เรื่องกล้วย ๆ กับกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า เป็นพืชล้มลุก ประเภทใบเดี่ยว ออกลูกเป็นเครือ ขยายพันธุ์ด้วยหน่อหรือเหง้า(เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน)ส่วนลำต้นที่อยู่บนดินเกิดจากกาบใบที่หุ้มซ้อนๆ กัน ออกดอกเป็นช่อเรียกว่า ‘หัวปลี’ พบว่าเป็นพื้นบ้านแถบเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุที่นิยมปลูกกล้วยน้ำว้ากันมาก เนื่องจากทนทานต่อสภาพอากาศได้ดีกว่ากล้วยพันธุ์อื่นๆ ชอบอากาศร้อนชื้น และจะให้ผลผลิตที่ดีมากในสภาวะอากาศที่ไม่แปรปรวน
สายพันธุ์กล้วยน้ำว้า มีมากกว่า 10 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ กล้วยน้ำว้า ที่มีมานาน และชื่อเสียงโด่งดังก็คือ กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง สายพันธุ์ที่มีการสนับสนุนให้ปลูกกันมาก คือ กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 และสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง คือ กล้วยน้ำว้าพันธุ์ยักษ์
กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง (หรือ กล้วยน้ำว้าขาว)
เป็นพันธุ์โบราณดั้งเดิม พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย สามารถรับประทานได้ทั้งผลสดและแปรรูป ใช้หน่อในการขยายพันธุ์ มีหลายชื่อให้เรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
- ภาคเหนือ เรียกว่า กล้วยน้ำว้ามณีอ่อง
- ภาคอีสาน เรียกว่า กล้วยน้ำว้าทะนีอ่อง
- ภาคกลาง เรียกว่า กล้วยน้ำว้าอ่อง หรือ กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง
- ภาคใต้ เรียกว่า กล้วยน้ำว้าใต้
กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง เมื่อสุกมีรสชาติหวานไม่ฝาด เปลือกสีจะเหลืองทองเข้มกว่าพันธุ์อื่น เนื้อละเอียดนุ่ม ไส้ขาว ไม่มีเมล็ด แต่เวลาสุกงอม ลูกจะหลุดจากหวีง่ายเพราะขั้วอ่อน กล้วยน้ำว้าเขียว (หรือ กล้วยน้ำว้าทอง กล้วยน้ำว้าทองลอยมา กล้วยน้ำว้าดง กล้วยน้ำว้าไส้แดง) ใช้ผลแปรรูปหรือรับประทานสด ลำต้นกาบด้านนอกมีสีเขียวอ่อนประดำ ก้านใบเขียวนวล ปลีค่อนข้างใหญ่ เปลือกผลสีเขียวสด กลม มีจุก เมื่อสุกจะมีสีเหลืองปนเขียว ก้านผลยาว
กล้วยน้ำว้านวลจันทร์ ( กล้วยน้ำว้าเงิน กล้วยน้ำว้าหนัง )
ผลมีขนาดใหญ่ ป้อม ทรงกระบอก ปลายค่อนข้างแหลม ผลดิบ เปลือกสีเขียว อมขาว นวล กว่ากล้วยน้ำว้าพันธุ์อื่นผลสุก เปลือกสีเหลืองนวล เนื้อสีขาวอมชมพู หวานจัด เนื้อแน่น กลิ่นหอมอ่อนๆ อร่อยมาก หน่อมีราคาสูงเพราะค่อนข้างหายาก
กล้วยน้ำว้าพันธุ์ค่อม
ใช้รับประทานสดและแปรรูป ก้านผลยาว มีช่องว่างระหว่างหวีน้อยกว่ากล้วยน้ำว้าอื่นๆ ค่อนข้างเบียดกันแน่น ผลจึงเรียวแหลม เมื่อสุกมีสีเหลืองอมขาว ไส้กลางสีเหลือง รสหวาน
กล้วยน้ำว้าพันธุ์ดำ
ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคกลาง ใช้รับประทานสด กาบด้านนอกและโคนก้านใบมีปื้นดำ ผลอ่อนมีลายตามผิว สีผลเหมือนสนิม ผลแก่ลายเกือบเต็มผล มีสีน้ำตาลเข้ม ผลสุกส่วนสีเขียวจะกลายเป็นสีเหลือง ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลจะซีดลง เปลือกบาง เนื้อผลสีขาว รสหวานมีกลิ่นเล็กน้อย
กล้วยน้ำว้าโชควิเชียร ( ค้นพบโดย คุณวิเชียร เนียมจ้อย อ. บางใหญ่ จ. นนทบุรี )
ใช้รับประทานสด หรือแปรรูป และใช้ในงานพิธี ผลสั้น ป้อม กลม อ้วน 1 เครือ มีได้มากที่สุดประมาณ 22 หวี 1หวีมีได้มากที่สุดประมาณ 17-19 ลูก รสชาติดี นุ่ม เก็บไว้ได้นาน ขั้วเหนียว แก่แล้วไม่หลุดจากขั้ว
กล้วยน้ำว้าท่ายาง (แหล่งกำเนิดอยู่ที่ อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี)
ไส้เหลือง ผลมนยาวและผลใหญ่กว่าพันธุ์มะลิอ่อง ไม่มีเมล็ด ต้นสมบูรณ์มีประมาณ 15-18 หวีต่อเครือ 22-25 ลูกต่อหวี รสชาติหวานนุ่มลิ้น เนื้อนิ่ม ไส้นุ่มหอม
กล้วยน้ำว้าพันธุ์ยักษ์
เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้กับชาวบ้านที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ. สุรินทร์ ปลูก เมื่อมีชาวบ้านที่ย้ายถิ่นฐานมายัง จ. กาญจนบุรี จึงนำพันธุ์กล้วยมาปลูกที่นั่นด้วย แหล่งที่พบมากที่สุดจึงอยู่ที่ จ. กาญจนบุรี
กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 ( กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองอุบล )
อ. กัลยาณี สุวิทวัส นักวิจัยชำนาญการพิเศษ สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีย์จันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้วิจัยกล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 โดยศึกษากล้วยน้ำว้าพันธุ์อุบลฯ ทำการคัดสายพันธุ์ และนำไปทดสอบจนสามารถออกพันธุ์ในนามกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ในปี พ.ศ. 2551 ในงานฉลองครบรอบ 50 ปี สถานีวิจัยปากช่องผลดิบ มีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง ไส้สีเหลืองเจริญเติบโตสูง ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี ผลใหญ่สม่ำเสมอ ก้านผลยาว เปลือกหนา เนื้อแน่น (ดัดแปลงจาก: กล้วยน้ำว้า …สายพันธุ์ยักษ์)
หลักการปลูกกล้วยน้ำว้า
1. การเตรียมพื้นที่ปลูก ควรเป็นพื้นที่ที่
- น้ำท่วมไม่ถึง
- ดินร่วนซุย หรือดินเหนียวปนทราย จะเหมาะมาก
- พื้นที่ที่เป็นดินเหนียว ควรยกร่องและปลูกบนสันร่องทั้ง 2 ข้าง
- ระบายน้ำได้ดี
- ไม่เป็นแอ่ง และมีความลาดเท เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน
- มีธาตุอาหารสมบูรณ์ สามารถเพิ่มธาตุอาหารในดินโดยการปลูก ‘ปอเทือง’ แล้วไถกลบ
- มีการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชที่ตกค้างในดิน โดยการพลิกหน้าดินตากทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน หลังจากนั้น คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือ ปุ๋ยหมักกับดินชั้นบน)
วิธีการเตรียมพื้นที่ปลูก
1.1 ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดินร่วนซุย และดินเหนียวปนทราย ระบายน้ำได้ดี เหมาะในการปลูกกล้วย กล้วยเป็นพืชที่ดูดอาหารมาก เพราะฉะนั้น ดินควรแน่นพอสมควรเพื่อเก็บความชื้นไว้ได้นาน กล้วยจะเจริญเติบโตได้ดี มีผลผลิตให้เก็บตลอดทั้งปีถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีฝนตกตลอดทั้งปี หรือดินฟ้าอากาศคงที่ แต่จะชะลอการเจริญเติบโตในฤดูแล้งหรือฤดูหนาวการปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินก่อนปลูกกล้วยช่วยฟื้นฟูและพลิกฟื้นดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ถั่วแระ ถั่วพุ่ม ปอเทือง ถั่วคุดซู ถั่วแลบแลบ ถั่วคาโลโปโกเนียมเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วไถกลบให้พืชคลุมดินฝั่งลึกประมาณ 60 ซม.ให้เป็นปุ๋ยสด เป็นธาตุอาหารแก่กล้วย ถ้าต้องการให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ควรเติมปุ๋ยคอกลงไปด้วยจะช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
1.2 อุณหภูมิ ที่เหมาะสมคือ ไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส หรือไม่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียส กล้วยน้ำว้าชอบอากาศอบอุ่นและร้อนชื้นอุณหภูมิต่ำ ทำให้กล้วยแทงปลีช้า
1.3 ฤดูที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย คือ ฤดูฝนเริ่มลงมือปลูกต้นฤดู ภายใน 1 เดือนหลังจากนั้น กล้วยจะมียอดอ่อนโผล่เมื่อได้รับน้ำฝนพื้นที่ที่มีฝนตกชุก สามารถปลูกได้หลังเก็บเกี่ยวผลทันที แต่น้ำฝนต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า 50 นิ้วต่อปี
1.4 แหล่งน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกกล้วยลำต้นที่อวบของกล้วยนั้นจะอุ้มน้ำไว้มาก เพราะกล้วยต้องการน้ำมาก เกษตรกรควรหาแหล่งน้ำ หรือจัดทำระบบน้ำให้เข้าสวนอย่างมีระบบ เมื่อมีฝนตกน้อยหรืออยู่ในภาวะแห้งแล้ง ส่วนใหญ่นิยมยกแปลงทำร่องสวน ปลูกกล้วยน้ำว้าไว้บนแปลงที่ยกขึ้นมา และสูบน้ำไว้ในร่องน้ำที่ขุด น้ำที่ขังสามารถซึมเข้าใต้ผิวดินให้ความชุ่มชื้นกับกล้วยได้ตลอดปี
2. วิธีการปลูก
2.1 แบบพื้นที่ราบ
- กำจัดพืชให้หมด แล้วพลิกหน้าดิน ปล่อยตากแดดไว้ 1 สัปดาห์
- ขุดหลุมขนาด กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร แต่ละหลุมควรห่างประมาณ 5 เมตร (ปลูกได้ประมาณ 64 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ไร่) เพื่อสะดวกในการพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ตัดใบ และยังทำให้อากาศหมุนเวียนหรือถ่ายเทได้ดี ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชได้อีกทางหนึ่ง
- รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยคอกสูงประมาณ 20 เซนติเมตร
- ตัดรากหน่อกล้วยออกให้หมด แล้ววางลงกลางหลุม
- กลบดินหลวมๆ แล้วเหยียบดินรอบโคนต้นให้แน่น
- รดน้ำให้ชุ่ม
2.2 แบบยกร่อง นิยมใช้ในภาคกลางของประเทศไทย
- ขุดร่องสวน นำดินที่ขุดขึ้นมาทำแปลงยกขึ้น แล้วปลูกบนแปลงที่ยก โดยมีระยะห่างต่อแถวไม่เกิน 3 เมตร ระยะระหว่างต้น 3 เมตร
- ระยะการปลูกขึ้นอยู่กับดินด้วย ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกห่างได้ ถ้าดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ให้ปลูกถี่ เพื่อไม่ให้ต้นกล้วยมีขนาดเล็ก
หลังจากปลูกกล้วยน้ำว้ากันแล้ว ติดตามอ่านบทความ : การดูแลกล้วยน้ำว้า, การขยายพันธุ์กล้วยน้ำว้า และเทคนิคการปลูกกล้วยน้ำว้า แบบประหยัดต้นทุน ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ และต่อเนื่องนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่