การปลูกเมล่อนในโรงเรือน
การปลูกเมล่อนในโรงเรือน เป็นการปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสุง ควรทำอย่างไร?…ควรทำความรู้จักกับสายพันธุ์ และศึกษา ขั้นตอน การปลูกเมล่อน, การดูแลเมล่อน และ การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช เมื่อเรียนรู้แล้วจึงลงมือปลูกนะคะ เมล่อน รับประทานในรูปแบบไหนก็ได้รสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม ฉ่ำ หวาน มีคุณประโยชน์ และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ถือเป็นราชินีของพืชตระกูลแตง ถ้ารับประทานในรูปแบบผัก เช่น รับประทานคู่กับพาร์ม่าแฮมก็อร่อยเข้ากัน หรือรับประทานเป็นเครื่องสลัด, รับประทานเป็นของว่าง เช่น ใส่ในน้ำแข็งใสหรือฟรุ้ตสลัด หรือไอศกรีม และในรูปแบบผลไม้ โดยการรับประทานสด หรือทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น นอกจากนี้ เมล่อนยังมีสีสันน่ารับประทาน ไม่ว่าจะสีขาว สีครีม สีส้ม สีแสด สีเหลือง หรือสีเขียว และยังมีหลายชนิด แต่ขอแนะนำให้รู้จักกับชนิดเมล่อนโดยการแบ่งตามลักษณะผลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
ร็อคเมล่อน – เปลือกนอกแข็ง มีลายขรุขระนิดหน่อย
เน็ตเมล่อน – เปลือกมีลายร่างแหคลุมไว้ทั่วทั้งผล
เมล่อนผิวเรียบ – หรือที่นิยมเรียกกันว่า แคนตาลูป
ถ้าจะให้ตัดสินว่าชนิดไหนอร่อยกว่ากันคงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน แต่ชนิดไหนก็มีประโยชน์ไม่ต่างกัน
ประโยชน์ชองเมล่อน
- คลายร้อน
- คลายเครียด หลับสบาย
- ช่วยลดน้ำหนัก
- สมาธิดีขึ้น
- เหมาะให้ผู้ป่วยรับประทาน
- มีวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
- เอนไซม์ในน้ำเมล่อนช่วยต้านอนุมูลอิสระ
เคล็ดลับการรับประทานเมล่อนให้อร่อย
- นำเมล่อนทั้งผลแช่ตู้เย็นไว้ 1 ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อจะรับประทาน ให้ผ่าครึ่ง เขี่ยเมล็ดทิ้งแต่ไม่ปาดไส้กลางที่ติดเมล็ดออก เท่ากับว่า เราไม่ทิ้งส่วนที่หวาน อร่อยที่สุดของเมล่อนทิ้ง
- จากนั้น ผ่าเสี้ยว โดยแบ่งผ่าเฉพาะส่วนพอรับประทาน แล้วหั่นชิ้นพอดีคำ เพียงเท่านี้ก็ได้รับประทานเมล่อนอร่อยๆ ได้แล้ว
***ถ้ารับประทานเมล่อนที่หั่นชิ้นไม่หมด แล้วนำกลับไปแช่ตู้เย็น จะทำให้เสียรสชาติอร่อยๆ และกลิ่นหอมๆ ของเมล่อนไป เพราะฉะนั้น ควรหั่นแค่พอรับประทาน หรือรับประทานให้หมด*** เมล่อนที่นิยมรับประทาน และปลูกในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่บินลัดฟ้ามาจากญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ ปลูกไม่ยาก แต่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่ละเอียด และสม่ำเสมอ ชอบแดด ชอบน้ำชุ่มๆ แต่อย่าให้น้ำขัง ปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกฤดู
การปลูกเมล่อน
มือใหม่หัดปลูก ควรเริ่มต้นจากพันธุ์ผิวเรียบ เพราะสายพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 35 วัน เพื่อให้ได้ผลผลิตเร็วๆ เป็นขวัญกำลังใจให้ไปต่อ แต่อายุการเก็บเกี่ยวต้องนับจากวันที่เมล่อนมีการผสมเกสรติดแล้วมีผลเล็กๆ ออกมา หากเริ่มจากสายพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่ 45 วัน หรือ 50 วัน ก็สามารถทำได้ แต่อย่าเพิ่งท้อซะก่อนนะคะส่วนจะปลูกเมล่อนแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ปลูกเอง ที่นิยมปลูกในบ้านเรานั้นมี 3 แบบ คือ ปลูกในถุง (ทำค้าง), ปลูกในแปลง (ทำค้าง) และปลูกบนดิน (ไม่ทำค้าง ปล่อยให้เลื้อยบนดิน)
คำแนะนำ
- ใช้ถุงปลูก ประหยัดพื้นที่ ดูแลง่าย เมล่อนชอบน้ำชุ่มแต่ไม่ชอบน้ำขังเฉอะแฉะ
- สร้างโรงเรือนเพื่อปลูกเมล่อนแบบปลอดสารพิษ ปลอดโรคและแมลง และกำจัดวัชพืชง่าย เพราะเมล่อนถูกโรคและแมลงเข้าทำลายได้ทุกระยะในการปลูก
- จัดการการให้น้ำอย่างถูกวิธี ส่วนใหญ่การปลูกเมล่อน นิยมใช้ระบบน้ำหยดในการให้น้ำ ผู้ปลูกสามารถติดตั้งได้เอง ซึ่งขั้นทดลองปลูก จำนวนไม่มาก ทำการให้น้ำโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เพียงแค่ต่อชุดระบบน้ำกับก๊อกของถังเก็บน้ำก็เป็นอันใช้ได้
ก่อนลงมือ ควรศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ในการปลูก รวมถึงการดูแลเมล่อนให้ดีเสียก่อน และต้องไม่ลืมว่า การปลูกเมล่อนต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อปลอดโรค ปลอดแมลง และได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ
ขั้นตอนการปลูก เมล่อน
- สร้างโรงเรือน (บทความ โรงเรือน ปลูกพืชปลอดสารพิษ)
- ติดตั้งระบบน้ำหยด (บทความ ระบบน้ำ)
- เพาะกล้า
- ปลูกกล้า
- ดูแลหลังการเพาะปลูก
- เก็บเกี่ยว
การเพาะกล้า
- เตรียมเมล็ดพันธุ์ โดยแช่เมล็ดพันธุ์ในน ้าอุ่น อุณหภูมิประมาณ 38 องศาเซลเซียส หรืออุ่นประมาณที่เราใช้นิ้วมือสัมผัสได้ ทิ้งไว้ 3 ถึง 6 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เมล็ดงอกเร็ว เมื่อครบกำหนดเวลา เทน้ำทิ้ง
- บ่มเมล็ดพันธุ์ โดยใช้ผ้าเปียกหรือกระดาษทิชชู่พรมน้ำ แต่ขอแนะนำว่าให้ใช้กระดาษทิชชู่ในการบ่มจะแกะเมล็ดพันธุ์ออกได้ง่าย รากไม่หลุด เพราะการบ่มเมล็ดพันธุ์นั้น เมื่อรากงอกแทงทะลุผ้า ต้องใช้วิธีดึงเมล็ดให้หลุดออกจากผ้า แต่ถ้าเราเลือกใช้กระดาษทิชชู่ ก็ใช้วิธีฉีกกระดาษออกได้โดยรากไม่ถูกกระทบกระเทือน
วิธีการบ่มเมล็ดพันธุ์ ด้วยกระดาษทิชชู่ ใช้กระดาษทิชชู่ซ้อนกัน 3 ถึง 4 แผ่น พรมน้ำให้ชุ่ม วางในภาชนะ จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์มาวางเรียงอย่างให้ซ้อนกัน แล้วปิดทับเมล็ดด้วยกระดาษทิชชู่ซ้อนกัน 3 ถึง 4 แผ่นอีกครั้ง พรมน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ระหว่างที่รอรากขาวๆ งอกออกมาจากเมล็ดพันธุ์ ก็เตรียมวัสดุเพาะกล้า
