โกโก้
โกโก้ ใช่ช็อกโกแลตหรือไม่?…
โกโก้ (Cocoa) ที่คนไทยเรียกกัน มาจากต้นคาเคา (Cacao) พืชดั้งเดิมที่ชนเผ่ามายา และชาวแอชเทคส์ (ประเทศเม็กซิโก) ได้มีการปลูก และนำมาประกอบอาหารเป็นชนชาติแรก ในประเทศไทยมีการปลูกโกโก้มาในแถบจังหวัดทางภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช โดยนิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าวหรือสวนปาล์ม และพบได้บ้างเล็กน้อยในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และตราด
ช็อกโกแลต (Chocolate) คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปเมล็ดโกโก้ โดยนำเมล็ดโกโก้หมักมาบดจนได้โกโก้หนืดที่มีส่วนของเนื้อโกโก้กับไขมันโกโก้ เรียกโกโก้หนืดนี้ว่า ช็อกโกแลต หลังจากนั้นเติมเครื่องแต่งกลิ่น และรสตามต้องการ เช่น นม หรือมิ้นท์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปโกโก้นี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ความอร่อยเท่านั้นนะคะ แต่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ในภาษากรีกโกโก้จึงได้ชื่อว่า Theobroma cacao L. หมายถึง food of the gods หรือ อาหารของพระเจ้า เดิมพืชชนิดนี้สะกดว่า Cacao แต่ในปัจจุบันมักนิยมสะกดว่า Cacao เมื่อระบุถึงโกโก้ในฐานะพืช หรือวัตถุดิบที่นำมาผลิต และสะกดว่า Cocoa เมื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ปัจจุบันโกโก้จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) แต่ต้นโกโก้ที่กล่าวถึงนี้ เป็นคนละชนิดกันกับต้นโคโค่ (Erythroxylon coca Lam.)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 3 ถึง 12 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงปานกลาง มีใบใหญ่และดก ทำให้ทรงพุ่มดูหนา เปลือกลำต้นมีสีดำอมเทา และแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว เนื้อไม้แข็งปานกลาง
ใบ
เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวหลายใบเรียงสลับข้างกันตามความยาวของปลายกิ่ง ใบแต่ละใบมีลักษณะเป็นหอกหรือรูปไข่กลับ ขนาดใบกว้างประมาณ 5 ถึง 12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 ถึง 40 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม มีเส้นแขนงใบแตกออกจากเส้นกลางใบ
ดอก
ดอกโกโก้ออกเป็นดอกเดี่ยว แต่ออกเป็นกลุ่มชิดกัน มีสีขาวอมชมพู ในระยะแรกจะเกิดเป็นตุ่มหรือตาบนกิ่งหรือลำต้น จากนั้นค่อยพัฒนาก้านดอกยื่นยาวออกมาพร้อมกับกลีบดอกตูมที่หุบเรียงช้อนกัน
ผล
ผลทรงรี คล้ายกับผลมะละกอ ออกเป็นผลเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามกิ่ง และลำต้น ขนาดผลยาวประมาณ 12 ถึง 30 เซนติเมตร ผิวเปลือกขรุขระหรือบางพันมีผิวเรียบ ไม่มีร่อง ผลอ่อนมีสีเขียว หรือสีเขียวแดง ผลสุกมีสีเหลือง และสุกจัดเปลี่ยนเป็นสีแดงอมเหลืองหรือสีแดงอมม่วง ตามชนิดหรือสายพันธุ์ เปลือกค่อนข้างหนา ผลจะสุกภายในเวลา 5 ถึง 6เดือน ภายในมีประมาณ 30 ถึง 45 เมล็ด เรียงขวางซ้อนกันเป็นแถวประมาณ 5 แถว
เมล็ด
เมล็ดโกโก้มีลักษณะรีและแบนเล็กน้อย ถูกหุ้มด้วยเยื่อเมล็ดสีขาวใส มีความอ่อนนุ่มและฉ่ำน้ำ ให้รสหวาน ปลายเมล็ดทั้งสองด้านมน เนื้อเมล็ดแน่นมีสีน้ำตาล ขนาดเมล็ดประมาณ 1.2 ถึง 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 ถึง 2.5 เซนติเมตร
พันธุ์โกโก้ที่นิยมปลูก
- พันธุ์ฟอรัสเทอร์โร่ (Forasterro) เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ให้ผลผลิตมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ เนื่องจากให้เมล็ดมาก ใน 1 ผลจะให้เมล็ดโกโก้ตั้งแต่ 30 เมล็ดขึ้นไป เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และปรับตัวได้ดีตามสภาพพื้นที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย
– พันธุ์เวสอาฟริกัน อมีโลนาโด (West African Amelonado) ผลสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อผลสุก ผลยาวเปลือกหนา เมล็ดแบนกว่าพันธุ์คริโอลโล่ (Criollo) เนื้อเมล็ดมีสีแดงเข้มหรือม่วงเข้ม เป็นพันธุ์ที่ผสมตนเองได้ แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีความทนทานต่อโรคยอดแห้ง และกิ่งแห้ง
– พันธุ์อัพเปอร์ อเมซอน (Upper Amazon) ผลสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อสุก ขนาดและรูปร่างผลคล้ายกับพันธุ์เวสอาฟริกัน อมิโลนาโด แต่เมล็ดมีขนาดเล็กกว่า และเนื้อเมล็ดมีสีม่วงเข้มการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง เป็นสายพันธุ์ที่ไม่สามารถผสมตนเองได้ - พันธุ์ทรินิทาริโอ (Trinitario) เป็นพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์แอฟริกันอมีโลนาโดกับพันธุ์คริโอลโล่ นิยมปลูกด้วยวิธีการเสียบยอด และใช้กิ่งพันธุ์ปักชำ มีขนาดผลใหญ่สีเขียวหรือแกมแดง ให้เมล็ดมากเหมือนกับพันธุ์ฟอรัสเทอร์โร่ แต่มีลักษณะเด่นกว่าตรงที่มีกลิ่นหอม ผล และเมล็ดมีขนาดใหญ่ มีความต้านทานโรค และให้ผลผลิตสูง
- พันธุ์คริโอลโล (Criollo) มีผลขนาดยาว ผลอ่อนมีสีแดงหรือสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดงส้มเมื่อสุก เปลือกผลบางนิ่ม จำนวนเมล็ดต่อผลประมาณ 20 ถึง 40 เมล็ด เมล็ดมีคุณภาพสูงด้วยกลิ่นหอมและรสชาติดี จัดเป็นพันธุ์โกโก้ที่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม แต่มีข้อเสีย คือ ต้นมีการเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตต่ำ เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอและเป็นที่ชื่นชอบของแมลงศัตรู
สรรพคุณโกโก้
- ช่วยชะลอความชรา และบำรุงผิวพรรณ
- ช่วยป้องกันโรคในระบบหลอดเลือด และหัวใจ
- ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
- ช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด และช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของเกล็ดเลือด และช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด
- ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
- ช่วยให้อารมณ์ดี หลับสบาย
- ช่วยกระตุ้นประสาท ช่วยบรรเทาภาวะของโรคเครียด โรคซึมเศร้า (เมล็ด)
- ช่วยป้องกันฟันผุ (เมล็ด)
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (เมล็ด)
- ช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว แก้หอบหืดคล้ายกับฤทธิ์ของ Theophylline (เมล็ด)
- ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ (เมล็ด)
ประโยชน์ของโกโก้
- เมล็ดโกโก้
– ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมชนิดต่างๆ และช็อกโกแลต
- ผงโกโก้หรือโกโก้เหลว
– ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม อาทิ นมโกโก้ และเป็นส่วนผสมของไอศกรีม
– ใช้เป็นส่วนผสมในขมหวานขนมขบเคี้ยวต่างๆ อาทิ ลูกอม ลูกกวาด ขนมปัง คุกกี้ และเค้ก เป็นต้น
– ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด ได้แก่ น้ำหอม ลิปสติก
– ใช้เป็นสารเติมแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมบุหรี่
– ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตยา
– ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์
- เปลือกเมล็ดที่กะเทาะแยกออกจากใบเลี้ยง
-นำไปบีบเอาเนยโกโก้ (Cocoa Butter) ซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำครีม สบู่ โลชั่นบำรุงผิว และเครื่องสำอาง ใช้เป็นตัวยาพื้นของยาเหน็บ ขี้ผึ้ง และครีม หรือนำมาสกัด theobromine ซึ่งใช้เป็นสารกระตุ้นเช่นเดียวกับกาเฟอีนที่ได้จากกาแฟและชา
การใช้ประโยชน์เพื่อบำรุงผิวพรรณ
สูตรบำรุงผิวพรรณจากผงโกโก้ : ด้วยการใช้คุณสมบัติที่มีจากสารในผงโกโก้ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงเซลล์ผิวหนังและช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายได้
ส่วนผสม
- ผงโกโก้ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
- ข้าวโอ๊ตป่น 1 ช้อนชา
- โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- นำผงโกโก้ น้ำผึ้ง ข้าวโอ๊ต และโยเกิร์ตผสมให้เข้ากัน
- ล้างหน้าให้สะอาด
- นำส่วนผสมที่ผสมเข้ากันแล้วมาพอกให้ทั่วทั้งหน้า
- ทิ้งเอาไว้ประมาณ 10 ถึง 15 นาที แล้วล้างออก
- สูตรนี้สามารถใช้พอกหน้าได้เป็นประจำทุกสัปดาห์
ข้อควรระวัง
- การบริโภคเมล็ดโกโก่ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เสพติดได้
ติดตามขั้นตอนการปลูกในบทความ ‘การปลูกโกโก้ และการดูแลหลังการปลูก’
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.cocoathailandcenter.com, www.puechkaset.com, www.medthai.com
www.health.kapook.com)