ผลมะม่วง
มะม่วง เมื่อปลูกและดูแลจนกระทั่งออกผล ก็ยังต้องมีการบริหารจัดการเรื่อง ผลมะม่วง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยว การบ่ม การเก็บรักษา ตลอดจนการดูแลสวนมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยว ผลมะม่วง
ก่อนเก็บเกี่ยวผล ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา ครั้งแรก ก่อนเก็บเกี่ยวผล 15 วัน และครั้งที่สอง ก่อนเก็บเกี่ยวผล 7 วัน เพื่อป้องกันโรคเน่า ไม่ควรทำการเก็บเกี่ยว ผลมะม่วง ช่วงเช้าตรู่ จนถึง 9 โมงเช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่น้ำยางไหลแรง จะเปรอะทำให้ผลมีตำหนิ โดยเฉพาะเมื่อผลสุก รอยจะยิ่งชัดขึ้น การเก็บเกี่ยวควรพยายามให้ขั้วผลหรือก้านติดมาด้วยจะช่วยป้องกันน้ำยางทะลักออก สำหรับผลมะม่วงที่ไม่เปรอะมาก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเบาๆ ช่วยลดความเสียหายของผลมะม่วงลงได้มาก การเก็บเกี่ยวผลมะม่วงด้วยมือ เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสามารถเด็ดให้มีก้านทั้งก้านติดมาด้วย ถ้าใช้ตะกร้อสอย ควรใส่ใบมีดคมๆ บริเวณปากตะกร้อ ใบมีดจะตัดก้านมะม่วงพอดีเวลาสอย น้ำยางจะไม่ทะลักออก และระมัดระวังอย่าให้ผลเป็นรอย จากนั้น เด็ดก้านออกให้ชิดผล วางผลคว่ำหัวบนกระสอบหรือวัสดุที่ซับน้ำยางได้ พอสะเด็ดน้ำยางดีแล้วจึงนำไปกำจัดเชื้อรา การฆ่าเชื้อโรคที่ภาชนะบรรจุ โรงคัด หรือห้องบ่ม ตลอดจนห้องเก็บรักษา และการจุ่มผลมะม่วงในน้ำร้อน 52 องศาเซลเซียส และมีสารบีโนมิล 50 เปอร์เซ็นต์ นาน 5 นาที แล้วนำออกไปผึ่งแดดให้แห้ง จะช่วยป้องกันโรคเน่าได้เป็นอย่างดีการเก็บรักษา ผลมะม่วง ออกจำหน่ายในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง ถ้าเป็นมะม่วงที่เริ่มสุก จะเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 6 สัปดาห์
(แหล่งข้อมูล: มะม่วงเศรษฐกิจ & ส่งออก ยุคใหม่…สร้างเงินล้าน)
วิธีการ บ่มมะม่วงให้สุก
มี 3 ส่วนประกอบ: การบ่มมะม่วงให้สุก, ลักษณะมะม่วงสุก, การเก็บรักษามะม่วง
การบ่มมะม่วงให้สุก
1. บ่มมะม่วงในถุงกระดาษหรือหนังสือพิมพ์
- เมื่อห่อมะม่วงในถุงกระดาษหรือหนังสือพิมพ์ อย่าปิดถุงจนสนิท ต้องปล่อยให้อากาศและก๊าซไหลออกบ้าง ไม่อย่างนั้นเชื้อราอาจก่อตัวขึ้นได้
- ใส่แอปเปิ้ลหรือกล้วยลงไปในถุงด้วยเพื่อเร่งให้สุกเร็วขึ้นอีก การใส่ผลไม้ที่ปล่อยก๊าซเอทิลีนลงไปอีกจะช่วยเพิ่มปริมาณเอทิลีนในถุง ซึ่งจะทำให้คุณได้มะม่วงที่สุกจนฉ่ำเร็วขึ้น
2. ใส่มะม่วงลงในถ้วยข้าวสารหรือเมล็ดข้าวโพดคั่ว. ภูมิปัญญาพื้นบ้านนี้มาจากอินเดีย เมื่อเหล่าแม่บ้านผู้ขยันขันแข็งเก็บมะม่วงดิบไว้ในกระสอบข้าวสารเพื่อบ่มให้สุกเร็วๆ ส่วนในเม็กซิโกนั้นก็มีเคล็ดลับคล้ายๆ กัน เพียงแต่ใช้เมล็ดข้าวโพดคั่วแทนข้าวสาร ถึงวัตถุดิบที่ใช้จะต่างกัน แต่กระบวนการและผลลัพธ์นั้นเหมือนกัน นั่นคือ แทนที่จะต้องรอสามวันให้มะม่วงของสุกตามธรรมชาติ มะม่วงจะสุกไม่เกินวันหรือสองวันเท่านั้น และอาจเร็วกว่านั้นด้วยซ้ำ
- เหตุผลเบื้องหลังภูมิปัญญาในการบ่มมะม่วงนี้ก็เหมือนกับวิธีบ่มโดยใช้ถุงกระดาษ นั่นคือ ข้าวสารหรือเมล็ดข้าวโพดจะช่วยกักเก็บก๊าซเอทิลีนไว้รอบๆ ผลมะม่วง ซึ่งจะทำให้กระบวนการการสุกงอมนั้นเร็วขึ้น
- ที่จริงแล้ว วิธีนี้จะให้ผลที่รวดเร็วมากจนบางครั้งอาจเสี่ยงที่จะบ่มมะม่วงจนสุก “เกินไป” ควรตรวจดูว่ามะม่วงสุกได้ที่หรือยังทุกๆ 6 หรือ 12 ชั่วโมง ก็จะได้มะม่วงที่สุกงอมหอมหวานอย่างแน่นอน
3. วางมะม่วงที่ยังไม่สุกไว้ที่อุณหภูมิห้อง สำหรับวิธีนี้ เช่นเดียวกับผลไม้ชนิดอื่นๆ มะม่วงอาจใช้เวลาหลายวันในการสุกงอม แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติที่สุดในการทำให้มะม่วงนั้นเนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ และเมื่อผิวนิ่มเวลาจับและมีกลิ่นหวานอมเปรี้ยวแรงๆ คือ สุกพร้อมรับประทาน
ลักษณะมะม่วงสุก
1. ดมกลิ่นมะม่วงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือที่สุด ดมมะม่วงตรงด้านที่เป็นก้าน หากมีกลิ่นหอมหวานอมเปรี้ยวและกลิ่นค่อนข้างแรง แสดงว่ามะม่วงสุกแล้ว แต่ถ้าหากไม่ค่อยได้กลิ่น แสดงว่ามะม่วงยังไม่สุกดี
2. บีบมะม่วงเบาๆ หลังจากที่ดมแล้ว กดมะม่วงเบาๆ หากผิวนิ่มและกดยุบลงไปเล็กน้อย แสดงว่ามะม่วงสุกแล้ว มะม่วงที่สุกแล้วจะให้ความรู้สึกคล้ายกับพีช หรือ อะโวคาโดที่สุกแล้ว และหากมะม่วงยังแข็งอยู่และผิวไม่ยืดหยุ่น แสดงว่ายังไม่สุก
3. อย่าอาศัยสีในการตัดสินว่ามะม่วงสุกหรือยัง. แม้ว่ามะม่วงสุกส่วนใหญ่จะมีสีแดงเข้มหรือสีเหลืองออกไหม้มากกว่าสีเขียวอ่อนๆ มะม่วงที่สุกแล้วจะไม่ได้เป็นสีแดงหรือสีเหลือง “ทุกครั้ง” ฉะนั้นจึงลืมรูปลักษณ์ของมะม่วงไปได้เลยเมื่อตรวจดูว่ามะม่วงสุกหรือยัง ให้ใช้กลิ่นและความนิ่มเป็นตัวตัดสินแทน
4. อย่าเพิ่งกลัวเมื่อเห็นจุดดำๆ นิดๆ หน่อยๆ บนผิวมะม่วง บางคนไม่กล้ากินมะม่วงที่มีผิวเป็นจุดกระดำกระด่าง แต่รู้หรือไม่ว่าจุดด่างพวกนี้ตามปกติแล้วเป็นเพียงสัญญาณเริ่มแรกของการเน่าเสียของมะม่วงเท่านั้น แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่ามะม่วงนั้นเน่าเร็ว แต่จุดดำๆ พวกนี้ไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามะม่วงนั้นเสียแล้ว ความเป็นจริง จุดพวกนี้อาจหมายความว่ามะม่วงมีปริมาณน้ำตาลมากก็ได้
- หากจุดดำๆ นั้นนิ่มกว่าปกติ ให้ผ่ามะม่วงออกและมองหาเนื้อที่เป็นใสๆ เนื้อแบบนี้คือสัญญาณว่ามะม่วงเน่าและควรทิ้งมะม่วงเหล่านี้ไป
- ให้ใช้ความรู้สึก ในการตัดสินหากมะม่วงลูกนั้นมีจุดดำเล็กน้อย นั่นคือ หากกดผิวแล้วไม่นิ่มจนเกินไป มีกลิ่นหอมพอใช้ได้ และผิวนั้นแน่นตึงและสีสด ก็สามารถรับประทานหรือจำหน่ายมะม่วงลูกนั้นได้
การเก็บรักษามะม่วง
1. นำมะม่วงทั้งลูกแช่ตู้เย็นเมื่อผลสุกแล้ว. ไม่จำเป็นต้องใช้พลาสติกห่อหรือภาชนะใดๆ ในการเก็บมะม่วงไว้ในตู้เย็น การแช่มะม่วงในตู้เย็นจะช่วยลดความเร็วในการสุกงอมของมะม่วง โดยสามารถแช่มะม่วงที่สุกแล้วทั้งลูกไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 5 วัน
- ไม่ควรเก็บมะม่วงไว้ในตู้เย็นก่อนที่มะม่วงจะสุก เช่นเดียวกับผลไม้เมืองร้อนทุกชนิด เนื่องจากเนื้อมะม่วงอาจเสียหายจากอุณหภูมิเย็นๆ นอกจากนี้ การแช่เย็นยังไปหยุดกระบวนการการสุกงอมของผลไม้อีกด้วย
2. ปอกและหั่นมะม่วงที่สุกแล้ว หากต้องการ. ใส่มะม่วงสุกที่หั่นแล้วลงในกล่องสุญญากาศ ทั้งนี้ สามารถเก็บภาชนะไว้ในตู้เย็นได้สองสามวัน ส่วนในช่องแช่แข็งนั้น สามารถเก็บมะม่วงที่หั่นแล้วไว้ในภาชนะสุญญากาศได้นานถึง 6 เดือน
เคล็ดลับ
- เนื้อด้านในของมะม่วงที่เป็นรูปวงรีมักจะมีเนื้อที่มีลักษณะเป็นเส้นใยน้อยกว่ามะม่วงที่รูปร่างแบน ๆ บาง ๆ
- สีของมะม่วงไม่ใช่ตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ในการดูว่ามะม่วงสุกหรือยัง ให้ใช้กลิ่นและความนิ่มในการตัดสินความสุกงอมของมะม่วง
(แหล่งข้อมูล Wikihow.com)
การดูแลสวนมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว
หลังการเก็บเกี่ยวผลมะม่วง ให้ทำการตัดแต่งกิ่ง โดยเลือกตัดกิ่งที่แออัด กิ่งคดงอ กิ่งซ้อนกัน เพื่อให้เกิดการแตกกิ่งได้ดี ติดผลดีในรุ่นต่อไป และยังป้องกันแมลงศัตรูมะม่วงได้อีกทางหนึ่ง ให้ปุ๋ยทางดินทันที พร้อมกับให้น้ำอย่างพอเพียง เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต สร้างความสมบูรณ์ให้ต้น และควบคุมให้ต้นพักตัวได้สะสมอาหารเพื่อสร้างตาดอก กำจัดวัชพืช อาจจะฉีดยาป้องกันแมลงจำพวก แมลงวันทอง เพลี้ยจักจั่น พร้อมวางกับดักแมลงไว้ด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่