การดูแลอินทผาลัมหลังการปลูก

การดูแลอินทผาลัมหลังการปลูก

การดูแลอินทผาลัมหลังการปลูก

ตามที่เคยกล่าวถึงในบทความ อินทผาลัมว่าการดูแลอินทผาลัม นั้นง่าย แต่ต้องปฏิบัติอย่างถูกวิธี ให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง สมกับการรอคอย การดูแลอินทผาลัม ให้ถูกวิธีจะเน้นไปที่เรื่องการให้น้ำเป็นหัวใจสำคัญ

 

 

 

ขั้นตอนการดูแลอินทผาลัม มีวิธีปฏิบัติดังนี้
การให้น้ำ

 

  • เมื่อนำต้นกล้าปลูกลงดินแล้ว รดน้ำอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง เป็นระยะเวลา 1 เดือน
  • เมื่อต้นโต ควรรดน้ำต้นอินทผาลัมประมาณ 1 ถึง 3 วัน ต่อครั้ง ในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น โดยรดน้ำให้ชุ่มหรือประมาณ 15 ถึง 25 ลิตร ต่อต้น ต่อครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นกับความชื้นในอากาศ หากอากาศชื้น ดินชุ่มชื้น การให้น้ำสามารถเว้นระยะห่างออกไปได้
  • ในฤดูฝน ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ หรือหากมีฝนทิ้งช่วงและดินรอบโคนต้นแห้ง ให้รดน้ำให้ชุ่ม
  • การปลูกอินทผาลัมในเชิงพาณิชย์ ควรติดตั้งระบบการให้น้ำ เพื่อให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกฤดูกาล
  • ในฤดูร้อน พ่นละอองน้ำโดยรอบเพื่อความชุ่มชื้น โดยเฉพาะในระยะต้นกล้า ควรพ่นละอองน้ำวันละ 1 ถึง 2 ครั้งในช่วง 3 ถึง 4 เดือนแรก หากอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส ควรมีการระบายความร้อน โดยการใช้สแลนกรองแสง

การให้ปุ๋ย

  • ให้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยชีวภาพ ทุก 2 สัปดาห์ ในปริมาณที่พอเหมาะ
  • ปีที่1 ถึง 2 หลังจากปลูกแล้ว 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการแตกยอด เช่นปุ๋ยสูตร 27-5-5 ประมาณ 2 เดือน ต่อครั้งเพื่อให้ต้นอินทผาลัมเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หรือใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีละ 2 ครั้งๆ ละ5 กิโลกรัม โดยใส่รอบโคนต้น แต่มีระยะห่างจากลำต้นประมาณ 30 เซนติเมตร
  • ปีที่3 เป็นปีที่จะเริ่มออกดอกติดผล ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือ ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลค้างคาว มูลไก่ ช่วงต้นฤดูฝน เมื่อถึงปลายฤดูฝน เดือน ตุลาคม ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้งแล้วหยุดให้น้ำ อินทผาลัมจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคม
  • ปีที่4 ปฏิบัติเช่นเดียวกับปีที่ 3 หากมีการติดผลดกมากจากการช่วยผสมเกสรควรมีการช่วยค้ำยันทะลายอินทผาลัม เพื่อไม่ให้ก้านหักและติดดิน

การกำจัดวัชพืช

  • ควรกำจัดวัชพืชบริเวณหลุมที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้แย่งอาหารต้นอินทผาลัม ทั้งยังช่วยป้องกันการรบกวนของศัตรูพืช
    การตัดแต่งใบ
  • ตัดใบแก่อินทผาลัมทิ้ง โดยใช้กรรไกรตัดแต่งใบ หรือใช้เคียวในการตัดแต่งใบ เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลง
  • ตัดหนามบริเวณโคนใบที่ยังไม่แก่ทิ้ง เพื่อป้องกันอันตราย และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน

การผสมเกสร

  • อินทผาลัมมีต้นตัวผู้และตัวเมียแยกจากกัน การอาศัยธรรมชาติจากลมและแมลงในการผสมเกสรเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้อินทผาลัมมีผลผลิตที่สูง เกษตรกรหรือผู้ปลูกต้องช่วยผสมเกสรให้อินทผาลัม
  • อินทผาลัมออกดอกเป็นจั่น ดอกเกสรตัวผู้จะมีสีขาว กลีบดอกเป็นแฉกคล้ายหางกระรอก อินทผาลัมต้นตัวผู้จะออกดอกก่อนต้นตัวเมีย จึงต้องเก็บเกสรตัวผู้ไว้รอการผสมเกสร
  • อินทผาลัมต้นตัวเมียจะออกดอกเป็นจั่น เช่นเดียวกันกับอินทผาลัมต้นตัวผู้ แต่ดอกมีลักษณะเป็นเมล็ดกลม เป็นช่อสีเขียวอ่อน

ขั้นตอนการผสมเกสร

  • เมื่อจั่นตัวผู้แตกออกมา เห็นกลีบดอกสีขาวเป็นแฉกๆ ให้นำถุงพลาสติกมาคลุมแล้วผูกปากถุงไว้
  • จากนั้นตัดช่อดอกออกมา แล้วเขย่าให้ละอองเกสรตกออกมา
  • นำละอองเกสรใส่ไว้ในถุง ไล่อากาศออก แล้วปิดปากถุงให้สนิท เก็บไว้ในตู้เย็นช่องปกติ ได้นานเป็นปี เพื่อรอผสมเกสรให้กับต้นตัวเมีย
  • ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผสมเกสรคือช่วงเช้า โดยนำเกสรตัวผู้ที่เก็บไว้บางส่วนแบ่งใส่ถุงพลาสติก เขย่าถุงให้ละอองเกสรฟุ้งกระจายในถุง จากนั้นนำไปครอบดอกตัวเมีย แล้วเขย่าให้ละอองเกสรผสมกัน
  • ควรผสมซ้ำอีก 1 ครั้งในวันต่อมา
  • หากมีฝนตกหลังจากผสมเกสรไปแล้ว 4 ถึง 6 ชั่วโมง ต้องทำการผสมเกสรใหม่ เพราะน้ำฝนอาจทำให้ไม่ติดผลหรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

 

การตัดแต่งช่อผล

  • ปลิดผลอินทผาลัมตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กออกบางส่วน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีขนาดใหญ่ มีคุณภาพดี โดยให้ผลอินทผาลัมเหลืออยู่ในแต่ละก้านประมาณ 20 ถึง 25 ผล และมีอยู่ 45 ถึง 50 ก้านใน 1 ช่อ

 

 

ข้อควรระวัง ในการดูแลอินทผาลัม

  1. ไม่ควรเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นอินทผาลัมภายในรัศมี 1.5 เมตร เพราะจะทำให้ดินแน่น มีผลให้ปุ๋ย น้ำและอากาศไหลซึมผ่านได้ยาก ต้นเจริญเติบโตได้ช้า
  2. ระวังอย่าให้น้ำขังบริเวณโคนต้น
  3. ไม่ควรกลบดินจนมิดโคนต้น จะทำให้ต้นกล้าเกิดเชื้อราและโรคต่างๆ ได้ง่าย
  4. ระยะที่ต้นอินทผาลัมเริ่มผลิดอกหรือก่อนออกดอก 120 วัน ไม่ควรตัดแต่งกิ่งอินทผาลัม ห้ามใส่ปุ๋ยที่มี ไนโตรเจน (N) เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และห้ามเคลื่อนย้ายต้นอินทผาลัมจะทำให้ต้นฟื้นตัวช้าและ ชะงักการเจริญเติบโต

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

  • อินทผาลัมใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 4 ปี ในการผลิดอกออกผล มีอัตราการให้ผลผลิตประมาณ 150 ถึง 250 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี เมื่ออินทผาลัมเริ่มสุก ควรใช้ถุงตาข่ายหุ้มโดยรอบเพื่อป้องกันการรบกวนของนก หนู และกระรอก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ
  • อินทผาลัมจะมีสีน้ำตาลอ่อนเมื่อเริ่มสุก ผลจะนุ่ม สามารถทำการเก็บเกี่ยวก่อนที่อินทผาลัมจะสุกได้

การเก็บรักษาผลอินทผาลัม หลังการเก็บเกี่ยว

  • อินทผาลัมสด—สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นเป็นเวลา 2 ถึง 3 สัปดาห์ หรือแช่แข็งได้นาน 4 เดือน ถ้าจะให้คงความสด ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม ไม่มีเชื้อราหรือแบคทีเรียปะปน ควรเก็บในถุงซีลสูญญากาศ
  • อินทผาลัมตากแห้ง หรืออบแห้ง—สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าผลสด และได้รสชาติที่หวานอร่อยกว่า โดยนำผลอินทผาลัมที่ตัดไว้มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นนำไปวางไว้ในที่อากาศถ่ายเทเพื่อคลายความร้อน จากนั้นบรรจุใส่ในภาชนะจะเก็บรักษาไว้ได้นาน

คำแนะนำ

  • ปฏิบัติตามขั้นตอนการดูแลอินทผาลัม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย เพราะการปลูกอินทผาลัมนั้นมีการลงทุนค่อนข้างสูง
  • การใช้สารกำจัดศัตรูพืชและสารกำจัดเชื้อราร่วมกันนั้น ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่อากาศร้อนที่สุด เพราะเมื่อหยดสารเคมีลงบนใบต้นกล้า จะทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้
  • หมั่นฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราโรครากเน่า/โคนเน่า สลับกับโรคราทางใบ ทุก 2 สัปดาห์

การดูแลอินทผาลัมหลังการปลูก ยังไม่จบขั้นตอนนะคะ ติดตามต่อในบทความ “โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัม ค่ะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.datepalm.in.th, www.idatepalm.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *