทำให้ใบเหลืองและร่วงหล่น
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารเคมี เช่น ฟอสดริน เอนดริน และพาราไธออน เป็นต้น ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

แมงมุมแดง
ตัวมีขนาดเล็กมากจะเห็นเพียงจุดสีแดงอยู่ตามใต้ใบ เข้าดูดน้ำเลี้ยงจากใบที่ทำให้เป็นจุดสีเหลืองซึ่งมองเห็นได้บนหลังใบ
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่นสารเคมี เคลเทน ตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากกำกับ

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th, www.gotoknow.org, www.thaikasetsart.com, www.pennungseed.com, http://castlerozyrose.blogspot.com, www.allaboutrose.com, http://rosesplanting.blogspot.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *