โรคมะเขือ
โรคมะเขือ สามารถเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่ามะเขือจะเป็นพืชที่แข็งแรง ทนต่อโรคต่างๆ ได้ แต่ถ้าผู้ปลูกหรือเกษตรกรไม่ดูแล หรือไม่หมั่นสำรวจ โอกาสที่จะเกิดโรคก็มีได้มาก
ปัจจัยที่เอื้ออำนวยการเกิด โรคมะเขือ
- ต้นพืชอ่อนแอ เติบโตช้า
- เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ไส้เดือนฝอย หรือธาตุอาหารบางชนิด
- สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
การจัดการเพื่อป้องกัน โรคมะเขือ
วิธีทางเขตกรรม
- เว้นระยะปลูกให้ห่างอย่างเหมาะสม
- จัดการระบายน้ำ อย่าให้ท่วมขัง โดยเฉพาะในฤดูฝน
- บำรุง ดูแล ให้ต้นมะเขือเจริญเติบโต แข็งแรง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
- ลดการใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง
- รักษาความสะอาดในแปลงปลูกและบริเวณใกล้เคียง
- หมั่นกำจัดวัชพืช
- เมื่อเกิดโรค ให้เก็บส่วนที่เป็นโรค และถอนต้นที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วนำมาเผาทำลาย
- ปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่ปลูกมะเขือ
- การใช้สารเคมีกำจัดโรค ควรใช้เมื่อเกิดโรคระบาด ใช้ตามคำแนะนำในฉลากกำกับยาและคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และติดตามผลหลังการใช้สารเคมี
โรคมะเขือที่สำคัญ
โรคใบด่างเหลืองของมะเขือยาว และพืชตระกูลมะเขือ
เป็นโรคที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้คุณภาพของผลมะเขือลดลง ทำให้ผลมะเขือยาวลายด่าง ราคาตก ผลผลิตลดลง จำหน่ายไม่ได้
สาเหตุโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อไวรัส ต้นมะเขือที่เป็นแล้วรักษาไม่หาย และแพร่ระบาดไปยังต้นอื่นๆ หรือแปลงมะเขืออื่นๆ มีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวพาหะ การถ่ายทอดโรคเป็นแบบช้า แมลงใช้เวลาดูดกินต้นที่เป็นโรคนาน จึงจะถ่ายทอดโรคได้ ซึ่งหากสังเกตเห็นอาการแล้วรีบแก้ไขทันที ก็ยับยั้งความเสียหายและการแพร่ระบาดได้
อาการของโรคเริ่มจาก ยอดอ่อนของมะเขือจะเริ่มใบเหลืองทีละยอดก่อน จนเหลืองหมดทั้งต้น หรืออาจจะด่างลายมีสีเหลืองสลับเขียว ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลมะเขือจะเหลืองด่างลาย ผลบิดเบี้ยว ขนาดเล็กกว่าปกติ แต่ถ้าเกิดกับมะเขือที่ยังเล็กและไม่สมบูรณ์ จะไม่ให้ผลผลิตเลย
การป้องกันและแก้ไข
- ใช้สารกำจัดแมลงพาหะ—แมลงหวี่ขาว หรือควบคุมแมลงหวี่ขาวไม่ให้ระบาดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด(โปร) แอกทารา และโมแลน หากปล่อยทิ้งไว้ เกิดการระบาดมากแล้ว จะแก้ไขกำจัดยากมาก หรือ ใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดแมลงหวี่ขาว โดยใช้ เชื้อราบิววาเรีย บาเซียน่า เพื่อกำจัดตัวแมลงฉีดพ่นพร้อมกับ เชื้อราพาซิโลมัยซิส เพื่อกำจัดไข่แมลงหวี่ขาวไปพร้อมกัน โดยฉีดพ่นทุก 7 วัน ป้องกันแมลงดื้อยาจากสารเคมีและปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค
- สำรวจแปลงปลูกเป็นประจำ ถ้าพบ ควรกำจัดต้นที่เป็นโรคทันที แล้วปลูกต้นใหม่ทดแทน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระบาดไปสู่แปลงใกล้เคียง
โรคต้นและใบแห้งไหม้
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา สร้างความเสียหายได้มาก โดยเฉพาะมะเขือยาว จะเกิดอาการโคนเน่าคอดินของต้นกล้า เกิดแผลสีน้ำตาลหรือดำที่บริเวณลำต้น ทำให้ต้นล้ม ใบเหี่ยว และแห้งตาย, ลำต้นเน่า แห้ง สีน้ำตาลหรือเทา ทำให้ลำต้นลีบหรือคอดลง บางครั้งเกิดอาการเปลือกแตกลอก ลักษณะเป็นสะเก็ดแบบ แผลสะเก็ดแคงเกอร์ หากแผลเกิดรอบต้นจะทำให้ต้นและใบเหี่ยวแห้งทั้งต้น และอาจพบจุดสีดำเล็ก ๆ บริเวณแผลหรือแผลสะเก็ด, ใบไหม้ แห้ง และผลเน่า ใบ เป็นแผลกลมสีน้ำตาลอ่อน หรือเทา ตรงกลางซีดจางเล็กน้อย แผลที่เก่าจะมีจุดสีดำบริเวณแผล ในที่สุดใบจะเหลืองและแห้งตาย
ผล เกิดแผลเน่าช้ำ สีซีด เนื้อผลยุบ แผลอาจขยายใหญ่จนเต็มลูก ถ้าเป็นมากและสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะมีสีดำเกิดบริเวณแผลอาการจะเริ่มตั้งแต่เป็นดอก และลุกลามมาที่ก้านดอกและผลเล็ก ๆ ทำให้ผลเน่าแห้งดำทั้งผลค้างอยู่บนต้น
แพร่ระบาด โดยปลิวไปตามลม หรือน้ำที่กระเซ็น, แมลง, มนุษย์ หรือเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ และสามารถอยู่ข้ามฤดูได้ตามเศษซากพืช
การป้องกันและแก้ไข
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อโรค สะอาด ปราศจากเชื้อโรค
- ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 49 ถึง 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แล้วนำมาจุ่มลงในน้ำละลายจุนสี (กำมะถันเขียว)หรือเชื้อราไตรโคเดอร์มาก่อนนำไปปลูก
- เมื่อต้นกล้างอกและพบว่า มีบางต้นที่แสดงอาการของโรค ให้รีบฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาทุก 10 วัน หรือใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ไธแรม หรือ แคปแทน ในอัตรา 50 ถึง 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก ๆ 5 ถึง 7 วัน หรือใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดเชื้อรา บีเอส บอบม์ทุก 7 วัน ในกรณีที่ระบาดมากให้ใช้ติดต่อกัน 3 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน
- หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือซ้ำที่เดิมที่มีประวัติการเป็นโรคอย่างน้อย 3 ปี และในระยะนี้ให้ปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียน ในกรณีที่เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์สามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้อย่างต่อเนื่อง
- เก็บทำลายซากพืชที่เป็นโรค และต้นมะเขือที่งอกหลังเก็บเกี่ยวแล้วออกให้หมด
- เลือกดินและพื้นที่เพาะกล้าที่ใหม่ สะอาดอยู่เสมอ หรือทำการฆ่าเชื้อในดินก่อน ด้วยการพลิกหน้าดินตากแดด หรือใช้สารเคมี เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์, คลอโรพิคคริน, ดาโซเมท และไธแรม
โรคแอนแทรคโนส หรือโรคผลเน่า หรือโรคกิ่งแห้งตาย
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา ลูกมะเขือที่โตเต็มที่ หรือปล่อยทิ้งไว้จะเกิดอาการแผลค่อนข้างกลมสีน้ำตาลยุบเป็นแอ่งลงไปในเนื้อ แผลที่เกิดอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ หรือโตถึงครึ่งนิ้ว และถ้าเป็นมากจนแผลที่เกิดขึ้นมาต่อเชื่อมกันแผลก็อาจใหญ่กว่านั้น เมื่ออากาศชื้นจะพบว่ามีผงสปอร์ของเชื้อราเป็นสีชมพูเห็นได้ชัดเจน ลูกมะเขือที่ถูกทำลายรุนแรงจะหลุดร่วงลงดิน เหลือส่วนที่เป็นก้านติดอยู่กับต้น ต่อมาอาจมีพวกเชื้อเน่าเละเข้าทำลายต่อทำให้เน่าทั้งลูก หรือไม่ก็เน่าแห้งเป็นสีดำ นอกจากบนผลแล้วเชื้ออาจเข้าทำลายใบมะเขือ ทำให้เกิดอาการแผลจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขึ้น แต่แผลที่ใบส่วนใหญ่จะไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นและผลผลิต ส่วนลำต้นเป็นแผลสีน้ำตาลรียาวตามความยาวของลำต้น ต้นเหี่ยวเฉา กิ่งแห้ง และตายในที่สุด
แพร่ระบาด เมื่อมีความชื้นในอากาศสูง เช่น หลังฝนตก หรือคืนที่มีน้ำค้างลงจัด และต้นมะเขือมีความอ่อนแอไม่แข็งแรง หรือ อาจปลิวไปตามลม หรือน้ำที่กระเซ็น, มนุษย์, สัตว์พาหะ, เครื่องมือทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถอยู่ข้ามฤดู ตามเศษซากพืช หรือผลมะเขือที่หล่นตามดิน หรือที่หลงเหลืออยู่บนต้น
การป้องกันและแก้ไข
- เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีการรับรองว่าไม่มีเชื้อรา หากไม่แน่ใจให้แช่น้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 49 ถึง 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที แล้วจุ่มในสารละลายของจุนสี (กำมะถันเขียว) ก่อนนำไปปลูก
- เมื่อต้นกล้างอก และพบต้นที่เป็นโรค ฉีดพ่นด้วยสารเคมี ไธแรม หรือแคปแทน ในอัตรา 50 ถึง 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก ๆ 5 ถึง 7 วัน และหลังย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูกใหม่ หากพบว่ามีการระบาดของโรคให้ฉีดพ่นด้วยมาเนบ หรือแมนเซท ดี ทุก 5 ถึง 7 วัน จนกว่าจะพ้นระยะการระบาด
- หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือซ้ำลงในแปลงปลูกเดิม หรือปลูกในดินที่เคยมีโรคระบาดอย่างน้อย 3 ปี และนำพืชชนิดอื่นมาปลูกหมุนเวียน
- เก็บทำลายซากพืชที่เป็นโรค และต้นมะเขือที่งอกหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วให้หมด
โรคโคนเน่า หรือโรคเหี่ยวตาย
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา ต้นมีอาการเหี่ยวเฉาเหมือนอาการขาดน้ำ ที่โคนต้นบริเวณใต้ผิวดินลงไปเล็กน้อย พบแผลแห้งตายที่ส่วนต้น และเปลือกจนรอบต้น ส่วนที่โคนต้นเหนือระดับดินจะมีเส้นใยของเชื้อราเป็นเส้นใยลักษณะหยาบ ๆ สีขาว บางครั้งอาจพบเส้นใยรัดพันกันแน่นเป็นเม็ดกลมสีขาว ไปจนถึงน้ำตาลอ่อน และน้ำตาลแก่ ขนาดเท่าเมล็ดผักกาด ติดอยู่ประปรายทั่วบริเวณโคนต้นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอุณหภูมิ และความชื้นสูง
เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในเศษซากพืชที่เป็นโรค ติดไปกับดิน น้ำ เครื่องมือทางการเกษตร และอยู่ข้ามฤดูในรูปของเม็ดผักกาด ส่วนที่เส้นใยพัดรัดกันแน่น เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม จะงอกเป็นเส้นใยเข้าทำลายพืชต่อไป
การป้องกันและแก้ไข
- รักษาความสะอาดแปลงปลูก โดยพยายามเก็บเศษซากพืชที่ค้างอยู่ในแปลงปลูกออกให้หมด
- ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก และปูนขาว
- พบต้นที่เป็นโรคควรถอนทิ้ง และเผาทำลาย
- ควรงดปลูกมะเขืออย่างน้อย 4 ปี ในแปลงปลูกที่เป็นโรค
- ควรเลือกพื้นที่สำหรับทำแปลงเพาะกล้า ที่ไม่มีโรคนี้ระบาดมาก่อน
- ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดโรค เช่น พีซีเอ็น บี ไวตาแวกซ์ ผสม เอทรีได-อาโซล ช่วยลดการระบาดของโรค แต่ราคาค่อนข้างสูง
โรคผลเน่าดำ
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา ทำลายผล โดยเริ่มเป็นบริเวณเล็กๆ แล้วลุกลามขยายออกไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผลเน่าดำเกือบทั้งผล ผลที่เน่ามักหลุดร่วงจากต้น สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมดินเป็นกรด อุณหภูมิ และความชื้นสูง เชื้อสาเหตุสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดิน และเศษซากพืช ทำให้เกิดการแพร่ระบาด
การป้องกันและแก้ไข
- เก็บชิ้นส่วนของพืชที่เป็นโรคออกจากแปลง และทำลายโดยการเผาไฟ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุ
- ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาทุก 7 วัน ให้ทั่วถึงในทรงพุ่ม จะสามารถลดการเกิดโรคเป็นอย่างมาก
- ลดความชื้นในทรงพุ่ม โดยการเว้นระยะปลูกให้ห่างขึ้น หรือตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง
โรคใบจุดวง
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา อาการเริ่มจากใบแก่เป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาล แผลค่อนข้างกลมแล้วขยายใหญ่ ออกไป การขยายตัวของจุดจะปรากฏรอยการเจริญของแผลเป็นวงสีน้ำตาลซ้อน ๆ กันออกไป ถ้าเกิดบนกิ่ง ลักษณะแผลรียาวไปตามลำต้น สีน้ำตาลปนดำเป็นวงซ้อน ๆ กัน ผลแก่ที่เป็นโรคแสดงอาการที่ขั้วผลเป็นแผลสีน้ำตาลดำ และมีลักษณะวงแหวนเหมือนบนใบ
เชื้อสาเหตุโรคนี้สามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ โรคนี้จะเกิดมากในสภาพที่ความชื้นและ อุณหภูมิสูง ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการระบาดของโรคมาก ๆ จะทำให้อาการจุดวงขยายตัวอย่างรวดเร็วจนต่อเนื่องกันเกิดเป็นอาการใบแห้ง
การป้องกันและแก้ไข
- คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่สามารถกำจัดเชื้อสาเหตุที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ เช่น แมนโคเซบ ไอโพรไดโอน
- ถ้าระบาดในแปลงปลูก พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น ไอโพรไดโอน คลอโรทาโลนิล
โรคใบจุด
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา อาการของโรคนี้ใกล้เคียงกับโรคใบจุดวงมาก แต่แผลบนใบมีขนาดเล็ก การขยาย ตัวของโรคใบจุดเกิดเป็นวงไม่ค่อยชัดเจน และแผลมักมีสีเหลืองล้อมรอบ อาการบนผลเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป แผลสีครีม หรือน้ำตาลอ่อน
พบระบาดมากในภาคเหนือ โดยเฉพาะถ้ามีความชื้นสูง หรือมีฝนตก โรคจะ ระบาดอย่างรวดเร็ว ใบที่เป็นโรคมากๆ จะร่วงหลุดไป
การป้องกันและแก้ไข
- แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิ 49 ถึง 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที แล้วจุ่มในสารละลายของจุนสี ก่อนนำไปปลูก หรือ อุณหภูมิประมาณ 50 ถึง 55 องศาเซลเซียส นาน 15 ถึง 20 นาที
- พยายามรักษาความชื้นในแปลงปลูกอย่าให้สูงมากเกินไป
- สำรวจต้นมะเขือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง
- จัดการระบายน้ำในแปลงปลูก อย่าให้มีน้ำขังโคนต้นมะเขือ
- เก็บส่วนของต้นมะเขือที่เป็นโรค ไปทำลายด้วยการเผา นอกแปลงปลูกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคสะสม
- หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือซ้ำในแปลงปลูกที่มีโรคระบาดมาก่อน
- ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซีลัส ซับทิลลิส ควบคุมการระบาด
โรคแห้งดำ
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา อาการเริ่มต้นจากจุดเหลี่ยมเล็กๆ สีดำบนใบมะเขือเทศเมื่ออาการรุนแรงแผลขยายขนาดใหญ่และมีจำนวนจุดมากขึ้นเนื้อใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแห้งกรอบ และดำในที่สุดแต่ส่วนของลำต้นยังเขียวอยู่ ไม่พบอาการบนลำต้นและผล
เชื้อสาเหตุโรคนี้สามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ ส่วนการระบาดในแปลงจะเกิดได้ รุนแรงและรวดเร็วเมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิสูง
การป้องกันและกำจัด
- คลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ก่อนนำมาเพาะ
- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 7 วัน
โรคใบไหม้
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา อาการจะปรากฏอยู่บนใบส่วนล่าง ๆ ของต้นก่อน โดยเกิดเป็นจุดฉ่ำน้ำสีเขียวเข้มเหมือน ใบถูกน้ำร้อนลวก รอยช้ำนี้จะขยายขนาดออกไปอย่างรวดเร็วทางด้านใต้ใบ โดยเฉพาะขอบๆ แผล จะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวอยู่รอบ ๆ รอยช้ำนั้น เมื่อเชื้อเจริญมากขึ้นใบจะแห้ง อาการที่กิ่งและลำต้นเป็นแผลสีดำ อาการบนผลมีรอยช้ำเหมือนถูกน้ำร้อนลวก
พบระบาดมากทางภาคเหนือของประเทศไทยในฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อม เหมาะต่อการเกิดโรค โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 18 ถึง 28 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในเขตที่อุณหภูมิต่ำและความชื้นต่ำโรคจะไม่ระบาด นอกจากมีฝนตก โรคจะระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่วนของพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะตายภายใน 1 สัปดาห์
การป้องกันและแก้ไข
ควรตัดแต่งใบล่างให้โปร่ง
โรคราแป้ง
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อรา อาการที่มองเห็นด้านบนใบจะเป็นจุดสีเหลือง และจะขยายออก มีจำนวนจุดบนใบมีมากขึ้น เมื่อโรคระบาดรุนแรงขึ้น จนบางครั้งมองเห็นเป็นปื้นสีเหลืองด้านบนใบ ตรงกลางปื้นเหลืองนี้อาจจะมีสีน้ำตาล ต่อมาใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทางด้านใต้ใบ ตรงบริเวณที่แสดงอาการปื้นเหลือง จะมีผงละเอียดคล้ายผงแป้งเกาะอยู่บางๆ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลือง จากส่วนล่างของต้นไปยังส่วนบนและใบที่เหลืองนี้จะร่วงหลุดไป ในสภาพอากาศเย็นบางครั้งจะพบผงสีขาวเกิดขึ้นบนใบได้ และลุกลามไปเกิดที่กิ่งได้
มักพบการแพร่ระบาดในระยะเก็บผลผลิต ทำให้ต้นโทรมเร็วกว่าปกติ
การป้องกันและแก้ไข
- ลดความชื้นบริเวณโคนต้นหรือในทรงพุ่ม โดยการตัดแต่งกิ่ง
- กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุ เช่น น้ำนมราชสีห์ และหญ้ายาง
โรคใบด่างเรียวเล็ก
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อไวรัส มักเกิดกับต้นมะเขือเทศ ทำให้แคระแกรน ใบมะเขือเทศม้วนงอ ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น ใบมะเขือเทศจะ เรียวเล็กกว่าปกติ
การแพร่ระบาดของโรคนี้ สามารถถ่ายทอดโดยเพลี้ยอ่อน และวิธีการสัมผัสต้นมะเขือ ที่มีอาการใบเรียวเล็กนี้ตั้งแต่ระยะเล็กๆ จะไม่ติดผล หรือถ้าติดผลจะมีขนาดเล็ก
การป้องกันกำจัด
พ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่สามารถกำจัดเพลี้ยอ่อนได้ หรือใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย
โรคใบหงิกเหลือง
สาเหตุของโรคและอาการ
เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการใบยอดหงิกเหลือง ม้วนงอ ใบมีขนาดเล็กลง ยอดเป็นพุ่ม และต้นแคระแกรน
โรคนี้สามารถถ่ายทอดได้โดยวิธีทาบกิ่ง และมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ วิธีทาบกิ่งสามารถ ถ่ายทอดโรคได้ 22 เปอร์เซ็นต์ แมลงหวี่ขาวสามารถถ่ายทอดโรคได้ 88 เปอร์เซ็นต์ จะต้องป้องกันมะเขือไม่ให้เป็นโรคก่อนอายุ 60 วัน เพราะการเป็นโรคนี้ในระยะต้นโต และเริ่มติดผลแล้ว จึงไม่กระทบกระเทือนต่อผลผลิตมากนัก
การป้องกันและแก้ไข
- รักษาความสะอาดแปลงปลูก ควรเก็บเศษซากพืชที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ปลูก ออกให้หมด
- ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกและปูนขาว
- ถ้าปรากฏต้นมะเขือที่เป็นโรคนี้ ควรรีบถอนทำลายด้วยการเผา
- แปลงปลูกที่มีโรคนี้ระบาด ควรงดปลูกมะเขือไม่น้อยกว่า 4 ปี
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.kasetkawna.com, หนังสือแนวทาง…และแบบอย่างการเพาะปลูกสารพัดมะเขือทำเงิน สนพ. นาคา โดย อภิชาต ศรีสะอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ)