การดูแลเมล่อนหลังการปลูก
การดูแลเมล่อน หลังการปลูก เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการปลูกเมล่อน เพราะเมล่อนเป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ตามที่เคยกล่าวถึงไว้ในบทความ การปลูกเมล่อน ในโรงเรือน ว่าโรคและแมลงศัตรูพืช สามารถเข้าทำลายเมล่อนได้ในทุกระยะของการปลูก โดยเฉพาะ การเด็ดแขนงยอด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนแนะนำให้ปลูกเมล่อนในโรงเรือนที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคและแมลง รวมทั้งบริหารจัดการได้ง่ายในเรื่อง การดูแลเมล่อน หลังการปลูก
ขั้นตอน การดูแลเมล่อน
เด็ดแขนงยอด การเด็ดแขนงยอด ควรทำในช่วงเช้า เพราะเมื่อเด็ดแขนงแล้วลำต้นจากเป็นแผลจากแขนงที่ถูกเด็ดออกไป ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อราชอบเข้าไปทำลายต้นจากทางบาดแผล แสงแดดในตอนกลางวันจะช่วยให้แผลแห้ง ช่วยป้องกันเชื้อราโดยวิธีธรรมชาติ หรือถ้ามีฝนตก หรืออากาศชื้น ให้ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ในตอนเย็น หลังการปลูกกล้า 10 ถึง 15 วัน เด็ดใบเลี้ยง คือใบที่งอกตอนเพาะ ออกก่อน เด็ดแขนงข้อที่ 1 ถึง 8 ออก ให้เหลือแต่ลำต้น ส่วนข้อที่เหลือไปถึงยอด เก็บไว้สำหรับการผสมเกสร หมั่นตรวจสอบการแตกแขนง ถ้าแตกออกมาใหม่ ให้เด็ดออก ใช้มือเด็ดให้ชิดลำต้นพอประมาณ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนแขนงยาว ให้ใช้กรรไกรตัดอย่าให้ชิดลำต้นมาก เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่ จะเกิดการผสมเกสร ควรตัดใบออก ให้เหลือประมาณ 20 ถึง 25 ใบ ต่อต้น เพื่อให้อาหารส่งไปเลี้ยงลูกเมล่อนได้เต็มที่
การให้น้ำ
ให้น้ำเมล่อนด้วยระบบน้ำหยด ในช่วงเช้า ทุกวัน ๆ ละ 30 นาที หรือเพิ่มปริมาณการให้น้ำจนดินชุ่ม ถ้าอากาศร้อนจัด แต่น้ำต้องไม่ขังในถุงปลูก เพราะเมล่อนไม่ชอบ
การให้ปุ๋ย
หลังจากให้ปุ๋ยในการปลูกกล้าครบ 7 วันไปแล้วนั้น สามารถให้ปุ๋ยทางน้ำได้ทุก 7 วัน ตามวิธีการให้ในครั้งแรก (ติดตามในบทความ การปลูกเมล่อน ในโรงเรือน) หรือ ให้ 3 ระยะ อายุ 25 วัน, 50 วัน และ 65 วัน หลังการปลูก ควรทำตารางบันทึกการทำงานไว้เพื่อความสม่ำเสมอในการดูแล และ ให้อีกครั้งหลังการติดผล เมื่อเมล่อนมีอายุได้ 27 ถึง 30 วัน หลังการปลูก จะเริ่มผสมเกสร เมื่อติดผลแล้วให้นับไป 35 วัน หรือ 45 วัน หรือ 50 วัน (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) สำหรับการกำหนดวันเก็บเกี่ยว
การป้องกันเชื้อรา ป้องกันโคนและรากเน่า
หลังการปลูกเมล่อนได้ 60 วัน ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า หรือน้ำส้มควันไม้ แต่ถ้ามีฝนตกชุกในระยะหลังการปลูก ให้หมั่นตรวจสอบอย่างละเอียด หากพบเชื้อราให้ทำการแก้ไขทันที เพื่อป้องกันการลุกลามและความเสียหาย
การใช้น้ำส้มควันไม้
- เพื่อป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าจากเชื้อรา ในอัตราส่วน น้ำส้ม 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ1 ลิตร
- เพื่อป้องกันศัตรูพืช ขับไล่แมลงทุกชนิด และเชื้อรา ผสมน้ำราดรดโคนต้น ทุก 7 วัน ในอัตราส่วน น้ำส้ม 5 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือน้ำส้ม 10 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ปี๊ป
การแขวนผลเมล่อน
คือ การช่วยพยุงผลและเถาเมล่อน อาจทำเป็นถุงตาข่ายหลวมๆ ให้มีพื้นที่การขยายผลให้ใหญ่ขึ้น สวมผลเมล่อนแล้วใช้เชือกรั้งไว้ หรือ ใช้เชือกรั้งขั้วผลไว้ให้ตึง เพื่อป้องกันการถ่วงน้ำหนักเมื่อผลเมล่อนใหญ่ขึ้น ***เมื่อเก็บเกี่ยวผล ควรหาภาชนะมาใส่ผลเมล่อนที่เก็บเกี่ยวได้ ไม่ควรวางเมล่อนไว้บนพื้น และควรเก็บผลเมล่อนเพื่อรอการจำหน่ายไว้ในที่อุณหภูมิไม่สูง อากาศถ่ายเท และไม่โดนแดด เพื่อลดการหายใจของตัวเมล่อน*** ส่วนใหญ่ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน จะเก็บผลไว้เพียง 1 ถึง 2 ผลต่อต้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุณภาพและราคาสูง
การเพิ่มความหวานให้ผลเมล่อน
ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ลดปริมาณน้ำลงทีละน้อย 5 วัน
2 วันก่อนการเก็บเกี่ยว ให้ลดปริมาณน้ำลงจนต้น และใบเหี่ยว
วิธีนี้ จะทำให้ความหวานไปอยู่ที่ผลเมล่อน
การเก็บเกี่ยวผลเมล่อน
เมื่อครบกำหนดเก็บเกี่ยว หรือ เมื่อเปลือกเริ่มมีความนิ่ม ลายรอบผลชัดขึ้น ขั้วผลมีลักษณะเหมือนแตกลายงา ให้ใช้กรรไกรตัดกิ่ง ตัดให้เหลือขั้วขาวจากผลประมาณ 3 ถึง 4 นิ้ว
การเก็บรักษาผลเมล่อน
- ผลเมล่อนจะเก็บรักษาไว้ได้ประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรค และแมลงติดมาด้วย
- หลังจากเก็บเกี่ยว ให้ทำความสะอาดผล และเก็บที่ที่ไม่ร้อน ไม่อับอากาศ และไม่ถูกแสงแดด หรือเก็บไว้ในตู้เย็นโดยไม่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว - นำวัสดุปลูกไปตากแดดจัดๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรค 7 วัน จึงนำมาใช้ใหม่ได้
- ดินจากถุงปลูกที่เป็นโรค ให้นำไปทิ้ง
- เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดกับการปลูกเมล่อน ควรใช้วัสดุปลูกชุดใหม่
การเก็บเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้ปลูก เก็บไว้ได้นาน ไม่เกิน 1 ปี หรือ ดูจากวันหมดอายุ ที่ซองเมล็ดพันธุ์ เมื่อพ้นกำหนดเมล็ดพันธุ์จะมีอัตราการงอกได้ต่ำ โดยมาก นิยมเก็บไว้ในตู้เย็น นอกจากนี้แล้ว ผู้ปลูกเมล่อน หรือเกษตรกร สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูก ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกในครั้งต่อไปได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์แบบเปียก
ให้คัดเลือกผลเมล่อนที่สมบูรณ์ ได้น้ำหนักดี สวย รูปทรงดี รสชาติหวาน นำมาคว้านเมล็ด
เมล็ดเมล่อน จะมีเยื่อหุ้ม และเมือกลื่น ๆ อยู่ ถ้าใช้มือแกะออกตอนนี้จะทำไม่ได้เพราะเมล็ดมีความลื่นมาก ควรใช้ช้อนเขี่ยเมล็ดออกใส่ภาชนะ จากนั้น แช่น้ำทิ้งไว้ 3 วัน ถ้าใช้นิ้วมือตรวจสอบดูว่าเยื่อและเมือกหมดไป ให้นำไป ผึ่งแดดให้แห้งประมาณ 1 วัน แต่ไม่ควรผึ่งแดดที่จัดเกินไป และไม่ควรผึ่งแดเกิน 1 วัน เพราะจะทำให้เซลล์พืชตาย
นำเมล็ดที่ผึ่งแดดแห้งแล้วมาคลุกกับแป้งเย็นทาตัว เพื่อให้มีกลิ่นฉุน ป้องกัน มด แมลง จิ้งหรีด และสัตว์อื่นๆ ที่จะมากินเมล็ดที่ทำการเพาะปลูกใส่เมล็ดพันธุ์ที่คลุกแป้งเย็นแล้วลงในกระปุก เขียนบันทึกวันที่จัดเก็บ แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น รอการนำไปใช้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.kasetthaiway.songkhlahealth.org, www.organicfarmthailand.com, www.vegetweb.com)