กาแฟ

กาแฟ

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กาแฟยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ ด้วยประโยชน์ของกาแฟที่มีมากเกินกว่าการนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม สำหรับประเทศไทยกาแฟกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่มีการเพาะปลูกในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปลูกทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกทดแทนการปลูกฝิ่นตามไหล่เขาทางภาคเหนือ ปลูกแซมต้นยางพาราในภาคใต้และภาคตะวันออก หรือปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน เกษตรกรที่เคยปลูกกาแฟเป็นรายได้เสริม แซมไม้ยืนต้นในพื้นที่เพาะปลูกหลายราย เริ่มหันมาปลูกกาแฟเป็นรายได้หลัก สำหรับผู้ที่สนใจการปลูกกาแฟ ควรทำความรู้จักกับกาแฟให้ลึกมากขึ้นนะคะ ว่าต้นกาแฟเป็นอย่างไร ประโยชน์และโทษมีอะไรบ้าง และรู้จักกับสายพันธุ์กาแฟ เพื่อเป็นข้อมูลในการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เมล็ดกาแฟ คงเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี แต่ส่วนอื่นๆ ของต้นกาแฟ มีลักษณะดังนี้ค่ะ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกาแฟ
กาแฟจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 3 ถึง 5 เมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์กาแฟ

ลำต้น กาแฟมีลำต้นตรง ในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะไม่แตกกิ่ง แต่มีใบแตกออกตรงข้ออยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ต่อมาเมื่อมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็มีการแตกกิ่งออกจากลำต้นในลักษณะที่แยกออกจากกันและอยู่ตรงข้ามกันกิ่งที่แตกออกมาใหม่จะมีใบแตกออกเป็นคู่ๆ อยู่ตรงข้อเช่นเดียวกับลำต้น กิ่งจะขนานไปกับระดับพื้นดินหรือห้อยต่ำลงดิน ซึ่งเป็นที่เกิดของดอกและผลต่อไป นอกจากการแตกกิ่งออกจากตา ของลำต้นอีกเป็นจำนวนมากทำให้หน่อเกิดขึ้นใหม่นี้เบียดกับต้นเดิม ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ให้เจริญเติบโตเรื่อยๆ โดยไม่มีการปลิดทิ้งหรือตัดจะทำให้กาแฟมีทรงพุ่มที่แนบแน่นทึบเป็นที่สะสมของโรคแมลง และให้ผลผลิตลดต่ำลง

 

 

ดอก ดอกกาแฟมีสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมคล้ายมะลิป่า รูปร่างคล้ายดาว มีก้านดอกสั้น อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การออกดอกของกาแฟขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ถ้าในพื้นที่ที่มีฝนตกเป็นฤดู ดอกจะออกหลังจากฝนตกประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าหากอากาศชุ่มชื่นตลอดทั้งปีหรือมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ กาแฟจะออกดอกสม่ำเสมอตลอดทั้งปี

 

 

 

 

ผล การติดผลจะมีเพียง 16 ถึง 26 เปอร์เซ็นต์ของการออกดอก เมื่อกลีบดอกล่วงแล้วกาแฟจะติดเป็นผลมีลักษณะคล้ายลูกหว้า

 

 

 

 

 

เมล็ด เมื่อสุกจะมีสีน้ำตาลปนแดง เมล็ดกาแฟเป็นส่วนที่อยู่ในกะลาซึ่งห่อหุ้มด้วยเยื่อบางๆ ส่วนเนื้อกาแฟที่ห่อหุ้มกะลาเมื่อสุกเต็มที่มีรสหวานเล็กน้อย ลักษณะเป็นยางเหนียวๆ ผลกาแฟเมื่อสุกเต็มที่ปอกเอาเปลือกและเนื้อทิ้งนำเมล็ดกาแฟทั้งกะลาไปตากแห้งจะเสียน้ำหนักไปประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกระเทาะเปลือกและเนื้อทิ้ง นำเมล็ดกาแฟไปตากแห้งจะเสียน้ำหนักไปประมาณ 14.78 เปอร์เซ็นต์หรือกล่าวได้ว่าผลกาแฟสดที่เก็บมาทำเป็นสารกาแฟแห้งเสียน้ำหนักไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ กาแฟข้อหนึ่งๆที่ ให้ผลกาแฟแล้ว ในปีต่อไปจะไม่ให้ผลอีกแต่ผลกาแฟจะออกต่อไปในข้อที่ยังไม่ออกผล กาแฟจะออกผลจากข้อที่ใกล้ลำต้นออกไปสู่ปลายกิ่ง

ประโยชน์ของกาแฟต่อสุขภาพ


มีข้อมูลจากสื่อต่างๆ กล่าวถึงประโยชน์ของกาแฟไว้มากมาย ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลประโยชน์ของกาแฟตามระดับผลที่ได้รับการยืนยันมาฝากท่านผู้อ่านนะคะ เพื่อจะได้มีวิจารณญาณในการดื่มกาแฟอย่างได้ประโยชน์ค่ะ

ประโยชน์ที่ได้ผลมากที่สุด

  • เพิ่มความตื่นตัวและความจดจ่อของสมองและร่างกาย ในช่วงระหว่างวันได้ดี
  • คลายความอ่อนล้าจากการอดนอนได้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้ผลจากกาแฟ

  • ป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคพาร์กินสัน ภาวะอาการที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวผิดปกติและมีอาการสั่นตามร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากการเสื่อมหรือเสียหายของเซลล์สมองชนิดนี้
  • ป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  • ป้องกันโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรค

ประโยชน์ที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะระบุประสิทธิภาพ

  • ป้องกันโรคเก๊าท์ ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ได้ ระดับกรดยูริกซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคลดต่ำลง
  • ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ป้องกันภาวะสมองเสื่อม
  • ลดอาการปวดศีรษะและไมเกรน ทางวิทยาศาสตร์เองยังไม่พบคำตอบในเรื่องนี้ แต่ยังมีการคาดว่าคาเฟอีนอาจเป็นตัวการให้เกิดอาการปวดศีรษะเสียเอง
  • ลดความตึงเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าในเด็กวัยรุ่น
  • ดีต่อสุขภาพหัวใจ
  • ช่วยควบคุมและลดน้ำหนัก ช่วยกระตุ้นอัตราการเผาผลาญ
  • รักษาโรคหืด
  • รักษาโรคตับ ส่วนการดื่มกาแฟในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังนั้นอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็ง ลดอัตราการเกิดเซลล์มะเร็งตับ และการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคตับแข็ง นอกจากนี้ ด้านการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี กาแฟช่วยให้ผลการรักษาระยะยาวดีขึ้น

ประโยชน์ที่อาจไม่ได้ผล

  • การป้องกันโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งในกระเพาะ
  • การป้องกันมะเร็งเต้านม

ผลข้างเคียงจากการดื่มกาแฟ

  • การดื่มร่วมกับยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  • สามารถก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และผลข้างเคียงอื่น ๆ
  • การดื่มกาแฟในปริมาณมากอาจทำให้ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิตกกังวล ได้ยินเสียงดังในหู หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • การดื่มกาแฟจนติดเป็นเป็นนิสัยอาจส่งผลให้ขาดกาแฟไม่ได้ และอาจมีอาการที่เกิดจากการขาดคาเฟอีนหากเลิกดื่มกาแฟอย่างฉับพลัน
  • กาแฟที่ชงแบบไม่กรองอาจมีปริมาณคอเลสเตอรอล ไขมันชนิดไม่ดี และระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์โดยรวมมากกว่ากาแฟชนิดอื่น ซึ่งจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ทางที่ดีจึงควรดื่มกาแฟชงแบบกรองเพื่อลดคอเลสเตอรอลเหล่านี้
  • การใช้กาแฟสวนทางทวารอาจไม่ปลอดภัย เพราะสามารถเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

บุคคลที่ควรระมัดระวังในการดื่มกาแฟ

  • หญิงที่ตั้งครรภ์ควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับกาแฟสำเร็จรูปไม่เกิน 2 แก้ว หรือเท่ากับกาแฟชงสด 1 แก้ว หากได้รับกาแฟมากกว่านี้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยได้ โดยยิ่งได้รับกาแฟมากเท่าใดก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นการดื่มกาแฟวันละ 1 ถึง 2 แก้ว
  • สำหรับแม่ที่ต้องให้นมบุตรและทารก อาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหารของทารก อีกทั้งทำให้เด็กนอนไม่หลับและเกิดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวได้
  • การให้เด็กดื่มกาแฟอาจไม่ปลอดภัย เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการดื่มที่รุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่
  • ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจมีอาการวิตกกังวลที่แย่ลงได้จากการดื่มกาแฟ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออกผิดปกติ การดื่มกาแฟอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้
  • การดื่มกาแฟต้มจะยิ่งทำให้ได้รับคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดอื่น ๆ ในเลือดสูงขึ้น รวมถึงระดับโฮโมซีสเตอีน ในร่างกายที่อาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
  • อาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีรายงานว่ากาแฟอาจไปเพิ่มหรือลดระดับน้ำตาลในเลือดก็ได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรใช้กาแฟอย่างระมัดระวังและหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
  • การดื่มกาแฟอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้วมีระดับความดันโลหิตสูงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอยู่แล้วอาจได้รับผลกระทบนี้น้อยกว่า
  • ผู้ป่วยโรคต้อหินไม่ควรดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้ความดันภายในดวงตาสูงขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ภายใน 30 นาทีแรกและคงอยู่อย่างน้อย 90 นาที
  • การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนอาจทำให้แคลเซียมถูกขับออกทางปัสสาวะมากขึ้นจนกระดูกอ่อนแอลง ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจึงควรจำกัดปริมาณการดื่มกาแฟในแต่ละวันไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 2-3 แก้ว และอาจรับประทานแคลเซียมเสริมเพื่อทดแทนแคลเซียมที่สูญเสียไป
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสียหรือมีโรคลำไส้แปรปรวนอยู่แล้วไม่ควรรับประทานกาแฟ เพราะสารคาเฟอีนในกาแฟอาจทำให้อาการท้องเสียหรืออาการของโรคแย่ลงกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อได้รับในปริมาณมาก
  • หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีโรคความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของวิตามินดีได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรระมัดระวังในการดื่มกาแฟเป็นพิเศษ

ปฏิกิริยาของกาแฟกับยารักษาโรค

  • ห้ามดื่มกาแฟร่วมกับยาเอฟีดรีน (Ephedrine) เพราะยาชนิดนี้มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทเช่นเดียวกับกาแฟ การรับประทานควบคู่กันอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงและมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้ ทั้งนี้ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่ประกอบด้วยเอฟีดรีน
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับกาแฟ เพราะแอกอฮอล์อาจกระตุ้นให้ร่างกายย่อยคาเฟอีนรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้มีสารคาเฟอีนในเลือดมากเกินไปจนได้รับผลข้างเคียงอย่างอาการสั่นกระตุก ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว
  • ยาที่ควรระมัดระวังเมื่อใช้ร่วมกับกาแฟ ได้แก่ ยาอะดีโนซีน อะเลนโดรเนท โคลซาปีน ไดไพริดาโมล ไดซัลฟิแรม เอสโตรเจน ฟลูวอกซามีน เลโวไทรอกซีน ลิเทียม ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มโมโนอามีน ออกซิเดส อินฮิบิเตอร์-Monoamine Oxidase Inhibitors (MAOIs) ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก เพนโทบาร์บิทอล ฟีโนไทอาซีนทีโอฟิลลีน เวอราปามิล ยากระตุ้นระบบประสาท ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาปฏิชีวนะ
    ปริมาณการดื่มกาแฟที่ปลอดภัย
  • การรักษาอาการปวดศีรษะ ดื่มกาแฟวันละ 250 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 แก้ว
  • การเพิ่มความรู้สึกตื่นตัว ดื่มกาแฟวันละ 250 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 แก้ว
  • การป้องกันโรคพาร์กินสัน ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนวันละ 3 ถึง 4 แก้ว สำหรับผู้หญิงควรรับประทานประมาณวันละ 1 ถึง 3 แก้วจะให้ผลดีที่สุด
  • การป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้รับคาเฟอีนในปริมาณวันละ 400 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือเทียบเท่ากับกาแฟมากกว่า 2 แก้ว อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 800 มิลลิกรัมนั้นน่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด

จริงหรือไม่ กับการเสพติดกาแฟ?

เครื่องดื่มสำหรับผู้ใหญ่ที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือช็อคโกแลต เมื่อดื่มแล้วมีผลข้างเคียงเหมือนกับกาแฟทั้งสิ้น และการดื่มกาแฟวันละ 6 แก้วอาจทำให้เกิดการเสพติดกาแฟ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการวิตกกังวลหรือกระสับกระส่าย

หากเสพติดกาแฟ แล้วต้องการเลิก อาจมีผลข้างเคียง ดังนี้ : ปวดหัว อ่อนเพลีย วิตกกังวล หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ และจิตใจหดหู่

แต่อาการเหล่านี้จะเกิดเพียงไม่กี่วันก็สามารถหลุดพ้นจากการเสพติดกาแฟได้

การดื่มกาแฟอย่างถูกวิธี

  1. เลือกดื่มกาแฟที่มีคุณภาพ ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีเจือปน
  2. เครื่องชงกาแฟ โดยเฉพาะแบบน้ำหยด ไม่ควรทำจากพลาสติก เนื่องจากการใช้ความร้อนในการกลั่นน้ำจากเมล็ดคั่วบดทำให้พลาสติกถูกชะละลายไปกับน้ำกาแฟ ทำให้ร่างกายเกิดอันตรายจากสารเคมีที่มีฤทธิ์ทำลายระบบต่อมไร้ท่อ การใช้แก้วชงกาแฟแบบกด (ที่ทำจากแก้ว) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
  3. เวลาที่ดีที่สุดในการดื่มกาแฟ คือ ก่อน 14.00 น. และหลังอาหาร แต่ไม่ควรดื่มกาแฟหลัง 14.00 น.

เมื่อได้รู้จักส่วนต่างๆ ของกาแฟ ประโยชน์และโทษ รวมทั้งการดื่มกาแฟให้เกิดประโยชน์กันแล้ว อย่าลืมติดตามบทความ การดูแลหลังการปลูกกาแฟ กันต่อนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.harpersbazaar.com, www.pobpad.com, www.arda.or.th, www.aquaspresso.co.za)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *