การปลูกวานิลลาในโรงเรือน

การปลูกวานิลลาในโรงเรือน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วานิลาโรงเรือน

การปลูกวานิลลาในโรงเรือน เป็นการปลูกเพื่อการค้า ซึ่งน้อยคนนัก ที่จะรู้ว่า วานิลลา เป็นกล้วยไม้สกุลวานิลลา (Vanilla) นำฝักมาผ่านกรรมวิธีบ่ม แปรรูป จนได้กลิ่นวานิลลา หรือนำเมล็ดมาสกัด ได้วานิลลินธรรมชาติ หรือใช้วานิลลาในการประกอบอาหารทำโดยกรีดฝักวานิลลาออกและขูดนำเอาเมล็ดในฝักไปใช้ประกอบอาหาร หรือนำทั้งฝักไปต้มน้ำและช้อนออก สายพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อนำมาแปรรูปคือ แพลนิฟอเลีย (Planifolia) วานิลลา เป็นพืชเครื่องเทศที่มีราคาสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากแซฟฟรอน หรือหญ้าฟรั่น ในภาคอุตสาหกรรมจึงนิยมใช้วานิลลินสังเคราะห์ ในการแต่งกลิ่นอาหาร ของหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่ม และยาสารสกัดวานิลลา แต่สารสังเคราะห์ทางเคมีที่ว่านี้ มีสารชนิดเดียวกันกับที่ใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าเหาและหมัดทำให้เกิดมะเร็ง ในขณะที่วานิลลินที่สกัดได้ทางธรรมชาตินั้น มีสารต้านมะเร็ง อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งนึกกลัวจนเลิกทานไอศกรีม ขนมอร่อยๆ กันนะคะ มีวิธีสังเกตง่ายๆ ไอศกรีมวานิลลาของแท้ จะมีผงเล็กๆ สีดำของเมล็ดวานิลลาอยู่ในเนื้อไอศกรีม ลองสังเกตดูนะคะ วานิลลาเป็นกล้วยไม้ที่มีทั้งระบบรากดิน และรากอากาศ ลำต้นสีเขียวเป็นเถาเลื้อยเป็นข้อๆ ต้น ใบ อวบหนา ฝักเป็นรูปทรงกระบอกยาว อวบ ดอกสวย มีถิ่นกำเนิดมาจากทางประเทศเม็กซิโก ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตวานิลลาที่ใหญ่ที่สุดคือ มาดากัสการ์ ส่วนในทวีปเอเซียนั้น แหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดคือ ประเทศอินโดนีเซีย และด้วยความที่มีราคาแพงของวานิลลา ทำให้ได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ทองคำเขียว’ อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า การปลูกวานิลลา ในโรงเรือน เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการค้า เพราะง่ายต่อการดูแลรักษา ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช เกษตรกรสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมภายในและรอบๆ โรงเรือนได้ ทำให้ได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพดี

การปลูกวานิลลา ในโรงเรือน เริ่มต้นด้วย…..

การเตรียมโรงเรือน

  • ลักษณะที่ดีของโรงเรือนปลูกวานิลลานั้น ควรถ่ายเทอากาศได้ดี
  • ใช้พลาสติกใสคลุมหลังคาโรงเรือน ช่วยกันแดดและฝน
  • ใช้วัสดุกรองแสง เช่น ซาแรน 50 ถึง 70 เปอร์เซนต์
  • ใช้วัสดุที่แข็งแรง และมีอายุการใช้งานได้นาน หรืออยู่ได้ถาวร ทำเสา หลักเลี้อย และค้าง เพราะวานิลมีอายุอยู่ได้ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ความสูงของหลักเลื้อยไม่ควรเกิน 2 เมตร เพื่อความสะดวกในการทำงานของเกษตรกร

วัสดุปลูก

  • ระบายน้ำและอากาศได้ดี
  • มีอินทรียวัตถุสูง

การขยายพันธุ์ และการปลูก
วานิลลาขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำเถาของลำต้น

  • เลือกตัดเถาที่แข็งแรง มีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ให้มีใบติดเถา 1 ใบ
  • นำวัสดุปลูกใส่ลงในถุง และปักชำเถาลงไป หรือ ปลูกลงในแปลงปลูกให้ชิดหลักที่ใช้ยึดเกาะ เว้นระยะห่างระหว่างแถว 2.50 เมตร ระหว่างต้น 1.50 เมตร

การดูแลรักษา

  • ให้น้ำ และ ให้ปุ๋ย พร้อมกัน อย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2 ถึง 3 ครั้ง
  • เลี้ยงเถาขึ้นค้าง โดยบังคับเถาให้เลื้อยขึ้นค้างสูงไม่เกิน 2 เมตร

การออกดอก

  • วานิลลาจะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 3 ปี หลังการปลูก และจะให้ดอกเต็มที่เมื่ออายุได้ 7 ถึง 8 ปี หลังการปลูก ดอกวานิลลาออกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อละประมาณ 6 ถึง 15 ดอก ดอกวานิลลาจะบานจากโคนถึงปลายช่อครั้งละ 1 ถึง 3 ดอก ออกดอกปีละ 1 ครั้งในเดือนพฤศจิกายน และจะบานในเดือนกุมภาพันธุ์

การผสมเกสร
ขั้นตอนนี้คือ ข้อเสียของวานิลลา ที่ผสมเกสรตามธรรมชาติได้น้อยมาก เกษตรกรผู้ปลูกวานิลลาต้องทำการผสมเกสรด้วยมือ ซึ่งดอกวานิลลาจะบานแค่ 1 วันเท่านั้น ช่วง 6 โมงเช้า ถึงเที่ยงวัน หากไม่มีการผสมเกสร ดอกจะร่วงโรยภายใน 1 ถึง 3 วัน

วิธีผสมเกสร

  • ใช้วัสดุปลายแหลมเขี่ยละอองเกสรตัวผู้ออกมา แล้วเปิดฝาปิดละอองเกสรตัวเมียออก ใส่ละอองเกสรตัวผู้ไปในช่องละอองเกสรตัวเมีย ควรเลือกผสมเกสรดอกที่อยู่บริเวณโคนช่อดอก เพราะดอกจะห้อยลง ฝักที่ได้จะชี้ตรง ในการผสมนี้จะได้ปริมาณ 4 ถึง 8 ฝักต่อช่อ

การตัดฝักและเก็บเกี่ยว
โดยปกติ หลังการผสมเกสรประมาณ 7 ถึง 9 เดือน สามารถเก็บฝักได้ หรือถ้าอากาศเย็น อาจต้องรอถึง 12 เดือน เพราะวานิลลาชอบอากาศร้อนชื้น

  • ใช้กรรไกรตัดกิ่งตัดเฉพาะฝักที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ที่บริเวณปลายฝัก

การบ่มฝัก หรือ การแปรรูป
ฝักวานิลลาที่เก็บเกี่ยวแล้ว ต้องอบ หรือแปรรูป จึงจะนำไปใช้ได้

วิธีบ่มฝัก

  1. เริ่มจาก การฆ่าเชื้อ หรือทำให้เหี่ยว ด้วยการลวกในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส นาน 4 นาที นำขึ้นสะเด็ดน้ำ
  2. ห่อฝักที่ลวกแล้วด้วยผ้าสักหลาดสีดำ นำไปเก็บไว้ในกล่องไม้สน 24 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนด
  3. นำออกจากห่อไปตากแดด เรียงแผ่ออก ช่วงที่ร้อนจัดตั้งแต่เที่ยง ถึงบ่ายสองโมง แล้วเก็บเข้ากล่องไม้สน ทำขั้นตอนนี้ซ้ำกันจนครบ 7 วัน
    ***ต้องใช้กล่องไม้สน เพราะไม่ทำให้กลิ่นของวานิลลาเปลี่ยน***
  4. เมื่อครบ 7 วัน ขั้นตอนต่อไปคือ การทำให้แห้งอย่างช้าๆ โดยการวางฝักวานิลลาในตะกร้า ผึ่งไว้ในห้องที่อุณหภูมิห้อง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป สีฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
  5. ขั้นตอนสุดท้ายคือ การปรับสภาพฝักวานิลลา
  • มัดฝักวานิลลารวมกัน มัดละไม่เกิน 200 กรัม
  • ห่อด้วยกระดาษไข เก็บไว้ในกล่องไม้สน บ่มนานประมาณ 2 เดือน
  • ฝักวานิลลาจะเกิดผลึก หรือวานิลลิน เป็นการสิ้นสุดการแปรรูป นำไปใช้ได้

โรคและแมลงศัตรูวานิลลา

โรควานิลลา
การปลูกวานิลลาในเขตร้อน เป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น

  • โรคใบและเถาเน่า
  • โรคแอนแทรคโนส
  • โรคจุดไหม้สีน้ำตาล
  • โรคสาหร่ายสนิม
  • โรคเหี่ยว เถาแห้ง ต้นตาย
    หรือ โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคใบจุด
    การแก้ไข และกำจัด
  • หากเสียหายไม่มาก ให้ใช้วิธีตัดแต่ง และนำไปทำลาย
    หรือ
  • ใช้เชื้อรา ไตรโคเดอร์มา กำจัด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ หอยทาก

แมลงศัตรูวานิลลา
หอยทาก
การแก้ไขและกำจัด

  • จับไปทำลาย
    เพลี้ยอ่อน ทำลายใบและยอด
    หรืออาจพบ ตัวมวน หรือ ไร บ้าง
    การแก้ไขและกำจัด
  • ใช้ บาซิลลัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียกำจัดหนอน

***เนื่องจากวานิลลา เป็นกล้วยไม้เพื่อการบริโภค ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช***

ติดตามบทความ…

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.youtube.com การปลูกวานิลลาในโรงเรือน: สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *