เม็ดมะม่วงหิมพานต์

เม็ดมะม่วงหิมพานต์

เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยังคงมีความอร่อย และราคาสูง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ประโยชน์ และรสชาติความมันของ เม็ดมะม่วงหิมพานต์นั้น คุ้มค่า คุ้มราคาจริงๆ เมื่อเรานำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มาอบ หรือทอดเป็นของขบเคี้ยว ความมันที่ได้ลิ้มรส ทำให้พากันคิดว่า เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับถั่ว ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ มะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ หรือ Cashew nut เป็นไม้ดอกยืนต้น กลุ่มเดียวกับมะม่วง และถั่วพิสตาชีโอ มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล นำเข้ามาปลูกครั้งแรกที่ภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2444 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นพืชที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง ประกอบด้วยโปรตีนที่ย่อยง่าย ไขมันที่ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (เมื่อบริโภคเข้าไปจะไม่เพิ่มไขมันในเส้นเลือด) คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ, บี, อี และเกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก

มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ไม่ผลัดใบ

  • ลำต้น มีความสูง 10 ถึง 12 เมตร ต้นเตี้ย กิ่งก้านสยายไม่สม่ำเสมอ
  • ใบ เรียงเป็นแบบเกลียว ผิวมันลื่น รูปโค้งจนถึงรูปไข่ มีความยาว 4 ถึง 22 เซนติเมตร และกว้าง 2 ถึง 15 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ
  • ดอก มีสีเขียวซีด จากนั้นเปลี่ยนเป็นแดงจัด มี 5 กลีบ ปลายแหลม เรียว ยาว 7 ถึง 15 มิลลิเมตร
  • ผล รูปไข่หรือรูปลูกแพร์ คือ ผลวิสามัญ ซึ่งจะเติบโตจากฐานดอกขึ้นมา เมื่อสุกจะมีสีเหลืองหรือส้มแดง มีความยาวประมาณ 5 ถึง 11 เซนติเมตร

ผลแท้ของมะม่วงหิมพานต์นั้น เป็นผลเมล็ดเดียว รูปไต หรือรูปนวมนักมวย งอกออกจากปลายของผลเทียม โดยขยายตัวออกมาจากก้านดอกเป็นผลเทียม ภายในผลแท้นั้น เป็นเมล็ดเดี่ยว เนื้อขาวนวลนั้นเป็นผลที่มีเปลือกแข็ง (nut) แต่ในทางพฤกษศาสตร์ถือว่า เป็นเมล็ด (seed)

สรรพคุณและประโยชน์ ของ เม็ดมะม่วงหิมพานต์
นอกจากจะเป็นส่วนประกอบของอาหารคาว หวาน ยังมีการนำมารับประทานเป็นของกินเล่น อบกรอบ หรือทอด แต่สรรพคุณและประโยชน์ ของ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีมากกว่าความอร่อย

  1. เม็ดมะม่วงหิมพานต์อุดมด้วยวิตามิน โปรตีน และไขมันที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว คาร์โบไฮเดรต วิตามิน A วิตามิน B วิตามิน E เกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก
  2. เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีสรรพคุณช่วยป้องกันโรค จากการรับประทานเมล็ด คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ประสาทจอตาเสื่อม
  3. เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีแมกนีเซียมจำนวนมากช่วยบำรุงสุขภาพเหงือกและฟัน ตลอดจนกระดูกให้แข็งแรง และลดความดันโลหิตได้
  4. เม็ดมะม่วงหิมพานต์ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด เพราะมีกรดไลโนเลอิก
  5. เม็ดมะม่วงหิมพานต์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ มีเส้นใยอาหารสูง ลดการดูดซึมไขมันได้ดี ช่วยด้านรูปร่างให้สมส่วนได้
  6. เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีเป็นประโยชน์ช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย
  7. ใบแก่นำมาตำรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้
  8. ผลและใบมีสรรพคุณลดไข้ได้
  9. เปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ใช้แก้อาการปวดฟันได้
  10. เปลือกของต้นมะม่วงหิมพานต์ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
  11. ยางจากต้นมะม่วงหิมพานต์ใช้แก้อาการเลือดออกตามไรฟันได้

คุณค่าทางพลังงาน
จากข้อมูลทางโภชนาการ
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 100 กรัม ให้พลังงาน 553 กิโลแคลอรี่ นับว่ามีพลังงานสูงมาก

ข้อควรระวัง ในการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์

  • ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 1 กำมือ เนื่องจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์มีพลังงานสูงมาก และถึงแม้จะมีไขมันดีอยู่ในเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่เมื่อสะสมไว้ในร่างกายในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้อ้วนได้
  • อาจเป็นพิษ ทำความระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง ในบางคนแพ้มะม่วงหิมพานต์ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับพืชผลเปลือกแข็งชนิดอื่นแล้ว ยังนับว่ามีปริมาณการเกิดพิษน้อย
  • เลือกรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพ

การปลูกมะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชที่ปลูกง่าย เติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิดสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก ต้องการน้ำน้อย

สายพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย

สายพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ มีอยู่ทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 400 พันธุ์ แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า ในปัจจุบันมีไม่มากสำหรับประเทศไทย พันธุ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป มีดังนี้

  • พันธุ์ศรีสะเกษ 60 เมล็ดจัดอยู่ในเกรด 3 ของมาตรฐานตลาดโลก  เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรคยางไหล โรคผลเน่าและโรคช่อดอกแห้ง ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญของมะม่วงหิมพานต์
  • พันธุ์ศรีสะเกษ 60-2 เมล็ดจัดอยู่ในเกรด 3 ของมาตรฐานตลาดโลก เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรคยางไหล โรคผลเน่า และโรคช่อดอกแห้ง เช่นกัน
  • พันธุ์ศิริชัย 25 : พบเมื่อปี 2525 ที่จังหวัดจันทบุรี โดยบริษัทมาบุญครองศิริชัยมะม่วงหิมพานต์ จำกัด ขนาดเมล็ดอยู่ในขนาดใกล้เคียงมาตรฐานโลก
  • พันธุ์เกาะพยาม : เป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดระนอง โดยปลูกมากในพื้นที่ตำบลเกาะพยาม ขนาดเมล็ดใหญ่

การคัดเลือกพันธุ์

  1. ต้องเป็นพันธุ์ที่เมล็ดใหญ่ จำนวนเมล็ดต้องไม่เกิน 150เมล็ด ต่อกิโลกรัม
  2. ต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 20 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี
  3. เป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี
  4. ต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

  • เลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ดี
  • นำมาเพาะใส่ถุงพลาสติก ขนาด ประมาณ 5 ถึง 8 นิ้ว หรือสามารถเลือกใช้วิธีขุดหลุมปลูก
  • กดเมล็ดลงในดิน วางเอียง ทำมุม 45 องศา
  • เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณไม่เกิน 4 เดือน นำต้นกล้าปลูกลงดิน

วิธีการย้ายกล้า

  1. ขุดหลุมกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50 ถึง 100 เซนติเมตร เท่ากัน และปลูกเว้นระยะห่างระหว่างต้น และระหว่างแถว 6 เมตรเนื่องจากเมื่อต้นมะม่วงหิมพานต์เจริญเติบโตเต็มที่ ใบกิ่งก้านจะแผ่ขยายออกใช้พื้นที่กว้างพอสมควร หากปลูกชิดกันเกินไป ต้นจะเบียดกัน ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่
  2. ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ3 ถึง 5 กิโลกรัม ผสมกับดิน เทลงไปในหลุมประมาณครึ่งหลุม
  3. นำต้นกล้ามะม่วงหิมพานต์ที่จะปลูกวางลงในหลุม โดยให้โคนต้นอยู่เหนือปากหลุมเล็กน้อย ก่อนที่จะกลบดินอีกครั้ง
  4. ทำไม้ค้ำลำต้นกันลม ไม่ให้พัดลำต้นล้ม แล้วจึงกลบดินลงให้แน่น

***ในพื้นที่ 1 ไร่ ควรปลูกมะม่วงหิมพานต์ไม่เกิน 45 ต้น***
การปลูกมะม่วงหิมพานต์ต้องใช้เวลาเป็นปีจึงจะให้ผลครั้งแรก ผู้ปลูกจะต้องดูแลเรื่องวัชพืช และแมลงที่จะมารบกวน เพื่อรักษาต้นให้ได้ผลผลิตอย่างคุ้มค่าแก่การรอคอย เมื่อปลูกมะม่วงหิมพานต์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ดูแล ป้องกันโรคและแมลง รวมถึงเทคนิคส่งเสริมให้ผลผลิตมีคุณภาพ ผู้อ่านสามารถติดตามได้ในบทความ การดูแลมะม่วงหิมพานต์ หลังการปลูก และการแปรรูป นะคะ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ไว้ในบทความ ปัญหาในการปลูกมะม่วงหิมพานต์ และ การป้องกันและแก้ไข โรคและแมลงศัตรูมะม่วงหิมพานต์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.sukkaphap-d.com, https://th.wikipedia.org/wiki/มะม่วงหิมพานต์)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *