การทำปุ๋ยหมักวิธีใหม่แบบไม่กลับกอง
การทำปุ๋ยหมักวิธีใหม่แบบไม่กลับกองวิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1
เป็นผลการค้นคว้าวิจัยของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี พ.ศ. 2552 เกิดนวัตกรรมใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี ปริมาณมากครั้งละ 10-100 ตัน มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน ด้วยกรรมวิธี การทำปุ๋ยหมักวิธีใหม่ แบบไม่กลับกอง เรียกว่า ‘วิศวกรรมแม่โจ้1’ การทำปุ๋ยหมักวิธีใหม่ ไม่ส่งผลเสียใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่น น้ำไม่เสีย ใช้วัตถุดิบมีเพียงเศษพืช กับมูลสัตว์เพียง 2 อย่างเท่านั้น
ส่วนผสม
- เศษพืช : ฟางข้าว เศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผักตบชวา 4 ส่วน
- มูลสัตว์ 1 ส่วน
- เศษใบไม้ 3 ส่วน
- มูลสัตว์ 1 ส่วน
วิธีทำ
1.นำฟางข้าว หรือเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 ส่วน กองเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.50 เมตร ไม่ต้องย่ำ (หรือ ไม่ต้องเหยียบ) โรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ (ตัวอย่างเช่น วางฟาง 16 เข่ง หนา 10 เซนติเมตร โรยทับด้วยมูลสัตว์ 4 เข่ง เป็นต้น) ทำ 15-17 ชั้นด้วยขั้นตอนเดิม รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้นขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูง 1.50 เมตร กองปุ๋ยจะมีความยาวเท่าไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ ความสำคัญของการที่ต้องทำเป็นชั้นบางๆ 15-17 ชั้น เพื่อให้จุลินทรีย์ในมูลสัตว์ได้ใช้ธาตุคาร์บอนในเศษพืช และธาตุไนโตรเจนในมูลสัตว์ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ ช่วยให้การย่อยสลายเป็นไปอย่างรวดเร็ว
2.รักษาความชื้นในกองปุ๋ยให้เหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลา (ความชื้นควรอยู่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์) โดยมี 2 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยวันละครั้ง โดยไม่ให้มีน้ำไหลนองออกมาจากกองปุ๋ยมากเกินไป
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อครบ 10 วัน ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทำขั้นตอนที่ 2 นี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย ขั้นตอนนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงฤดูฝนก็ยังต้องทำเพราะน้ำฝนไม่สามารถไหลซึมผ่านเข้าไปในกองปุ๋ยได้ จากข้อดีที่น้ำฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้ เกษตรกรจึงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ในฤดูฝนได้ด้วย
ภายในเวลา 5 วันแรก กองปุ๋ยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก บางครั้งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับกองปุ๋ยที่ทำได้ถูกวิธี ความร้อนสูงเกิดจากจุลินทรีย์ย่อยสลายเศษวัสดุต่างๆ ในกองปุ๋ย หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลงจนมีค่าปกติเมื่ออายุ 60 วัน
3.เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะยุบตัวเหลือความสูงเพียง 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัว และไม่เป็นอันตรายต่อรากพืช การทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำได้โดยทิ้งไว้ในกองเฉยๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายให้มีความหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3-4 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ก็อาจนำปุ๋ยที่แห้งแล้วไปตีป่นให้มีขนาดเล็กสม่ำเสมอ เก็บได้นานหลายปี (ราคาจำหน่ายประมาณกิโลกรัมละ 5-7 บาท) กองปุ๋ยที่สูง 1.50 เมตร สามารถเก็บกักความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายของจุลินทรีย์เอาไว้ในกองปุ๋ย ความร้อนนี้นอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับจุลินทรีย์ชนิดที่ขอบความร้อนสูงที่มีในมูลสัตว์แล้ว เมื่อความร้อนนี้ลอยตัวสุงขึ้นจะทำให้อากาศภายนอกที่เย็นกว่าไหลเวียนเข้าไปภายในกองปุ๋ย ซึ่งเกิดจากการพาความร้อน อากาศภายนอกที่ไหลหมุนเวียนเข้ากองปุ๋ยนี้ ช่วยทำให้เกิดสภาวะการย่อยสลายของจุลินทรีย์แบบใช้ออกซิเจน ทำให้ไม่ต้องมีการพลิกกลับกอง และช่วยให้กองปุ๋ยไม่มีกลิ่น ไม่มีน้ำเสีย
หัวใจสำคัญ ของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี ‘วิศวกรรมแม่โจ้1’
หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ คือ ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกกองปุ๋ยด้วยวิธีการ 2 ขั้นตอนข้างต้น บริเวณใดที่แห้งเกินไปหรือแฉะเกินไปจุลินทรีย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้วัสดุไม่ย่อยสลาย กระบวนการอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนถึง 1 ปี ก็ได้
ข้อห้าม ของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี ‘วิศวกรรมแม่โจ้1’
ข้อห้ามของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้คือ
1.ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย หรือเอาดินปกคลุมด้านบนกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่สามารถไหลถ่ายเทได้
2.ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไป จะทำให้ระยะเวลาแล้วเสร็จนานและปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ
3.ห้ามวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไป การวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไปจะทำให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้
4.ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยอาจทำให้ต้นไม้ตายได้
5.ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย
เศษพืชทุกชนิดสามารถนำมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ได้ เช่น ฟางข้าว ซังและเปลือกข้าวโพด ผักตบชวา เศษผักจากตลาด และเศษใบไม้สดและแห้ง เป็นต้น ส่วนมูลสัตว์สามารถนำมาใช้ได้ทั้งมูลโค มูลไก่ และมูลสุกร ทั้งแห้งและเปียก โดยพบว่า ฟางข้าว ผักตบชวา และเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเศษพืชที่ย่อยสลายได้ง่ายที่สุด ส่วนเมล็ดลำไยหรือลิ้นจี่ก็สามารถนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ แต่ต้องนำไปตีป่นเครื่องย่อยเศษพืชเสียก่อน
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้จะช่วยลดการเผาฟางข้าวในนาได้ โดยการไถกลบตอซํงแล้วนำฟางข้าวกับมูลสัตว์ขึ้นกองปุ๋ยวิธีใหม่นี้ในนาใกล้แหล่งน้ำ เมื่อปุ๋ยอินทรีย์แห้งหรือถึงฤดูการเพาะปลูกก็นำไปใช้ในอัตรา 500-1,000 กิโลกรัม ต่อ ไร่ แล้วไถกลบไปพร้อมกับการเตรียมดินได้เลย ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการขนวัสดุได้มากปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกผักอินทรีย์ คือ 500-2,000 กิโลกรัม ต่อ ไร่ หรือ 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร
การทำกองปุ๋ยยาว 4 เมตร จะให้ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตัน ใช้มูลสัตว์ประมาณ 30 กระสอบ คิดเป็นต้นทุนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตันละ 750 บาท ในขณะที่ราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ในท้องตลาด คือ ตันละ 5,000-7,000 บาท
การทำปุ๋ยหมักปริมาณน้อยในเข่งหรือตะกร้าแบบไม่พลิกกลับ
การทำปุ๋ยหมักแบบนี้เหมาะกับเศษใบไม้ในบ้านที่มีปริมาณไม่มาก เป็นการจำลองวิธีวิศวกรรมแม่โจ้1 ไว้ในตะกร้าผ้าหรือเข่งพลาสติก ที่มีรูระบายอากาศด้านข้างได้
วิธีทำ นำใบไม้วางในเข่งพลาสติกหรือตะกร้าให้หนาประมาณ 5 เซนติเมตร โรยมูลสัตว์ในอัตราส่วน ใบไม้ 3 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ นำใบไม้วางอีก 5 เซนติเมตร แล้วโรยมูลสัตว์อีกในสัดส่วน 3 ต่อ 1 แล้วรดน้ำ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเต็ม ด้านบนสุดโรยมูลสัตว์การดูแลความชื้นโดยการรดน้ำรอบๆ วันละครั้ง และทุก 10 วัน ให้ใช้สายยางเปิดน้ำแล้วเสียบลงไปในเข่งลึกๆ ระยะห่างของรูที่เสียบประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อครบ 2 เดือน ให้คว่ำเข่งหรือตะกร้าลงในกะละมัง แกะใบไม้ส่วนที่ไม่ย่อยออก ส่วนที่เหลือจะเป็นปุ๋ยหมักทั้งหมด ทิ้งปุ๋ยหมักให้แห้งแล้วนำไปใช้หรือเก็บใส่กระสอบ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูลจาก ka.mahidol.ac.th/…/file/…/คู่มือการผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง)