แมลงศัตรูมะเขือ
แมลงศัตรูมะเขือ เป็นศัตรูทำลายมะเขือได้ทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นมะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือพวง และมะเขือเหลือง เป็นต้น ถึงแม้ว่ามะเขือ จะเป็นพืชผักที่มีความแข็งแรงก็ตาม แต่เกษตรกรและผู้ปลูกควรป้องกัน ดูแล และแก้ไข เพราะ แมลงศัตรูมะเขือ สามารถสร้างความเสียหายและสูญเสียผลประโยชน์ได้มากมาย ในบทความ แมลงศัตรูมะเขือ นี้ ได้รวบรวมข้อมูลการป้องกันและแก้ไขด้วยวิธีธรรมชาติมานำเสนอไว้ด้วยนะคะ และหวังว่าผู้อ่านจะได้เรียนรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะปลูกมะเขือเพื่อการค้า หรือเพื่อรับประทานในครัวเรือนก็ตาม
เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงประเภท ปากดูด ทำลายพืชผลด้วยการดูดกินของเหลวในพืช เจาะบริเวณที่อ่อนนิ่มของต้นพืช เช่น ใบ หรือ ยอดอ่อน ทำให้ใบเหี่ยวเฉา ย่นเข้าหากันเป็นลักษณะท้องเรือ หรือเหมือนถูกไฟลน ในขั้นรุนแรง ใบที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงต้องหยุดการเจริญเติบโต ส่วนยอดอ่อนก็จะฝ่อเสีย หากต้นมะเขือยาว หรือมะเขืออื่นๆ อยู่ในช่วงที่ออกผลแล้ว เพลี้ยไฟก็มักจะเลือกดูดผลมะเขือจนเหี่ยว เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง เคลื่อนไหวได้เร็ว
ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไฟ คือ เพลี้ยไฟตัวห้ำ
การป้องกันและแก้ไข
- หมั่นสำรวจโดยเฉพาะในระยะที่มะเขือแตกใบอ่อน แทงช่อดอก และติดผลอ่อน หรือในช่วงที่อากาศร้อน เคาะส่วนของใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน ลงบนกระดาษขาว ถ้าพบเพลี้ยไฟ 3 ตัว ต่อช่อ หรือยอด ให้กำจัดตัวด้วยสารชีวภัณฑ์ เชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย และเชื้อราพาซิโลมัยซิส กำจัดไข่เพลี้ยไฟ
- กับดักกาวเหนียวสีเหลือง อัตรา 80 กับดัก ต่อไร่
- ใช้สารสกัดสะเดา 0.1 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาดทุก 5 วัน จนกว่าการระบาดจะลดลง
เพลี้ยจักจั่นเขียว
ดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบ ใบที่ถูกทำลายจะเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจากขอบใบ และม้วนงอ มะเขือจะชะงักการเจริญเติบโต ระบาดมากในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เดือนสิงหาคม
การป้องกันและแก้ไข
- สำรวจลักษณะการทำลายหรือสำรวจปริมาณเพลี้ย 10 จุดต่อแปลง อย่างสม่ำเสมอช่วงก่อนต้นมะเขือออกดอก
- ใช้พืชสมุนไพร น้ำมันตะไคร้หอม 480 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กลั่น แล้วนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ฉีดพ่น หรือ รากโล่ติ๊นสดทุบละเอียด 1 กิโลกรัม แช่ในน้ำ 20 ลิตร นาน 24 ถึง 48 ชั่วโมง คนเป็นครั้งคราว จากนั้นกรองน้ำสีขาวขุ่น พ่นในแปลงทุก 7 วัน เมื่อพบการระบาด แต่ถ้าอยู่ใกล้บ่อเลี้ยงปลา ควรหลีกเลี่ยงการใช้โล่ติ๊น เพราะเป็นพิษต่อปลา
- ใช้สารเคมีกำจัดเพลี้ยจักจั่นได้ แต่ต้องใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
เพลี้ยแป้ง
เป็นแมลงที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับเพลี้ยหอย มี 2 ชนิด คือ เพลี้ยแป้งหางสั้น และเพลี้ยแป้งหางยาว ลักษณะตัวเพลี้ยมีขนาดเล็ก และมีสีขาว เพราะถูกสารขี้ผึ้ง ซึ่งขับออกมาคลุมตัวเพลี้ยไว้ เคลื่อนไหวได้ช้า ลำตัวเป็นข้อ ปล้อง รูปร่างกลมหรือยาวรี ทำลายพืชผลโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบผิดรูปหรือร่วง ใบเหลือง และอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ในขั้นรุนแรง โดยที่เพลี้ยแป้งจะผลิตน้ำหวานจำนวนมาก ใช้เคลือบที่ต้นไม้และพื้นผิวโดยรอบด้วยชั้นที่เหนียว
ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง (ตัวห้ำ) คือ ด้วงเต่า
การป้องกันและแก้ไข
- ป้องกันมด ซึ่งเป็นตัวพาหะนำเพลี้ยแป้ง โดยพ่นสารเคมี คาร์บาริล 85 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร และใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องผูกโคนต้นป้องกันมด
- ตัดใบและกิ่งที่มีเพลี้ยแป้ง นำไปทำลาย
- ใช้สารชีวภัณฑ์ เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่น 3 ครั้ง ติดต่อกัน เว้นระยะห่างกัน 3 วัน ในแปลงที่ระบาด และทุกๆ 7 วัน เพื่อป้องกัน
หนอนกระทู้หอม
หรือหนอนหลอดหอม หรือหนอนหนังเหนียว ตัวหนอนเมื่อออกจากไข่ใหม่ ๆ จะมีนิสัยเจาะมุดเข้าไปกัดกินในพืช ในยอดอ่อนของพืช ทำให้ยากแก่การสังเกต ศัตรูธรรมชาติของหนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้หอม มีศัตรูธรรมชาติหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส (NPV), แตนเบียน Apanteles sp., แตนเบียน Charops sp., แมลงวันก้นขนในวงศ์ Tachinidae และเชื้อรา Spicaria releyi
การป้องกันและแก้ไข
- ใช้กับดักแสงไฟช่วงเวลา 18.00-22.00 น. เพื่อกำจัดผีเสื้อหนอนกระทู้หอม
- ใช้มุ้งตาข่ายไนล่อนคลุมแมลง แต่ต้นทุนสูง อาจไม่คุ้มกับผลกำไรที่จะได้รับ
- ใช้เชื้อแบคทีเรีย บีทีฉีดพ่นที่พืชใช้เวลา 2 ถึง 3 วัน จะเห็นผล
- ใช้เชื้อราเมธาไรเซียม และเชื้อแบคทีเรีย บีที โดยฉีดพ่นที่พืช แล้วให้หนอนกินเข้าไปจึงจะได้ผล
ด้วงหมัดผักแถบลาย
พบ 2 ชนิด คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย และด้วงหมัดผักสีน้ำเงิน ชนิดที่สำคัญคือ ด้วงหมัดผักแถบลายตัวอ่อนกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผัก ทำให้พืชผักเหี่ยวเฉาและไม่เจริญเติบโต ถ้ารากถูกทำลายขั้นรุนแรงอาจทำให้พืชผักตายได้ ตัวเต็มวัยกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุน และอาจกัดกินผิวลำต้น และกลีบดอกด้วย ศัตรูธรรมชาติของด้วงหมัดผักแถบลาย คือไส้เดือนฝอย การใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) เช่น ยูเนมา อัตรา 4 ล้านตัวต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร
การป้องกันและแก้ไข
- วิธีเขตกรรมการลดการระบาดของด้วงหมัดผัก โดยการไถตากดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน นอกจากนี้ควรสลับการปลูกพืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบ เพื่อเป็นการช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง
- เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส โดยพ่นหรือราดทุก 7 วัน เพื่อฆ่าตัวอ่อนด้วงหมัดผักในดิน
หนอนเจาะผลมะเขือ
ทำความเสียหายให้แก่ยอดมะเขือในระยะต้นมะเขือกำลังเจริญเติบโต ทำลายท่อน้ำท่ออาหารของพืช ทำลายยอดเหี่ยวเห็นได้ชัดในเวลาแดดจัด ยอดที่แข็งแรงถูกทำลาย ยอดใหม่มีขนาดเล็ก และผลมะเขือได้รับความเสียหาย เสียคุณภาพ พบในมะเขือชนิดต่างๆ ยกเว้น มะเขือเทศ และชอบทำลายมะเขือเปราะ มากกว่ามะเขือยาว ศัตรูธรรมชาติของหนอนเจาะผลมะเขือ คือ แตนเบียน มีแตนเบียน 2ชนิด คือThratata sp. และEriborus sp.
