การดูแลกาแฟหลังการปลูก
การดูแลกาแฟ หลังการปลูก
เป็นการเพิ่มพูนรายได้ซึ่งเป็นผลประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง ขั้นตอนของการปลูกกาแฟนั้นไม่ยุ่งยาก แต่ต้องปฏิบัติตามหัวใจสำคัญในการปลูกกาแฟ คือ การดูแลกาแฟ หลังการปลูก และการคัดเลือกสายพันธุ์ต้องใช้พันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง ต้นเจริญเติบโตเร็ว ต้านทานโรคและแมลง เป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติตั้งแต่เริ่มต้นการปลูก การปลูกกาแฟ มีประโยชน์โดยรวมในการปลูกทดแทนฝิ่น หรือช่วยหยุดยั้งการทำไร่เลื่อนลอย ใช้ประโยชน์ที่ดินภูเขาซึ่งไม่เหมาะแก่การปลูกพืชไร่ ได้ถูกต้องตามความเหมาะสม กาแฟสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดูแลกาแฟให้ดีและถูกต้อง หลังการปลูก กาแฟเป็นไม้พุ่มยืนต้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายปี การเก็บเกี่ยวและกรรมวิธีผลิตเมล็ดกาแฟไม่ยุ่งยาก ผลผลิตเก็บไว้ได้ไม่เน่าเสีย สะดวกในการขนส่งในบริเวณที่การคมนาคมไม่สะดวก เพราะเมล็ดกาแฟแข็งไม่ชอกช้ำเสียหายระหว่างการขนส่ง ผลผลิตมีราคาสูงพอสมควร เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนั้น การดูแลกาแฟอย่างถูกต้องตามขั้นตอน เป็นประจำ สม่ำเสมอ ก็จะส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตร หรือเป็นการเพิ่มพูนรายได้ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ขั้นตอน การดูแลกาแฟ
การจัดการร่มเงา
พื้นที่บนที่สูงหรือลาดชันนั้น นอกจากจะมีสภาพอากาศหนาวเย็นแล้ว ยังมีความเข้มของแสงแดดมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยร่มเงาจากไม้บังร่มชนิดต่าง ๆ ได้แก่
- ไม้บังร่มชั่วคราว ควรเป็นไม้โตเร็ว และเป็นพืชตระกูลถั่ว เช่น ทองหลางไร้หนาม แคฝรั่ง ขี้เหล็กอเมริกัน ควรเว้นระยะปลูก 4×6 เมตร หรือ 6×6 เมตร และปลูกหลายชนิดสลับกัน
- ไม้บังร่มถาวร ควรเป็นไม้พุ่มใหญ่ ทรงพุ่มกว้างและให้ร่มเงาในระดับสูง เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค พฤกษ์ ถ่อน กางหลวง ถั่วหูช้าง สะตอ เหลียง เป็นต้น ควรเว้นระยะปลูก 8×10 เมตร และควรปลูกหลายชนิดสลับกันกับไม้บังร่มชั่วคราว
***การจัดการร่มเงาแบบถาวรนั้น สามารถปฏิบัติก่อนการปลูกกาแฟประมาณ 1 ปี ล่วงหน้า***
การให้น้ำ
- เมื่อต้นโต ช่วงฤดูแล้งควรรดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในฤดูฝน อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ หากฝนทิ้งช่วง หรือดินแห้ง ให้ทำการรดน้ำแล้วใช้ฟางข้าวหรือเศษวัชพืชคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นบริเวณโคนต้น
- กรณีพื้นที่ปลูกไม่มีแหล่งน้ำให้ใช้เศษวัชพืชหรือฟางข้าวคลุมบริเวณโคนต้นตั้งแต่หมดฤดูฝนโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกกาแฟกลางแจ้ง
การให้ปุ๋ย
- ในระยะที่กาแฟยังไม่ติดผล ควรใส่ปุ๋ย 46-0-0 เมื่อ กาแฟเริ่มติดผลแล้ว (ปีที่ 4 เป็นต้นไป) ต้องใช้ปุ๋ย 15-15-15 ใส่ 3 ครั้ง ช่วงเวลา ต้น-กลาง-ปลายฤดูฝน ในปริมาณ 30 ถึง 150 กรัม (1-5 กำมือ) ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผล และขนาดการเติบโตของลำต้น
- ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 150 ถึง 200 กรัม ต่อต้น ต่อปี และปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 50 ถึง 100 กรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝนและกลางหรือปลายฤดูฝน ในปีที่ 1 และ 2
- เมื่อต้นกาแฟให้ผลผลิตแล้วตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป ใส่ปุ๋ยสูตร 15 -15 -15 อัตรา 200 กรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝน และ กลางฤดูฝน และใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 (เมื่อผลมีขนาด เท่าเมล็ดพริกไทย) อัตรา 600 ถึง 800 กรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง กลางฤดูฝนและปลายฤดูฝน การฟื้นฟูต้นกาแฟใหม่หลังเก็บเกี่ยวกาแฟและตัดแต่ง กิ่งแล้ว ควรใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก แทนการใช้ปุ๋ยเคมี 50 กิโลกรัม ต่อไร่
วิธีการให้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง
- ใส่โดยการโรยลงบนดินเป็นลักษณะวงกลมรอบทรงพุ่ม และควรมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพิ่มด้วยเพื่อปรับสภาพทางกายภาพของดินควบคู่กันไปด้วย
การกำจัดวัชพืช
- ควรมีการปราบวัชพืชทุกครั้งก่อนการใส่ปุ๋ย โดยอาจจะใช้ยาปราบวัชพืชหรือการถากถางตามระยะเวลาและความเหมาะสม
- การกำจัดวัชพืชสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับฤดูกาล สภาพของ วัชพืช สภาพภูมิประเทศ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการกำจัด
วิธีกำจัดวัชพืชในพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ
- การใช้แรงงาน หรือ การใช้เครื่องจักรตัดวัชพืชเหนือระดับผิวดิน—เหมาะสำหรับสภาพพื้นที่ ๆ ไม่สามารถ ใช้เครื่องจักรได้ สาหรับการใช้จอบถากหรือดายวัชพืชในสวนกาแฟที่ปลูกบนที่ลาดเชิงเขา แต่ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการดายหญ้าเป็นการถากเอาหน้าดินออกไปด้วย อาจมีส่วนทำให้เกิดการชะล้างหรือพังทะลายของดินเพิ่มขึ้น
- การปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว—เพื่อลดปัญหาการแข่งขันของวัชพืช และช่วยรักษาความชื้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน
- การใช้สารเคมีกาจัดวัชพืช—เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและลงทุนน้อย สามารถใช้ได้ทั้งสวนขนาดเล็กและใหญ่ (ตามอัตราด้านล่าง) โดยผสมน้าสะอาด 60 ถึง 80 ลิตร ต่อไร่ ใช้หัวพ่นรูปพัด พ่นให้ทั่วต้นวัชพืชโดยหลีกเลี่ยงละอองเกสรไม่ให้ไปถูกใบและต้นกาแฟ
สารกำจัดวัชพืช
- พาราควอต (27.6 เปอร์เซ็นต์ AS)
อัตราที่ใช้ 300 ถึง 800กรัม หรือ ซีซี ต่อไร่ ฉีดพ่นหลังวัชพืชงอกและกำลังอยู่ในระยะเจริญเติบโต ต้นสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร
เหมาะสำหรับวัชพืชปีเดียวใบแคบ และใบกว้าง
หลีกเลี่ยงสารกำจัดวัชพืช สัมผัสใบและต้นกาแฟที่มี สีเขียว - กลูโฟสิเนต แอมโมเนียม (15 เปอร์เซ็นต์ SL)
อัตราที่ใช้ 800 ถึง 2,000 กรัม หรือ ซีซี ต่อไร่ ฉีดพ่นหลังวัชพืชงอกและ อยู่ในระยะกำลังเจริญ เติบโตและก่อนออกดอกในระยะปลอดฝน ประมาณ 4 ถึง 6 ชั่วโมง
สำหรับวัชพืชปีเดียว ใช้อัตราต่ำสุด และวัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา ใช้อัตราสูงสุด - ไกลโฟเซส (48 เปอร์เซ็นต์ AS)
อัตราที่ใช้ 330 ถึง 750 กรัม หรือ ซีซี ต่อไร่ ฉีดพ่นหลังวัชพืชงอกและ อยู่ในระยะเจริญเติบโต มีความสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตรในระยะปลอดฝน ประมาณ 4 ถึง 6 ชั่วโมง
สำหรับวัชพืชปืเดียวใช้อัตราต่ำสุด และวัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา ใช้อัตราสูงสุด - กลูโฟซิเนท แอมโมเนียม(15 เปอร์เซ็นต์ SL)+ ไดยูรอน (80 เปอร์เซ็นต์ WP)
ในอัตราส่วน 1,600 + 300 กรัม หรือ ซีซี ต่อไร่ ฉีดพ่นหลังวัชพืชงอกและวัชพืชอยู่ในระยะเจริญเติบโต มีความสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร
เหมาะสำหรับวัชพืชปีเดียวใบแคบ และ ใบกว้างที่งอกจากเมล็ด ไดยูรอน สามารถควบคุมการงอกของ เมล็ดวัชพืชในดินได้ 1 ถึง 2 เดือน
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งกาแฟเป็นงานที่สำคัญมากที่สุดงานหนึ่งในการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตสูง วิธีตัดแต่งกิ่งแบ่งตามสายพันธุ์หลักที่นิยมปลูกได้ดังนี้
วิธีตัดแต่งกิ่งกาแฟพันธุ์โรบัสต้า
- การตัดแต่งหรือการเลี้ยงต้นในระยะปีแรก การตัดแต่งที่เหมาะสมกับกาแฟโรบัสต้าต้องตัดแต่งให้มีกิ่งตั้งจำนวน 3 ถึง 5 กิ่ง คือ หลังจากปลูกกาแฟ ต้นกาแฟจะมีความสูงของลำต้นประมาณ 35 ถึง 45 เซนติเมตร ตัดลำต้นส่วนยอดออกไปให้เหลือลำต้นของกาแฟที่สูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นประมาณ 2 เดือน ต้นกาแฟจะแตกกิ่งใหม่ออกมาจำนวน 5 ถึง 7 กิ่ง ให้เลือกกิ่งที่แข็งแรงซึ่งแตกออกมาใหม่ไว้จำนวน 3 ถึง 5 กิ่ง โดยพยายามเลือกกิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดควรเลือกกิ่งไว้ 4 กิ่ง จะดีที่สุด
- การตัดแต่งกิ่งหลังจากกาแฟให้ผลผลิต เมื่อปลูกกาแฟมีอายุครบ 3 ปี กาแฟจะเริ่มให้ผลผลิต ลักษณะของกาแฟจะออกดอกติดผลบนกิ่งนอนบริเวณที่ติดผลแล้วใน ปีต่อไปกาแฟจะไม่ออกดอกอีก กาแฟจะออกดอกในกิ่งที่ยังไม่เคยออกดอกเท่านั้น ดังนั้น ในแต่ละกิ่งของกาแฟเมื่อออกดอกติดผลไปแล้ว 4 ถึง 5 ปี พื้นที่ของแต่ละกิ่งที่ออกดอกในปีต่อไปจะน้อยลง ทำให้ผลผลิตแต่ละปีน้อยลงด้วย จึงจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งใหม่ โดยวิธีดังต่อไปนี้
- วิธีการตัดแต่งกิ่งแบบทะยอย คือ ให้ตัดกิ่งตั้งหรือลำต้นที่มีจานวน 3 ถึง 5 กิ่ง ออกปีละ 1 ลำต้น ลำต้นที่ถูกตัดไปนั้นจะแตกกิ่งออกมาใหม่ ให้เลือกกิ่งที่แข็งแรงที่แตกออกมาใหม่นั้นไว้ 1 ลำต้น ในปีต่อไปให้ทะยอยตัดปีละ 1 ลำต้น จนครบ 4 ปี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตกาแฟทุกปี
- วิธีการตัดแต่งแบบให้เหลือไว้กิ่งเดียว คือ เมื่อกาแฟให้ผลผลิตแล้ว 4 ถึง 5 ปี ให้ตัดลำต้นกาแฟทั้งหมด สูงจากพื้น ดินประมาณ 30 ถึง 40 เซนติเมตร โดยให้เหลือไว้เพียงกิ่งเดียว เพื่อเป็นกิ่งพี่เลี้ยง ต่อมาอีก 2 เดือน ต้นกาแฟจะแตกลำต้นใหม่ออกมา ให้เลือกลำต้นที่แข็งแรงไว้ 3 ถึง 4 กิ่ง ในปีต่อไปจึงตัดกิ่งพี่เลี้ยงออก วิธีนี้ช่วยยืดอายุของต้นกาแฟให้ยาวนานขึ้น
วิธีตัดแต่งกิ่งกาแฟพันธุ์อราบิก้า
- การตัดแต่งกิ่งสำหรับต้นอายุน้อย เมื่อต้นกาแฟอายุเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตปีที่ 3 เป็นต้นไป หรือกาแฟมีความสูงประมาณ 180 เซนติเมตร โดยตัดกิ่งแขนงที่อยู่บนสุดออก 1 กิ่ง และกิ่งแขนงที่อยู่ต่ำกว่า 25 ถึง 30 เซนติเมตร เหนือระดับพื้นดินออก ส่วนกิ่งแขนง ที่ 2 3 และ 4 ที่ออกมาในทิศทางที่ไม่ขนานกับพื้นดินให้ตัดออก และตัดหน่อที่ออกมาจากลำต้นหลักทิ้งอย่างสม่ำเสมอ
- การตัดแต่งกิ่งสำหรับต้นอายุมาก เมื่อต้นกาแฟมีอายุมากกว่า 10 ปี ลำต้นสูง ต้นโทรม และให้ผลผลิตน้อย ดังนั้นควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นกาแฟมีลำต้นและกิ่งใหม่ที่สามารถให้ผลผลิตได้อีกครั้ง ซึ่งการตัดมีหลายวิธี ได้แก่
- วิธีการตัดกิ่งด้านทิศตะวันออกทิ้งทั้งหมด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกหน่อและคัดเลือกหน่อที่แตกใหม่ 2 ถึง 4 หน่อ ที่อยู่ระดับความสูงประมาณ 30 ถึง 45 เซนติเมตร เหนือพื้นดิน โดยปล่อยให้หน่อใหม่เจริญเติบโตแข็งแรงแล้วจึงตัดลำต้นเก่าออก และคัดเลือกหน่อที่แข็งแรงไว้ 1 ถึง 2 หน่อ เพื่อเลี้ยงให้หน่อนั้นเจริญเป็นลำต้นหลักต่อไป
- การตัดเพื่อสร้างลำต้นใหม่ โดยตัดลำต้นเดิมออกทั้งหมดให้สูงจากพื้นดินประมาณ 30 ถึง 45 เซนติเมตร และตัดด้วยเลื่อยเป็นรอยแผลเรียบเฉียง 45 องศา และเมื่อกาแฟแตกหน่อใหม่ให้เลือกเฉพาะหน่อที่แข็งแรงและอยู่ตรงกันข้ามกันไว้ 2 หน่อ หรือเลือกไว้หน่อที่แข็งแรงที่สุดไว้เพียง 1 หน่อ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นหน่อหลักต่อไป การตัดควรตัดโดยแบ่งพื้นที่ตัดออกเป็นส่วนๆ เช่น ตัด 1 ส่วนจาก 4 ส่วน และตัดส่วนที่เหลือในปีต่อๆ ไปจนครบทั้ง 4 ส่วน ทั้งนี้จะทำให้เกษตรกรยังสามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ทุกปี และสวนกาแฟจะกลับมาให้ผลผลิตเต็มพื้นที่อีกครั้งในปีที่ 5
การคลุมโคนต้นกาแฟ
เป็นขั้นตอนการดูแลกาแฟ หลังการปลูกที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นกาแฟต้องประสบกับภาวะแห้งแล้ง ช่วยไม่ให้ต้นกาแฟทรุดโทรมหรือตายเนื่องจากขาดความชื้นในอากาศและในดิน ช่วยป้องกันวัชพืชที่จะงอกในแปลงกาแฟในขณะที่ทรงพุ่มกาแฟยังไม่ชิดกัน และช่วยป้องกันการพังทลายของดินเมื่อเกิดฝนตกหนัก
วิธีคลุมโคนต้นกาแฟ
- ใช้ฟางข้าว เศษวัชพืช หรือใบไม้ คลุมโคนต้นกาแฟห่างจากต้นประมาณ 10 ถึง 20 เซนติเมตร ให้มีความกว้าง 1 เมตรและหนาไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูกาแฟ ป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูกาแฟกัดกะเทาะเปลือกกาแฟได้ หรือไม่ให้เกิดอันตรายกับโคนต้นกาแฟในระหว่างที่วัสดุคลุมโคนเกิดการย่อยสลายได้
ฝากติดตามบทความ ‘โรคและแมลงศัตรูกาแฟ‘ ด้วยนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.thaikasetsart.com, www.arda.or.th, www.kafaesansuk.wordpress.com, www.prd.go.th, www.doa.go.th)