- เพาะกล้า โดยเพาะกล้าลงในฟองน้ำเพาะกล้า วางเมล็ดที่รากงอกแล้วลงในฟองน้ำ 1 ชิ้น ต่อ 1 เมล็ด หรือใช้พีทมอส และดินปลูก อย่างละ 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน นำไปใส่ในหลุมถาดเพาะแต่ไม่ต้องใส่ถึงขอบหลุม หยอดเมล็ดที่มีรากขาวงอกออกมา หลุมละ 1 เมล็ด โรยดินปลูกกลบเมล็ด จากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม นำถาดเพาะไปวางไว้ในที่ที่มีแสงแดดรำไร ต้นกล้าแตกใบ 2 ถึง 3 ใบ ประมาณ 7 ถึง 10 วัน และแข็งแรงดีแล้ว ย้ายไปปลูกในถุงที่เตรียมดินไว้
***สาเหตุที่ต้องเพาะกล้าก่อน เพราะมีอัตราการงอกสูงกว่าการนำเมล็ดพันธุ์ไปหยอดในถุงปลูกเลย ซึ่งถ้าเมล็ดไม่งอกก็ทำให้เสียเวลา และได้ผลผลิตไปจำหน่ายไม่พร้อมกัน***
- ปลูกกล้า 1 ต้น ต่อ 1 ถุงปลูก โดยใช้ถุงปลูกพลาสติกสีขาว ขนาด 8×13 นิ้ว เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น สามารถเจาะรูถุงปลูกเพิ่มได้ กรอกดินร่วน ผสมขุยมะพร้าวหรือกาบมะพร้าวสับ และแกลบดำ อย่างละ 1 ส่วน คลุกให้เข้ากัน ใส่ลงในถุง ใส่เมล็ดลงจุดกึ่งกลางถุงแล้วใช้ดินกลบ รดน้ำให้ชุ่ม
เมื่อปลูกกล้าแล้ว รอให้รากเดิน ในช่วงวันที่ 1 ถึง 3 หลังการปลูกกล้า ให้รดแต่น้ำเพียงอย่างเดียว ยังไม่ต้องให้ปุ๋ย ให้น้ำหยดวันละประมาณ 30 นาที ในตอนเช้า (รดน้ำพอชุ่ม อย่าให้น้ำขัง ในช่วงแรกให้สังเกตดินในถุงปลูก สภาพอากาศ หากร้อนจัดสามารถเพิ่มปริมาณการให้น้ำได้) หลังจากรากเดิน ต้นกล้าแข็งแรง ก็ย้ายถุงปลูกไปวางในโรงเรือนรับแสงแดดซึ่งเมล่อนชอบ หลังจากรากเดิน หรือประมาณวันที่ 7 หลังการปลูกกล้า เริ่มให้ปุ๋ยโดยผสมน้ำหมักชีวภาพผสมลงในถังเก็บน้ำ (ที่ใช้ในระบบน้ำหยด) อัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะ หรือช้อนแกง ต่อน้ำ 10 ลิตร หรือถ้าใช้น้ำหมักที่ซึ้อตามท้องตลาด ให้ใช้ตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ข้างขวดหรือภาชนะบรรจุ เมล่อนแตกใบจริงประมาณ 4 ใบ หรือหลังการปลูกกล้า 15 วัน ใช้เชือกทำค้างให้เถาเลื้อย โดยมัดเชือกจากโครงหลังคาโรงเรือนหรือคานที่ทำไว้ให้แน่น ความยาวเชือกต้องยาวลงมาถึงโคนต้น แล้วผูกเชือกด้วยเงื่อนกระตุกเป็นห่วงหลวมๆ ประมาณ 2 เซนติเมตรเพื่อให้ลำต้นขยายได้ พันยอดให้เลื้อยไปตามเชือกวนไปทิศทางเดียวกัน ***หลังจากพันเชือกแล้ว เชือกควรจะตึงเพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรง เลื้อยขึ้นไปด้านบนได้***
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.kasetup.com, www.money.sanook.com, www.vegetweb.com, www.rukkla.com)