ปัญหาในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
ปัญหาในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
มีไม่มากเหมือนการปลูกผักบนดิน และวิธีป้องกัน หรือกำจัดก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากจะให้ได้ผลที่สุด คือเกษตรกร หรือผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ควรปฎิบัติตามหลักการ และขั้นตอนต่างๆ อย่างเคร่งครัด และดูแลเอาใจใส่ผักไฮโดรโปนิกส์อย่างสม่ำเสมอ และถ้าผู้อ่านติดตามอ่านบทความนี้ ก็จะได้ทราบถึงปัญหาที่เป็นกระแสเกี่ยวกับผักไฮโดรโปนิกส์ในเรื่องของไนเตรท และเคล็ดลับแก้ไขปัญหานี้ง่ายๆ ให้เราได้รับประทานผักไฮโดรโปนิกส์ที่มีคุณภาพกันโดยปราศจากพิษภัย
เรามาเริ่มศึกษา ปัญหาในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ กันเลยนะคะ ว่ามีอะไรบ้าง?
ปัญหาในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ กับระบบ NFT
ผักสีไม่แดง ผักพวกที่มีสีแดง เช่น เรดโอ๊ค เรดคอรัล เมื่อปลูกแล้วสีอาจไม่แดงเข้ม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- พันธุ์ที่ใช้ปลูก ผักบางชนิดจะมีสีอ่อน บางชนิดสีเข้ม ต้องเลือกให้เหมาะ
- สภาพแวดล้อม เม็ดสีในใบผักสลัดมี 2 ชนิดคือ คลอโรฟิลล์ จะให้สีเขียวจำเป็นในการสังเคราะห์แสง และ แอนโธไซยานินส์ จะให้สีแดง ซึ่งในผักสลัดสีแดงจะมีทั้งสองตัวนี้ ถ้ามีแอนโธไซยานินส์มากก็จะเป็นสีแดงมาก ถ้ามีน้อย สีแดงก็จะจาง ซึ่งปริมาณคลอโรฟิลล์ และ แอนโธไซยานินส์ จะมีมากมีน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะปริมาณแสงและอุณหภูมิ โดยแอนโธไซยานินส์จะมีปริมาณมากขึ้นเมื่อแสงมากขึ้นและอุณหภูมิต่ำลง
ดังนั้นผักสลัดปลูกในหน้าหนาวจึงมีสีแดงเข้ม และถ้าปลูกผักในร่ม จะมีสีซีดลง ผักที่ปลูกในสารละลายเข้มข้นจะมีสีแดงเข้มกว่าผักในสารละลายเจือจาง นอกจากนี้การเพิ่มปริมาณ K ในสารละลายอาจจะช่วยเพิ่มความเข้มของสีได้ด้วย โดยสรุป การปลูกให้ผักมีสีแดงเข้ม ข้อที่สำคัญที่สุดคือ เลือกพันธุ์ที่มีสีแดงเข้ม บางพันธุ์จะมีสีแดงเข้มแม้ในหน้าร้อนต้องเลือกพันธุ์ให้ดี ถ้าไม่สามารถเลือกพันธุ์ได้ ก็ต้องปลูกในหน้าหนาว และให้ผักได้รับแสงเต็มที่ ซึ่งจะพบปัญหาผักที่ปลูกในโรงเรือนจะมีสีจางเนื่องจากหลังคาโรงเรือนลดความเข้มแสง และอุณหภูมิในโรงเรือนก่อนขาย 2-3 วันให้ผักได้รับแสงเต็มที่ก็ช่วยให้สีเข้มขึ้นได้บ้าง
อุปกรณ์ลดความร้อน
การลดอุณหภูมิบริเวณปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (ในแปลงผักและสารละลายธาตุอาหาร) เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยเพราะจะเป็นสิ่งกำหนดว่าการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในระบบ NFT จะประสบความสำเร็จหรือไม่ วิธีการลดอุณหภูมิที่ใช้อยู่ทั่วไปคือ
1. การพรางแสง โดยทั่วไปการพรางแสงซาแรนสีดำกว้าง 1-2 เมตร พรางแสง 50% ขึงเหนือรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในแนวเหนือใต้โดยขึงสองชั้นสลับกัน เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชั้น เพื่อช่วยในการระบายลมและลดความร้อน นอกจากนี้การขึงซาแรนสองระดับความสูงจะเกิดช่องว่างระหว่างชั้นซึ่งจะยอมให้แสงผ่านเข้ามาได้ ในช่วงตอนเช้าและบ่าย โดยบริเวณที่ถูกแสงโดยตรงจะเคลื่อนที่ตามการเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์
ดังนั้น จุดที่ถูกแสงโดยตรงจะไม่อยู่กับที่ จะเป็นการป้องกันไม่ให้ผักไฮโดรโปนิกส์ได้รับแสงมากเกินไปต่อเนื่องเป็นเวลานาน และผักจะไม่เหี่ยว และจะช่วยลดการยืดของผักในหน้าฝนเมื่อมีปริมาณแสงน้อย ปัญหาของการพรางแสง คือ ในฤดูฝน ช่วงที่อากาศมีเมฆมากติดต่อกันหลายวัน ผักไฮโดรโปนิกส์จะแสดงอาการยืดทำให้เสียรูป ไม่สามารถขายเป็นต้นได้ เนื่องจากแสงน้อยเกินไป และผักสีแดงสีจะไม่แดง ดังนั้น บางครั้งต้องมีการเอาซาแรนออกเพื่อเพิ่มปริมาณแสง แต่จะเป็นการยุ่งยากมากในการจัดการดังกล่าว การพรางแสงจะเป็นการช่วยลดอุณหภูมิบริเวณรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงหน้าร้อนการพรางแสงอย่างเดียวไม่เพียงพอ โดยจะสังเกตเห็นผักมีอาการเหี่ยวในช่วงที่แสงจัด
นอกจากนี้ ควรมีการออกแบบระบบเก็บซาแรนในช่วงที่มีแสงน้อยในหน้าฝน โดยอาจเป็นการม้วนเก็บซาแรน ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้การผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ในหน้าฝนมีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่วนวัสดุที่ใช้ในการพรางแสงที่นิยม:
แนะนำ ให้ใช้ ซาแรนสีดำ ช่วยพรางแสงตั้งแต่เริ่มเพาะกล้า
ซาแรนสีเทาเงิน ใช้พรางแสงได้ดีหลังการปลูกหรือเมื่อขึ้นโต๊ะปลูกแล้ว ราคาถูกกว่ซาแรนที่ทำจากประเทศอิสราเอลที่สะท้อนแสงได้ดีมาก
ไม่แนะนำให้ใช้ซาแรนสีเขียว เพราะสะท้อนแสงสีเขียวออกมา ผักไม่ต้องการแสงสีเขียวผักสะท้อนแสง สีเขียวออกมาอยู่แล้ว
2. การสเปรย์น้ำลดความร้อน จากการปลูกในสภาพกลางแจ้งผักสลัดจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในหน้าร้อน เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงเกินไป โดยเฉพาะอุณหภูมิสารละลาย การพรางแสงจะช่วยลดอุณหภูมิได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังสูงกว่าที่ผักสลัดจะเจริญเติบโตได้ เช่น ในช่วงเดือนเมษายน อุณหภูมิในร่มอาจสูงถึง 35 องศา และอุณหภูมิสารละลายจะอยู่ประมาณ 32-35 องศา ซึ่งผักจะชะงักการเจริญเติบโต และจะมีการเข้าทำลายของโรคโดยเฉพาะที่รก รากจะเป็นสีดำ
โรงเรือนแบบ Evaporative cooling
โดยการเข้าทำลายของเชื้อพิเทียม วิธีเดียวที่จะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในหน้าร้อนได้ต้องลดอุณหภูมิของบริเวณปลูกผักโดยเฉพาะที่บริเวณราก ซึ่งอาจทำได้โดยใช้โรงเรือนแบบ Evaporative cooling แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกวิธีหนึ่งคือ การพ่นน้ำให้ละอองเป็นฝอยให้ทั่วบริเวณปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งจะสามารถลดอุณหภูมิขณะพ่นฝอยได้ถึง 3-5 องศา และลดอุณหภูมิสารละลายได้ 3-5 องศา เช่นเดียวกันกับหลักการในการพ่นน้ำ ต้องพ่นให้เป็นละอองน้ำเล็กที่สุด เนื่องจากจะช่วยลดอุณหภูมิได้ดีที่สุด ซึ่งหลักการลดอุณหภูมิคือ เมื่อพ่นละอองน้ำให้เป็นฝอย เมื่อละอองน้ำระเหยกลายเป็นไอจะดูดความร้อนรอบๆ ทำให้อากาศเย็นลง ดังนั้น ละอองยิ่งละเอียดการระเหยของน้ำจะยิ่งมาก การลดอุณหภูมิก็จะมากด้วย แต่เนื่องจากการพ่นน้ำต่อเนื่องตลอดเวลา จะเป็นการสิ้นเปลืองน้ำและพลังงานมาก
นอกจากนี้ ใบผักจะเปียกตลอดเวลา และความชื้นจะสูงมากทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อที่เกิดที่ใบระบาดเช่น โรคใบจุด และการดูดใช้ธาตุอาหารพืชจะลดลง ดังนั้น ควรมีระบบตั้งเวลาและควบคุมอุณหภูมิ เช่น จะมีการตั้งเวลาให้ระบบพ่นน้ำทำงาน 1 นาที หยุด 8 นาที และจะหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศา และการตั้งเวลาต้องเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศ เช่น ในหน้าร้อนอาจต้องพ่นละอองน้ำให้นานขึ้น การพ่นน้ำยังช่วยลดอุณหภูมิของสารละลายด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่อุณหภูมิอากาศสูงมากๆ เช่นมากกว่า 38 องศา การพ่นน้ำก็สามารถลดอุณหภูมิให้เหลือได้เพียงประมาณ 33 องศา และอุณหภูมิสารละลายอยู่ที่ประมาณ 32 องศา ซึ่งเป็นช่วงที่ผักไฮโดรโปนิกส์เจริญเติบโตได้ไม่ดี โดยทั่วไปผลผลิตในหน้าร้อนอาจลดลงถึง 30-100% ดังนั้นผักสลัดในหน้าร้อนจะมีปริมาณน้อยมากซึ่งไม่พอกับความต้องการของตลาด หัวพ่นละอองน้ำก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเลือกใช้ให้ดี หลักการทั่วไป เลือกหัวพ่นน้ำที่มีอัตราไหลต่ำ และมีการพ่นได้ละอองที่ละเอียดที่สุด และหัวที่ใช้ต้องสามารถถอดล้างได้ เนื่องจากการพ่นละอองน้ำทางออกของน้ำจะมีขนาดเล็กมาก ดังนั้นมีโอกาสที่จะตันได้ง่าย จึงต้องเลือกหัวที่ถอดล้างได้ง่ายและที่หัวต้องมีระบบป้องกันน้ำหยด เนื่องจากการพ่นน้ำจะพ่นเป็นเวลาช่วงสั้นๆ 30-60 วินาที และหยุดช่วงยาวประมาณ 5-10 นาที ซึ่งถ้าหัวพ่นละอองน้ำไม่มีระบบป้องกันการหยด เมื่อปั๊มหยุดพ่นน้ำ น้ำในท่อสงน้ำ (ท่อ PE ขนาด 20มม.) จะไหลออกทางหัวพ่นน้ำที่ต่ำที่สุด ทำให้ท่อแห้ง
ดังนั้น เมื่อเริ่มพ่นน้ำครั้งต่อไป น้ำจากปั๊มจะต้องไล่อากาศที่อยู่ในท่อออกให้หมดก่อน ซึ่งอาจใช้เวลา 10-20 วินาที ทำให้หัวพ่นน้ำที่อยู่ต้นทางจะเริ่มพ่นน้ำก่อนส่วนหัวที่อยู่ไกลที่สุด ต้องใช้เวลาประมาณ 20 วินาที จึงเริ่มมีน้ำออก ถ้าตั้งเวลาการพ่นน้ำ 30 วินาที หัวพ่นน้ำหัวสุดท้ายจะพ่นน้ำแค่ 10 วินาที
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการลดอุณหภูมิจะลดลงมาก และจะเป็นการสิ้นเปลืองน้ำด้วย เพราะช่วงที่ไม่ได้พ่นน้ำ น้ำในที่จะไหลออกสูญเสียน้ำตลอดเวลา และน้ำที่ไหลออกถ้าถูกต้นผักก็จะเกิดการเสียหายได้ ซึ่งอุปกรณ์กันน้ำหยดจะแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ เมื่อระบบหยุดพ่นน้ำ น้ำจะไม่สามารถไหลผ่านหัวพ่นน้ำได้ทำให้ทุกส่วนของท่อเต็มไปด้วยน้ำ เมื่อเริ่มให้น้ำใหม่หัวพ่นน้ำทุกหัวจะทำงานพร้อมกัน ทั้งพื้นที่จะมีละอองน้ำเต็มพื้นที่หมด การลดอุณหภูมิจะมีประสิทธิภาพที่สุด หัวพ่นน้ำที่มีประสิทธิภาพดีอันหนึ่งคือหัวของ Netafim ชื่อ Coolnet หนึ่งหัวประกอบด้วยหัวพ่นละอองน้ำ 4 หัว วางแนวนอนรูปกากบาท อัตราน้ำไหลแต่ละหัวพ่นละอองน้ำ 7 ลิตร/ชั่วโมง ดังนั้น 4 หัวจะมีอัตราไหลรวม = 28 ลิตร/ชั่วโมง และจะมีอุปกรณ์ป้องกันการหยดอยู่ด้วย
