การปลูกอินทผาลัม
การปลูกอินทผาลัม จะได้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกอะโวคาโดค่ะ ต้นอินทผาลัมจะเริ่มให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 3 ปี อย่าเพิ่งท้อนะคะ ผู้เขียนขอแนะนำให้ทำไร่นาสวนผสมด้วยการปลูกอินทผาลัมเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุยืนยาวถึงหลักร้อยปี และในพื้นที่เดียวกัน ควรปลูกพืชล้มลุก พืชหมุนเวียน หรือเลี้ยงสัตว์ให้มีรายได้หลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลัก รายได้เสริม เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แม้ว่าจะรวยไม่ได้ ก็ขอให้มีความเป็นอยู่ที่สบาย มีรายได้หมุนเวียน มีเงินทุนสำรอง คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง และหลังจากที่เราปลูกอินทผาลัมไปประมาณ 5 ปี คราวนี้ล่ะค่ะ เราจะมีรายได้จากผลผลิตอินทผาลัมไปอีกหลายสิบปี ถึงรุ่นหลานกันเลย
ขอพูดถึงอินทผาลัมอีกสักนิดนะคะ ก่อนจะพาท่านผู้อ่านไปถึงขั้นตอนการปลูก เพราะเด็กๆ รุ่นใหม่จะได้รู้จักอินทผาลัมกันมากขึ้น…อินทผาลัมถือเป็นผลไม้มงคล ซึ่งหมายถึง ผลไม้ของพระอินทร์ เป็นการผสมคำจากภาษาบาลีและสันสกฤตค่ะ หลายคนคงรู้สึกว่า ชื่อแปลกจากภาษาไทยไปบ้าง คำว่า ‘อินฺท’ (inda) ในภาษาบาลีหรือ ‘อินฺทฺร’ (indra) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง พระอินทร์ ผสมกับคำว่า ‘ผลมฺ’ (phalam) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ผลไม้ จึงได้ชื่อว่า ‘อินทผาลัม—ผลไม้ของพระอินทร์’ นับว่าอินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีตำนาน มีความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันมากกว่าผลไม้อื่นๆ และรสชาติของอินทผาลัมก็หวานขั้นเทพนะคะ ที่เปรียบเปรยแบบนี้ ก็เพราะอินทผาลัมหวานฉ่ำตามธรรมชาติ อร่อยตามธรรมชาติ เมื่อนำมาแปรรูป ก็ไม่ต้องปรุงแต่งรสใดๆ และได้รสชาติที่อร่อยลงตัวจริงๆ ที่สำคัญ อร่อยทุกสายพันธุ์ค่ะ
สายพันธุ์อินทผาลัม
- พันธุ์คาลาส (khalas) จัดอันดับความนิยมได้อันดับต้นๆ มีต้นกำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบียสายพันธุ์นี้ นิยมรับประทานผลสุก ผลมีสีเหลือง ลักษณะผลยาว รสชาติหวาน นุ่ม และหอม ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
- พันธุ์โคไนซี่ คูไนซี่ (Khunaizi, Khonaizi) ผลมีสีแดงเข้ม รสหวาน รับประทานผลที่เริ่มสุก จะได้รสชาติที่อร่อยมาก ไม่มีเสี้ยน ผลมีขนาดกลาง พบปลูกมากที่สุดในประเทศโอมาน เป็นพันธุ์ที่ทนร้อน ทนแล้งได้ดีมาก
- พันธุ์บาฮี (Barhi) เป็นอินทผาลัมสายพันธุ์เดียวในโลกที่ผลดิบที่หวาน รับประทานได้อร่อยโดยไม่ต้องรอให้สุก ผลมีสีเหลืองนวล มีขนาดผลตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดปานกลาง
- พันธุ์ฮัมรี่ (Hamri) ผลสีแดงเข้ม เนื้อหนา รสชาติหวานปานกลาง เนื้อนุ่ม และมีกลิ่นหอม ถิ่นกำเนิดคือ ประเทศอียิปต์และประเทศโอมาน
- พันธุ์ฮาโลววี (Halawi/Halawy) เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลที่รสชาติหวานมาก ผลสีเหลืองอ่อน มีถิ่นกำเนิดมาจาก ดินแดนแห่งอารยะธรรม เมโสโปเตเมีย(ระหว่างซีเรียกับอิรัก)
- พันธุ์ชิบีบี (shebebi) ผลกลม ขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ สีเหลือง เนื้อผลหนา เมล็ดกลม รสชาติหวานปานกลาง และมีเสี้ยนไม่มาก กำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบีย
- พันธุ์อัมเบอร์ (Amber) เป็นอินทผาลัมสีแดงส้ม ที่มีขนาดผลใหญ่ เนื้อหนา รสหวานและเสี้ยนน้อย ต้นกำเนิด คือประเทศโอมาน ประเทศซาอุดิอาระเบีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรท
- พันธุ์ ฮิลาลี่ (Hilali) ผลสีเหลือง ขนาดกลาง อินทผาลัมสายพันธุ์นี้อร่อยมาก
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ก่อนทำการปลูกอินทผาลัม
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
- ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอินทผาลัมมากที่สุด คือดินร่วนปนทราย
- มีระบบระบายน้ำได้ดีและมีอากาศถายเทได้สะดวก
- ไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว
- ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีเจือปน
- อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะอินทผาลัมต้องการน้ำมากเพื่อผลิตผลที่ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งและฤดูหนาว ต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
สภาพอากาศและอุณหภูมิที่เหมาะสม
- อินทผาลัมต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน และต้องได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง
- อุณหภูมิที่สามารถปลูกอินทผาลัมได้เริ่มตั้งแต่ 7 ถึง 38 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 32 องศาเซลเซียส
หมายเหตุ
- อุณหภูมิที่สูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของอินทผาลัมลดลง
- อินทผาลัมสามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ในช่วงสั้นๆ เพราะอินทผาลัมจะหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราวในสภาวะอุณหภูมิต่ำ
ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกอินทผาลัม
- ช่วงต้นฤดูฝน แต่ถ้าสามารถติดตั้งระบบการให้น้ำในสวนได้ ก็สามารถที่จะปลูกอินทผลัมได้ทุกฤดูกาล
การเลือกต้นพันธุ์ที่เหมาะสม
- อินทผาลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้นกัน การปลูกอินทผาลัมให้ได้ผลผลิตที่ดี จำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในพื้นที่เดียวกัน ต้นอินทผาลัมตัวผู้สายพันธุ์ที่ดี 1 ต้น ต่อตัวเมีย 40 ถึง 50 ต้น
ขั้นตอนการปลูกอินทผาลัม
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์อินทผาลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การเพาะจากเมล็ด การแยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
วิธีที่1 การเพาะจากเมล็ด
ข้อดีของการเพาะจากเมล็ดคือ
- ขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว
- มีต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่น
ข้อเสียของการเพาะจากเมล็ดคือ
- ไม่สามารถทราบเพศของต้นอินทผาลัมได้ ต้องรอจนต้นออกดอก
- คุณภาพผลอินทผาลัมก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ เนื่องจากการผสมเกสรข้ามต้น คุณภาพของผลอินทผาลัม ขนาดและรสชาติด้อยลง หรืออาจจะใกล้เคียงต้นแม่พันธุ์เดิม
วิธีการเพาะเมล็ดอินทผาลัม
-
- ล้างทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ ให้เยื่อหุ้มเมล็ดหลุดออกให้หมด ผลแบบกินแห้งจะล้างทำความสะอาดได้ยากกว่าเมล็ดแบบกินสด เนื่องจากมีน้ำตาลเกาะอยู่ที่เมล็ดมาก สามารถผสมน้ำยาล้างจานเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น อาจจะต้องล้างทำความสะอาดหลายรอบสักหน่อยนะคะเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราที่เมล็ด
- นำเมล็ดที่ทำความสะอาดแล้ว แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เปลี่ยนน้ำทุก 12 ชั่วโมง หากมีมดเกาะให้ล้างทำความสะอาดเมล็ดใหม่อีกครั้ง
- นำกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมาล้างทำความสะอาด รองก้นกล่องพลาสติกด้วยกระดาษทิชชู่ไว้หนาประมาณ 3 ชั้น พรมน้ำให้ทั่วทั้งแผ่นทิชชู่ให้เปียกแต่ไม่แฉะ ถ้าแฉะเกินไปให้เทน้ำออก
- นำเมล็ดที่แช่น้ำแล้วมาจัดเรียงในกล่องพลาสติก แล้วปิดฝาให้สนิท เพื่อไม่ให้อากาศเข้าได้และรักษาความชื้นให้คงที่
- นำกล่อง ไปวางไว้ในบริเวณที่มีอากาศร้อนแต่ไม่โดนแสงแดด เช่น ห้องเก็บของ ประมาณ 3 ถึง 5 วัน รากจะเริ่มงอกออกมา เมล็ดอินทผาลัมจะงอกไม่พร้อมกัน ให้ทะยอยนำออกมาเพาะ
- เมื่อรากงอกยาวประมาณ 1 นิ้ว ให้นำออกมาเพาะในถุงดำขนาด 4×6 นิ้ว ขึ้นไป
- เมล็ดที่ถูกเพาะในถุงดำ เมื่อมีอายุประมาณ 15 ถึง 20 วัน จะเริ่มออกแทงหน่อเล็กๆ ออกมา จากนั้น รอจนกระทั่งมีใบเลี้ยงแตกออกมาประมาณ 3 ใบ จึงนำไปเปลี่ยนถุงขนาดใหญ่ขึ้น
- เมื่อต้นกล้ามีใบขนนกประมาณ 3 ถึง 4 ใบ จึงนำไปปลูกลงดิน
วิธีที่2 การแยกหน่อจากต้นแม่
ข้อดีของการแยกหน่อคือ
- ต้นกล้าที่ได้จะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ
ข้อเสียของการแยกหน่อคือ
- ขยายพันธุ์ได้ช้าและน้อยกว่าการเพาะเมล็ด ปริมาณของหน่อพันธุ์ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของอินทผาลัม ด้วยค่ะ
- ลงทุนสูง ราคาหน่อพันธุ์มีราคาสูงกว่าต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
หน่ออินทผาลัมจะเกิดขึ้นที่บริเวณซอกใบ ใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 6 ปี จึงจะนำไปปลูกได้ อินทผาลัม 1 ต้นจะให้หน่อประมาณ 20 ถึง 30 หน่อ ภายใน 15 ปีแรก โดยเฉลี่ย 3 ถึง 4 หน่อ ต่อปี ที่สามารถแยกหน่อไปปลูกได้ สายพันธุ์อินทผาลัมที่ให้หน่อดี ได้แก่ พันธุ์ซาฮิดี (Zahidi), พันธุ์เบริม (Berim) และพันธุ์ฮายานี่ (Hayani)
วิธีการแยกหน่ออินทผาลัมจากต้นแม่
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแยกหน่อคือช่วงเริ่มต้นของฤดูร้อน คือช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
- เลือกใช้หน่อที่มีอายุ 3-6 ปี และมีน้ำหนักประมาณไม่เกิน 9 กิโลกรัม เพราะมีอัตราการตายน้อยกว่าหน่อเล็ก หน่ออินทผาลัมมีอยู่ 2 ประเภทคือหน่อที่เกิดด้านบน และ หน่อที่เกิดบริเวณด้านล่างแถบโคนต้น ซึ่งเชื่อกันว่าเจริญเติบโตเร็วกว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่า
- รดน้ำให้ชุ่มเป็นเวลาหลายวันก่อนทำการแยกหน่อ
- ขุดดินรอบหน่อให้มีระยะห่างจากหน่อพอสมควร ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายสิ่วขนาดใหญ่และคม ตัดแยกหน่อออกจากต้นแม่ โดยให้มีรากเหลือติดอยู่ที่หน่อไม่น้อยกว่า 2 ถึง 3 นิ้ว ไม่ควรตัดรากให้ชิดหน่อจนเกินไปและควรตัดรากให้ขาดในครั้งเดียว เพราะทำให้หน่อเกิดความบอบช้ำได้
- จากนั้นรวบใบของหน่อมัดไว้และตัดใบทิ้งบางส่วนเพื่อลดการคายน้ำและสะดวกในการขนย้าย
- ทาคอปเปอร์ ซัลเฟต ที่ปลายรากของหน่อและบริเวณที่แยกหน่อออกมาทั้งหน่อและต้นแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าทำลายทางแผลที่เกิดจากการแยกหน่อ
- นำหน่อที่แยกจากต้นแม่แล้ว มาอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำเป็นเวลา 1 ถึง 2 ปี เพื่อเพิ่มอัตราการรอด
- ใส่ยากำจัดเชื้อราเดือนละ 2 ครั้ง
- เมื่ออนุบาลหน่อพันธุ์ตามกำหนดเวลา และหน่อพันธุ์มีความแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ช่วงเวลาที่เหมาะในการนำหน่อที่อนุบาลไว้จนแข็งแรงแล้วมาปลูกคือช่วงต้นฤดูฝน
การไว้หน่อ
- ควรไว้หน่อไม่เกิน 6 หน่อ ต่อ 1 ต้น เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหาร ช่วยให้หน่อแข็งแรง และต้นแม่พันธุ์คงคุณภาพและปริมาณของผลผลิตไว้ โดยกำจัดหน่อที่มีขนาดเล็กหรือหน่อที่อยู่ด้านบนออกตั้งแต่หน่อยังมีขนาดเล็กอยู่
วิธีที่3 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือ
- ต้นกล้าที่ได้มีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ไม่กลายพันธุ์
- ผลผลิตที่ได้จากต้นกล้าของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ
- สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว
- เหมาะสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์
ข้อเสียของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือ
- ลงทุนมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ด เนื่องจากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ
การดูแลต้นกล้าอินทผาลัม
การให้น้ำ
- ในฤดูร้อน ให้รดน้ำ 1 ครั้ง ทุกๆวัน
- ในฤดูหนาว ให้รดน้ำ 1 ครั้ง ทุกๆ 4 วัน
- ในฤดูฝน ให้รดน้ำตามความเหมาะสม โดยตรวจเช็คสภาพผิวดินลงไป 5 เซนติเมตร
การใส่ปุ๋ย
- ให้ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 1 ครั้ง ในฤดูหนาว รอบๆ โคนต้น จากนั้นพรวนดินให้ปุ๋ยผสมเข้ากันดีกับดินเดิม
การเตรียมต้นกล้า
- เมื่อต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดออกใบขนนก 3 ถึง 4 ใบ หรือต้นกล้าที่แยกหน่อจากต้นแม่พันธุ์ ต้องเป็นหน่อที่เพาะเลี้ยงอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำประมาณ 1 ถึง 2 ปีให้แข็งแรงก่อนจึงจะนำมาลงแปลงปลูกได้
วิธีการปลูกอินทผาลัม
- ขุดหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ลึกประมาณ 80 เซ็นติเมตร การขุดหลุมขนาดใหญ่และการเตรียมหลุมปลูกที่ดี จะทำให้อินทผาลัมเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
- ระยะห่างระหว่างหลุมปลูก 8×8 เมตร หรือ 8×10 เมตร หรือ 10×10 เมตร สำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อยสามารถลดระยะห่างลงได้แต่ไม่ควรต่ำกว่า 7×7 เมตร เพราะเมื่ออินทผาลัมเจริญเติบโตเต็มที่ ทางใบและรากจะขยายกว้างมาก ต้องการแสงแดดอย่างเต็มที่ และอากาศที่ถ่ายเท นอกจากนี้ ยังทำให้การดูแลหลังการปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นไปได้ง่าย
- นำดินที่ขุดขึ้นมา 3 ส่วนผสมกับป๋ยคอก 1 ส่วน รองก้นหลุมโดยเหลือพื้นที่ในหลุมปลูกให้มีขนาดเท่าถุงดำหรือกระถางที่เพาะเลี้ยงต้นกล้า หรือ นำดินที่ขุดขึ้นมาตากแดดไว้อย่างน้อย 7 วัน และนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมาตากแดดด้วยเช่นกันส่วนผสมของวัสดุปลูกรองก้นหลุม มีอัตราส่วนดังนี้ :
ดินร่วน 2 ส่วน
ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เช่น ปุ๋ยใบก้ามปู หรือปุ๋ยละลายช้า 1 ส่วน
ทราย ขี้เถ้าแกลบ แกลบดิบ เศษถ่านดำ ไดโลไมท์ ร็อคฟอสเฟต เพอร์ไลท์ หรือวัสดุปลูกที่สามารถระบายน้ำได้ดี 1 ส่วน
อินทรีวัตถุ เช่น ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ หรือเศษใบไม้แห้ง 1 ส่วน ผสมทุกอย่างให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในหลุมปลูกตามวิธีเดียวกันข้างต้น - นำต้นกล้าปลูกลงในหลุม กลบดินคืนให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
ปัจจุบันมีผู้เพาะพันธุ์อินทผาลัมจำหน่ายกันมากขึ้น ท่านผู้อ่านสามารถสั่งซื้อได้จากทางเว็บไซต์ต่างๆ มีบริการส่งถึงบ้านนะคะ และเมื่อลงมือปลูกกันแล้ว ก็ต้องดูแลเป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่า ติดตามบทความ ‘การดูแลอินทผาลัม หลังการปลูก‘ ต่อไปนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.datepalm.in.th, www.idatepalm.com)