การดูแลรักษากองปุ๋ยหมักและการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก
การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก และ การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกัน ปุ๋ยหมักจะถูกใช้ประโยชน์ได้ดี ต้องอาศัยการดูแลรักษาที่ดี บทความนี้ ไม่ได้นำเสนอเพียง การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก และ การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก เท่านั้น แต่ผู้เขียนนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลังการทำกองปุ๋ยแล้ว ติดตามรายละเอียดนะคะ
การดูแลรักษาปุ๋ยหมัก
1.ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่ารดโชกเกินไป การระบายอากาศในกองปุ๋ยไม่ดี จะมีกลิ่นเหม็นอับ
2.ตรวจสอบความชื้นในกองปุ๋ย โดยการใช้มือล้วงลงไปในกองปุ๋ย แล้วหยิบเศษวัสดุออกมาบีบหรือขยำว่ามีน้ำเปียกที่มือ แสดงว่ามีความชื้นมากเกินไป
3.ป้องกันไม่ให้สัตว์เข้าไปคุ้ยเขี่ย ทำลายกองปุ๋ยหมัก ปัญหานี้จะเกิดกับกองปุ๋ยหมักที่ไม่มีคอก ควรหาวัสดุสิ่งของมาวางกันกองปุ๋ยหมักไว้
4.การพลิกกลับกองปุ๋ย สำหรับกองปุ๋ยแบบกลับกอง ต้องหมั่นพลิกให้ออกซิเจนและระบายความร้อนให้กองปุ๋ย จะได้ปุ๋ยหมักเร็วขึ้น สำหรับกองปุ๋ยแบบไม่กลับกอง ให้ทำช่องระบายอากาศไว้
ปุ๋ยหมักที่นำไปใช้ได้ พิจารณาลักษณะต่างๆ ดังนี้
1.ลักษณะของเศษวัสดุ—นุ่ม ยุ่ย ไม่แข็งเหมือนช่วงแรก
2.สีของเศษวัสดุ—เมื่อเป็นปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์เศษวัสดุจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจนถึงดำ
3.กลิ่น—ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ต้องไม่มีกลิ่นฉุนของก๊าซต่างๆ ถ้ามี แสดงว่าเศษวัสดุยังย่อยสลายไม่สมบูรณ์ กลิ่นควรคล้ายกับกลิ่นดิน
4.ความร้อน หรืออุณหภูมิในกองปุ๋ยหมัก—จะลดลงเท่ากับอุณหภูมิภายนอกรอบๆ กอง แต่ควรระวังเรื่องความชื้น ถ้าน้อยหรือมากเกินไป อุณหภูมิในกองก็ลดลงได้เช่นกัน
5.หญ้าหรือเห็ดขึ้นบนกองปุ๋ยหมัก—แสดงว่าไม่เป็นอันตรายต่อพืช นำไปใช้ได้
การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก
เรานำปุ๋ยหมักไปใช้ประโยชน์ตามชนิดของพืช เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารไม่เท่ากัน ผู้เขียนได้นำข้อมูล การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก จากหนังสือ : นวัตกรรมปุ๋ยหมัก มานำเสนอเพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากที่
หลักการนำปุ๋ยหมักไปใช้ประโยชน์ มีดังนี้
พืชผัก—พืชผักส่วนใหญ่มีรากแบบรากฝอย สั้น อยู่ตื้นใกล้ผิวดิน จึงได้รับประโยชน์จากปุ๋ยมาก ปุ๋ยทำให้ดินร่วนซุยขึ้น รากพืชแตกเร็ว เดินเร็ว สมบูรณ์เร็วก็สามารถดูดซับธาตุอาหารได้เร็ว ทนแล้งได้ดี
วิธีใช้
โรยปุ๋ยหมักคลุมแปลงหนาประมาณ 1 ถึง 3 นิ้ว คลุกลงในดินลึกพอสมควรกับลักษณะพันธุ์พืช ถ้าเป็นพืชที่ลงหัวให้คลุกลงในดินลึกกว่า 4 นิ้ว ถ้าให้ได้ผลดีควรใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี
ไม้ผล หรือ ไม้ยืนต้น—รากลึก ควรใช้ปุ๋ยหมักตั้งแต่เริ่มปลูก โดยขุดหลุมให้ลึก คลุกปุ๋ยหมักไปกับดินที่ขุดจากหลุม ดิน 2 หรือ 3 ส่วน ต่อปุ๋ยหมัก 1 ส่วน แล้วใส่กลับหลุมแล้วเริ่มปลูกต้นไม้
การใส่ปุ๋ยหมักไม้ผลที่เติบโตแล้ว ปีละครั้ง ทำได้โดยพรวนดินลึก 2 นิ้ว ห่างจากโคนต้น 2 ถึง 3 ฟุตออกไปถึงนอกพุ่มของต้นประมาณ 1 ฟุต โรยปุ๋ยหมักหนาประมาณ 1 นิ้ว หรือมากกว่า คลุกให้เข้ากันกับดิน รดน้ำ, หรือใช้วิธีขุดร่องรอบๆ พุ่มต้นลึกประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยหมักลงไปในร่อง 40 ถึง 50 กิโลกรัม ต่อต้นกลบดิน รดน้ำ ถ้าใส่ปุ๋ยเคมี ให้คลุกปุ๋ยหมักกับปุ๋ยเคมีให้ดีแล้วใส่ลงไปพร้อมกัน ถ้าต้นไม้โตขึ้นควรเพิ่มปริมาณปุ๋ยหมักตามขนาดต้นไม้
พืชไร่ หรือ นาข้าว–ดินที่อุดมสมบูรณ์ต่ำ หรือดินเสื่อม ใช้ปุ๋ยหมักปีละ 2 ถึง 3 ตัน ต่อไร่ อาจใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี หรือใช้ปุ๋ยพืชสด, ดินที่อุดมสมบูรณ์ปานกลาง ใช้ปุ๋ยหมักปีละ 1.5 ถึง 2.5 ตัน ต่อไร่
ในพื้นที่นา 1 ไร่ ใส่ปุ๋ยหมักประมาณ 200 กิโลกรัม ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพ โดยแบ่งเป็นระยะดังนี้
ไถพรวน หว่านปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม ให้ทั่ว ผสมน้ำหมักชีวภาพ 20 ช้อนแกง ลงในน้ำ 80 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงแล้วไถพรวนทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อให้น้ำหมักชีวภาพย่อยสลายวัชพืช และฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ และเร่งการงอกของเมล็ดพืช ไถคราด พ่นน้ำหมักชีวภาพในอัตราส่วนเดิมอีกครั้งแล้วไถคราดให้ทั่ว เพื่อเตรียมปักดำ
หลังปักดำ 7 ถึง 15 วัน หว่านปุ๋ยหมักให้ทั่วแปลง 30 กิโลกรัม ต่อไร่ พ่นน้ำหมักชีวภาพ 20 ช้อนแกง ลงในน้ำ 80 ลิตร ตามไปด้วย ต้นข้าวอายุ 1 เดือน หว่านปุ๋ยหมัก 30 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วพ่นน้ำหมักชีวภาพ 20 ช้อนแกง ลงในน้ำ 80 ลิตร ตาม ก่อนข้าวตั้งท้องเล็กน้อย หว่านปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วพ่นน้ำหมักชีวภาพ 20 ช้อนแกง ลงในน้ำ 80 ลิตร ตาม ข้าวติดเมล็ดแล้ว พ่นน้ำหมักชีวภาพ 20 ช้อนแกง ลงในน้ำ 80 ลิตร
ไม้กระถาง—ใช้ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ต่อดินร่วน 2 ส่วน ถ้าใช้ปุ๋ยหมักมากเกินไป วัสดุปลูกจะแห้งเร็วไป และยุบตัวมาก
เพาะเมล็ด หรือ ปลูกต้นกล้า—ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ทราย 1 ส่วน ดินร่วน 2 ส่วน หรือ เพาะเมล็ดพืชที่มีขนาดเล็ก ให้โรยปุ๋ยหมักบางๆ ไปบนเมล็ดแล้วรดน้ำตาม
ไม้ดอกไม้ประดับ—ถ้าเป็นแปลง โรยปุ๋ยหมักคลุมแปลง หนาประมาณ 1 ถึง 3 นิ้ว แล้วผสมลงในดินลึก 4 นิ้ว อาจเติมปุ๋ยเคมีลงไป ถ้าธาตุอาหารไม่พอ (สังเกตจากลักษณะของพืชที่ผิดปกติ)
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(ดัดแปลงข้อมูลจาก http://th.wikigooks.org, หนังสือ ล้ำยุคกับ…นวัตกรรมปุ๋ยหมัก โดย อภิชาติ ศรีสะอาด)