พืชหมุนเวียน
พืชหมุนเวียน
พืชหมุนเวียน ซึ่งผู้เขียนได้แนะนำไว้ในหลายบทความ ให้เกษตรกรปลูก และในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสริมและรณรงค์ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน หลังปลูกข้าว หรือปลูกหลังนา และการปลูกพืชหมุนเวียน ในพื้นที่เพาะปลูกพืชล้มลุกอื่นๆ
ประโยชน์ของ การปลูกพืชหมุนเวียน
- เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
- เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำชลประทาน
- เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงดิน
- เพื่อสร้างรายได้เสริม ในช่วงที่เกษตรมีการพักนา หรือพักการเพาะปลูกพืชไร่ตามฤดูกาล
- เพื่อลดการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมี
- เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชไร่บางชนิด ทดแทนการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นต้น
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ในการปลูกพืชหมุนเวียน
พืชที่ใช้ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนนั้น มีหลากหลายชนิด แต่การนำมาปลูกนั้น ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ :
ฤดูกาลที่เหมาะสมกับชนิดพืชที่นำมาปลูก
- สภาพความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก
- ผลผลิตและผลตอบแทนที่จะได้รับ
พืชที่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืชหมุนเวียน
- ปอเทือง
- ข้าวโพดหวาน—แนะนำ ข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
- ถั่วลิสง
- ถั่วเหลือง
- ถั่วเขียว
- ถั่วพุ่ม
- โสนอัฟริกัน
- มะเขือเทศ
ขอเริ่มต้นที่ ปอเทือง ก่อนนะคะ
1.1 ปอเทือง
ปอเทือง ในบางท้องถิ่นเรียกปอเทืองว่า คำบูชาเทือง บัวสา มะคำไก่ดง ส้มปูขม และหิ่งห้อยโคก เป็นต้น ปอเทืองเป็นพืชล้มลุก ฤดูเดียว นิยมปลูกปอเทือง เป็น พืชหมุนเวียน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น เป็นลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก ลำต้นสูงประมาณ 1.8 ถึง 3 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรี
ดอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือปลายกิ่งก้าน มีดอกย่อยประมาณ 8 ถึง 20 ดอก สีเหลือง รูปดอกถั่ว
ผล เป็นฝัก รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 3 ถึง 6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร
เมล็ด มีเมล็ดประมาณ 6 เมล็ด ต่อ 1 ฝัก
ประโยชน์ของปอเทือง
ปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่ว ให้น้ำหนักสดต่อไร่สูงตั้งแต่ 2 ถึง 5 ตัน ต่อไร่ ให้ธาตุอาหารโดยเฉพาะไนโตรเจนในปริมาณที่สูง เมื่อมีการไถกลบ
จุดประสงค์การปลูกปอเทือง
- ใช้เพื่อปรับปรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน
- เป็นปุ๋ยพืชสด
พื้นที่ที่เหมาะสม
- พื้นที่ดอน
ฤดูกาลที่เหมาะสม
- ช่วงต้นฤดูฝน เหมาะสำหรับการปลูกปอเทืองเพื่อใช้ปรับปรุง บำรุงดิน
- ช่วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม เหมาะสำหรับการเก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
เคล็ดลับเพิ่มเติมในการปลูกปอเทืองบำรุงดิน
- ก่อนการปลูกพืชหลักอย่างน้อย 2 เดือน เช่น ก่อนการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น
- หลังจากการปลูกพืชหลักประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ โดยปลูกแซมระหว่างแถวของพืชหลัก
การปลูกปอเทือง
วิธีการเพาะปลูก
- ใช้วิธีหว่าน หรือโรยเมล็ด
ขั้นตอน การปลูกปอเทือง
การปลูกปอเทือง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- ปลูกโดยไม่ต้องเตรียมดิน
ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชหลัก –หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองก่อนการเก็บเกี่ยว 1 ถึง 2 วัน แต่อาจทำให้สุญเสียเมล็ดพันธุ์ปอเทืองไปกับการเก็บเกี่ยว
หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชหลัก—หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองตามร่องรถเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือกระจายทั่วแปลงเพาะปลูก - ปลูกโดยการเตรียมดิน
ใช้รถไถดินในขณะที่ยังมีความชื้นอยู่ แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทือง จากนั้นคราดกลบเพื่อให้เมล็ดพันธุ์งอกได้สม่ำเสมอ และเจริญเติบโตได้ดี
การดูแลรักษาปอเทือง หลังการเพาะปลูก
หลังการหว่านเมล็ดปอเทืองประมาณ 3 ถึง 5 วัน เมล็ดจะงอกโดยอาศัยความชื้นในดิน ไม่ต้องให้น้ำ หรือให้ปุ๋ย ปอเทืองจะเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ
ช่วงอายุของการเจริญเติบโต
- หลังการหว่านเมล็ด 50 ถึง 60 วัน ดอกปอเทืองจะเริ่มบานจากข้างล่างขึ้นข้างบน หลังจากนั้นดอกจะโรยและติดฝัก โดยติดฝักจากข้างล่างก่อนเช่นเดียวกัน
- เมื่อปอเทืองมีอายุ 120 ถึง 130 วัน ฝักจะแก่ และเก็บเกี่ยวได้
แมลงศัตรูปอเทือง
- หนอนผีเสื้อ จะเจาะฝักกินเมล็ดข้างใน ส่วนใหญ่พบการระบาดไม่มาก ไม่ต้องกำจัด ปล่อยตามธรรมชาติ
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
- เมื่อปอเทืองมีอายุประมาณ 50 ถึง 60 วัน เกษตรกรบางรายจะไถ หรือสับกลบพื้นที่ ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ แล้วทิ้งไว้ 7 ถึง 10 วัน จึงทำการปลูกพืชหลัก
- ใช้เคียวเกี่ยวผึ่งแดดไว้ 3 ถึง 4 แดด นำมาใส่กระสอบแล้วทุบฝักให้แตก หรือนำมากองในผ้าใบบนลานกว้าง แล้วใช้รถย่ำ
***ปอเทืองให้ผลผลิตเฉลี่ย 80 ถึง 120 กิโลกรัม ต่อไร่***
ติดตาม พืชหมุนเวียน ในบทความ 1.1 ข้าวโพดหวาน ฯลฯ ด้วยนะคะ เพื่อผลตอบแทนที่ดีจากพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์
(แหล่งข้อมูล : www.thaiarcheep.com, หนังสือ พืชหลังนา สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)