การเพาะเห็ด
การเพาะเห็ด
โดยธรรมชาติแล้ว เห็ด สามารถเกิดและเจริญเติบโตได้เอง คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ทำไมเราจึงต้องมีการเพาะเห็ด?
เพราะคุณประโยชน์ของเห็ดเป็นตัวผลักดันให้ เห็ด กลายเป็นพืชผักเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้คนนิยมบริโภคเห็ดกันมากขึ้น ทั้งในรูปแบบอาหาร และยาสมุนไพร จึงได้มีการพัฒนาเชิงวิชาการผสมผสานกับหลักธรรมชาติของเห็ด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น และมีคุณภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
เริ่มต้นเพาะเห็ด อย่างไรดี?
ถ้าเราสนใจเพาะเห็ดไว้บริโภคในครัวเรือน หรือ คิดไปไกลกว่านั้น คือ เพาะเห็ดเป็นธุรกิจ แต่ไม่มีประสบการณ์ ควรเริ่มต้นจาก…ซื้อก้อนเชื้อสำเร็จรูปมาทดลองดูก่อน
ก้อนเชื้อเห็ดสำเร็จรูปที่ว่านี้ มีการหยอดเชื้อมาแล้ว แค่เพียงรดน้ำให้เห็ดออกดอกก็นำมาปรุงอาหารรับประทานได้เลย เมื่อมีประสบการณ์ตรงนี้แล้ว ค่อยเพิ่มจำนวนและศึกษาวิธีการเพาะ เมื่อมีความชำนาญขึ้น จึงเริ่มลงทุนผลิตก้อนเชื้อ พัฒนาคุณภาพ เพิ่มผลผลิต และขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น แต่การเพาะเห็ดนั้น นอกจากความรู้ความสนใจที่ผู้ลงทุนมีแล้ว ยังต้องมีความอดทน มีเวลาที่จะดูแลเอาใจใส่ด้วยตนเอง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจาก การเพาะเห็ด ที่คุ้มค่ากับการลงทุน
ขั้นตอนแรกของ การเพาะเห็ด ต้องเริ่มจาก…..ทำความรู้จักกับ เห็ด ก่อนที่จะเริ่มทำการเพาะเห็ด ผู้อ่านสามารถทำความรู้จักกับ เห็ด ว่าเห็ดที่รับประทานได้มีอะไรบ้าง เห็ดมีคุณประโยชน์อะไรบ้าง มีโทษอะไรบ้าง จากบทความเรื่อง เห็ด เห็ดเป็นยา หรือ คุณสมบัติอื่นๆ ของเห็ด จากนั้นก็เลือกชนิดเห็ด—ง่ายที่สุด คือ เลือกตามความชอบ แต่ก็ต้องไม่ลืมปัจจัยที่ตามมาว่า ดูแลง่าย เหมาะสมกับสถานที่และสภาพอากาศ ให้ผลผลิตเร็ว และลงทุนสูงหรือไม่ เช่น ถ้าจะเพาะ เห็ดฟาง เพื่อรับประทานในครอบครัว การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า หรือในเสื่อ ถ้าเลือก เห็ดถุง อย่างเช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฎาน—โดยซื้อก้อนเชื่อสำเร็จรูปมาทดลองก่อน สามารถเพาะในชั้นวางคลุมด้วยซาแรน เพาะในโอ่งหรือบ่อซีเมนต์ แต่สำหรับเชิงการค้าหรือธุรกิจ ก็มีวิธีการเพาะเห็ดและขั้นตอนที่มากขึ้น ในบทความเรื่องการเพาะเห็ดนี้ได้กล่าวถึงขั้นตอนพื้นฐาน ความรู้และเทคนิคต่างๆ สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการเริ่มต้นเพาะเห็ด เป็นกิจกรรมเล็กๆ ในครัวเรือน จนขยายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น ก็สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก การเพาะเห็ดฟางแบบต่างๆ การเพาะเห็ดถุง เทคนิคการเพาะเห็ดถุง การเพาะเห็ดถั่งเช่า การผลิตเชื้อเห็ด ปัญหาในการทำเชื้อเห็ด การดูแลเห็ด การป้องกันและกำจัดศัตรูเห็ด การผลิตดอกเห็ด รวมถึง การแปรรูปเห็ด เมื่อเลือกชนิดเห็ดได้แล้ว ก็พิจารณาตามขั้นตอนเหล่านี้ :
หาซื้อเชื้อเห็ดได้จากที่ไหน
ถ้าต้องการซื้อเชื้อวุ้น ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร–จำหน่ายเชื้อวุ้นเกือบทุกชนิดที่เพาะได้ในประเทศไทย แต่ ถ้าต้องการซื้อ ก้อนเชื้อเห็ด ก็สามารถซื้อได้จากฟาร์มเห็ด หรือผู้ที่เพาะก้อนเชื้อเห็ดหรือเห็ดถุงจำหน่ายโดยตรง ซึ่งในปัจจุบันสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากเวบไซต์ เฟซบุ๊ค หรือสื่ออื่นๆ เพื่อติดต่อซื้อเชื้อเห็ดได้ง่ายๆ
การเลือกซื้อเชื้อเห็ด
- เลือกหัวเชื้อเห็ดที่ยังไม่เดินเต็มขวด เดินขนาดประมาณ 6-8 เซนติเมตร เพราะเป็นช่วงที่สามารถเห็นว่ามีเชื้ออื่นปนเปื้อนหรือไม่
- อย่าให้ถูกแสงแดดหรือความร้อนขณะขนส่ง เพราะจะทำให้เชื้อตายได้
- บริเวณหรือภาชนะที่ขนส่งควรสะอาด
- เมื่อได้เชื้อมาถึงสถานที่เพาะแล้ว ควรเก็บไว้ในที่สะอาดมิดชิด สามารถป้องกันแมลง ไร และสปอร์ของเชื้อราแข่งขันที่จะมาตกบนปากขวดได้
- อย่าเก็บเชื้อเห็ดไว้ในที่ร้อนและชื้น
- เคาะเชื้อเห็ดทิ้งไว้ 36-48 ชั่วโมงก่อนนำไปใช้ เพื่อดูว่ามีสิ่งปนเปื้อนหรือไม่ และเพื่อให้เชื้อเห็ดมีการแตกตัวใหม่
เพาะเห็ดอะไร ถ้าเริ่มต้นในช่วงฤดูร้อน
ควรเป็นเห็ดเขตร้อน หรือเห็ดที่ชอบอากาศร้อน เช่น เห็ดลม (เห็ดบด) เห็ดขอนขาว เห็ดเป๋าฮื้อ (ชอบร้อน-ฝน) เห็ดถั่ว (เห็ดโคนน้อย) เห็ดฟาง เห็ดขอนดำ เห็ดตระกูลนางรม
วิธีการเพาะเห็ด
ในปัจจุบันมีวิธีการเพาะเห็ด 3 แบบ คือ
- การเพาะเห็ดกลางแจ้ง ได้แก่ การเพาะเห็ดฟาง โดยใช้ฟาง หรือเศษพืชเป็นวัสดุเพาะ
- การเพาะเห็ดในโรงเรือน ได้แก่ การเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม การเพาะเห็ดแชมปิญอง
- การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก หรือ การเพาะเห็ดถุง ได้แก่ เห็ดที่นิยมขึ้นบนขอนไม้ เช่น เห็ดหูหนู เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เป็นต้น
อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ด
เห็ดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ตามอุณหภูมิ คือ
- เห็ดเขตร้อน–เห็ดฟาง เห็ดนางรม เห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดโคนญี่ปุ่น (เห็ดยานางิ) เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ
- เห็ดเขตหนาว–เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง เห็ดแชมปิญอง
เห็ดที่อยู่ในเขตร้อน หรือเขตหนาว ใช่ว่า จะเจริญเติบโตได้ดีเหมือนกันทุกชนิด เช่น เห็ดเขตร้อนบางชนิด เจริญเติบโตได้ดีในระดับอุณหภูมิที่สูงมากได้ แต่บางชนิดต้องการอุณหภูมิที่ต่ำลงมา ไม่ร้อนจัด
ส่วนการลงทุนเพาะเห็ดเขตหนาวในประเทศไทย ต้นทุนการเพาะเห็ดจะสูงควบคู่ไปกับการดูแลเอาใจใส่ที่สูงขึ้นตามไปด้วย แต่ผลกำไรจะสูงตามไปด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเทคนิคทางการตลาดของเกษตรกรด้วย
การลงทุนและสัดส่วนของกำไรใน การเพาะเห็ด
การลงทุนจะสูงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อทุนการเพาะเห็ด มีดังต่อไปนี้
- ชนิดของเห็ดที่เพาะ คุณภาพเชื้อเห็ด
- สถานที่ตั้ง เช่น ภาคใต้มีทลายปาล์มน้ำมันอยู่เยอะ ต้นทุนของปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นวัสดุเพาะของเห็ดฟางก็จะต่ำกว่าคนภาคอื่น
- วิธีการเพาะเห็ด เช่น เห็ดฟางที่เพาะในโรงเรือน มีต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่าเพาะเห็ดฟางในตะกร้า (หากเทียบกับผลผลิตตลอดทั้งปี)
- ความสามารถในการเพาะเห็ด : ในระยะแรกเรายังไม่ชำนาญ อัตราส่วนการเสียหายอาจจะสูง ทำให้ต้นทุนสูงไปด้วย
- รูปแบบการทำธุรกิจ จะเป็นตัวกำหนดภาพรวมของเราทั้งหมด ทั้งเรื่องกลุ่มลูกค้า การขนส่ง ช่องทางจัดจำหน่าย คุณค่าที่จะนำส่งให้ลูกค้า (สินค้า + บริการ + อื่นๆ) ทรัพยากร และทักษะที่ต้องมี รวมทั้งราคาและต้นทุน ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจที่แตกต่างกันจะเป็นตัวกำหนดราคาและต้นทุนที่แตกต่างกันออกไป เช่น ฟาร์มที่เพาะแล้วขายเฉพาะดอกเห็ดสด จะมีราคาและต้นทุนที่แตกต่างฟาร์มเห็ดที่ทำลักษณะ Farm To Folk ที่เกษตรกรมีวิธีการบริหารจัดการเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ คุณภาพ และความปลอดภัยในผลผลิต
- ปัจจัยปลีกย่อยอื่นๆ อีก เช่น ช่วงเวลาในการเพาะเห็ด การบริหารจัดการฟาร์ม
ความต้องการของตลาด
ความต้องการของตลาดที่เกษตรกรควรพิจารณานั้น ถ้าเป็นตลาดท้องถิ่น ควรพิจารณาจากรสนิยมการบริโภคของผู้ซื้อในแต่ละท้องถิ่น ส่วนตลาดรวม ควรพิจารณา ฤดูกาล สายพันธุ์ของเห็ด ความหลากหลายของสายพันธุ์ให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เทคนิคการยืดระยะเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งจะมีผลต่อราคาของเห็ด ความหลากหลายของสายพันธุ์เห็ด ควรจะรวมถึงการเพาะเห็ดราคาถูก และราคาแพงไว้ในฟาร์มเดียวกัน เพราะเห็ดราคาถูกจะผลิตดอกง่าย ให้รายได้ต่อเนื่องทุกวัน แต่อาจมีปัญหาเห็ดล้นตลาดได้ ส่วนเห็ดราคาแพง แม้ว่าจะต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าราคาถูก ลงทุนสูงกว่า แต่ถ้าเราสามารถผลิตเห็ดที่มีคุณภาพดีออกมาสู่ท้องตลาดได้ ก็สามารถทำกำไรได้สูงขึ้นตามไปด้วย
การตอบสนองความต้องการของตลาดเห็ดนั้น ไม่ใช่แค่เพียงแค่เห็ดสดเท่านั้น การรู้จักสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดก็ช่วยเพิ่มผลกำไรได้ดีอีกทางหนึ่ง อาทิ การแปรรูปเห็ด ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาช่วงที่เห็ดล้นตลาดได้ด้วย เพราะช่วยระบายสินค้าและสร้างรายได้ควบคู่กันไป และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเห็ด เช่น ของที่ระลึก ของใช้ ที่มีสื่อสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับเห็ด หรือเป็นเอกลักษณ์ของฟาร์ม เสริมรายได้ และเป็นจุดเด่นทางการตลาดได้อีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกร หรือ ผู้ลงทุนประสบความสำเร็จในการเพาะเห็ดได้รวดเร็ว และครองตลาดได้ตลอดไป หากต้องการยึดการเพาะเห็ดเป็นอาชีพหลัก
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(ดัดแปลงข้อมูลจาก https://th-th.facebook.com/…/การเลือกเพาะเห็ดสำหรับมือใหม่, เพาะเห็ดให้รวย….ทำได้ไม่ยาก)