แมลงศัตรูพืชของกล้วยน้ำว้า

แมลงศัตรูพืชของกล้วยน้ำว้า

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยน้ำว้า

แมลงศัตรูพืช ของกล้วยน้ำว้า มีอยู่หลายชนิด และนี่ก็คือสาเหตุที่ผู้เขียนได้เน้นย้ำไว้ในบทความ การดูแลกล้วยน้ำว้า, โรคของกล้วยน้ำว้า, การปลูกกล้วยน้ำว้า, การขยายพันธุ์กล้วยน้ำว้า ไว้ว่า ไม่ควรปล่อยปละละเลยกล้วยน้ำว้า รสชาติที่แสนอร่อยของกล้วย ไม่ว่าจะเป็นปลี หรือผล ที่ถูกปากคนทั่วไป ก็คงดึงดูด แมลงศัตรูพืช ชนิดต่างๆ ได้มากเช่นกัน แต่ แมลงศัตรูพืช ไม่ได้ชอบลิ้มลองแค่ปลี และผลกล้วยเท่านั้น แต่สามารถทำลายล้างได้ทุกส่วนของกล้วยเลยทีเดียว เรามาทำความรู้จักกับเจ้าตัวเล็กฤทธิ์เยอะกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง? มีความสามารถอะไรบ้าง? และจะกำจัดกันอย่างไร?

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ด้วง

1. ด้วงงวงไชเหง้า ด้วงชนิดนี้ ระยะที่เป็นตัวหนอนทำความเสียหายแก่ต้นกล้วยน้ำว้ามากกว่าตัวแก่ ตัวหนอนจะเจาะกินไชเหง้ากล้วยใต้ระดับโคนต้น โดยไม่ทิ้งร่องร่อยที่ชัดเจนนัก ทำลายและหยุดระบบส่งน้ำ ส่งอาหารไปเลี้ยงลำต้น

เมื่อเป็นมากๆ แม้จะมีหนอนเพียง 5 ตัวในหนึ่งเหง้า ก็สามารถไชเข้าไปทำลายกล้วยให้ตายได้ พบการทำลายได้ทุกระยะ ตั้งแต่หน่อไปถึงต้นแก่ ภายหลังตัดเครือแล้ว เมื่อตัวหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะเข้าเป็นดักแด้จนเป็นตัวแก่ออกมานอกเหง้า แถวโคนต้นในระดับชิดผิวดินหรือต่ำกว่าเล็กน้อย หรือรอผสมพันธุ์กันต่อไป

การป้องกันและกำจัด

  • ทำความสะอาดสวน กำจัดเศษชิ้นส่วนของต้นกล้วย กาบกล้วยไม่ให้เน่าเปื่อย ชื้นแฉะบริเวณโคนต้นไม่ให้เป็นที่วางไข่
  • ตัดต้นกล้วยเป็นท่อนๆ วางสุมเป็นจุดในสวน ล่อให้แมลงมาวางไข่ ประมาณ 7 วันต่อครั้ง เปิดตรวจดูช่วงเวลากลางวัน ถ้าพบตัวอ่อนหรือตัวแก่ให้ทำลาย โดยการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น ออลดรินผสมตามสูตรที่ระบุในฉลากยา ราดโคนต้นและรอบๆ โคนต้น
  • เลือกหน่อกล้วยน้ำว้าที่ไม่มีแมลงติดอยู่มาปลูก

2. ด้วงงวงเจาะต้น หรือด้วงงวงไชกาบกล้วย เป็นศัตรูที่ทำลายรุนแรงพอๆ กับด้วงงวงไชเหง้า แต่ตัวใหญ่กว่า ตัวหนอนจะไชเป็นรูทำลายจากโคนต้นไปถึงไส้กลางต้น จะเห็นเป็นรอยพรุนรอบต้น มักเกิดกับต้นที่โต หรือใกล้จะออกปลี หรือกำลังตกเครือ เครือจะหักพับกลาง ต้นพับหักกลางต้นหรือเหี่ยวเฉาตาย