การป้องกันและแก้ไข
- วิธีกล การ เก็บยอดและผลที่ถูกทำลายทั้งที่มีหนอนและไม่มีหนอน จะช่วยลดการระบาด
- ใช้สารชีวภัณฑ์ บีทีหรือเชื้อราเมธาไรเซียม
ไส้เดือนฝอย, ไส้เดือนฝอยรากปม
ทำลายต้นพืชให้แคระแกร็นและซีดเหลือง หากเสียหายขั้นรุนแรง พืชก็จะตาย โดยเฉพาะในช่วงอากาศแล้ง อาการที่ปรากฏ คล้ายกับอาการของการขาดธาตุอาหาร แต่จะพบอาการรุนแรงในบางหย่อมเท่านั้น เนื่องจากไส้เดือนฝอยเคลื่อนตัวในระยะทางสั้น การแพร่ระบาดไปได้ตามทางน้ำ ดินปลูก หรือติดไปกับเครื่องมือการเกษตรต่าง ๆ
การป้องกันและแก้ไข
- ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไปเช่น ปลูกธัญญพืช พืชตระกูลหญ้าบางชนิด ช่วยลดการระบาดของไส้เดือนฝอยลงได้
- ใช้วิธีการปลูกพืชล่อ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ปลูกพืชล่อพันธุ์อ่อนแอ ไส้เดือนฝอยจะเข้าทำลายพันธุ์ที่อ่อนแอ แล้วรีบไถกลบฝังลึกลงดินทันที อาจต้องไถกลบมากกว่าหนึ่งครั้ง ข้อควรระวังคืออย่าปล่อยให้พืชพันธุ์อ่อนแอนั้นเจริญอยู่นานเกินไป จะเป็นช่องทางให้ไส้เดือนฝอยรากปมขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากขึ้น จนไม่สามารถกำจัดให้หมดไปจากพื้นที่เป้าหมายได้ ปลูกพืชที่เป็นพิษ ล่อให้ไส้เดือนฝอยเข้าทำลาย เมื่อไส้เดือนฝอยเข้าไปในรากแล้วก็ไม่สามารถเจริญต่อไปได้และตายในที่สุด พืชที่นิยมใช้ล่อได้แก่ ดาวเรือง เป็นต้น
- ใช้เชื้อราเมธาไรเซียมฉีดพ่นลงบริเวณดินโคนต้นทุกๆ 7 วัน
แมลงหวี่ขาวยาสูบ
ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบ และเป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากไวรัส ทำความเสียหายให้กับมะเขือเทศในแหล่งปลูกทั่วโลก และมะเขือเปราะในประเทศไทยก็เป็นอาหารโปรดของแมลงชนิดนี้ ศัตรูธรรมชาติของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
คือ ตัวห้ำและตัวเบียน เช่น แตนเบียน Encrasia sp., แมลงช้างปีกใส, ด้วงเต่า และแมงมุมสกุลไลคอซา
การป้องกันและแก้ไข
- คลุกเมล็ดก่อนเพาะกล้าด้วยสารคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 25เปอร์เซ็นต์ เอสที) อัตรา 40 กรัม ต่อเมล็ด 1กิโลกรัม
- ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาคลอพริด(โปร) หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซ็นด์5 เปอร์เซ็นต์ เอสซี)อัตรา40 และ40 มล ต่อ น้ำ20 ลิตร
- ใช้เชื้อราบิววาเรีย บาเซียน่า เพื่อกำจัดตัวแมลงฉีดพ่นพร้อมกับ เชื้อราพาซิโลมัยซิส เพื่อกำจัดไข่แมลงหวี่ขาวไปพร้อมกันในคราวเดียวกันฉีดพ่นทุก 7 วันป้องกันแมลงดื้อยาจากสารเคมีและปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค
มดแดง
จะกัดต้นกล้ามะเขือที่เริ่มงอกในแปลงเพาะกล้า ทำให้ต้นเหี่ยว และเชื้อโรคเข้าทำลายจากบาดแผลได้ หรือคาบเมล็ดมะเขือไปเป็นอาหาร
การป้องกันและแก้ไข
- สำรวจปริมาณและการทำลายของมดแดงในแปลงปลูก
- ล่อให้มดมารวมกลุ่มนอกแปลง แล้วราดด้วยน้ำร้อนหรือสารกำจัดมด
ไรแดง
มีรูปร่างคล้ายแมงมุม แต่ขนาดเล็กมาก ดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบเป็นจุดด่างเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีเงินเคลือบ ใบงองุ้ม ต้นพืชหยุดการเจริญเติบโต แคระแกร็น
การป้องกันและแก้ไข
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปรับโครงสร้างดิน ให้มะเขือเจริญเติบโตและแข็งแรง
- สำรวจต้นมะเขือบริเวณเส้นใบ ใต้ใบมะเขือ หากพบไรแดงให้รีบกำจัด
- หากระบาดไม่มาก ให้ใช้น้ำเปล่าฉีดล้างใบ เพราะไรแดงไม่ชอบความชื้น
- ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรกำจัด
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง
คำแนะนำในการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูมะเขือยาว
- ใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูมะเขือ ฉีดพ่นตามอัตราที่แนะนำไว้ในฉลาก
- เว้นระยะการให้สารเคมีสลายตัวอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรแล้วจึงทำการเก็บเกี่ยว
ฝากติดตามบทความ โรคมะเขือ ด้วยนะคะ เพื่อผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.kasetkawna.com, หนังสือแนวทาง…และแบบอย่างการเพาะปลูกสารพัดมะเขือทำเงิน สนพ. นาคา โดย อภิชาต ศรีสะอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ)