โรคและแมลงศัตรูชมพู่
โรคและแมลงศัตรูชมพู่ พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญจะพบว่า โรคและแมลงศัตรูชมพู่ มีเพียงโรคแอนแทรคโนส โรครากเน่า แมลงวันผลไม้ และหนอนกระทู้หอม เข้ามารบกวนและทำลายชมพู่ ในบางครั้ง ถึงแม้เกษตรกรหรือผู้ปลูกชมพู่ จะปฏิบัติและดูแลรักษาชมพู่เป็นอย่างดีแล้วก็อาจพบการระบาดได้ ก็ควรรีบกำจัดในทันที เพื่อป้องกันความเสียหายหรือการทำลายในขั้นรุนแรง จนต้นชมพู่ตายได้ในที่สุด ดังนั้น เกษตรกรหรือผู้ปลูกควรศึกษาลักษณะอาการ การป้องกันและกำจัด โรคและแมลงศัตรูชมพู่ แล้วนำไปปฏิบัติ
โรคชมพู่
โรคแอนแทรคโนส
เป็นโรคชมพู่ที่สำคัญที่สุด และพบบ่อยที่สุด คือ โรคแอนแทรคโนส หรือ โรคผลเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. มักพบระบาดและสร้างความเสียหายให้กับชมพู่ในช่วงที่อากาศร้อนชื้น อบอ้าว และจะระบาดมากขึ้นหากใช้วัสดุห่อผลซ้ำกัน ฝนตกชุกมากเกินไป ผลโดนแดดเผา อุณหภูมิสูงมากทำให้คายน้ำมากจนทำให้เกิดไอน้ำภายในถุงและทำให้ถุงแนบติดกับผลและเกิดการเน่าได้ รวมไปถึงการไว้ผลในช่อมากเกินไปจนทำให้ผลเบียดกัน ทำให้ผลเน่า เมื่อเกิดการเน่าก็จะเป็นช่องทางให้เชื้อราเข้าทำลายและระบาดมากขึ้น โดยเข้าทำลายที่ผลของชมพู่ เริ่มเป็นแผลฉ่ำน้ำ และมีสีน้ำตาลที่ก้นผล แล้วค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น และถ้าสภาวะความชื้นของอากาศเหมาะสม จะมีเส้นใยของรามีลักษณะเป็นผงสีดำอยู่ตามบริเวณรอยแผล
การป้องกันและกำจัด
- หลีกเลี่ยงการไว้ผลในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด
- ควรพ่นสารกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม เช่น คาร์เบนดาซิมแมนโคเซบ ล่วงหน้า 1 ถึง 2 วัน ก่อนทำการห่อผลทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ถุงห่อผลซ้ำ เพราะอาจจะมีเชื้อโรคสะสมอยู่
- ควรไว้ผลต่อช่อ หรือห่อผลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
โรครากเน่า
โรครากเน่าที่พบในแหล่งปลูกชมพู่ที่ปลูกในนาข้าว ยกร่องเตี้ย และมีทางระบายน้ำแคบๆ ทำให้แปลงปลูกมีน้ำขังแฉะ การระบายน้ำไม่ดี สภาพเช่นนี้เป็นสภาพที่เหมาะแก่การเกิดโรคและการระบาดของเชื้อราในดิน โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Phytophthora cinnamomi โดยชมพู่จะแสดงอาการผลอ่อนร่วง ใบเหลือง ต่อมาใบจะแห้ง ร่วง เหลือแต่กิ่งแล้วยืนต้นตายในที่สุด หรือบางต้นอาจจะแคระแกรน ที่น่าจะเป็นผลจากการที่ระบบรากถูกทำลายจนไม่สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุได้
การป้องกันและกำจัด
- ต้องจัดการระบบการปลูกให้ดีตั้งแต่เริ่มแรก โดยการปรับพื้นที่ปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี ไม่ขังแฉะ ก็จะช่วยลดปัญหาและความเสียหายจากโรครากเน่าได้
แมลงศัตรูชมพู่
หนอนแดง
เป็นแมลงศัตรูชมพู่ที่พบได้บ่อย เมื่อหนอนโตเต็มที่จะมีสีแดง เข้าดักแด้ในดิน บางครั้งพบการเข้าทำลายขั้นรุนแรงได้ถึง 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ หนอนแดงจะเข้าทำลายชมพู่ตั้งแต่เป็นดอกตูม และเจาะกินผลทำให้ผลร่วงก่อนเก็บเกี่ยว โดยกัดกินเนื้อภายในผลแล้วขับถ่ายไว้เป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ ทำให้สกปรก และทำให้ผลเน่าได้
การป้องกันและกำจัด
- ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลงเมธามิโดฟอส 60 เปอร์เซ็นต์ ในอัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยครั้งแรก ฉีดพ่นช่วงเริ่มแทงช่อดอก ครั้งที่สอง ช่วงดอกตูม และหลังติดผลแล้วฉีดพ่นอีก 2 ถึง 3 ครั้ง จนห่อผล
เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงขนาดเล็ก มีความยาวเพียง 1 ถึง 2 มิลลิเมตร ซึ่งยากแก่การมองเห็น มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พบระบาดมากในช่วงที่มีอากาศร้อน หรือฝนทิ้งช่วง แต่ในปัจจุบันพบการระบาดตลอดทั้งปี โดยเข้าทำลายตั้งแต่เป็นตัวอ่อนจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัน ซึ่งดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน ทำให้ใบหงิกงอเสียรูปทรง ดอกร่วง ไม่ติดผล ผลอ่อนร่วงหล่นและเสียรูปทรง
การป้องกันและกำจัด
- หมั่นสำรวจการระบาดของเพลี้ยไฟด้วยวิธี เคาะช่อดอก หรือใบอ่อนลงบนกระดาษขาว หรือลงบนฝ่ามือ จะเห็นเพลี้ยไฟสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลือง เคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว
- ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น อะบาเม็คติน ไซฮาโลธรินแอล และฟอร์เมทธาเนท เป็นต้น
- ควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เพื่อลดหรือกำจัดแหล่งอาศัยของเพลี้ยไฟ และให้การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเพลี้ยไฟเข้าไปในทรงพุ่มอย่างทั่วถึง
- ควรสเปรย์น้ำเพิ่มความชุ่มชื้น เมื่ออากาศร้อนจัด และเป็นการลดการระบาดของเพลี้ยไฟได้อีกทางหนึ่ง
แมลงวันผลไม้
แมลงวันผลไม้ หรือแมลงวันทอง เป็นศัตรูที่สำคัญสำหรับไม้ผลหรือพืชสวนทั่วโลก โดยเข้าทำลายผลผลิตให้เน่าเสียหาย และร่วงหล่น ก่อนถึงกำหนดเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งเป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดของชมพู่ และสร้างความเสียหายมากที่สุด พบระบาดมากระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีปริมาณอาหารในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ตัวหนอนแมลงวันผลไม้จะเจาะกินผลชมพู่ตั้งแต่เริ่มติดผล ทำให้ผลชมพู่ร่วง และเน่า การทำลายของแมลงวันผลไม้อาจรุนแรงได้มากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ป้องกันหรือรีบกำจัดในทันทีที่พบ
การป้องกันและกำจัด
- รักษาแปลงปลูกให้สะอาด โดยตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง ให้ได้รับแสงแดดรำไรถึงโคนต้นประมาณ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
- กำจัดเพลี้ยต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของแมลงวันผลไม้
- กำจัดตัวเต็มวัย
- ทำลายผลชมพู่ที่เน่าเสียในแปลงปลูกโดยการฝังดินให้ลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
- ห่อผลด้วยวัสดุต่าง เช่น กระดาษถุงปูนซีเมนต์ กระดาษหนังสือพิมพ์ ถุงไนล่อน ถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือถุงรีเมย์ เป็นต้น
- ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลง เช่น มาลาไธออน โมโนโครโตฟอส เฟนไธออน หรือไดเมทโธเอท ทุก 4 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง
- ฉีดพ่นด้วยเหยื่อพิษโปรตีนไฮโดรไลเซท ทุก 4 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง โดยใช้เหยื่อพิษอัตรา 40 ซีซี ผสมสารกำจัดแมลงมาลาไธออน 57 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร โดยฉีดพ่นเป็นจุดๆ บนใบพืชต้นละ 2 จุด ตรงกันข้าม แต่ละจุดใช้น้ำยาประมาณ 10 ถึง 20 ซีซี ทุก 4 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง การพ่นเหยื่อพิษให้พ่นตอนเช้าตรู่ และให้ฉีดพ่นสารเคมีที่ผสมแล้วให้หมด อย่าเหลือเก็บไว้ใช้ น้ำยา 1 ลิตร สามารถใช้ได้ในพื้นที่ 1 ไร่ การพ่นเหยื่อพิษ ต้องพ่นก่อนที่พืชจะถูกทำลายเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะได้ผลดี เพราะต้องกำจัดแมลงวันผลไม้ในบริเวณรอบๆ ให้หมด
- ใช้เหยื่อล่อแมลงวันผลไม้ ด้วยสารที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยโปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีผลต่อการล่อแมลงวันผลไม้ที่ต้องการอาหารที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะแมลงวันผลไม้ที่ออกจากดักแด้ใหม่ เพื่อพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์และวางไข่ โดยวิธีการพ่นเหยื่อล่อแมลงวันผลไม้เป็นจุด เป็นแถบ หรือพ่นทั่วทั้งต้น
– การพ่นเป็นจุด ให้ใช้เหยื่อล่อในอัตรา 200 ถึง 250 ซีซี ผสมสารกำจัดแมลงมาลาไธออน 83 เปอร์เซ็นต์ อีซี ในอัตรา 70 ซีซี ในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันแล้วพ่นใบแก่ต้นละ 2 ถึง 8 จุดในเวลาเช้าตรู่ประมาณ 3 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง
– การพ่นแบบทั่วต้น ใช้เหยื่อในอัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือ 20 ลิตร ผสมสารกำจัดแมลงมาลาไธออน หรือเมทธิลพาราไธออนในอัตรา 20 ถึง 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ในเวลาเช้าตรู่ หรือผสมสารกำจัดแมลงชนิดถูกตัวตาย หรือกินตาย เช่น ไซเปอร์ เมทริน เป็นต้น
– การแบบเป็นแถบ โดยผสมเหยื่อในอัตรา 200 ถึง 250 ซีซี กับสารกำจัดแมลงมาลาไธออน 83 เปอร์เซ็นต์ ในอัตรา 70 ซีซี ต่อน้ำ 50 ลิตร คนให้เข้ากัน ฉีดพ่นใต้ใบในเวลาเช้าตรู่ทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง โดยพ่นเป็นแถบเพียงถือหัวฉีดนิ่งๆ แล้วเดินผ่านแนวต้นชมพู่ไปจนสุดเท่านั้น
หนอนกระทู้หอม
จัดว่าเป็นแมลงศัตรูชมพู่ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงที่ต้นชมพู่มีอายุเพียง 1 ถึง 2 ปีแรก เมื่อต้นโต มีอายุมากขึ้น จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องหนอนกระทู้หอมเท่าไรนัก หนอนกระทู้หอมชอบกัดกินใบอ่อน และยอดอ่อนของต้นชมพู่ ในการทำลายขั้นรุนแรง จะกัดกินใบจนโกร๋น โดยเฉพาะพันธุ์ทูลเกล้า จะมีปัญหาเรี่องหนอนกระทู้มากกว่าชมพู่พันธุ์อื่นๆ หนอนกระทู้ที่โตเต็มวัยจะเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เมื่อกางปีกออกจะมีความกว้างประมาณ 2 ถึง 2.5 เซนติเมตร ผีเสื้อจะอาศัยอยู่ตามใต้ใบหรือตามพุ่มใบหญ้า มีอายุประมาณ 5 ถึง 10 วัน แม่ผีเสื้อจะวางไข่ตามด้านหลังใบ ระยะไข่ 2 ถึง 3 วัน จะฟักออกมาเป็นตัวหนอน หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะอยู่เป็นกลุ่ม แทะผิวใบจนพรุนเป็นร่างแห โดยเริ่มกัดกินใบอ่อนทั้งหมดก่อน แล้วเคลื่อนย้ายไปกัดกินใบแก่ ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเช้ามืด แต่จะซ่อนตัวเพื่อหลบแสงสว่างและอากาศร้อนในตอนกลางวันตามใบที่ซ้อนกันในทรงพุ่ม เมื่อใบและยอดถูกทำลาย จะมีผลต่อการออกดอกของชมพู่ หนอนกระทู้หอมมีวงจรชีวิตประมาณ 30 ถึง 35 วัน
การป้องกันและกำจัด
- ฉีดพ่นด้วยสารเคมีไดฟลูเบนซูรอน หรือไตรฟลูมูรอน ฟลูเบนซูรอน และ ฟลูเฟนโนซูรอน เป็นต้น การพ่นสารเคมีกำจัดหนอนกระทู้หอมนั้น ไม่จำเป็นต้องพ่นให้โดนตัวหนอนโดยตรง เพราะเมื่อสารกำจัดแมลงติดอยู่ในส่วนบริเวณผิวของส่วนพืช แมลงจะสัมผัสหรือกัดกินส่วนนั้น ซึ่งแมลงจะได้รับสารเคมี
- ใช้เชื้อไวรัส เอ็นพีวี 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง เมื่อพบการระบาด
ด้วงม้วนใบ
ตัวเต็มวัยจะกัดปลายใบชมพู่ ม้วนเป็นหลอดเล็กๆ วางไข่ใต้หลอด เมื่อฟักออกจากไข่จะกัดกินใบชมพู่ภายในหลอด การทำลายไม่รุนแรงนัก เนื่องจากมีวงจรชีวิตที่ยาว มักเข้าทำลายต้นชมพู่ที่ขาดการดูแลรักษา
การป้องกันและกำจัด
- ฉีดพ่นด้วยสารเคมีคาร์บาริล 85 เปอร์เซ็นต์ ทุก 5 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง เมื่อพบเห็นตัวเต็มวัยระบาด
หนอนเจาะกิ่ง
ตัวหนอนจะกัดกินอยู่ภายในกิ่งชมพู่ แล้วขับถ่ายออกมาทางปากรู มีลักษณะเหมือนขี้เลื่อย เม็ดกลมรีร่วงตามพื้นแล้วเข้าดักแด้ที่ปากรู เข้าทำลายต้นชมพู่โดยทำให้กิ่งแห้งตาย หากพบอาการเหี่ยวเฉา หรือขี้ขุยตามพื้นดิน ให้สำรวจหาหนอนที่กิ่งชมพู่
การป้องกันและกำจัด
- หากพบรูออกของหนอนเจาะกิ่ง ให้ใช้สำลีชุบสารกำจัดแมลงอุดรู
- หากพบกิ่งใกล้ตาย ให้ตัดกิ่งนั้นเผาทำลายทิ้ง
ไรแดง
ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบชมพู่ โดยเข้าทำลายเฉพาะใบแก่เท่านั้น ซึ่งจะพบปรากฎอยู่หลังใบ ทำให้ใบกร้านและแห้งตาย มักระบาดในช่วงที่ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง
การป้องกันและกำจัด
- ควรพ่นน้ำต้นชมพู่ทั้งต้นจนโชกเป็นครั้งคราวในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงหรือฝนแล้ง เพื่อป้องกันการระบาดของไรแดง
- ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดไร
นอกจากนี้แล้ว ยังพบแมลงค่อมทอง ซึ่งเป็นด้วงงวงสั้น ลำตัวสีเขียวเหลืองเหลือบทอง รูปไข่ กัดกินใบอ่อน และยอดอ่อนให้แหว่ง หรือบุ้งเหลือง ซึ่งเป็นตัวหนอนที่กัดกินใบชมพู่ทั้งอ่อนและแก่ แต่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายมากนัก หากพบให้กำจัดทันทีด้วยมือหรือใช้สารเคมีฉีดพ่น
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
(แหล่งข้อมูล : หนังสือ คู่มือการทำสวนชมพู่อย่างมืออาชีพ สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุพจน์ ตั้งจตุพร)