การใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี
การใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี เป็นขั้นตอนหนึ่งของการดูแลพืชผลหลังการปลูก แม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชด้วยระบบอินทรีย์มากขึ้นในปัจจุบันก็ตาม แต่สิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ได้ส่งผลให้โรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายพืชผล อย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องในการดูแลพืชผล เมื่อเกิดโรค หรือการเข้าทำลายของแมลงศัตรูในขั้นรุนแรงแล้ว ก็ยากที่จะกำจัด และในบางครั้งการใช้สารเคมีก็ไม่สามารถช่วยกำจัดแก้ไขได้ หรือสายเกินแก้นั่นเอง สาเหตุหนึ่งที่ผู้เขียนหยิบยก การใช้สารเคมีให้ถูกวิธี มานำเสนอในบทความนี้ เนื่องจากการใช้สารเคมีที่ถูกวิธีนั้น เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และศัตรูธรรมชาติ เนื่องจากสารเคมีที่ตกค้าง หรือนำมาใช้แบบผิดๆ ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคนเท่านั้น ยังทำลายศัตรูธรรมชาติ ซึ่งเป็นผู้ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชชั้นยอด และในทางกลับกัน หากเราใช้สารเคมีอย่างถูกวิธีแล้วช่วยรักษาศัตรูธรรมชาติได้ จะส่งผลยังอนาคตข้างหน้าในการประหยัดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรอีกด้วย (ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับศัตรูธรรมชาติได้ในบทความ ‘การกำจัดศัตรูพืช ด้วยแมลงดีและชีววิธี’
ขั้นตอน การใช้สารเคมีให้ถูกวิธี
การเลือกใช้และการเลือกซื้อสารเคมี
- เลือกใช้สารเคมีที่ตรงกับชนิดของศัตรูพืช เฉพาะกรณีที่จำเป็น ในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละครั้ง
- ภาชนะที่บรรจุไม่แตกหรือรั่ว มีฝาปิดมิดชิด
- มีฉลากหรือเอกสารกำกับถูกต้องชัดเจน ประกอบด้วย :
– ชื่อเคมี
– ชื่อสามัญของสารออกฤทธิ์
– ชื่อการค้า
– ระบุปริมาณของสารออกฤทธิ์และสารอื่นๆ ที่ผสม
– ชื่อผู้ผลิตและแหล่งผลิต
– วันหมดอายุ (ถ้ามี) หรือวันผลิต
– คำอธิบาย ประโยชน์ วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา
– คำเตือน
– คำอธิบายอาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้นและคำแนะนำสำหรับแพทย์
ข้อปฏิบัติในการใช้สารเคมี
- อ่านฉลากให้เข้าใจอย่างละเอียดถูกต้องก่อนใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด
- ไม่ใช้เกินอัตราส่วนที่กำหนด และห้ามผสมสารตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปในการพ่นครั้งเดียว ยกเว้นกรณีที่ได้รับคำแนะนำให้ใช้
- ตรวจสอบชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องพ่นสาร—ตรวจสอบการรั่วซึมของเครื่องพ่นสาร สายยาง รอยต่อ และประเก็นต่างๆ หากพบให้ทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนส่วนที่ชำรุดทันที
- สำหรับเกษตรผู้ทำการฉีดพ่นหรือใช้สารเคมี ต้องสวมใส่ชุดป้องกันสารเคมี ได้แก่ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยาง แว่นตา และหน้ากากให้มิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สารเคมีถูกผิวหนัง เข้าตา หรือการสูดหายใจเข้าสู่ร่างกาย
- จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับตวงสารเคมีตามอัตราส่วนที่ฉลากแนะนำ โดยใช้ถ้วยตวงหรือช้อนที่ใช้สำหรับสารเคมีโดยเฉพาะ และไม่นำไปใช้ปะปนกับกิจกรรมอย่างอื่น
- การผสมสารเคมีควรทำอย่างระมัดระวัง อย่าใช้มือผสม ให้ใช้ไม้กวนหรือคลุกให้เข้ากัน
- ขณะที่ทำการฉีดพ่น ผู้ฉีดควรอยู่เหนือลมเสมอ หยุดพักเมื่อลมแรงหรือมีลมหวน และควรพ่นสารเคมีในตอนเช้าหรือตอนเย็น
- ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารขณะใช้สารเคมี และขณะฉีดพ่นสารเคมี
- อย่าใช้ปากเปิดขวดหรือเป่าดูดสิ่งอุดตันที่หัวฉีดพ่นสารเคมี ควรทำความสะอาดด้วยแปรงอ่อนๆ หรือต้นหญ้า
- ระวังไม่ให้ละอองสารเคมีปลิวเข้าหาตัว คน สัตว์เลี้ยง บ้านเรือน อาหารและเครื่องดื่มของผู้ที่อยู่ข้างเคียง
- ในขณะทำงานหากร่างกายเปื้อนสารเคมีต้องรีบล้างน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดทันที ก่อนที่สารเคมีจะซึมเข้าสู่ร่างกาย
- สารเคมีที่ผสมเป็นสารละลายแล้วไม่ได้ใช้ ไม่ควรเก็บไว้ใช้อีก ควรฉีดพ่นให้หมดทุกครั้งหลังการผสมใช้
- ติดป้ายห้ามเข้าบริเวณที่พ่นสารเคมี และหยุดพ่นสารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวตามที่ฉลากระบุเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
- ทำความสะอาดภาชนะบรรจุ หรืออุปกรณ์เครื่องพ่นสารเคมีลงไปในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และห่างใกล้จากแหล่งน้ำ หรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์
- เสื้อผ้าที่สวมใส่ในการฉีดพ่นสารเคมีนั้น ต้องแยกซักต่างหากจากเสื้อผ้าอื่น แล้วอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
- ถ้ารู้สึกไม่สบายให้หยุดใช้สารเคมีแล้วรีบไปพบแพทย์พร้อมภาชนะบรรจุสารเคมีที่มีฉลากปิดอยู่ครบถ้วน หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามคำแนะนำในฉลากก่อนส่งสถานีอนามัยและโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
การขนส่งและการเก็บรักษาสารเคมี
- แยกการขนส่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากสิ่งของอย่างอื่น โดยเฉพาะคน สัตว์ และอาหาร
- เก็บสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไว้ในภาชนะเดิมเท่านั้น อย่าถ่ายภาชนะโดยเด็ดขาด
- ควรเก็บสารเคมีไว้ในโรงเก็บที่แยกจากที่พัก โดยไม่ปะปนกับสิ่งของอื่นๆ หรืออาหาร ห่างไกลจากเด็ก สัตว์เลี้ยง แหล่งกำเนิดไฟ และไม่ชื้นแฉะ ควรติดป้ายเตือนและใส่กุญแจเพื่อความปลอดภัย
การทำลายวัตถุมีพิษและภาชนะบรรจุสาร
- เลือกสถานที่ที่จะขุดหลุมฝังภาชนะบรรจุสารที่ใช้หมดแล้วให้ห่างจากแหล่งน้ำ ที่เลี้ยงสัตว์ และที่พักอย่างน้อย 50 เมตร ควรเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ โดยขุดหลุมลึกอย่างน้อย 1 เมตร และใช้ปูนขาวรองก้นหลุม
- ทำลายภาชนะบรรจุโดยการตัด หรือทุบทำลายให้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก แล้วฝังในหลุมที่เตรียมไว้และกลบดินให้มิดชิด
- ห้ามนำภาชนะที่ใช้แล้วมาล้าง และนำไปบรรจุสิ่งของอย่างอื่นโดยเด็ดขาด
- ห้ามเผาพลาสติกหรือภาชนะบรรจุสารชนิดที่มีความดันภายใน เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดได้
- เมื่อมีสารเคมีเปรอะเปื้อนพื้นให้ใช้ดิน หรือขี้เลื้อย หรือปูนขาวดูดซับ และนำวัสดุที่ใช้ดูดซับสารเคมีแล้วไปฝังดินที่ห่างไกลแหล่งน้ำ
- ติดป้ายที่ฝังภาชนะบรรจุสารแล้วล้อมรั้วเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่เด็กและสัตว์เลี้ยง
อันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
- กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟส เป็นสารกำจัดแมลงที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีพิษค่อนข้างสูง สลายตัวเร็ว มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสแบบถาวร เช่น มาลาไทออน โมโนโครโตฟอส (อโซดริน) เมวินฟอส (ฟอสดริน) ไตรคลอฟอน (ดิพเทอร์เร็กซ์) ไดเมทโธเอต (ไดเม่) ไดโครโตฟอส (ไบดริน) เม็ทธิลพาราไทออน (โฟลิดอน) เป็นต้น
– เอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส (cholinesterase Enzymes) มีหน้าที่ในการทำลายสารแอซิติลโคลีน (acetylcholine) เป็นสารอินทรีย์เคมีที่เป็นสารสื่อประสาทสร้างโดยเซลล์สมอง ซึ่งสารตัวนี้เป็นตัวกลางในการส่งกระแสประสาท เส้นประสาทเหล่านี้จะส่งกระแสประสาทไปยังหัวใจ ม่านตา ต่อมน้ำลาย กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ อวัยวะคัดหลั่ง ต่อมเหงื่อรวมทั้งอวัยวะ และเนื้อเยื่ออื่นๆ ในร่างกาย นอกจากนั้นสารแอซิติลโคลีน ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งกระแสประสาทที่ รอยต่อระหว่างปลายประสาทกับเซลล์กล้ามเนื้อลายและที่จุดประสานประสาทต่างๆ ของระบบประสาทส่วนกลาง (CNS)
– เมื่อร่างกายได้รับสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสแล้ว ก็จะมีการสะสมของสารแอซิติลโคลีน ขึ้นในร่างกายสารแอซิติลโคลีนจะไปกระตุ้นหน่วยรับความรู้สึกของตัวมัน ทั้งมัสคารินิค (muscarinic) และ นิโคตินิค (nicotinic) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการการส่งกระแสประสาทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะแบ่งอาการที่เกิดขึ้นตามแหล่งที่สะสมของสารแอซิติลโคลีน ได้ดังนี้
อาการทางประสาท—เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก แน่นหน้าอก หรือถ้าอาการรุนแรงขึ้นอาจปวดท้อง ท้องเดิน น้ำลายฟูมปาก น้ำตาและน้ำมูกไหล ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะโดยกลั้นไม่อยู่ หลอดลมมีเสมหะมาก หายใจหอบ หลอดลมตีบ และหน้าเขียวคล้ำ เป็นต้น
อาการทางกล้ามเนื้อ—เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่ลิ้น บริเวณหน้าและลำคอ หรือกระตุกทั่วร่างกาย เกิดอาการอ่อนเพลียและเป็นอัมพาต
อาการทางสมอง—เกิดอาการปวดศีรษะมึนงง อาจชักหมดสติได้ - กลุ่มคาร์บาเมต เป็นสารกำจัดแมลงที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีความเป็นพิษสูง สลายตัวเร็ว มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสแบบชั่วคราว เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน) คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน, คูราแทร์) เม็ทโธมิล (แลนเนท, นิวดริน) เป็นต้น
– ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนมึนงง ปวดศีรษะ อิดโรยและอ่อนเพลียแน่นหน้าอก ตามัว ม่านตาดำเล็กผิดปกติ ปวดเบ้าตา กระวนกระวาย ม่านตาชา คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกทำงานผิดปกติเป็นตระคริวที่ท้อง ท้องร่วง และน้ำลายมาก หายใจลำบาก ชักหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว อาจตายเนื่องจากหายใจติดขัดและอื่นๆ - กลุ่มออร์กาโนคลอรีน เป็นสารกำจัดแมลงที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด สลายตัวช้า พิษตกค้างนาน เช่น ออลดริน ดีลดริน ดีดีที และเฮปตาคลอร์ ได้ยกเลิกการใช้ แต่เท่าที่ให้ใช้ ได้แก่ สารจำพวกกำจัดเชื้อรา เช่น เตตระไดฟอน และไดโคฟอล เป็นต้น
– มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง รู้สึกไม่ปกติ กระวนกระวาย ลิ้นชา ปวดศีรษะ การทรงตัว การพูดผิดปกติ บางครั้งชักเกร็งปวดประสาทและระบบหายใจไม่ปกติ อาจเกิดอาการเบื่ออาหาร ผอม หน้าซีด เป็นโรคโลหิตจาง ตับไตเปลี่ยนแปลง เกิดภาพหลอน และอาจตายด้วยระบบหายใจล้มเหลว - กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ เป็นสารกำจัดแมลงที่มีพิษในธรรมชาติ สกัดได้จากดอกไม้ตระกูลเบญจมาศบางชนิด เป็นสารออกฤทธิ์เร็ว มีพิษค่อนข้างต่ำ สลายตัวเร็ว ที่นิยมใช้แพร่หลาย ได้แก่ ไซเปอร์มีทริน และเฟนวาลิเลท เป็นต้น
– ผู้ป่วยจะมีอาการคัน ผื่นแดง บางรายมีอาการจามคัดจมูก ในรายที่เคยเป็นโรคหอบ เมื่อสูดหายใจเอาสารพิษนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการหอบมากขึ้น ถ้าได้รับมากจะมีอาการชัก กล้ามเนื้อกระตุก และเป็นอัมพาต
การป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย
- เลือกปลูกพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคแมลงศัตรูพืช หรือส่วนของการขยายพันธุ์พืชที่ปลอดโรค
- ดูแลรักษาให้พืชแข็งแรงสมบูรณ์ เช่น รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น
- หมั่นสำรวจพื้นที่เพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยสังเกตสภาพของพืช น้ำ ปุ๋ย ศัตรูธรรมชาติ ศัตรูพืช และความเสียหายที่เกิดขึ้น
- วิเคราะห์และตัดสินใจเลือกใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม โดยใช้วิธีผสมผสาน เช่น ปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชคลุมดิน ปรับวันปลูก ใช้กับดัก อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ นำส่วนที่มีโรคแมลงมาเผาทำลาย การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกรณีที่มีการระบาดมาก เป็นต้น
- ถ้าไม่แน่ใจเกี่ยวกับชนิดของโรคแมลงศัตรูพืชหรือมีปัญหาการระบาดของศัตรูพืชและวิธีการป้องกันกำจัด ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ที่ฝ่ายป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด กลุ่มงานอารักขาพืชภาค สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาค และสำนักงานเกษตรอำเภอ
สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร
- สารออกฤทธิ์ (active ingredient หรือ a.i.) หมายถึง เนื้อสารจริงๆ ที่จะแสดงผลต่อพืช ได้ตามคุณสมบัติที่สารนั้นมีอยู่ มักจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ของสารออกฤทธิ์ในสารผสมทั้งหมด หรือแสดงหน่วยนํ้าหนักต่อปริมาตร (เช่นกรัมต่อลิตร) เช่น Planofix® ระบุว่ามี NAA 4.5% (เปอร์เซ็นต์) เป็นสารออกฤทธิ์ หมายความว่าสาร Planofix® 1 ขวด ปริมาตร 100 มิลลิลิตร มีเนื้อสาร NAA ผสมอยู่ 4.5 กรัม อย่างไรก็ตามมี PGRC หลายชนิดที่จำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้โดยได้ระบุชนิดและปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่ผสมอยู่
- สารทำให้เจือจาง (diluent) หมายถึง สารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ที่ใช้ผสมกับสารออกฤทธิ์ เพื่อให้ความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ลดลงมาอยู่ในระดับเหมาะสม เพื่อสะดวกในการใช้ สารทำให้เจือจางที่ผสมอยู่ในส่วนผสมจะต้องไม่ทำปฏิกริยาเคมีกับสารออกฤทธิ์และต้องไม่เกิดผลเสียต่อพืช สารทำให้เจือจางอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น นํ้า แอลกอฮอล์ ดิน แป้ง หรืออากาศ ยกตัวอย่างสาร Planofix® 1 ขวด ปริมาณ 100 มิลลิลิตร ซึ่งมีเนื้อสาร NAA ผสมอยู่ 4.5 กรัม แสดงว่าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมด (ประมาณ 95เปอร์เซ็นต์) เป็นสารทำให้เจือจาง
- สารเพิ่มประสิทธิภาพ (adjuvants) หมายถึง สารใดก็ตามที่ผสมอยู่ในส่วนผสมแล้ว มีผลทำให้ประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์สูงขึ้น หรือให้อยู่ในรูปที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อาจเป็นยาจับใบ ยาเปียกใบ หรืออื่นๆ ก็ตาม ผู้ผลิตสารเคมีการเกษตรส่วนใหญ่มักจะผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพลงไปในผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ก่อนบรรจุภาชนะออกจำหน่าย สารเพิ่มประสิทธิภาพมีอยู่หลายร้อยชนิดซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อบริษัทผู้ผลิตพบว่าสารเพิ่มประสิทธิภาพชนิดใดเหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์ของตน ก็จะมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ หรือปกปิดเป็นความลับของบริษัท สารเพิ่มประสิทธิภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งอาจมีประสิทธิสูงกว่าอีกชนิดหนึ่งได้ทั้งๆ ที่มีสารออกฤทธิ์ชนิดเดียวกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้จะไม่มีการผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพลงไปในผลิตภัณฑ์ แต่สารออกฤทธิ์ก็ยังคงแสดงคุณสมบัติที่มีอยู่ต่อพืชได้เช่นกัน
รูปแบบผลิตภัณฑ์เคมีเกษตร
- สารผงละลายน้ำ (water soluble powder หรือ w.s.p.) เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปผง เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมนํ้า ซึ่งจะได้เป็นสารละลายใสไม่ตกตะกอน และให้กับพืชโดยวิธีจุ่ม แช่ พ่นทางใบ หรือรดลงดิน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่เตรียมในรูปผงละลายนํ้าได้แก่ Alar® 85, Gibberellin Kyowa
- สารละลายเข้มข้น (water soluble concentrate หรือ w.s.c.) เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปสารละลายใส เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมนํ้าซึ่งจะได้สารละลายใสเช่นกัน PGRC ส่วนใหญ่มักเตรียมในรูปนี้ เช่น Pro-Gibb® Planofix® Ethrel®
- สารละลายน้ำมัน (emulsifiable concentrate หรือ e.c.) สารบางชนิดละลายได้ดีในน้ำมัน จึงต้องเตรียมอยู่ในรูปนี้และผสมสารที่จับตัวกับนํ้าและนํ้ามันได้ดี (emulsifier) ลงไปด้วยเมื่อจะใช้จึงนำมาผสมนํ้าจะได้สารผสมซึ่งมีลักษณะขุ่นเหมือนนํ้านม แต่ไม่ตกตะกอนหรือแยกชั้น ผลิตภัณฑ์ที่เตรียมในรูปนี้ได้แก่ Maintain® CF 125
- สารในรูปครีม (paste) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เตรียมขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ได้โดยตรง โดยการทาหรือป้ายสารในบริเวณที่ต้องการ สารทำให้เจือจางที่ใช้อาจเป็นลาโนลิน ขึ้ผึ้ง หรือสารกึ่งแข็งกึ่งเหลวอื่นๆ ที่ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษ ผลิตภัณฑ์ที่เตรียมในรูปนี้ได้แก่ Cepha®
- สารผง (dust) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เตรียมขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์โดยตรงเช่นกัน และไม่ต้องผสมนํ้าหรือสารใดๆ เพิ่มเติมอีก การให้สารในรูปนี้แก่พืชทำได้โดยจุ่มส่วนของพืชลงในผงของสารโดยตรง ส่วนใหญ่ใช้ในการเร่งรากกิ่งปักชำของพืช สารที่เตรียมในรูปนี้ได้แก่ Seradix® , Trihormone
- สารแขวนลอยเข้มข้น (suspension concentrate หรือ s.c.) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายแป้งผสมนํ้า เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมนํ้า ซึ่งจะได้สารผสมซึ่งขุ่นคล้ายแป้งผสมนํ้าเช่นกันผลิตภัณฑ์ที่เตรียมในรูปนี้ได้แก่ Cultar®
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกือบทุกชนิดจะต้องผสมนํ้าก่อนนำมาใช้ประโยชน์ (ยกเว้นในรูปครีม และผง) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ตามการคำนวณที่ระบุปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างชัดเจนหากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อหน่วยงานภาครัฐตามที่ระบุไว้ข้างต้นเพื่อความปลอดภัยนะคะ
ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : http://raepk.blogspot.com, www.thaikasetsart.com, www.trueplookpanya.com)