จากกระแสที่เกี่ยวกับ ‘อันตรายที่เกิดจากการกินผักที่มีไนเตรทสูง’ นั้น อาจจะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์โดยตรง ดังนั้น เกษตรกรควรทำความเข้าใจและปฏิบัติตาม เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค และเพื่อรายได้ของเกษตรกร คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในอาหารเป็นสิ่งสำคัญหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อมารับประทานของผู้บริโภค ผักไฮโดรโปนิกส์ถือเป็นผักปลอดภัยด้วยขบวนการผลิตที่ควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ และมีความสะอาด แต่ปัญหาของไนเตรท หรือปริมาณอนุมูลไนโตรเจนที่มีอยู่มากในสารละลายธาตุอาหารนั้น หากไม่ควบคุมการผลิตให้ถูกวิธี อาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
โดยเฉพาะผู้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารไวเป็นพิเศษ จะคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด และปวดศีรษะ, ไนเตรทสามารถก่อปัญหาในการทำงานของต่อมไทรอยด์ และ เมื่อไนเตรทเข้าสู่ร่างกายของผู้บริโภคไปสู่ลำไส้ แบคทีเรียในลำไส้จะเปลี่ยนไนเตรทให้เป็นไนไตรท์ ไนไตรท์ขยายหลอดเลือดทำให้ความดันเลือดต่ำลง ผู้บริโภคจะเป็นลมหมดสติ, ตับไม่สามารถสะสมวิตามินA ส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ ทั้งยังก่อมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร อันตรายที่เกิดกับเด็ก ไนไตรท์จะทำปฏิกิริยากับร่างกาย เกิดอาการที่เรียกว่า โรคบลูเบบี้ เด็กจะตัวเขียวคล้ำ ขาดอากาศหายใจ และอาจตายในที่สุด
**ก่อนกินผักไฮโดรโปนิกส์ หรือ ก่อนนำผักไฮโดรโปนิกส์ออกขาย**
ถ่ายน้ำละลายสารอาหารออกจากท่อให้หมด แล้วสูบเอาน้ำเปล่า หรือน้ำสะอาดไปเลี้ยงหรือแช่ผักไว้ 7 วัน
วิธีนี้เป็นคำแนะนำที่พบอยู่เสมอ และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ เพื่อลดปริมาณไนเตรท แต่อาจทำให้ผักไฮโดรโปนิกส์บางชนิดขาดธาตุอาหารรอง เช่น ผักคะน้า ใบอาจเปลี่ยนสี ควรเติมธาตุเหล็ก และธาตุอาหารรองอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ ควรเก็บผักในวันที่มีแดด และควรเป็นช่วงบ่าย เพราะไนเตรทจะต่ำลง หากเก็บผักในช่วงที่มีแดดจัด ผักจะมีการนำไนเตรทมาใช้ประโยชน์มากกว่า การจัดการให้ผักได้รับแสงแดดอย่างพอเพียง ควรดูแลความหนาแน่นของแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ให้ผักบังแดดกันเองเพื่อให้ได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง
โรคและแมลงศัตรูพืชไฮโดรโปนิกส์
ระบบไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชแบบระบบปิดที่มีการใช้สารละลายธาตุอาหารหมุนเวียน มีข้อดีในการป้องกันแมลงศัตรูพืช และวัชพืช แต่มีข้อเสียจากการที่มีเชื้อโรคที่ติดกับสารละลายธาตุอาหาร ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ทั่วทั้งหมดเมื่อผักไฮโดรโปนิกส์ดูดสารละลายธาตุอาหารไปใช้
โรค แมลง และวัชพืช เป็นศัตรูของผักไฮโดรโปนิกส์ แต่เกษตรกรสามารถป้องกันได้ด้วยการจัดการเหล่านี้:
1. รักษาความสะอาดของโรงเรือน, วัสดุปลูก, รางปลูก, น้ำสารละลายธาตุอาหาร, อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ ให้ปลอดเชื้อโรค
2. กำจัดวัชพืชในโรงเรือนและบริเวณใกล้เคียง
3. ทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว ต้องทำความสะอาดโรงเรือน รางปลูก และอุปกรณ์ทุกชนิดด้วยคลอรีน(ความเข้มข้นของคลอรีนอยู่ที่ 5 มิลลิกรัมต่อลิตร) เพื่อฆ่าเชื้อโรค
โรคที่พบบ่อยในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มีดังนี้:
แม้ว่าประเทศไทยจะมาอากาศร้อนเกือบทั้งปี ซึ่งเป็นอุปสรรครบกวนผักไฮโดรโปนิกส์ แต่โรค และแมลงที่มารบกวนผัก ก็ติดสอยห้อยตามสภาพอากาศของแต่ละฤดูมาด้วยเช่นกันฤดูหนาว หนอนระบาด แนะนำให้กำจัดวัชพืช และใช้สารชีวภาพในการกำจัดฤดูฝน โรคใบจุด จริงๆ แล้ว โรคนี้เกิดขึ้นได้ทุกฤดูเมื่อมีความชื้นในอากาศสูง ไม่ว่าจะเป็นจากน้ำฝน จากการสเปรย์น้ำ จากการที่อากาศถ่ายเทได้ไม่ดี เกษตรกรสามารถกำจัดโรคนี้ได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ด้วยการริดใบที่เป็นโรคออก และฉีดพ่นด้วยน้ำที่ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาแทน (ข้อมูลจาก: ZEN HYDROPONICS)
ฤดูร้อน โรครากเน่าและโคนเน่าจากเชื้อพิเทียม ที่เกิดจากความร้อน เชื้อราจะเข้าไปทำลายระบบรากและโคนต้นทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำและอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ พืชจะเริ่มมีสีเหลืองซีดที่เส้นกลางใบก่อน จากนั้นลุกลามไปยังโคนใบจนถึงยอด เมื่อโดนแดดจัด ใบจะม้วนหรือเหี่ยว จนแห้งตายในที่สุด เมื่อมีการระบาดของโรคนี้—ต้องเก็บต้นผักไฮโดรโปนิกส์ที่เป็นโรคทิ้ง—เปลี่ยนน้ำสารละลายธาตุอาหาร—ให้อาหารทางใบด้วยระบบพ่นหมอกไปจนกว่ารากจะกลับมาแข็งแรง—พรางแสงลดการคายน้ำ—ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงในน้ำสารละลายธาตุอาหารเพื่อกำจัดเชื้อราพิเทียม และให้รากใหม่งอกออกมาอย่างแข็งแรง
แมลงศัตรูพืชไฮโดรโปนิกส์ที่พบบ่อย ได้แก่
เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน
ควรใช้ชีวภาพ กำจัดได้ สามารถทะลุมุ้งเข้าไปในโรงเรือนได้เพราะตัวเล็ก แต่การดูแลรักษาความสะอาดโรงเรือนให้ดี และหมั่นกำจัดวัชพืชบริเวณโรงเรือนเป็นประจำ แมลงจะไม่มารบกวน ถึงแม้ว่าโรงเรือนจะไม่กางมุ้งก็ตามไรแดง มาก่อนจะเข้าฤดูฝน และ ปลายฤดูฝน กำจัดได้ด้วย น้ำส้มควันไม้ หรือใช้ยาฉุน ผสมกับพริกตำ เมื่อได้ทราบถึงปัญหากันแล้ว ผู้อ่านสามารถติดตาม–การกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ด้วยสมุนไพร การป้องกันโรคของผักไฮโดรโปนิกส์ ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา และ การดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ เพื่อยังประโยชน์ให้ได้ผักไฮโดรโปนิกส์ที่มีคุณภาพต่อผู้บริโภค และให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องและมีผลกำไรที่ดี คุ้มค่ากับการลงทุน
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่