แมลงศัตรูมะนาวและปัญหาของการปลูกมะนาว
แมลงศัตรูมะนาว และ ปัญหาของการปลูกมะนาว เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการดูแลมะนาวหลังการปลูก เช่นเดียวกับโรคของมะนาวที่เคยนำเสนอในบทความ การป้องกันและแก้ไข โรคของมะนาว ปัญหาของการปลูกมะนาว ด้านต่างๆ จะไม่เกิด หรือมีโอกาสเกิดน้อยที่สุดหากเกษตรกรดูแล บำรุงรักษา มะนาว อย่างดีและเป็นประจำ แต่หากมะนาวที่ปลูกไว้เกิดความเสียหายขึ้น จากกรณีใดกรณีหนึ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ เกษตรกรควรรีบแก้ไข หรือปฏิบัติตามวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิด ปัญหาของการปลูกมะนาว ในครั้งต่อไป ดังนี้
แมลงศัตรูมะนาว
หนอนชอนใบ
หนอนชอนใบส้มเป็นศัตรูตัวฉกาจของมะนาว ระบาดมากในฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม หนอนชนิดนี้ไม่มีขา ตัวสีเขียว เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน ชอนไชเป็นทางขาวใสวนไปมาบนใบอ่อนของมะนาว จนใบบิดม้วนเสียรูป กัดกินผิวใบ และเกิดโรคแคงเกอร์ตามมา
การป้องกันและกำจัด
- ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ อัตราส่วน 150 ถึง 200 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ตามใบอ่อน และทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน ให้ฉีดพ่นป้องกันไว้ก่อนได้
- เชื้อบีทีชีวภาพ 50 – 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นทุก 7 วัน ถ้าระบาดหนักให้ลดการฉีดพ่นเป็น ทุกๆ 3 วัน
- หมัก เชื้อบีทีชีวภาพ 5 กรัม หมักขยายกับน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ผล หรือนมยูเฮชที 1 กล่อง หรือนมถั่วเหลือง ทิ้งไว้ 24 – 48 ชั่วโมง แล้วนำมาผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นช่วงเย็นแดดอ่อน ระยะการฉีดพ่นเหมือนข้างต้น เพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน และผลอ่อน ใบจะแข็งกระด้าง เปราะ ฉีกขาดง่ายเมื่อถูกทำลาย ผลแคระแกร็นผิดรูปร่าง ระบาดในช่วงที่ฝนแล้ง อากาศอุ่นชื้น
การแก้ไข
- เคาะใบมะนาวบนกระดาษขาว หากพบให้กำจัดทิ้ง
- ใช้มวนตัวห้ำ หรือ ไรตัวห้ำกำจัด
- ฉีดน้ำเหนือพุ่มต้นมะนาวลดการระบาด
- ให้ผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี 2 ช้อนโต๊ะ กับน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใบช่วงเวลาเย็นเวลาแดดอ่อน และฉีดเป็นประจำทุกๆ 7 วัน เพื่อป้องกันเพลี้ยไฟ
- ใช้สารสกัดจากสะเดา หรือน้ำส้มควันไม้ ฉีดพ่นกำจัด
การป้องกัน - ให้น้ำเหนือพุ่มต้น ในฤดูร้อนหรือแล้ง ป้องกันเพลี้ยไฟ
ไรแดง
ทำลายเซลล์ผิวใบแก่ ใบเป็นสีเขียวจางหรือซีด หน้าใบไม่มีความมัน แต่มีคราบผงคล้ายฝุ่นหรือผงสีขาวจับ
ทำลายผลอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยง สีผลซีดลง ดูกระด้าง ระบาดมากช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง อากาศอุ่นชื้น
การแก้ไข
- ใช้เชื้อราบิวเวอเรียฉีดพ่น อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมกับสารจับใบ หรือเชื้อที่ขยายแล้ว 200 ซีซีผสมน้ำ 200ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นที่มีแสงแดดอ่อน โดยฉีดพ่นให้ถูกตัวไรแดงหรือบริเวณที่ไรแดงอาศัยอยู่
- ใช้เชื้อรา 5 พิฆาต รวมสารชีวภัณฑ์ 5 สายพันธุ์ ช่วยกำจัด ไข่ หนอน และตัวแมลง
วิธีการใช้ : อัตราส่วนการใช้เชื้อรา 5 พิฆาตในอัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เริ่มต้นจาก ผสมน้ำ 5 ลิตร ในถังตวง ผสมสารจับใบสำหรับชีวภัณฑ์ 4 ถึง 6 ซีซี กวนให้เข้ากัน ตักหัวเชื้อใส่ลงไป 50 กรัม กวนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ ครึ่ง ถึง 1 ชั่วโมง เทน้ำใสๆ เข้าไปในถังฉีดพ่นส่วนกากเลี้ยงเชื้อก้นถังเททิ้งไป เติมน้ำให้ครบ 20 ลิตร กวนให้เข้ากันอีกครั้ง ฉีดพ่นได้ทันที
การป้องกัน
- กําจัดวัชพืชในสวนมะนาว ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งหลบซ่อนของไรแดง
- หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่ไรแดงชอบอยู่อาศัยในสวนมะนาว หรือบริเวณใกล้เคียง เช่น ส้ม มะละกอ ทุเรียน หรือพืชตระกูลถั่ว
- ใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมไรแดงตามธรรมชาติ
- ใช้การฉีดพ่นน้ำ หรือ ใช้ระบบน้ำเหวี่ยงหรือเครื่องฉีดพ่นน้ำ 1 ถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน ให้ใบมะนาวเปียกโชกทั่วทรงพุ่มเพื่อลดปริมาณไรแดงในช่วงฤดูแล้งให้อยู่ในระดับต่ำ (วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความชื้นให้กับศัตรูธรรมชาติให้ สามารถดํารงชีวิตอยู่และเพิ่มประมาณสูงขึ้นในช่วงแล้ง ซึ่งจะควบคุมประชากรของไรแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
แมลงค่อมทอง
เป็นแมลงปีกแข็ง ตัวสีเหลืองไข่ ปากคล้ายด้วง แมลงชนิดนี้จะกัดกินใบแก่กึ่งอ่อน ฤดูผสมพันธุ์อยู่ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม แมลงค่อมทองจะระบาดมาก มักอยู่เป็นคู่ ผสมพันธุ์กันบนใบของต้นมะนาว จากนั้นตัวเมียจะร่วงลง ไปวางไข่ในดิน ความเสียหายมีผลกับต้นมะนาวทุกช่วงอายุ เนื่องจากพื้นที่สังเคราะห์แสงบนใบจะน้อยลง แต่ใบไม่หลุดร่วงไป ทำให้ใบใหม่ไม่สามารถขึ้นมาแทนที่ได้ หากมีการระบาดจะทำให้ต้นมะนาวหยุดการเจริญเติบโตได้
การแก้ไข
- จับไปทำลาย โดยเก็บแมลงค่อมทองใส่ลงไปในขวดพลาสติกเปล่า หากมีปริมาณมากอาจผสมน้ำและน้ำยาล้างจานเพียงพอให้เกิดฟอง ฉีดพ่นให้ชโลมตัวของแมลงค่อมทอง
- ตัดใบที่พื้นที่ที่ถูกทำลายมากกว่า 50% ทิ้ง หากมีการระบาดมาก สามารถใช้สารเคมี Thiamethoxam กำจัดได้ หรือ ติดตามวิธีแก้ไขในหัวข้อ เชื้อรากำจัดแมลงศัตรูพืช
เพลี้ยแป้ง
เป็นแมลงประเภทปากดูด เพศผู้จะมีปีกและมีหน้าที่ในการผสมพันธุ์อย่างเดียว ซึ่งไม่มีผลเสียหายกับต้นมะนาวโดยตรง ส่วนเพศเมียไม่มีปีก มีสีขาว เคลื่อนตัวได้ค่อนข้างช้า มีหน้าที่ในการดูดน้ำเลี้ยง และวางไข่ขยายพันธุ์ต่อไป มักอยู่ในที่มีความชื้นมาก บริเวณตามซอกใบและขั้วผล อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม เพลี้ยแป้งจะดูดน้ำเลี้ยงจากต้นมะนาว อาจไม่เห็นความเสียหายในระยะแรก หากปล่อยไว้นานจำนวนของเพลี้ยแป้งจะมากขึ้นและเคลื่อนย้ายไปตามใบ เมื่อถึงบริเวณกลางใบเพลี้ยแป้งสามารถทำให้ใบบิดเบี้ยวได้ (เหมือนใบที่งอโค้งไปด้านหลัง) หากอยู่ที่บริเวณขั้วผล จะทำให้ผลมะนาวเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปรกติ และอาจชะงักการเจริญเติบโตได้
การแก้ไข
เพลี้ยแป้งเพศเมียจะขับถ่ายเป็นของเหลวข้นเหนียวมีรสหวาน มดจะใช้ของเหลวดังกล่าวเป็นอาหาร และมดจะปกป้องเพลี้ยแป้งจากศัตรูธรรมชาติ และช่วยย้ายเพลี้ยแป้งไปในที่ปลอดภัยหากมีการรบกวน ดังนั้นหากเราพบเพลี้ยแป้งแต่ไม่พบมด จะสามารถกำจัดเพลี้ยแป้งได้ง่ายมาก หากพบทั้งมดและเพลี้ยแป้ง ให้กำจัดมดก่อน อาจใช้สเปรย์กำจัดมดฉีดไปที่รังมดโดยตรง เมื่อไม่มีมดแล้วให้พกเหล็กปลายแหลมขนาดเล็กติดตัว เพื่อนำไปแหย่ไปตามซอกใบและขั้วผล และเขี่ยเพลี้ยแป้งออก หากมีปริมาณมากอาจผสมน้ำและน้ำยาล้างจานเพียงพอให้เกิดฟองฉีดพ่น หรือใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่น
การป้องกัน
- ตัดแต่งกิ่ง ให้ทรงพุ่มมีความโปร่งแสงแดดส่องทั่วถึง
ปัญหาของการปลูกมะนาวด้านอื่น ๆ
ต้นมะนาวโทรมลง – อาจเกิดจากรากลึก รากแน่น รากเน่า ให้คุ้ยดินดูในช่วงเย็นแดดไม่จัด
- รากลึก รากแน่น ให้ขุดต้นขึ้นมาปลูกใหม่ถ้าต้นมะนาวมีอายุน้อย แต่ถ้าต้นมะนาวมีอายุมากแล้ว ให้ปฏิบัติวิธีเดียวกันกับการขุดไม้ล้อม
- รากเน่าโคนเน่า ใช้จุลินทรีย์ไตรโคเดอร์ม่าแก้ไข ศึกษาวิธีใช้ที่ฉลากกำกับ
ต้นมะนาวโทรม กิ่งแห้ง ใบเหลือง ใบไหม้ ใบร่วง-อาจเกิดจากสภาพดินไม่สมบูร์ หรือ เป็น กรดเป็นด่างมากเกินไป หรือ ใส่ขี้เถ้ามากเกินไป หรือ ดินแน่นแข็ง เป็นดาน พืชจะไม่ตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ย
- ดินแน่นแข็ง แก้ไขโดยใช้สารละลายดินดาน ALS29
- ดินเป็นกรด แก้ไขโดยใช้กลุ่มวัสดุปูน
- ดินเป็นด่างก็ใช้กลุ่มของภูไมท์ซัลเฟตถุงสีแดง
- ใบเหลือง ใบไหม่ เกิดจากธาตุเหล็ก ทองแดง แมงกานีส ออกมามากจนเกินไปส่งผลให้เป็นพิษต่อใบมะนาว ( ติดตามวิธีแก้ไขในหัวข้อ ต้นมะนาวขาดธาตุอาหาร )
ต้นมะนาวขาดธาตุอาหาร
ไนโตรเจน (N)
- ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป ใบมะนาวจะหนากว่าปกติ สีเขียวเข้ม ลำต้นอวบอ่อน เซลล์ผิวเปลือกบาง ลำต้นไม่แข็งแรงเปราะหักล้มง่าย ออกดอกติดผลช้า ผลมะนาวแก่ช้า กลิ่นและรสไม่ดี
- ขาดธาตุไนโตรเจน มะนาวโตช้า แคระแกร็น ใบเล็ก ดอก/ผลร่วงง่าย
ฟอสฟอรัส (P) - ขาดธาตุฟอสฟอรัส ใบเล็ก สีใบเขียวหม่นไม่สดใส ก้านและเส้นใบสีเขียวอมม่วง ต้นไม่โตหรือโตช้า
แคลเซียม (Ca) - ขาดธาตุแคลเซียม ปลายรากแห้งตาย ระบบรากสั้น น้อย และคุณภาพไม่ดี ใบ ดอก ผลอ่อนบิดม้วนงอ สีผลจางซีด จุกผลสูง เปลือกหนา
กำมะถัน (S) - ขาดธาตุกำมะถัน ใบเหลืองซีดทั้งใบ ต้นมะนาวโตช้า เนื้อผลมาก รากเป็นปุ่มปม
แมกนีเซียม (Mg) - ขาดธาตุแมกนีเซียม ขอบใบสีซีดจางแล้วเปลี่ยนเป็นเหลืองอมแดงจนกระทั่งเป็นน้ำตาลแล้วแห้งตายในที่สุด อาการนี้จะเริ่มจากใบที่โคนกิ่งแล้วลามไปทางปลายกิ่ง ทำให้กิ่งนั้นเหลือแต่ใบที่ยอดที่ยังเขียวอยู่
โบรอน (B) - ได้รับธาตุโบรอนมากเกินไป เนื้อใบระหว่างเส้นใบเป็นสีเหลือง (คล้ายอาการขาดธาตุแมกนีเซียม) แล้วเปลี่ยนเป็นแห้ง ระบบรากเสีย เจริญเติบโตช้า
- ขาดธาตุโบรอน ไส้ หรือแกนกลางลำต้นเน่า ใบเหลืองซีดลาย ใบแก่บิดเบี้ยวเสียรูปร่าง
ทองแดง (Cu) - ได้รับธาตุทองแดงมากเกินไป ต้นโทรมเพราะลำเลียงธาตุอาหารไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของต้นไม่ได้ ถูกทองแดงขัดขวางไว้
- ขาดธาตุทองแดง อาการที่พบ คือ สีใบจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นเขียวอมน้ำเงิน ขอบใบจะม้วนงอขึ้น เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วแห้งตายไป เริ่มเกิดจากใบล่างไปสู่ใบบน ระบบรากชะงักการเจริญเติบโต เปราะหักง่าย ไม่แผ่ขยาย ต้นมะนาวมีการเจริญเติบโตทางสูงมากกว่าทางข้าง ออกดอกน้อย ช้า เกสรไม่สมบูรณ์
เหล็ก (Fe) - ขาดธาตุเหล็ก ใบยอดเหลืองซีดจัดเริ่มจากขอบใบขยายเข้าสู่ด้านในแล้วแห้งตาย ใบมีขนาดเล็ก ข้อปล้องระหว่างใบสั้น
แมงกานีส (Mn) - ขาดธาตุแมงกานีส ใบยอดเหลืองซีดทั้ง ๆ ที่เส้นใบยังเขียวสด อาจจะมีจุดสีเทาอมเหลืองทำให้ เหมือนอาการใบด่าง แขนงของยอดแคระแกร็น มักเกิดเมื่อต้นอายุ 4-6 เดือนหลังปลูก
โมลิบดินั่ม (Mo) - ขาดธาตุโมลิบดินั่ม ใบหนาสีเขียวอมเทา ขอบใบม้วนห่อขึ้นคล้ายกรวย บางครั้งขอบใบมีสีแดงโดยเริ่มจากโคนไปหายอด
สังกะสี (Zn) - ขาดธาตุสังกะสี สีใบซีดจาง (เหมือนขาดแมกนีเซียม) เริ่มจากขอบใบด้านในออกไปทางด้านนอก เนื้อใบมีสีเหลืองซีดสลับเขียว ปลายใบของกิ่งที่แตกแขนงใหม่แห้งตาย ผลสีซีด เปลือกหนา ผลมะนาวให้ปริมาณน้ำน้อย
การแก้ไข
- สังเกตอาการว่าตรงกับการขาดธาตุอาหารชนิดใด ให้บำรุงด้วยปุ๋ยที่มีธาตุอาหารชนิดนั้นสูงกว่าธาตุอาหารชนิดอื่น
- ปัญหาขาดธาตุรองธาตุเสริม ควรให้อาหารเสริมทางใบช่วยอีกทางหนึ่ง หรือจะให้ปุ๋ยทางดิน ด้วยกลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟ อย่าง พูมิชซัลเฟอร์ หรือ ภูไมท์ซัลเฟต เป็นต้น
การป้องกัน
- ดูแล บำรุง ให้น้ำ และปฏิบัติตามขั้นตอนการดูแลมะนาวหลังการปลูกอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบถ้วนและค่าธาตุอาหารเสมอกัน
ติดตามบทความ…
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.thaigreenagro.com, www.suanchevit.com, www.kasetkawna.com, www.chanapanmanaw.com, www.meehaythai.com, lemontip.blogsport.com, หนังสือ มะนาววงบ่อซีเมนต์ & ในกระถาง 5 ภาค สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)