กระท้อน
กระท้อน
กระท้อน “ยิ่งทุบยิ่งหวาน” คำคมจากปราชญ์ชาวบ้าน ที่ทำแล้วเห็นผล ให้ความอร่อยยิ่งขึ้นใช่เพียงแค่คำคม พูดถึงแล้วน้ำลายสอนะคะ รสเปรี้ยวอมหวานและเนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ ไม่ว่าจะนำมาปรุงเป็นอาหารคาว อาหารหวาน หรืออาหารว่าง ล้วนแต่ทำให้คออาหารไทยติดใจในรสชาติ เช่น กระท้อนจิ้มน้ำปลาหวาน กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนดอง กระท้อนแช่อิ่ม ตำกระท้อน แกงฮังเล และแยมกระท้อน เป็นต้น หรือจะรับประทานผลสดก็นับว่าน้อยคนที่จะปฏิเสธกระท้อน
กระท้อนมีถิ่นกำเนิดในอินโดจีน และมาเลเซียตะวันตก และกลายเป็นพืชเชิงการค้าในปัจจุบันของประเทศพื้นบ้านใกล้เคียงและประเทศไทย พันธุ์ดั้งเดิมพบแพร่กระจายมากในแถบภาคใต้ และขยายวงกว้างไปทั่วทุกภาคของประเทศด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของกระท้อน ที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศ การปลูกและการดูแลที่ง่ายของกระท้อน เมื่อกระท้อนแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ประเทศไทย จึงมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น
ภาคกลาง และทั่วไป : กระท้อน
ภาคอีสาน : มะต้อง
ภาคเหนือ : มะต้อง มะตึ๋น
ภาคใต้ : เตียนสะท้อน ล่อน สะตียา สะตู สะโต
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระท้อน เป็นไม้ผลยืนต้นในวงศ์กระท้อน ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเนื่องจากเป็นไม้เขตร้อน
ลำต้น
เป็นไม้ผลัดใบขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 15 ถึง 30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งบริเวณเลยกลางต้นขึ้นไป กิ่งหลัก และกิ่งแขนงปานกลางและมีใบใหญ่ ทำให้มีลักษณะเป็นทรงพุ่มใหญ่ ลำต้นกระท้อนมีรูปทรงไม่แน่นอน ผิวลำต้นเรียบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้เมื่อต้นอายุน้อยจะเปราะหักง่าย เมื่ออายุมากจะมีลักษณะแข็งปานกลาง
ใบ
ใบกระท้อน เป็นใบประกอบแบบใบเดี่ยว คือ ใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณปลายกิ่งของกิ่งแขนง ใบมีก้านใบหลัก ยาวประมาณ 10 ถึง 20 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมี 3 ใบ ทางด้านซ้ายและขวา อย่างละใบที่มีขนาดเท่ากัน และตรงกลาง 1 ใบ ซึ่งมีขนาดใหญ่สุด ใบมีลักษณะรูปไข่ สีเขียวเข้ม ใบแก่ที่มีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีส้มจนร่วงลงดิน แผ่นใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว เนื้อใบหยาบ สากมือและมีขนปกคลุมคล้ายขนกำมะหยี่
ดอก
ดอกกระท้อนแทงออกเป็นช่อบนปลายกิ่งบริเวณซอกใบ ดอกตูมจะมีสีเขียว และเมื่อบานจะมีสีเหลืองอ่อน ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมเหลือง และถัดมาด้านบนเป็นกลีบดอกสีเหลืองอ่อน 5 กลีบ ด้านในมีเกสรตัวผู้ 10 อัน และเกสรตัวเมียเพียง 1 อัน กระท้อนจะติดผลหลังจากแทงดอกประมาณ 6 ถึง 7 เดือน
ผล
ผลกระท้อนในทุกสายพันธุ์จะมีลักษณะเหมือนกัน คือ ผลอ่อนมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเปลือกเกลี้ยง และมีขนปกคลุมทั่วผล หากกรีดที่ผลจะมียางสีขาวไหลออกมา และเมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ผิวเปลือกผลหยาบย่นตามแนวยาวของผล
เมล็ด
ถัดจากเปลือกจะเป็นเนื้อผลที่มีลักษณะเป็นพูตั้งแต่ 3 ถึง 5 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ดด้านใน โดยเนื้อพูจะมีสีขาว ที่ประกอบด้วยใยคล้ายปุยนุ่น และฉ่ำไปด้วยน้ำ เมื่อสุกมากจะมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย แตกต่างกันตามสายพันธุ์
สรรพคุณกระท้อน
- ผล
– ช่วยลดน้ำหนัก
– ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ และรักษาแผลอักเสบในปาก
– ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก และขจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ช่วยป้องกันฟันผุ
– ช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย
– ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดมะเร็ง ต้านการเสื่อมของเซลล์
– ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับไขมันในเส้นเลือด ป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ
– ช่วยรักษาและป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟัน
– ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์
– ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น
– ช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์
– ช่วยชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
– ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ - ใบ
– ช่วยขับเหงื่อ โดยนำใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยในการลดไข้ ลดอาการตัวสั่น โดยนำใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยแก้โรคผิวหนัง โดยนำใบมาต้มน้ำอาบ
– ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน ผื่น กลาก และโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้โดยนำใบกระท้อนมาบดแล้วทาบริเวณที่เป็น - ราก
– ช่วยในการดับพิษร้อน โดยนำรากมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยในการขับลม โดยนำรากมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
– ช่วยรักษาอาการท้องเสีย บิด และช่วยปรับระบบการทำงานของลำไส้ให้กลับมาเป็นปกติ โดยนำรากมาต้มน้ำดื่ม - เปลือกลำต้น และแก่น
– ช่วยแก้อาการท้องเสีย โดยนำเปลือกลำต้นมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยแก้ปัสสาวะเล็ด โดยนำเปลือกลำต้นมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยรักษาอาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำน้ำต้มมาอาบ
– ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
ประโยชน์ของกระท้อน
- นำเมล็ดกระท้อนมาต้มน้ำสกัดเป็นยาฆ่าแมลง ฉีดพ่นป้องกันแมลงศัตรูพืชในแปลงผัก
- นำลำต้นมาใช้ทำเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ เช่น ทำไม้กระดาน กระดานพื้น เครื่องเรือน ลังใส่ของ ฝา เพดาน วงกบประตู หน้าต่าง เป็นต้น
- นำเปลือกลำต้นมาถากเพื่อต้มย้อมผ้า ให้เฉดสีน้ำตาลอมเหลือง
***กระท้อนจะเกิดประโยชน์สูงสุด หากผู้รับประทานเกิดในเดือนสิงหาคม กันยายน และ ตุลาคม ซึ่งธาตุเจ้าเรือนอยู่ในธาตุน้ำ เมื่อรับประทานพืชผักผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น กระท้อน***
คุณค่าทางโภชนาการของกระท้อน
โปรตีน ไขมัน ใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 3 และวิตามินซี
ข้อควรระวังในการรับประทานกระท้อน
- ควรรับประทานกระท้อนด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากกระท้อนเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่และลื่น อาจจะไหลติดคอจนทำให้หายใจไม่ออก หรือเมล็ดกระท้อนไหลเข้าสู่กระบวนการย่อยอาหาร เนื้อที่หุ้มเมล็ดกระท้อนหายไปจนเหลือแต่เมล็ดกระท้อนที่มีปลายแหลม ซึ่งอาจเข้าไปขูดลำไส้จนทะลุเป็นแผล และติดเชื้อทางกระแสโลหิต ทำให้เสียชีวิตได้
- ควรรับประทานผลกระท้อนในปริมาณที่เหมาะสม หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ท้องเสีย
ติดตามวิธีการปลูกกระท้อนในบทความ ‘การปลูกกระท้อน’
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.bedo.or.th, www.kapook.com, www.medthai.com)