การป้องกันและกำจัด

  • ทำความสะอาดสวน กำจัดเศษชิ้นส่วนของต้นกล้วย กาบกล้วยไม่ให้เน่าเปื่อย ชื้นแฉะบริเวณโคนต้นไม่ให้เป็นที่วางไข่
  • ตัดต้นกล้วยเป็นท่อนๆ วางสุมเป็นจุดในสวน ล่อให้แมลงมาวางไข่ ประมาณ 7 วันต่อครั้ง เปิดตรวจดูช่วงเวลากลางวัน ถ้าพบตัวอ่อนหรือตัวแก่ให้ทำลาย โดยการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น ออลดรินผสมตามสูตรที่ระบุในฉลากยา ราดโคนต้นและรอบๆ โคนต้น
  • เลือกหน่อกล้วยน้ำว้าที่ไม่มีแมลงติดอยู่มาปลูก

3. ด้วงเต่าแดง ตัวแก่ชอบกินใบตองยอดอ่อนที่ยังม้วน หรือที่คลี่ออกมาใหม่ ทำให้ใบมีรอยตำหนิเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ ทั่วทั้งใบ

การป้องกันและกำจัด

  • ดูแลสวนให้สะอาดไม่เป็นที่อาศัยของแมลง
  • ใช้สารเคมีผสมน้ำตามอัตราส่วนที่แจ้งไว้ในฉลากฉีดพ่นที่ยอดกล้วย หรือใบอ่อนให้ทั่ว

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ หนอนม้วนใบกล้วย

หนอน

4. หนอนม้วนใบ เป็นหนอน หรือตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน ตัวสีน้ำตาลปนเทา แต้มเหลือง 2-3 จุด หนอนจะกินจากริมใบเป็นทางยาว ม้วนใบซ่อนตัว จนกระทั่งเป็นดักแด้จะมีแป้งขาวๆ หุ้มตัว หนอนสามารถทำลายใบให้ขาดวิ่นใช้ประโยชน์ไม่ได้

การป้องกันและกำจัด

  • ทำลายตัวหนอน
  • ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัด ใช้ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และผสมสารจับใบลงไปด้วย

5. หนอนกระทู้ ตัวแก่เป็นผีเสื้อขนาดเล็ก หากินในเวลากลางคืน ปีกบนสีน้ำตาลปนเทา ปีกล่างสีขาว ตัวอ่อนกินใบตองที่ยังไม่คลี่ หรือคลี่แล้วใหม่ๆ กัดขอบใบเป็นรอยแหว่งเป็นทาง และกัดกลางใบทะลุเป็นรูกลมขนาดเท่ากับตัวหนอน ใบกล้วย หน่อกล้วยที่ออกมาใหม่ หรือหน่อที่นำมาปลูกใหม่ พอใบใหม่แตก มักพบหนอนกระทู้ตัวเล็กๆ กัดกินใต้ผิว เมื่อหนอนตัวโตแล้วก็สามารถกินได้ทั้งบนใบและใต้ใบ

การป้องกันและกำจัด

  • ทำลายตัวหนอน
  • ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัด ใช้ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และผสมสารจับใบลงไปด้วย

6. หนอนร่าน ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางวัน สีน้ำตาล หากถูกตัวจะคัน จะกินใบที่กำลังจะเป็นใบสีเขียวแก่ (หนอนชนิดนี้ กินทั้งใบกล้วยและใบมะพร้าว)

การป้องกันและกำจัด

  • ทำลายตัวหนอน
  • ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัด ใช้ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และผสมสารจับใบลงไปด้วย

7. หนอนปลอก ตัวแก่เป็นผีเสื้อขนาดเล็กมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบกินอยู่ใต้ใบแล้วเอามาทำปลอกหุ้มตัวชี้ไปข้างหลัง พอโตขึ้นจะทำปลอกใหญ่ขึ้น และเกาะห้อยท้ายปลอกลง

การป้องกันและกำจัด

  • ดูแลสวนให้สะอาดไม่เป็นที่อาศัยของแมลง
  • ใช้สารเคมีผสมน้ำตามอัตราส่วนที่แจ้งไว้ในฉลาก พ่นที่ยอดกล้วย หรือตามใบตองอ่อนให้ทั่ว

เพลี้ย

8. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ประมาณ 2×3 มิลลิเมตร ลำตัวมีสารเหนียวที่ปกคลุมด้วยผงฝุ่นสีขาว จะเกาะกันอยู่เป็นก้อน จะเห็นเป็นสีขาวไปทั่วทั้งต้น เพลี้ยแป้งจะดูดน้ำเลี้ยงจากเนื้อเยื่อของต้นกล้วย ทำให้มีผลผลิตลดลง หรือขนาดเล็กลง กาบและลำต้นเน่า ใบเป็นสีเหลือง

การป้องกันและกำจัด

  • ทำความสะอาดต้นกล้วย
  • พ่นด้วยสารเคมี เซฟวิน-เอส 85 ในอัตรา 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบเพนโนไธออน 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

9. เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงขนาดเล็ก ขนาด 1×2 มิลลิเมตร นำเชื้อไวรัสมาสู่กล้วย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากขอบกาบใบโคนลำต้น และใบอ่อน ทำให้กล้วยน้ำว้าหยุดการเจริญเติบโต กาบใบเน่า มีสีน้ำตาล บริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนอยู่สังเกตได้จากการที่มดมาอยู่รวมกัน เพราะมดชอบมากินของเหลวที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมา

การป้องกันและกำจัด

  • ทำความสะอาดต้นกล้วยน้ำว้า และตรวจสอบความผิดปกติให้สม่ำเสมอ
  • พ่นด้วยสารเคมี เช่น มาลาไทออนให้ทั่ว

10. เพลี้ยหอย ลำตัวแบน หลังโค้งนูน ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดลำตัวประมาณ 2×3 มิลลิเมตร เกาะเป็นกลุ่มตามกาบใบ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเนื้อเยื่อในกาบใบและก้านใบตรงคอกล้วยหรือที่โคนต้น

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นตรวจตราลำต้นอยู่เสมอ
  • เมื่อพบเพลี้ยหอย ให้ใช้ใบมีดหรือผิวไผ่ขูดใส่ภาชนะไปทำลายด้วยการเผาไฟ หรือพ่นด้วยสารเคมี เช่น โอเมทโธเอท

11. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวสีน้ำตาลคาดสีดำขนาด 1×3 มิลลิเมตร อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม บินได้เร็ว กินเนื้อเยื่อภายในคอกล้วยหรือโคนต้น เพื่อกินน้ำเลี้ยง จะเกิดจุดสีขาวนวลเป็นจุดๆ ตรงจุดที่เพลี้ยไฟเกาะ ผิวกล้วยน้ำว้าเสีย และจะกลายเป็นสีดำตรงกลางเป็นสีขาว แห้งเหมือนตกกระ

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นตรวจเช็คแปลงปลูกอยู่เสมอ
  • ใช้สารเคมี เช่น เอดิเฟนฟอส 50 เปอร์เซ็นต์ W/V EC อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

แมลงอื่นๆ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ตั๊กแตนผี

12. ตั๊กแตนผี ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ชอบกัดกินใบ
การป้องกันและกำจัด

  • จับมาทำลายทิ้ง
  • ใช้ยาป้องกันกำจัดแมลง ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และควรผสมสารจับใบลงไปด้วย

13. มวนร่างแห ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบกล้วย ใบจะมีสีเขียวซีดตรงจุดที่มวนอยู่ จะเหี่ยวเหลืองซีด แห้งเป็นแห่งๆ ใต้ใบจะเป็นจุดดำๆ จากมูลที่มวนถ่ายทิ้งไว้ และมีการลอกคราบทิ้งไว้ด้วย

การป้องกันและกำจัด

  • ทำความสะอาดสวน กำจัดเศษชิ้นส่วนของต้นกล้วย กาบกล้วยไม่ให้เน่าเปื่อย ชื้นแฉะบริเวณโคนต้นไม่ให้เป็นที่วางไข่
  • ใช้ยาป้องกันกำจัดแมลง ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และควรผสมสารจับใบลงไปด้วย
  • ตัดต้นกล้วยน้ำวาเป็นท่อนๆ วางสุมเป็นจุดในสวน ล่อให้แมลงมาวางไข่ ประมาณ 7 วันต่อครั้ง เปิดตรวจดูช่วงเวลากลางวัน ถ้าพบตัวอ่อนหรือตัวแก่ให้ทำลาย โดยการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น ออลดรินผสมตามสูตรที่ระบุในฉลากยา ราดโคนต้นและรอบๆ โคนต้น
  • เลือกหน่อกล้วยน้ำว้าที่ไม่มีแมลงติดอยู่มาปลูก
  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น ออลดริน เป็นต้น

14. แมลงวันผลไม้ หรือ แมลงวันทอง เป็นศัตรูสำคัญของการปลูกผลไม้เพื่อการค้า ถือเป็นอันตรายต่อกล้วยมาก โดยเฉพาะเวลาที่ผลไม้ใกล้สุก ลำตัวของแมลงวันทองมีสีน้ำตาลปนเหลืองคาดขวาง มีหนวดสั้นๆ ปีกใส ปลายท้องแหลม จะวางไข่ในเนื้อผลกล้วยที่ใกล้สุกหรือมีรอยแผล หนอนที่ออกจากไข่จะไชเนื้อกล้วย ทำให้เชื้อราในอากาศเข้าไปได้ เกิดการเน่าทั้งผลและลามไปทั้งเครือ ให้เกิดความเสียหายเน่าเหม็น จะระบาดมากช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ของทุกปี

การป้องกันและกำจัด

  • เผาไฟ
  • ใช้เหยื่อพิษ เป็นสารเคมีผสมประกอบด้วยสารเคมี จำนวน 200 ซีซี ผสมกับ มาลาไธออน 83 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 70 ซีซี และน้ำ 5 ลิตร อาจผสมสารจับใบเล็กน้อย ฉีดพ่นในช่วงเช้า ด้านที่มีร่มเงาและฉีดพ่นที่ใบแก่ ห้ามฉีดพ่นใบอ่อนและยอดอ่อน ต้นละ 50-100 ซีซี
    ข้อแนะนำเพิ่มเติม ควรมีการสำรวจปริมาณการระบาดของแมลงวันทองก่อนใช้เหยื่อพิษ

โดยใช้กับดักใส่สารล่อ เมทธิล ยูจินอล แล้วตรวจนับจำนวนทุก 7 วัน ถ้าพบประมาณ 10 ตัว ต่อกับดัก 1 อัน ให้ฉีดพ่นเหยื่อพิษ (นาสิมาน+มาลาไธออน+น้ำ) 7 วันต่อครั้ง ถ้าพบมากกว่านี้ ให้ฉีดพ่นทุก 4-5 วัน ในฤดูฝนควรผสมสารจับใบลงไปด้วย จำนวน 5-10 ซีซี

ข้อควรระวังในการใช้ยาฆ่าแมลง
เพื่อความปลอดภัยควรปฏิบัติดังนี้ :
1. คำแนะนำก่อนใช้ยาฆ่าแมลง

  • ก่อนใช้ยา อ่านคำแนะนำบนฉลากยาที่ติดไว้ข้างขวด หรือข้างกล่องยาฆ่าแมลงโดยละเอียด และปฏิบัติตามเพื่อความถูกต้องและปลอดภัย
  • การถือขวดยาฆ่าแมลง ควรถือให้ห่างจากตัว เพื่อมิให้หายใจเอาไอระเหยของยาเข้าสู่ร่างกาย
  • ควรเก็บภาชนะบรรจุยาฆ่าแมลง เครื่องมือพ่นยาฆ่าแมลงให้มิดชิด และห่างไกลจากเด็กๆ และผู้อื่น เพื่อป้องกันอันตราย เพราะยาฆ่าแมลงเป็นพิษต่อร่างกาย และควรเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ถูกแสงแดด เพื่อไม่ให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • การผสมยาฆ่าแมลงกับน้ำในภาชนะ ให้ใช้ไม้หรือ สิ่งของอื่นคนให้เข้ากัน ห้ามใช้มือลงไปคนเด็ดขาดเพราะยาบางชนิดอาจซึมเข้าสู่ผิวหนังได้
  • ควรแต่งกายให้มิดชิด โดยใส่เสื้อแขนยาว ถุงมือ กางเกงขายาว หมวก และใส่ที่ครอบปากและจมูก ระวังอย่าให้ยาฆ่าแมลงสัมผัสกับร่างกาย หรือ อย่าให้ละอองยาเข้าปากและจมูก
  • ไม่ควรผสมยาฆ่าแมลงหลายๆ ชนิดลงในภาชนะเดียวกัน เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ ยกเว้นในกรณีที่มีการแนะนำให้ใช้ได้

2. การพ่นหรือฉีดยาฆ่าแมลง

  • ควรพ่นยาฆ่าแมลงในวันที่มีอากาศแจ่มใส ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป
  • ก่อนใช้ยา อ่านคำแนะนำบนฉลากยาที่ติดไว้ข้างขวด หรือข้างกล่องยาฆ่าแมลงโดยละเอียด และปฏิบัติตามเพื่อความถูกต้องและปลอดภัย
  • ผสมยาฆ่าแมลงกับน้ำสะอาดตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้
  • ขณะพ่นยาฆ่าแมลง ควรยืนอยู่เหนือลม เพื่อป้องกันละอองยากระจายถูกร่างกายและไม่ควรพ่นยาฆ่าแมลงในขณะที่ลมพัดแรงเกินไป
  • ขณะที่พ่นยาฆ่าแมลง ให้หยุดพักทันทีที่รู้สึกเหนื่อยหรือไม่สบาย เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือแน่นหน้าอก แล้วรีบทำความสะอาดร่างกายให้ทั่วโดยใช้สบู่ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ห้ามนอนพักเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ขณะที่พ่นยาฆ่าแมลง ถ้าหัวฉีดเกิดอุดตัน ห้ามใช้ปากเป่าหรือดูดหัวฉีดอย่างเด็ดขาด เพราะยาฆ่าแมลงอาจเข้าสู่ร่างกายได้
  • ไม่ควรดื่มน้ำ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือรับประทานอาหารในขณะพ่นยาฆ่าแมลง หรือหลังจากพ่นยาเสร็จใหม่ๆ ควรทำความสะอาดร่างกายก่อน
  • หลังจากพ่นยาฆ่าแมลง ควรทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่ม และอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที แล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชุดใหม่ เพื่อชำระล้างยาฆ่าแมลงที่อาจติดอยู่ตามร่างกายและเสื้อผ้าออก
  • เมื่อใช้ยาฆ่าแมลงหมดแล้ว ควรนำภาชนะที่บรรจุยาฆ่าแมลงไปทำลายเสียโดยการฝัง แต่ควรปิดฝาขวดไว้ เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้อีก และ ไม่ควรนำภาชนะที่บรรจุยาฆ่าแมลง เช่น ขวด หรือกระป๋องมาใส่อาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเครื่องใช้อื่นๆ

***ถ้ามีผู้ป่วยเนื่องจากถูกยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่งที่มีเครื่องหมาย ‘ หัวกะโหลกไขว้ ’ ให้ผู้ป่วยรีบกิน ยาอะโทรปีนซัลเฟต ซึ่งยาชนิดนี้ควรมีไว้ประจำบ้านที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเป็นประจำ ถ้าไม่มี ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้ เกลือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำอุ่น ครึ่งแก้ว ให้ผู้ป่วยดื่มให้หมดในทันทีที่เกิดอาการ เพื่อทำให้ผู้ป่วยอาเจียน จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยนำขวดยาฆ่าแมลงที่ใช้ไปให้แพทย์ดูด้วย

***เกษตรกรสามารถนำ น้ำยาง ของกล้วยมาผสมน้ำฉีดไล่แมลง และหนอนได้
(ดัดแปลงจาก: กล้วยน้ำว้า …สายพันธุ์ยักษ์)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *