การดูแลหม่อนหลังการปลูก

การดูแลหม่อนหลังการปลูก

การดูแลหม่อนหลังการปลูก เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปลูกหม่อนให้ได้ผลผลิตสูง การดูแลหม่อนหลังการปลูก ไม่ยากแต่ต้องรู้ใจหม่อน ถ้าเปรียบเทียบกับคน หม่อนจะเป็นคนที่เป็นระเบียบ ไม่ชอบอะไรที่รกรุงรัง เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งให้หม่อนบ่อยๆ เด็ดใบออก แล้วหม่อนก็จะผลิดอกออกผลให้เต็มต้น นอกจากนี้ การดูแลหม่อน ยังรวมไปถึงการให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช การดูแลเรื่องโรคและแมลงที่มารบกวนหม่อน ช่วงท้ายของบทความ ผู้เขียนมีเคล็ดลับดีๆ มาฝากด้วยนะคะ ติดตามเลยค่ะ

ขั้นตอน การดูแลหม่อน
การให้น้ำ

  • ในฤดูแล้งควรให้น้ำแก่หม่อน เพื่อให้หม่อนใช้ในการเจริญเติบโต การให้น้ำสามารถใช้ปล่อยน้ำไหลเข้าไปในแถวของหม่อนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1ครั้งในฤดูแล้ง หรือรดน้ำพอชุ่มทุกวันในช่วงเช้า
  • หม่อนในระยะที่หม่อนติดผลแล้ว ต้องให้น้ำกระตุ้นการแตกตาทุกวันในช่วงเช้า หากขาดน้ำจะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุก หรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็ก
  • ให้น้ำพอชุ่ม และจัดการการระบายน้ำอย่างให้ท่วมขัง ช่วยให้ดินสามารถถ่ายเทอากาศได้ดีรากหม่อนไม่ขาดออกซิเจน จุลินทรีย์ในดินสามารถเจริญเติบโตได้ดี หากปล่อยให้น้ำขังโคนต้น หม่อนจะแสดงอาการใบเหลือง ชะงักการเจริญเติบโต และต้นหม่อนจะเหี่ยว

การพรวนดินและการรักษาความชื้นในดิน

  • ในฤดูแล้ง ดินจะขาดความชุ่มชื้น ทำให้หม่อนชะงักการเติบโต ไม่มีใบเลี้ยงไหมหรือทำชา การพรวนดินให้ร่วนซุยและใช้วัสดุ เช่น หญ้าแห้ง หรือฟางแห้งคลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นในดิน ป้องกันการระเหยของน้ำจากผิวดิน ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น

การให้ปุ๋ย

  • ปริมาณการให้ปุ๋ยนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งนอกจากปุ๋ยแล้ว อาจจะต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินด้วย แต่การใส่ปูนขาวควรเพิ่มอินทรียวัตถุและต้องใส่ให้เหมาะสม ถ้าใส่ปูนขาวมากเกินไปจะทำให้ปุ๋ยสลายตัวเร็วจนพืชไม่ทันใช้ให้เป็นประโยชน์
  • ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 10 ถึง 15 กิโลกรัม ต่อต้น หรือใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในปริมาณ 250 กรัม ต่อต้น (หรือใส่รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่) หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตราไร่ละ 100 กิโลกรัม
  • ระยะเวลาการให้ปุ๋ย—แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต่อ 1ปี ครั้งแรกใส่ตอนต้นฤดูฝนช่วงเดือนตุลาคม หรือ เดือนพฤศจิกายน และหลังการเก็บเกี่ยว

การกำจัดวัชพืช

  • หม่อนที่ปลูกใหม่ ควรมีการกำจัดวัชพืชบ่อยๆ เพราะต้องปลูกหม่อนในต้นฤดูฝนซึ่งเป็นระยะที่วัชพืชขึ้นและเจริญเติบโตได้ดีมาก
  • หม่อนต้นโต ควรกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ เพราะวัชพืชเป็นตัวแย่งธาตุอาหารในดิน แย่งน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วย

การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาทรงพุ่ม

  • ตัดเฉพาะกิ่งแขนงที่ไม่สมบูรณ์และเป็นโรคทิ้ง เพื่อลดการสะสมโรคและแมลงศัตรู

เคล็ดลับ ผลิตผลหม่อนนอกฤดูกาล

  1. ทำการโน้มกิ่งหม่อนที่ปลูกแบบทรงพุ่ม โดยการโน้มกิ่งให้ปลายยอดขนานกับพื้น หรือโน้มลงพื้นดิน รูดใบหม่อนออกให้หมด ตัดยอดส่วนที่เป็นกิ่งสีเขียวออกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้เชือกผูกโยงติดไว้กับหลักไม้ไผ่ ซึ่งปักไว้บนพื้นดินสำหรับยึดเชือก
  2. หลังการโน้มกิ่งประมาณ 8 ถึง 12 วัน ดอกหม่อนจะแตกออกพร้อมใบ จากนั้นจะมีการพัฒนาการของผลหม่อน ที่เริ่มแก่และทยอยสุก ใช้เวลาประมาณ 45 ถึง 60 วัน ก็สามารถเก็บไปรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปได้ ต้นหม่อนจะให้ผลผลิตประมาณ 30 วัน ต่อต้น
    ต้นหม่อนที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปี เป็นต้นไปจะให้ผลผลิตผลหม่อนประมาณ 1.5 ถึง 35 กิโลกรัม(ประมาณ 750-1,850 ผล ต่อครั้ง ต่อต้น) เพียงพอต่อการบริโภคผลสดทั้งครอบครัวทุกวัน ตลอดปี

*ปริมาณการรับประทานผลหม่อนสดของร่างกายนั้น มีเพียงวันละ 10-30 ผลเท่านั้น*

*สำหรับการจำหน่าย นอกจากใบหม่อน และผลหม่อนสด ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้อีกหลายชนิด เช่น น้ำหม่อน แยมหม่อน และหม่อนกวน เป็นต้น*

การเก็บใบหม่อนทำชา

  • วิธีการเก็บยอดใบหม่อนเพื่อที่จะนำมาสกัดเป็นชา จะใช้เพียง 3 ยอดบนสุดเท่านั้น และจะเก็บในช่วงเช้า ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หลังจากนั้นนำมาตากแดดให้แห้ง หรือผ่านกระบวนการอบฆ่าเชื้อ

การเก็บเกี่ยวใบหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์ไทย

  • เกษตรกรควรทำการตัดต่ำหม่อน โดยตัดต้นหม่อนสูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร ใช้เลี้ยงไหมรุ่นที่ 1 ประมาณ 60 ถึง 75 วัน
  • การเก็บใบหม่อนรุ่นที่1 เก็บใบให้เหลือใบส่วนยอดไว้ 4 ถึง 5 ใบ แล้วปล่อยให้หม่อนพักตัวประมาณ 30 ถึง 45 วัน
  • การเก็บใบหม่อนรุ่นที่2 เก็บใบให้เหลือใบส่วนยอด 4 ถึง 5 ใบ แล้วปล่อยให้หม่อนพักตัวประมาณ 30 ถึง 45 วัน
  • การเก็บใบหม่อนรุ่นที่3 เก็บใบทั้งหมด แล้วทำการตัดกลางโดยตัดกิ่งหม่อนให้สูงจากพื้นดิน 0.80 – 1.00 เมตร จากนั้นประมาณ 30 ถึง 45 วัน สามารถเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหมรุ่นที่ 4 ได้
  • การเก็บใบหม่อนรุ่นที่4 เก็บใบให้เหลือใบส่วนยอดไว้ 4 ถึง 5 ใบ แล้วปล่อยให้หม่อนพักตัวประมาณ 30 ถึง 45 วัน

การเก็บเกี่ยวผลหม่อน

  1. การเก็บเกี่ยวผลเพื่อรับประทานผลสด เก็บเมื่อผลหม่อนเริ่มเปลี่ยนสีจากสีแดง เป็นสีแดง- ดำหรือสีดำ โดยการใช้มือเก็บทีละลูกเนื่องจากผลหม่อนสุกไม่พร้อมกันหากปล่อย ทิ้งไว้จนผลเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำผลจะร่วงลงสู่พื้นดินทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิต ได้น้อย แล้วนำมาบรรจุในกล่องกระดาษโดยเรียงเป็นชั้นๆ ไม่เกิน 2 ชั้น ทำการปิดกล่องเพื่อรอการขนส่งและจำหน่ายต่อไป หากไม่สามารถขนส่งได้ทันทีควรเก็บไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส
  2. การเก็บเกี่ยวเพื่อการแปรรูป ใช้วิธีเดียวกันกับการเก็บเกี่ยวผลเพื่อรับประทานสด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสีผลต่างกัน เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในระยะผลแดงน้ำหม่อนจะได้สีแดง แต่หากเก็บผลในระยะสีดำจะได้น้ำหม่อนสีคล้ำ ผลหม่อนที่เก็บเกี่ยวแล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทันที หรือ เก็บรักษาไว้โดยบรรจุในถุงพลาสติก หรือ ตะกร้าผลไม้ ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ -22 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 6 เดือน

การเก็บรักษาผลหม่อน
ต้นหม่อน ให้ผลผลิตในฤดูกาลเป็นระยะเวลาสั้น คือประมาณ 30 ถึง 40 วันเท่านั้น ทำให้การนำผลหม่อนไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ จึงต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อมิให้ผลหม่อนที่สุกเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการเก็บรักษาผลหม่อนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นระยะเวลา นานมากขึ้นจึงมีความจำเป็นยิ่ง แต่การเก็บรักษาผลหม่อนนั้นแตกต่างกันไปตามแต่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ ประโยชน์ คือ

  • การเก็บรักษาเพื่อการรับประทานผลสด ควรเก็บผลหม่อนจากต้นในระยะที่มีผลสีแดงเข้มแล้วนำมาใส่ภาชนะที่โปร่งวาง ซ้อนกันไม่สูงมากนัก จะสามารถเก็บรักษาผลหม่อนได้เป็นระยะเวลา 2 ถึง 3 วัน โดยที่คุณภาพของผลหม่อนยังคงเดิม คือมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีสีแดงอมม่วงหรือดำ หากเก็บรักษาไว้นานกว่านี้จะทำให้ผลหม่อนมีปริมาณกรดน้อยลง และเปลี่ยนสีเป็นสีดำทำให้ไม่น่ารับประทานสด
  • การเก็บรักษา ในห้องเย็น ควรเก็บรักษาไว้โดยบรรจุในถุงพลาสติกบรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม หรือบรรจุลงในตะกร้าผลไม้ และนำไปเก็บไว้ที่ห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ  22 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นาน 6 เดือน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.srscorporation.net, www.qsds.go.th, www.puechkaset.com, www.gotoknow.org, www.rakbankerd.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *