การปลูกชมพู่
การปลูกชมพู่
ที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในบทความ ‘ชมพู่’ ไว้ว่า จะมาเฉลยในบทความนี้ว่า ทำไมจึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านปลูกชมพู่? ด้วยจุดเด่นที่ทำให้ชมพู่ก้าวเข้ามาเป็นไม้ผลเชิงการค้าของประเทศไทยค่ะ ที่ทำให้ชมพู่ น่าปลูก
ชมพู่ มีจุดเด่นดังนี้
- เป็นไม้ผลที่ปลูกง่ายในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และดูแลรักษาง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาในการปลูก บางพันธุ์ทนน้ำท่วมขังได้ดี บางพันธุ์ทนแล้งได้ดี และบางพันธุ์ทนอากาศหนาวเย็นได้ดี และมีโรคและแมลงรบกวนน้อยกว่าไม้ผลเชิงการค้าชนิดอื่น
- เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว ออกดอกและติดผลได้ง่าย อายุการเก็บเกี่ยวผลสั้น ให้ผลผลิตหลายชุดต่อปี
- เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายและหลายวิธี
- มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกปลูก
- เป็นไม้ผลอายุยืน ให้ผลผลิตได้หลายปี ให้ผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง
- เป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตดี มีรูปทรงผลที่สวย สีสันสดใส น่ารับประทาน
- เกษตรกรได้ทุนคืนเร็ว ให้ผลตอบแทนสูง มีความเสี่ยงในการลงทุนน้อย
- ต้นทุนการผลิตต่ำ เนื่องจากมีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงน้อย ซึ่งทำให้ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกชมพู่
พื้นที่
- เป็นดินร่วน ดินทราย ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวที่ระบายน้ำได้ดี ชมพู่จะให้ผลผลิตที่มีรสชาติดีในการปลูกในดินทรายหรือดินร่วนปนทราย เพราะมีธาตุไนโตรเจนน้อยกว่าดินเหนียว และอุ้มน้ำได้น้อยกว่าจึงทำให้ความหวานในผลชมพู่เพิ่มขึ้นได้เร็วกว่าชมพู่ที่ปลูกในดินเหนียว
- น้ำไม่ท่วมขัง
- เป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดเต็มที่
- อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
อุณหภูมิ
- ชมพู่เป็นพืชเขตร้อน แต่อุณหภูมิก็ยังคงมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตชมพู่ คือ หากอากาศร้อนจัด หรือมีอุณหภูมิสูงมากเกินไปในบางช่วง ชมพู่จะออกดอกติดผลได้ไม่ดี ดอกจะร่วงได้ง่าย การขยายขนาดผลไม่ค่อยดี สีผลซีดจาง ผลแก่เร็ว ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการออกดอกติดผลคือ ช่วงปลายปี ถึงต้นปี จะให้ผลผลิตที่คุณภาพดีที่สุด
น้ำ
- มีแหล่งน้ำในปริมาณที่เพียงพอตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฝนทิ้งช่วง และฤดูแล้ง
- มีการวางระบบน้ำและวางแผนการใช้น้ำไว้ล่วงหน้า
การขยายพันธุ์ชมพู่
ชมพู่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง การเสียบยอด และการทาบกิ่ง วิธีที่นิยมใช้ในการปลูกชมพู่เพื่อการค้า คือ การปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง การปักชำ และการเสียบยอด เพราะให้ผลผลิตเร็ว และลำต้นไม่สูง ส่วนการปลูกจากต้นกล้าเพาะเมล็ดไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เพราะใช้เวลาหลายปีกว่าจะให้ผลผลิต
การเพาะเมล็ดชมพู่
วิธีการนี้เหมาะกับการขยายพันธุ์ชมพู่น้ำดอกไม้ ชมพู่สาแหรก ชมพู่มะเหมี่ยวขาว และชมพู่มะเหมี่ยวแดง
ข้อดีของการเพาะเมล็ด คือ ไม่มีการกลายพันธุ์ ทำได้ง่าย รวดเร็ว ได้ต้นที่แข็งแรง ทนทานต่อลมแรง และความแห้งแล้งได้ดีเนื่องจากมีรากแก้ว
ข้อเสียของการเพาะเมล็ด คือ ด้วยทรงพุ่มที่สูงใหญ่ทำให้การดูแลเป็นไปอย่างลำบาก ใช้เวลาปลูกนานกว่าจะให้ผลผลิต
วิธีการเพาะเมล็ดชมพู่
- เลือกใช้เมล็ดจากต้นแม่พันธุ์ที่แข็งแรง ไม่เป็นโรค ให้ผลดก
- ผสมดินร่วน 3 ส่วน กับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ให้เข้ากัน ใส่ลงในถุงเพาะพลาสติกขนาด 4×9 นิ้ว
- หยอดเมล็ดลงในดินเพาะ แล้วกลบดินบางๆ รดน้ำ ปลูกเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำ
- เมื่อต้นกล้าที่เพาะมีอายุได้ประมาณ 2 เดือน ต้นสูงประมาณ 15 เซนติเมตร และเมล็ดสลายหมดแล้ว ควรแยกและย้ายต้นกล้าไปปลูกในภาชนะที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และปลูกเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำต่อไป จนต้นมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ขึ้นไป จึงนำไปปลูกลงแปลง
การปักชำกิ่งชมพู่
ข้อดีของการปักชำกิ่งชมพู่ คือ ไม่มีปัญหาเรื่องการกลายพันธุ์ ทำได้ง่าย รวดเร็ว ขยายพันธุ์ได้ครั้งละจำนวนมาก เสียค่าใช้จ่ายน้อยแต่ได้ผลเร็ว
ข้อเสียของการปักชำกิ่งชมพู่ คือ ได้ต้นที่ไม่มีรากแก้วหรือได้ต้นที่มีขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับกิ่งตอน
วิธีการปักชำกิ่งชมพู่
- ใช้ถุงพลาสติกดำหรือถุงพลาสติกใสขนาด 4×6 นิ้ว หรือ 5×7 นิ้ว เจาระรูข้างถุงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 ถึง 1 เซนติเมตร จำนวน 4 ถึง 6 รู ระยะห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ใส่ถ่านแกลบหรือขี้เถ้าแกลบจนเต็มถุง รดน้ำพอชุ่ม
- เลือกกิ่งชมพู่ที่มีใบเขียวเข้ม เป็นกิ่งที่มียอด กิ่งยาวประมาณ 10 ถึง 20 เซนติเมตร เป็นกิ่งที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงรบกวน ตัดโคนกิ่งเป็นมุมเฉียงประมาณ 45 องศา เด็ดใบส่วนโคนกิ่งออก ให้เหลือใบเฉพาะที่ปลายกิ่ง แล้วตัดใบที่เหลือออกครึ่งใบเพื่อลดการคายน้ำ ก่อนนำไปปักชำ ควรชุบโคนกิ่งด้วยฮอร์โมนเร่งราก เช่น ฮอร์โมนเซราดิกซ์เบอร์3
- ปักกิ่งชำลงไปขี้เถ้าแกลบ โดยใช้ไม้เจาะรูนำลงไปในขี้เถ้าแกลบลึกประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วปักชำกิ่งลงในตามไป กดขี้เถ้าแกลบให้กระชับโคนกิ่งปักชำพอแน่น
- นำกิ่งที่ปักชำในถุงพลาสติกแล้วไปอบในถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ วางเรียงให้เต็มก้นถุง เป่าถุงพลาสติกให้โป่ง แล้วใช้เชือกมัดปากถุงจนแน่น วางเรียงไว้ในโรงเรือนเพาะชำหรือที่ร่มมีแสงรำไร อากาศถ่ายเทได้ดี ประมาณ 1 เดือน กิ่งปักชำจะออกรากเห็นเป็นสีขาว จึงนำออกจากถุงอบ หรือปล่อยให้กิ่งปักชำมีรากเพิ่มขึ้นไว้อีกประมาณ 15 ถึง 30 วัน รวมเวลา 45 ถึง 60 วัน ในการอบ
- นำกิ่งปักชำที่ออกรากแล้วออกจากถุงพลาสติกอบ นำมาวางเรียงไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำและดูแลให้กิ่งชำแข็งแรงสมบูรณ์
- ย้ายลงปลูกในถุงพลาสติกขนาด 8×10 นิ้ว ถ้าเป็นถุงสีดำให้ใช้ขนาด 4×9 นิ้ว ใส่ดินร่วน 3 ส่วน ผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน คลุกให้เข้ากัน แล้วรดน้ำ วางไว้ในโรงเรือนประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วนำออกมาวางไว้กลางแจ้งที่มีแดดปกติ
- ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร รดน้ำกิ่งปักชำทุก 2 ถึง 3 สัปดาห์ต่อครั้ง เมื่อกิ่งปักชำเจริญเติบโตดีแล้วให้นำไปปลูกลงแปลง
การตอนกิ่งชมพู่
วิธีขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ถือเป็นวิธีที่นิยมมาก
ข้อดีของการตอนกิ่งชมพู่ คือสะดวก และได้ต้นที่มีลักษณะเหมือนกับต้นแม่พันธุ์ดั้งเดิม อีกทั้ง สามารถขยายได้หลายต้นพร้อมๆ กัน รวมถึงต้นที่เติบโตจะมีลำต้นไม่สูงนัก และให้ผลเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด
วิธีการตอนกิ่งชมพู่
- เริ่มจากคัดเลือกกิ่งที่ต้องการตอน โดยคัดเลือกกิ่งที่แข็ง ขนาดกิ่งประมาณนิ้วชี้ถึงนิ้วหัวแม่มือ เปลือกกิ่งมีสีเขียวอมน้ำตาล
- จากนั้น ใช้มีดตัดควั่นรอบกิ่งเป็น 2 รอย ที่ระยะห่างประมาณ 2-3 เซนติเมตร หรือเท่ากับเส้นรอบวงของกิ่ง
- ลอกเปลือกออก แล้วใช้มีดขูดเยื่อที่ผิวแก่นของกิ่งออกให้หมดจนถึงเนื้อไม้ แล้วนำถุงพลาสติกที่บรรจุด้วยขุยมะพร้าวชุ่มน้ำ ด้วยการผ่าถุงตามแนวขวางให้ลึกเกือบถึงขอบอีกด้าน และแบะถุงก่อนนำถุงมาหุ้มทับบริเวณรอยกรีดให้มิด ก่อนจะใช้เชือกฟางรัดเป็น 2 เปลาะให้แน่น
- หลังจากการตอนแล้วประมาณ 30 ถึง 45 วัน รอยแผลของกิ่งตอนจะเริ่มมีรากงอก และหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน รากจะเริ่มแก่เป็นสีน้ำตาลจึงค่อยตัดกิ่งลงปลูกในแปลง
การเสียบยอดชมพู่
วิธีการเสียบยอดชมพู่
- ตัดใบของกิ่งพันธุ์ดี หรือยอดพันธุ์ดีออกให้หมด แล้วตัดกิ่งพันธุ์เป็นท่อน ยาวท่อนละประมาณ 4 ถึง 5 เซนติเมตร ให้แต่ละท่อนมีตาอย่างน้อย 1 ตา ทำแผลที่โคนท่อนพันธุ์เป็นแผลเฉียงเข้าเนื้อไม้เล็กน้อย แผลยาวประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ปาดแผลที่โคนท่อนพันธุ์ด้านตรงข้ามกันกับรอยแรก ปากเฉียงเป็นมุมประมาณ 45 องศา
- ทำแผลบนต้นตอโดยใช้มีดกรีดเปลือกเป็น 2 รอย ยาวประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ตามความยาวกิ่ง หรือลำต้นให้ 2 แผล ห่างกว่าขนาดกิ่งพันธุ์ดีที่จะนำมาเสียบเล็กน้อย ลอกเปลือกจากบนลงล่าง ตัดเปลือกให้เหลือเป็นลิ้นยาว 1 เซนติเมตร หรือตัดเปลือกออกให้หมด ต้องระวังการทำแผลต้องทำให้สะอาด เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา เมื่อเสียบยอดแล้วจะไม่ติด
- นำยอดพันธุ์ดีใส่เข้ากับแผลต้นตอให้แผลเข้าประกบกันให้สนิท
- ใช้พลาสติกพันให้มิดรอยแผลและยอดพันธุ์ดี ปล่อยไว้ 15 วัน จึงแก้พลาสติกที่ปลายยอดพันธุ์ดีออก เพื่อให้ยอดพันธุ์ดีแตกกิ่งออกมาได้
- เมื่อเสียบติดและยอดพันธุ์ดีแตกเป็นกิ่งออกมาแล้ว ควรตัดยอดต้นตอออก โดยตัดเหนือยอดพันธุ์ดีที่เสียบไว้ห่างอย่างน้อย 3 ถึง 4 เซนติเมตร ทารอยแผลที่ตัดด้วยปูนแดงหรือน้ำมันขี้โล้ หรือสารเคมีป้องกันเชื้อรา
- หมั่นเด็ดกิ่งที่แตกออกจากต้นตอเพื่อให้อาหารไปเลี้ยงยอดพันธุ์ดีจะได้เจริญเติบโตได้เร็วขึ้น
- เมื่อยอดพันธุ์ดีแตกออกมาใหม่ มักมีโรคและแมลงเข้าทำลาย ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกัน กำจัดอยู่เสมอและควรมีการให้น้ำ ให้ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของยอดพันธุ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งยอดพันธุ์ดีจะออกดอกติดผลได้เช่นเดียวกับชมพู่ต้นเดิม
การทาบกิ่งชมพู่
- การขยายพันธุ์แบบนี้ ยังไม่นิยมมากนัก เพราะใช้สำหรับต้นที่ต้องปลูกมาหลายปีที่แตกกิ่งบ้างแล้ว แต่มีข้อดีที่สามารถทำให้มีชมพู่หลายชนิดรวมอยู่บนต้นเดียวกันได้
การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
- การทำแปลงปลูกครั้งแรกจะต้องไถพรวน และกำจัดวัชพืชออกให้หมด
- จากนั้นขุดหลุมปลูก กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และลึกประมาณ 40 ถึง 50 เซนติเมตร แล้วตากหลุมไว้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน โดยมีระยะปลูกหรือระยะหลุมประมาณ 8 x8 เมตร หรือ10 x10 เมตร แปลงปลูกในที่ลุ่มควรขุดร่อง และทางระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมร่วมด้วย
ขั้นตอน การปลูกชมพู่
- หลังจากหลุมนานประมาณ 5 ถึง 7 วัน แล้ว ให้โรยปุ๋ยคอกรองก้นหลุม พร้อมคลุกผสมกับหน้าดินให้เข้ากัน
- จากนั้น นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในหลุม พร้อมกลบหน้าดินให้พูนขึ้นเล็กน้อย
- ปักด้วยไม้ไผ่ และรัดต้นชมพู่กับไม้ไผ่ด้วยเชือกฟางพอหลวม กันต้นล้มเอน
- รดน้ำให้ชุ่ม
- คลุมโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือเศษใบไม้ เพื่อรักษาความชื้นให้หน้าดิน
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
อย่าพลาดติดตามบทความ ‘การดูแลชมพู่ หลังการปลูก’ นะคะ มีเคล็ดลับดีๆ มาฝากเยอะเลยค่ะ
(แหล่งข้อมูล : www.ilovekaset.com, หนังสือ คู่มือการทำสวน ชมพู่ อย่างมืออาชีพ สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุพจน์ ตั้งจตุพร)