กล้วยไม้
กล้วยไม้ เป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และให้ประโยชน์กับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงได้ประโยชน์ทางสายตา จากสีสันและความสวยงามของกล้วยไม้เท่านั้น
ประโยชน์ของกล้วยไม้
กล้วยไม้กับชีวิตประจำวัน
- ใช้ประดับตกแต่ง อาคาร สถานที่ ให้สวยงาม หรูหรา
- ใช้ไหว้พระ หรือใช้ในการทำบุญตักบาตร เพื่อแสดงความเคารพ ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา
- ใช้เป็นสารปรุงแต่งรส และกลิ่นอาหาร ของหวาน เครื่องดื่ม
- ใช้ทำสารสกัดเป็นส่วนผสมของยา
- ใช้ทำสารสกัดทำเครื่องหอม
กล้วยไม้กับศาสตร์ความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ - ใช้ในงานพิธี งานเทศกาล งานประเพณีต่างๆ
กล้วยไม้กับศาสตร์ฮวงจุ้ย - ใช้เป็นพันธุ์ไม้ตามหลักฮวงจุ้ย ซึ่งเชื่อว่า กล้วยไม้เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง อดทน และแข็งแกร่ง
เก็บมาฝาก…..สำหรับการปลูกกล้วยไม้ไว้ในบริเวณบ้าน
ผู้ที่เกิดวันเสาร์ ช่วยเสริมโชคลาภ นำความเจริญมาให้ผู้อยู่อาศัย ช่วยให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
ผู้ที่เกิดราศีกรกฎ ปลูกกล้วยไม้ช่วยเสริมพลังชีวิต ให้ความรู้สึกอ่อนโยน
ผู้ที่เกิดราศีสิงห์ กล้วยไม้ช่วยเสริมพลังชีวิต เสริมบารมี
หากผู้อ่านท่านใด สนใจปลูกกล้วยไม้ไว้ใช้ประโยชน์ภายในบ้าน หรือเพื่อการค้า อย่าพลาดบทความที่เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ในด้านอื่นๆ นะคะ ผู้เขียนตั้งใจนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์ ขั้นตอนง่ายๆ และเคล็ดลับต่างๆ สำหรับการปลูกกล้วยไม้ไว้ให้ได้ศึกษา และทดลองปฏิบัติกัน สำหรับท่านที่เคยซื้อกล้วยไม้มาปลูกที่บ้าน แล้วไม่สวย ไม่ออกดอก เหมือนตอนอยู่ที่ร้าน ผู้เขียนมีข้อแนะนำให้เช่นกันค่ะ
แนะนำให้รู้จักกล้วยไม้…..สำหรับผู้ปลูกกล้วยไม้มือใหม่!!!
กล้วยไม้มีหลายสายพันธุ์ และทุกพันธุ์มีความสวยงาม มีเสน่ห์ในตัว หลากหลาย จนผู้ปลูกกล้วยไม้มือใหม่เลือกกันไม่ถูก กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวขนาดเล็ก มีลำต้นเป็นข้อปล้อง อวบน้ำ มีรูปทรง สี และกลิ่นหอมที่ต่างกันไป
ส่วนต่างๆ ของกล้วยไม้
กล้วยไม้ มีดอก ช่อดอก ใบ ลำต้น ราก รวมถึง ผลและฝัก เป็นส่วนประกอบ
ผลหรือฝัก
ฝักกล้วยไม้มีอายุตั้งแต่ผสมเกสรไปจนถึงฝักแก่จะแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วยไม้ บางชนิดฝักอาจจะแก่ได้ในระยะเวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้น บางชนิดฝักจะอยู่กับต้นถึงปีครึ่งจึงจะแก่ ฝักกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอมักจะห้อยปลายลงเป็นส่วนมาก เช่น ฝักของกล้วยไม้สกุลหวาย เป็นต้น แต่ละฝักมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเรียวยาวหรือป่องกลางคล้ายลูกรักบี้ มีขนาดเล็กมาก มีแต่คัพภะ แต่ไม่มีอาหารสะสม มีเปลือกบางๆ หุ้มเมล็ดอยู่ มีสีแตกต่างกันไป เช่น น้ำตาล เทา เหลือง หรือขาว และด้วยเหตุที่เมล็ดกล้วยไม้มีขนาดเล็กมาก จึงอาจปลิวกระจายไปตามลมได้ง่ายและเป็นระยะทางไกล
รู้หรือไม่คะ…กล้วยไม้ที่เห็นกันอยู่ในท้องตลาด ว่าแตกต่างกันอย่างไร?
ความแตกต่างกันของส่วนประกอบกล้วยไม้ ช่วยให้จำแนกประเภทได้จาก ลักษณะราก ลำต้น และการเจริญเติบโต ที่ต้องแนะนำให้รู้จักกับประเภทของกล้วยไม้ก่อน เพื่อจะได้ปลูกเลี้ยงได้ถูกวิธี
ประเภทของกล้วยไม้
จำแนกตามลักษณะของราก
กล้วยไม้มีระบบราก 4 ประเภท ดังนี้
- ระบบรากดิน
ระบบรากเกิดจากหัวที่อวบน้ำอยู่ใต้ดิน ตัวรากจะมีน้ำมาก เช่นกล้วยไม้สกุลนางอั้ว พบมากในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศในฤดูกาลที่ชัดเจน เช่น ฤดูฝนมีฝนตกชุก และมีฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝน หัวจะแตกหน่อ ใบอ่อนจะชูพ้นขึ้นมาบนผิวดิน และออกดอกในตอนปลายฤดูฝน เมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้วใบจะโทรมและแห้ง เหลือเพียงหัวที่อวบน้ำและมีอาหารสะสมฝังอยู่ใต้ดิน ทนแล้งได้
- ระบบรากกึ่งดิน
รากมีลักษณะอวบน้ำ ใหญ่หยาบและแตกแขนงแผ่กระจายอย่างหนาแน่น เก็บสะสมน้ำได้ดีพอสมควร กล้วยไม้ประเภทนี้พบอยู่ตามอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังร่วนโปร่ง เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลสเปโธกล๊อตติส สกุลเอื้องพร้าว เป็นต้น
- ระบบรากกึ่งอากาศ
ชั้นเซลล์ผิวของรากหนา และมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ผิวนอกเกลี้ยงไม่มีขน เก็บและดูดน้ำได้มาก สามารถนำน้ำไปใช้ตามเซลล์ผิวได้ตลอดความยาวของราก มักมีรากแขนงใหญ่หยาบอยู่กันอย่างหนาแน่น แต่รากมีขนาดเล็กกว่ารากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลออนซิเดี้ยม เป็นต้น
- ระบบรากอากาศ
รากมีขนาดใหญ่ แขนงรากหยาบ เซลล์ที่ผิวรากทำหน้าที่ดูดน้ำ เก็บน้ำและลำเลียงน้ำไปตามรากได้ดี ทำให้สามารถทนความแห้งแล้งได้ดี รากอากาศไม่ชอบอยู่เปียกและแฉะนาน ปลายรากสดมีสีเขียวของคลอโรฟีลล์สามารถทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับใบเมื่อได้รับแสงสว่าง รากไม่หลบแสงสว่างเหมือนรากต้นไม้ดินทั่วๆ ไป เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลแมลงปอ สกุลเข็ม และสกุลเรแนนเธอร่า
จำแนกตามลักษณะลำต้น
ลำต้นของกล้วยไม้ที่โผล่พ้นจากเครื่องปลูกแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
- ลำต้นแท้
มีข้อ ปล้อง เหมือนกับลำต้นของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วๆ ไป ที่ส่วนเหนือข้อจะมีตา ซึ่งจะเจริญเป็นหน่อและช่อดอกได้ ลำต้นประเภทนี้จะเจริญเติบโตออกไปทางยอด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า แมลงปอ และรองเท้านารี
- ลำต้นเทียม
หรือที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ทำหน้าที่สะสมอาหาร ตาที่อยู่ตามข้อบนๆ ของลำลูกกล้วยสามารถแตกเป็นหน่อหรือช่อดอกได้ แต่ลำต้นที่แท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้คือ เหง้า ซึ่งเจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก ลักษณะของเหง้ามีข้อและปล้องถี่ กล้วยไม้ที่มีลำต้นลักษณะนี้ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย แคทลียา เอพิเด็นดรั้ม และสกุลออนซิเดี้ยม
จำแนกตามลักษณะการเจริญเติบโต
ได้ 2 ประเภท คือ
- ประเภทไม่แตกกอ
เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด คือ ตาที่ยอดจะแตกใบใหม่เจริญขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโคนต้นจะออกรากไล่ตามขึ้นไป ส่วนของโคนจะแห้งตายไล่ยอดขึ้นไป เมื่อกล้วยไม้มีอายุมากขึ้น กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในประเภทไม่แตกกอได้แก่ กล้วยไม้ในสกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลเสือโคร่ง สกุลม้าวิ่ง สกุลแมลงปอ สกุลเรแนนเธอร่าและสกุลแวนด๊อฟซิส
- ประเภทแตกกอ
มีรูปทรงและการเจริญเติบโตคล้ายกับพืชที่แตกกอทั่วไป คือในต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น ต้นแท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้จะอยู่ในเครื่องปลูก เช่น กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี อาจมีลำต้นที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างโผล่ยื่นออกมาซึ่งมักบวมเป่ง และทำหน้าที่สะสมอาหาร ต้นส่วนนี้เรียกว่า “ลำลูกกล้วย”
กล้วยไม้ประเภทแตกกอมีระบบรากทั้งที่เป็นรากดิน รากกึ่งดินและรากกึ่งอากาศ ลักษณะการถือฝักและเมล็ด ปลายฝักจะห้อยชี้ดิน เมล็ดที่สมบูรณ์เมื่อแก่จะมีสีเหลือง ส่วนเมล็ดลีบมีสีขาว กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในประเภทแตกกอ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลหวาย สกุลแคทลียา สกุลออนซิเดี้ยม และสกุลแกรมมาโตฟิลลั่ม
ติดตามบทความ สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม การปลูกกล้วยไม้ กล้วยไม้ พารวย ด้วยการส่งออก…
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: หนังสือ จัดสวนให้สวย ด้วย…หลัก ‘ฮวงจุ้ย’ สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ, www.thairath.co.th, www.panmai.com, www.kapook.com)